โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

รู้ทันปัญหา Gen Z เป็นเรื่องง่าย ๆ แค่เข้าใจ

ประชาชาติธุรกิจ

อัพเดต 03 ธ.ค. 2562 เวลา 05.20 น. • เผยแพร่ 19 ต.ค. 2562 เวลา 06.23 น.
mar08140362p1
แฟ้มภาพ
คอลัมน์ เอชอาร์คอร์เนอร์ โดย ดร.ธิติมา ไชยมงคล

ในยุคดิจิทัล สิ่งต่าง ๆ บนโลกกำลังถูกเปลี่ยนแปลงรูปแบบ วิธีการ จากเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่อย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะเรื่องทรัพยากรมนุษย์ กลุ่มคน Gen Z กับปัญหาการลาออกจากงาน ที่ในอนาคตมีแนวโน้มจะสูงยิ่งขึ้นหลายเท่าตัว

สำหรับกลุ่ม Gen Z คือ กลุ่มประชากรที่มีอายุตั้งแต่ 10-24 ปี เกิดระหว่างปี พ.ศ. 2538-2552 เติบโตมาพร้อมกับสิ่งอำนวยความสะดวกมากมายที่อยู่แวดล้อมรอบตัว มีความสามารถในการใช้เทคโนโลยีต่าง ๆ เรียนรู้ได้รวดเร็ว และอยู่กับสื่อดิจิทัลโดยกำเนิด ใช้เวลาส่วนใหญ่อยู่บนโลกออนไลน์ ซึ่งในประเทศไทยมีจำนวนประชากรกลุ่มนี้ราว ๆ เกือบ 13 ล้านคน แบ่งเป็นหญิง 48% และชาย 52% อีกทั้งกลุ่มนี้ก็กำลังเข้ามาสู่วัยแรงงาน (first jobber) และคาดการณ์กันว่า ภายในปี 2020 คน Gen Z จะมาเป็นกำลังหลักในตลาดแรงงานของประเทศกว่า 20%

ฉะนั้น ผู้ประกอบการหรือองค์กรต่าง ๆ จะมองข้ามเรื่องแรงงานรุ่นใหม่ไปไม่ได้เลย

อย่างไรก็ตาม ข้อมูลจากเว็บไซต์รับสมัครงานชื่อดังพบว่า Gen Z เป็นกลุ่มคนที่มีแผนจะเปลี่ยนงานภายในระยะเวลาอันใกล้มากที่สุดคือ 1-3 เดือน คิดเป็น 31.82% ในขณะที่คนทำงาน Gen X และ Gen Y มีทิศทางเหมือนกันคือ มีแผนจะเปลี่ยนงาน แต่ยังไม่มีกำหนดชัดเจน ด้วยลักษณะนิสัยของคน Gen Z เกิดและเติบโตในยุคที่เศรษฐกิจกำลังเฟื่องฟู มีนิสัยที่ชอบเก็บเงิน สนใจในการลงทุน ชอบที่จะเรียนรู้จากการลงมือทำด้วยตัวเอง และคน Gen Z หนึ่งคน จะทำหน้าที่ที่หลากหลายมากขึ้นกว่าเดิม ทั้งมีความมั่นใจในความคิดตัวเองสูง และกล้าที่จะแสดงออก มีคำถามที่ต้องการการอธิบายถึงเหตุผล และหลักการ

แล้วจะต้องทำอย่างไร ถึงเข้าใจและสามารถแก้ไขได้ ?

ในฐานะที่ดิฉันเป็นนักวิจัย และผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ทั้งยังเป็นผู้ก่อตั้งบริษัท RESEARCHER THAILAND เคยทำการศึกษา และแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ผ่านงานวิจัยระดับคุณภาพให้กับองค์กรภาครัฐ และเอกชนมาแล้วมากมาย เพื่อให้ผู้นำองค์กรได้ข้อมูล และแนวทางแก้ไขปัญหาที่ตรงจุด ถึงปัญหาทรัพยากรมนุษย์ในยุค 4.0

ตอนนี้ปัญหาคือ คนทำงานยุค Gen Z มีการเปลี่ยนงานในระยะเวลาอันสั้นมาก มีการย้ายงานสูง ซึ่งตามปกติแล้ว อัตราการลาออกขององค์กรและบริษัทต่าง ๆ ในเมืองไทยจะอยู่ที่ 10 เปอร์เซ็นต์ แต่ระยะหลังที่ Gen Z ก้าวเข้าสู่วัยทำงานอย่างแท้จริง ทำให้ตัวเลขเหล่านี้กระโดดไปอยู่ที่ 12-15 เปอร์เซ็นต์ เพราะกลุ่ม Gen Z เติบโตอยู่ในยุคของดิจิทัล และไอที ซึ่งปัจจัยที่มีผลทำให้กลุ่มนี้เปลี่ยนงานบ่อย ได้แก่ ความต้องการรายได้ที่สูงขึ้น ไม่พอใจกับสวัสดิการ ต้องการความก้าวหน้าในสายงาน และคาดหวังที่จะได้ทำงานตรงตามทักษะ และความสนใจ

ตรงนี้ถือเป็นปัญหาในระดับประเทศ โดยเฉพาะกับธุรกิจ SMEs เห็นได้จากกรณีศึกษาที่น่าสนใจของบริษัทต่างชาติแห่งหนึ่ง ที่ต้องประสบปัญหาดังกล่าว ทำให้เกิดการสูญเสียค่าใช้จ่ายไปนับหลายล้านบาท และดิฉันได้เข้าไปศึกษาเพื่อหาแนวทางแก้ปัญหา และช่วยให้บริษัทค้นพบคำตอบ

