โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ธุรกิจ-เศรษฐกิจ

ลงทุนสินทรัพย์ดิจิทัลอย่างไรให้ไม่โดนหลอก?

aomMONEY

อัพเดต 19 เม.ย. 2562 เวลา 08.07 น. • เผยแพร่ 19 เม.ย. 2562 เวลา 08.07 น. • ลงทุนศาสตร์
ลงทุนสินทรัพย์ดิจิทัลอย่างไรให้ไม่โดนหลอก?
ลงทุนสินทรัพย์ดิจิทัลอย่างไรให้ไม่โดนหลอก?

หากพูดถึงการลงทุนใน "สินทรัพย์ทางเลือก" ในทศวรรษนี้ คงไม่มีใครไม่นึกถึง "คริปโทเคอร์เรนซี"

    ด้วยการโชว์ลีลาสร้างผลตอบแทนระดับที่ผู้ลงทุนได้แต่มองกันตาค้างเกือบ 20 เด้งในปี 2017 ของบิทคอยน์ ช่วงเวลาตื่นทองของสินทรัพย์ดิจิทัลก็เริ่มต้นขึ้นอย่างไม่มีปี่ไม่มีขลุ่ย คอร์สอบรมสัมมนาสอนลงทุนบิทคอยน์โผล่ขึ้นมาเป็นดอกเห็ด การ์ดจอสำหรับเปิดเหมืองคริปโทฯ ขาดตลาดจนราคาพุ่งสูงเป็นประวัติการณ์ หลายบริษัทก็ออกมาระดมทุนผ่าน ICO กันอย่างสนุกสนาน

    ทางภาครัฐจึงมีกฎหมายออกมาเพื่อกำกับดูแล ซึ่งครอบคลุมทั้งการกำกับดูแลการเสนอขายโทเคนดิจิทัลต่อประชาชนและการกำกับดูแลผู้ประกอบธุรกิจเกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัล ซึ่งก็คือ ผู้ระดมทุน ผู้ให้บริการระบบเสนอขายโทเคนดิจิทัล ตัวกลางในการซื้อขายแลกเปลี่ยนสินทรัพย์ดิจิทัล 

    

สินทรัพย์ดิจิทัลถือได้ว่าเป็นสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงสูง

    ด้วยความผันผวนของราคาสินทรัพย์ดิจิทัลที่สูงมาก ระดับที่บางปีให้ผลตอบแทน 2,000% แต่บางปีขาดทุน แบบถล่มทลาย ก็ทำให้ผู้ลงทุนที่ซื้อขายต้องเจอกับความเสี่ยงด้านราคาอย่างมากอยู่แล้ว ส่วนผู้ลงทุนคนไหนที่จะซื้อโทเคนดิจิทัลผ่านการระดมทุนของบริษัทต่าง ๆ ก็ยังต้องเจอความเสี่ยงเรื่องความมั่นคงของบริษัทอีกด้วย

    เพราะบริษัทที่ระดมทุนผ่านโทเคนดิจิทัลจำนวนมากมักเป็นบริษัทขนาดเล็ก รวมไปถึงบริษัทสตาร์ทอัพที่มีความไม่แน่นอน ในการดำเนินกิจการสูง หากระดมเงินไปแล้วโครงการล้มเหลว โทเคนดิจิทัลก็อาจสูญค่าได้

ลงทุนสินทรัพย์ดิจิทัลอย่างไรให้ไม่โดนหลอก?
ลงทุนสินทรัพย์ดิจิทัลอย่างไรให้ไม่โดนหลอก?

กระแสบิทคอยน์ดังจนข่าว 3 มิติเอามาทำข่าว (อ้างอิง : ข่าว 3 มิติ)

    แต่นอกจากความเสี่ยงโดยธรรมชาติของสินทรัพย์แล้ว เรายังเจอกับการหลอกลวงที่แฝงมากับการแอบอ้างชื่อสินทรัพย์ดิจิทัล คำถามคือ เราจะรู้ได้อย่างไรว่าคนที่เราลงทุนด้วยไม่ได้กำลังหลอกเราอยู่?

