โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไอที ธุรกิจ

รื้อแผนฟื้นฟูขสมก. เตรียมหั่นค่าโดยสาร-ลดพนักงาน

TNN ช่อง16

อัพเดต 19 พ.ย. 2562 เวลา 10.46 น. • เผยแพร่ 19 พ.ย. 2562 เวลา 10.46 น. • TNN Thailand
รื้อแผนฟื้นฟูขสมก. เตรียมหั่นค่าโดยสาร-ลดพนักงาน
ขสมก.รื้อแผนฟื้นฟู เตรียมปรับลดค่าโดยสารเหลือวันละ 30 บาท เลิกจ้างพนักงานเก็บค่าโดยสาร 5,000 คน

วันนี้ (19พ.ย.62) นายสุระชัย เอี่ยมวชิรสกุล ผู้อำนวยการองค์การขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (ขสมก.) เปิดเผยว่า ในวันที่ 21 พ.ย.นี้ เวลา 13.00 น. ขสมก.จะจัดการประชุมเชิงปฏิบัติการ แผนการพื้นฟูขสมก. โดยมีเป้าหมาย 3 ประการคือ 1.การแก้ปัญหาขสมก.อย่างยั่งยืน 2.การยกระดับคุณภาพงานบริการ 3.การลดภาระค่าใช้จ่ายประชาชน เป็นสำคัญ ตามนโยบายของนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม

ทั้งนี้ประเด็นสำคัญที่จะมีการระดมสมอง ในการประชุมเชิงปฏิบัติการครั้งนี้ รมว.คมนาคม ให้หลักคิดว่า จะต้องทำให้ทุกคน ทุกฝ่ายได้ประโยชน์ องค์กรขสมก.จะต้องหลุดพ้นจากสภาพหนี้สินล้นพ้นตัว ไม่ใช่แก้ปัญหาหนี้เก่า ด้วยการก่อหนี้ใหม่ พนักงานต้องมีขวัญกำลังใจที่ดีในการทำงาน ประชาชนต้องได้รับบริการที่ดี มีค่าใช้จ่ายลดลง และสังคมส่วนรวม ไม่ต้องมีส่วนร่วมรับภาระหนี้สินของขสมก.อีก ทั้งนี้หากมีความจำเป็นที่จะต้องมีผู้ได้รับผลกระทบเช่น พนักงานบางส่วนต้องพ้นจากการปฏิบัติหน้าที่ เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างจะต้องมีมาตรการชดเชยสูงสุด และคำนึงถึงความเป็นจริงในการดำรงชีวิตต่อไปอย่างเป็นธรรม

สำหรับเป้าหมายหลักของการฟื้นฟู ขสมก. 1.แก้ปัญหาหนี้สินขสมก. และสร้างความแข็งแรงให้แก่ขสมก.อย่างยั่งยืน จะต้องไม่ก่อหนี้ใหม่อีก ซึ่งเป็นหลักการที่ทำให้มีการศึกษา จัดทำแผนฟื้นฟู ขสมก.กันใหม่ จากที่ให้มีการซื้อรถ 3,500 คัน ซึ่งต้องใช้งบประมาณ มากกว่า 20,000 ล้านบาท ขสมก.ไม่อยู่ในสถานะที่จะจัดซื้อได้ และเป็นภาระงบประมาณของประเทศ จึงมีการเสนอให้ใช้วิธีการจ้างผู้ประกอบการมาให้บริการ แล้วนำรายได้จากการให้บริการมาจ่ายเป็นค่าจ้าง ซึ่งปัจจุบัน ขสมก.ได้ดำเนินการอยู่แล้วหลายเส้นทาง เป็นวิธีการที่จะไม่ต้องสร้างหนี้ให้ ขสมก.และไม่เป็นภาระแก่รัฐบาล ที่ต้องเอาเงินภาษีประชาชน มาอุดหนุนและแก้ปัญหาหนี้สิน ขสมก.ในที่สุด