บริษัทแห่งนี้สัญชาติญี่ปุ่น มีอัตราการลาออกที่สูงขึ้น จากเดิมอยู่ที่ 10-12 เปอร์เซ็นต์ แต่อยู่ดี ๆ ภายในระยะเวลาไม่กี่เดือน ขยับขึ้นไปถึง 15-20 เปอร์เซ็นต์ ทางบริษัทแม่ในประเทศญี่ปุ่น เริ่มรู้สึกว่านี่เป็นปัญหาที่ต้องรีบแก้ไขอย่างเร่งด่วน และต้องการให้ผู้เชี่ยวชาญด้านทรัพยากรมนุษย์เข้ามาดูแลและตรวจสอบอย่างใกล้ชิด ซึ่งสิ่งแรกที่ดิฉันทำคือ การเริ่มต้นเข้าไปพูดคุย พร้อมประชุมกับบุคลากรในองค์กร เพื่อเป็นการวิเคราะห์บริบทของปัญหาเบื้องต้นก่อน

จากนั้นจึงลงลึกในการสัมภาษณ์หาข้อมูลเลย ซึ่งใช้วิธีการสัมภาษณ์เชิงลึกเป็นการเก็บข้อมูลเพื่อนำไปวิเคราะห์ โดยดิฉันให้แนวทางกับทางบริษัทไปว่าต้องการแบ่งพนักงานออกเป็นกลุ่ม เรียงตามระยะเวลาการทำงานในบริษัท เริ่มตั้งแต่ 1-3 ปี 4-6 ปี  7-10 ปี 10-12 ปี และ 12 ปีขึ้นไป กลุ่มละสามคน รวมจำนวนทั้งสิ้น 15 คน เพื่อมาสัมภาษณ์พูดคุยกันทีละคน และได้คำตอบทั้งหมดภายในระยะเวลา 2 อาทิตย์เท่านั้น

โดยคำตอบที่ได้จากการวิเคราะห์การสัมภาษณ์พูดคุยครั้งนี้ พบปัญหาที่เกิดขึ้นอันดับหนึ่ง คือ เรื่องผลตอบแทน ตามมาด้วยเรื่องการที่คนยุคใหม่เข้ามาทำงานแล้วได้รับผลตอบแทนสูง หรือแซงหน้าคนเก่า

ทั้งนี้ ในส่วนของแนวทางในการแก้ปัญหาดังกล่าว คือ ทางบริษัทต้องจัดการเรื่องผลตอบแทนให้เหมาะสมมากขึ้น พร้อมกำหนดหน้าที่และขอบเขตการทำงานของแต่ละตำแหน่งอย่างชัดเจน และควรจัดสรรพื้นที่ส่วนกลางให้บุคลากรในองค์กรสำหรับรับประทานอาหาร และเครื่องดื่ม เพื่อให้พวกเขาได้มีโอกาสพูดคุย พบปะ แลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างกันและกันในขณะทำงานให้มากขึ้น

จะเห็นได้ว่าเมื่อมีการพัฒนาเทคโนโลยีเพิ่มขึ้น และด้วยพฤติกรรมของชาว Gen Z ที่ใช้เวลาอยู่บนโลกออนไลน์เป็นส่วนใหญ่ พร้อมเชื่อมต่อกับงานตลอด 24 ชั่วโมง และสามารถทำงานได้จากทุกที่ อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์พร้อม ดังนั้น องค์กรจึงต้องปรับตัวให้เข้ากับยุคและสมัยในปัจจุบัน อย่างบางบริษัทในต่างประเทศก็เริ่มมีการปรับเปลี่ยนเรื่องของไลฟ์สไตล์รูปแบบการทำงานให้เข้ากับยุคสมัยมากขึ้น เปลี่ยนจากการเข้างานที่ต้องเข้ามาตอกบัตร เป็นการตอกบัตรออนไลน์ หรือบางบริษัทก็มีวันหยุดกลางสัปดาห์ทุกวันพุธอีกด้วย รวมถึงผู้บริหารหรือหัวหน้างานก็ควรรับฟังความคิดของพนักงาน สร้างปฏิสัมพันธ์ระหว่างคนต่างเจเนอเรชั่นอย่างต่อเนื่อง หรือให้ในสิ่งที่พนักงานร้องขอเล็ก ๆ น้อย ๆ เพื่อให้เกิดการทำงานร่วมกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ เกิดการทำงานร่วมกันเป็นทีมเวิร์ก

แต่เหนือสิ่งอื่นใด ผู้ประกอบการหรือองค์กรในเบื้องต้นควรให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหาทรัพยากรบุคคลในองค์กร คือ ทุกคนต้องยอมรับความเป็นมนุษย์ของกันและกันให้ได้ก่อน เห็นคุณค่าของผู้อื่น เปิดใจยอมรับฟังและเคารพซึ่งกันและกัน จากนั้นค่อยนำเรื่องเทคโนโลยี และระบบมาเติมเต็มช่องว่างต่าง ๆ และใช้งานให้เกิดประโยชน์สูงสุด

ในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านทรัพยากรมนุษย์ เข้าใจว่าผู้ประกอบการบางรายอาจรู้ตัวช้า และไม่ได้มองเห็นปัญหาที่แท้จริง ซึ่งดิฉันได้วิเคราะห์และเสนอแนะวิธีการแก้ไขปัญหาเบื้องต้น สำหรับให้ผู้ประกอบการ ในการเตรียมรับมือปัญหาเรื่องการทำงานของทรัพยากรมนุษย์ยุค Gen Z เพื่อสร้างความเข้าใจต่อพวกเขา และเกิดการทำงานร่วมกันอย่างมีความสุขมากยิ่งขึ้น

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0