    สารพัดการโกงที่อ้างคำว่า “บิทคอยน์” “คริปโท” หรือ “ICO” มาบังหน้านั้นมีมากมาย วันนี้ได้โอกาสจึงจะหยิบมาไล่เรียงให้เห็นความคิดสร้างสรรค์ของมิจฉาชีพที่จะมาหลอกเอาเงินจากกระเป๋าเงินของเรากัน

1. หลอกให้ไปลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัล แต่ความจริงไม่มีการลงทุนใด ๆ

    การแอบอ้างนี้ถือเป็นประเด็นที่มีการพบบ่อยที่สุด และน่าจะมีคนโดนหลอกไปเยอะที่สุดด้วย กลวิธีก็แสนจะเรียบง่าย คือ โพสโชว์กำไรจากการลงทุนเยอะๆ บ้าง วางเงินเป็นฟ่อนๆ หลอกให้เราโลภ แล้วชวนให้ฝากเงินไปลงทุน 

    ส่วนใหญ่ที่เจอคือการทำแบบเป็นแชร์ลูกโซ่โดยอ้างว่านำเงินไปลงทุนต่อเพื่อให้ได้รับผลตอบแทนที่สูงมาก ซึ่งมักจะอ้างว่าลงทุนในคอยน์ ICO โทเคนดิจิทัล ลงทุนทำเหมืองขุด รวมทั้งอ้างว่าเป็นการใช้เทคโนโลยี บล็อกเชน (Blockchain) เพื่อเพิ่มความน่าเชื่อถือ แต่แท้จริงแล้วเป็นการ นำเงินจากผู้ลงทุนรายใหม่มาจ่ายผลตอบแทนให้กับผู้ลงทุนรายเก่า และมีการจูงใจโดยการให้ผลตอบแทนหากสามารถชวนสมาชิกใหม่มาร่วมลงทุนได้ เมื่อไหร่หาคนใหม่ไม่ได้คือจบ แชร์ล้ม คนโกงเข้าคุก ส่วนคนฝากเงินต้องไปลุ้นเอาว่าจะได้เงินคืนไหม 

    ในประเทศไทยกลุ่มผู้หลอกลวงมีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและรูปแบบการประกอบธุรกิจใหม่ ๆ อยู่ตลอดเวลาให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้ลงทุน ดังนั้น ควรเช็คข้อมูลให้ดีก่อนว่าผู้ที่มาชักชวน เป็นใคร ได้รับอนุญาตอย่างถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ หากพบความผิดปกติหรือพบว่าการลงทุนนั้นไม่ชอบมาพากล หรือดูดีเกินกว่าที่ควรจะเป็น ควรหลีกเลี่ยงการลงทุนในลักษณะดังกล่าว

ลงทุนสินทรัพย์ดิจิทัลอย่างไรให้ไม่โดนหลอก?
ลงทุนสินทรัพย์ดิจิทัลอย่างไรให้ไม่โดนหลอก?

การแถลงข่าวจับแชร์ลูกโซ่ที่หลอกว่าระดมทุนไปเทรดสินทรัพย์ดิจิทัล (อ้างอิง : ไทยรัฐ)

2. อ้างตนว่าเป็นตัวกลางในการซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล

    การโกงอีกแบบหนึ่งที่มีความแนบเนียนสูง คือ การปลอมตัวเป็นตัวกลางในการซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล เนื่องจากในช่วงแรกที่พระราชกำหนดการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลยังไม่ประกาศใช้ ประเทศไทยยังไม่มีองค์กรไหนที่เข้ามากำกับดูแลโดยตรง นักเทรดจึงต้องหาเว็บไซต์สำหรับเทรดและเป็นกระเป๋าเงินด้วยตนเอง มิจฉาชีพหลายคนจึงถือโอกาสนี้ในการโกง

    รูปแบบการโกงเรียบง่ายมาก คือ ให้ผู้ที่จะลงทุนโอนเงินเข้าไปในระบบและซื้อขายได้ตามปรกติ ติดอยู่อย่างเดียว คือ เว็บที่ว่าดันถอนเงินออกมาไม่ได้ กลายเป็นว่าตัวเลขที่เห็นในเว็บเป็นอะไรที่จับต้องไม่ได้เลย สุดท้ายก็อาจสูญเงินไปทั้งหมด หากเจ้าของปิดเว็บไซต์หนีหายไป 