2.การยกระดับบริการที่ดี และลดค่าใช้จ่ายให้แก่ประชาชน เพื่อลดภาระค่าครองชีพประชาชนที่มีรายได้น้อย ซึ่งเป็นนโยบายหลักของ รมว.คมนาคม และผลการศึกษาของคณะทำงาน ขสมก.พบว่ามีความเป็นไปได้ที่จะสามารถลดค่าใช้จ่ายการเดินทางของประชาชนได้ จากแผนฟื้นฟูเดิมที่ประชาชนมีค่าเดินทาง เฉลี่ยวันละ 48 บาท เป็นวันละ 30 บาท เมื่อใช้รถปรับอากาศ โดยมีเงื่อนไขที่จะต้องมีการปรับเส้นทางการเดินรถให้บริการประชาชน ให้เป็นระบบเชื่อมต่อสายหลักกับสายรองอย่างครบถ้วน และใช้ระบบการจัดเก็บค่าโดยสารระบบเดียวกัน ซึ่งเป็นสำคัญประเด็นที่จะนำเสนอในที่ประชุมเชิงปฏิบัติการ ควบคู่ไปกับการยกระดับบริการด้วยการใช้รถปรับอากาศ ทั้งระบบ และเป็นรถที่ใช้เชื้อเพลิงที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมคือ NGV หรือ ไฟฟ้า เพื่อลดปริมาณมลพิษ PM2.5

3.การสร้างขวัญกำลังใจที่ดีแก่พนักงานขสมก. และให้ความเป็นธรรมแก่พนักงาน ที่จะได้รับผลกระทบจากแผนฟื้นฟู ซึ่งจากการศึกษา มีเพียงกลุ่มเดียวคือ พนักงานเก็บค่าโดยสารประมาณ 5,000 คน เนื่องจากรถโดยสารในปัจจุบันนี้ใช้ระบบ E-TICKET ซึ่งจะต้องมีการจ่ายเงินชดเชย อย่างเหมาะสม และเป็นธรรม ในเบื้องต้นคาดว่าจะใช้เงินชดเชย ประมาณ 5,000 ล้านบาทและดำเนินการอย่างนุ่มนวล ร่วมกับองค์กรตัวแทนพนักงาน คือ สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจขสมก.

4.การดำเนินการด้วยระบบธรรมาภิบาล และพร้อมให้ตรวจสอบได้ทุกขั้นตอน โดยเริ่มตั้งแต่แผนฟื้นฟูที่จะต้องให้ทุกฝ่าย ทุกหน่วยที่เกี่ยวข้อง มีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็น และ เปิดรับฟังเสียงประชาชนผู้ใช้บริการ มากที่สุด

ทั้งนี้ ขสมก.เชื่อว่า ด้วยแนวทาง 4 ประการ ที่จะนำเสนอในที่ประชุมเชิงปฏิบัติการ วันที่ 21 พ.ย.นี้จะทำให้ได้รับความคิดเห็นที่ดีจากผู้ร่วมประชุม และจะได้นำแผนฟื้นฟู และข้อเสนอจากที่ประชุม รายงานให้ประชาชนผู้ใช้บริการได้รับทราบทางเว็บไซต์ ขสมก.เพื่อให้ประชาชนได้ร่วมแสดงความเห็นด้วย และมีความมั่นใจว่า แนวทางที่จะนำเสนอนี้เป็นแนวทางที่จะแก้ปัญหา ขสมก.สร้างความเข้มแข็งให้แก่ ขสมก.อย่างยั่งยืน ไม่เป็นภาระของรัฐบาลอีกต่อไป ที่สำคัญที่สุดคือ จะเป็นแนวทางที่ทำให้ประชาชนได้ใช้บริการที่ดี และมีค่าใช้จ่ายการเดินทาง ซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายที่สำคัญของปัญหาค่าครองชีพของประชาชนในกรุงเทพมหานคร และปริมณฑล

เกาะติดข่าวที่นี่ 

website: www.TNNThailand.com  
facebook : TNNThailand 
twitter : @TNNThailand 
Line : @TNNThailand 
Youtube Official : TNNThailand

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0