    ดังนั้น หากผู้ลงทุนต้องการใช้บริการตัวกลางในการซื้อขาย แลกเปลี่ยนสินทรัพย์ดิจิทัลที่จัดตั้งในประเทศไทย ควรใช้บริการผ่านผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลที่ได้รับใบอนุญาต แต่หากต้องการใช้บริการผ่านตัวกลางต่างประเทศ

ผู้ลงทุนจะไม่ได้รับความคุ้มครองจาก พ.ร.ก. สินทรัพย์ดิจิทัลฯ จึงควรศึกษาข้อมูลและตรวจสอบถึงความน่าเชื่อถือของผู้ประกอบธุรกิจ ในเบื้องต้นควรลองตรวจสอบผ่าน review ของผู้ที่เคยใช้บริการที่เชื่อถือได้ หรือตรวจสอบปริมาณการซื้อขายต่อวัน รวมทั้งศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมเพื่อลดความเสี่ยงจากการถูกหลอกลวงด้วย 

3. โจมตีระบบกระเป๋าเงิน e-wallet และแฮกสินทรัพย์ดิจิทัล

    วิธีนี้อาจจะไม่ใช่กลโกงที่มาหลอกกันตรง ๆ แต่มักจะใช้วิธีการหลอกลวงทั้งทางตรงและทางอ้อมเพื่อให้เข้าไปถึงกระเป๋าเงินที่เก็บสินทรัพย์ดิจิทัลของเราไว้ได้ การโกงตรง ๆ ก็คือการแฮกเข้าไปในระบบตัวกลางเลย หากนายหน้าซื้อขายและเจ้าของกระเป๋าเงินไม่มีระบบป้องกันที่เพียงพอก็มักจะถูกแฮกเงินออกไปได้ในที่สุด 

    ฟังดูเป็นเรื่องไกลตัว แต่ไม่น่าเชื่อว่าการแฮกระบบของตัวกลางและกระเป๋าเงินเกิดขึ้นบ่อยว่าที่คิด อย่างในประเทศเกาหลีใต้เองก็มีการออกมาประกาศเปิดเผยตัวเลขที่น่าตกใจว่า ระบบตัวกลางในการเทรดมีการถูกแฮกไปถึง 7 ครั้ง และกระเป๋าเงินสินทรัพย์ดิจิทัลถูกแฮกไปถึง 158 ครั้ง ในช่วงปี 2015 – 2018 และมีการจับตัวคนผิดได้เพียง 6 ครั้งเท่านั้น

    ในขณะที่วิธีทางอ้อมก็จะใช้วิธีการหลอกลวงขอรหัสผ่านจากเราไป เช่น ส่งเมลมาหลอกว่ากระเป๋าเงินจะโดนล็อคให้รีบยืนยันตัว พอเราใส่รหัสผ่านก็เกม โจรก็รีบเข้ากระเป๋าเงินจริงของเราและเอาเงินออกมาหมด หรือมีการพัฒนากระเป๋าเงินสำหรับผู้ลงทุนปลอม เช่น software/hardware wallet ที่มีการฝังการเข้ารหัสเอาไว้ทำให้สามารถขโมยสินทรัพย์ดิจิทัลของผู้ใช้งานออกมาได้ นอกจากนี้ยังมีความเสี่ยงจากมัลแวร์และไวรัสคอมพิวเตอร์ที่ทำให้กลุ่มแฮ็คเกอร์สามารถขโมยสินทรัพย์ดิจิทัลของผู้ใช้งานออกมาได้เช่นกัน

    ดังนั้นผู้ลงทุนควรเลือกวิธีการเก็บสินทรัพย์ดิจิทัลที่มีความปลอดภัยและเชื่อถือได้ เช่น ควรใช้กระเป๋าสินทรัพย์ดิจิทัลที่มาจากผู้ให้บริการโดยตรงเพื่อป้องกันการปลอมแปลง รวมถึงต้องตรวจสอบแหล่งที่มา เพื่อป้องกันการปลอมแปลงที่อยู่ในรูปของ phishing website, email, application รวมถึงช่องทางอื่น ๆ นอกจากนี้ควรตั้งรหัสผ่านให้มีความปลอดภัย หลีกเลี่ยงการใช้งานข้อมูลที่ใช้เป็นการทั่วไปในการเก็บสินทรัพย์ดิจิทัล เช่น อีเมล์ และรหัสผ่าน สุดท้ายควรใช้ตัวเลือกความปลอดภัยในระดับสูงสุดเพื่อป้องกันการขโมย เช่น 2FA verification, pin code หรือ การเก็บรหัสผ่านไว้ภายนอกคอมพิวเตอร์ เป็นต้น 

4. อ้างว่าทำ ICO / ระดมทุนไปทำโครงการ พอได้เงินไปก็หายเงียบ

    การระดมทุนด้วยกระบวนการ ICO ถือว่าได้รับความนิยมอย่างสูงมากในช่วงหนึ่ง ทำให้มีผู้ฉวยโอกาสอ้างชื่อของ ICO ไปใช้หลอกลวงผู้ลงทุนจำนวนมากเช่นกัน 

    กรณีที่โด่งดังในประเทศไทยก็อย่างเช่นเรื่องของดาราหนุ่มคนหนึ่งที่ถูกแจ้งจับในข้อหาหลอกให้ผู้ลงทุนควักกระเป๋าหลายร้อยล้านบาทเข้าลงทุนเหรียญสกุลนึง ซึ่งต่อมาถูกกล่าวหาว่าเป็นการหลอกลวง จนดาราคนดังกล่าวถูกจับ และสืบทราบไปยังขบวนการหลอกลวงและฟอกเงินอีกมากมาย

    ขีดเส้นใต้ว่าก่อนลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลทุกครั้งให้ตรวจสอบรายชื่อกับผู้ที่ได้รับอนุญาตอย่างถูกต้องตามกฎหมายจาก ก.ล.ต. ก่อน ทั้งการระดมทุนผ่าน ICO ทั้งแพลตฟอร์มการซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล เพราะหากเราลงทุนผ่าน
ผู้ที่ไม่ได้รับอนุญาต เราจะไม่ได้รับความคุ้มครองจากพ.ร.ก.การประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล

    รับแค่ความเสี่ยงจากความผันผวนด้านราคาและความเสี่ยงจากการดำเนินธุรกิจของผู้ระดมทุนพอ ความเสี่ยงเรื่องการหลอกลวงจากมิจฉาชีพสามารถป้องกันได้ อย่างน้อย เราก็จะไม่ถูกโจรที่ไหนไม่รู้มาชุบมือเปิดเอาเงินเราไปให้เจ็บใจเล่น เพราะแม้ ก.ล.ต.จะกำกับดูแลการเสนอขายโทเคนต่อประชาชนและกำกับดูแลตัวกลางในการซื้อขายแลกเปลี่ยนสินทรัพย์ดิจิทัล แต่กรณีที่ลงทุนแล้วขาดทุนจะไม่มีหน่วยงานใดเข้ามารับผิดชอบ ผู้ลงทุนต้องรับจากการตัดสินใจลงทุนเอง

ค้นหารายชื่อผู้ที่ได้รับอนุญาตอย่างถูกกฎหมายจาก ก.ล.ต. ได้ที่ www.เสี่ยงสูง.com

    ส่วนใครที่สนใจ แต่ยังไม่มั่นใจว่าตนเองรับความเสี่ยงจากสินทรัพย์ดิจิทัลได้หรือเปล่าก็สามารถเข้าไปศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมและทำแบบทดสอบด้านความเสี่ยงฟรี ได้ที่ เสี่ยงสูง.com

เงินทองหามาไม่ง่าย อย่าไปใส่พานถวายให้โจรเลย 

อย่าลืม! ตรวจสอบข้อมูลทุกครั้งก่อนลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัล

ลงทุนศาสตร์ - Investerest

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0