โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

"รื่นวดี" ภารกิจปฏิรูปกรมบังคับคดี สู่บทบาทใหม่ทรานส์ฟอร์ม ก.ล.ต.

ประชาชาติธุรกิจ

เผยแพร่ 20 เม.ย. 2562 เวลา 15.30 น.
edi01220462p1

จากบทบาท “กรมบังคับคดี” ซึ่งเป็นศูนย์รวมลูกหนี้มีปัญหาไม่มีทางออก จนต้องมาจบที่การถูกยึดทรัพย์ แต่ขณะเดียวกันก็ถือเป็น “ขุมทรัพย์ใหญ่” เพราะมีทรัพย์สินที่ถูกบังคับคดีกองรวมกันหลายแสนล้าน

งานของกรมบังคับคดี ในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา ถือได้ว่าพลิกโฉมไปอย่างมาก จากฝีมือของ “รื่นวดี สุวรรณมงคล” อธิบดีกรมบังคับคดี ที่เปลี่ยนมุมมองและปฏิรูปการทำงานที่มองว่า กรมบังคับคดีถือเป็นหนึ่งหน่วยงานเศรษฐกิจสำคัญ ที่สามารถช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจจากการผลักดันทรัพย์สินที่ติดล็อกจากที่ถูกยึดทรัพย์ให้ออกสู่ระบบเศรษฐกิจ ปีละกว่าแสนล้านบาท

“ประชาชาติธุรกิจ” มีโอกาสได้สัมภาษณ์พิเศษ“รื่นวดี สุวรรณมงคล” อธิบดีกรมบังคับคดี ในช่วงโค้งสุดท้าย ก่อนจะไปรับตำแหน่งใหม่ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ในวันที่ 1 พ.ค.นี้ 

ขุมทรัพย์พร้อมขาย 2.4 แสน ล.

อธิบดีกรมบังคับคดีฉายภาพว่า ปีงบประมาณ 2562 ที่ผ่านมา 6 เดือน (ต.ค. 2561-มี.ค. 2562) กรมผลักดันทรัพย์สินออกไปได้ 65% ของเป้าหมายทั้งปีที่ตั้งไว้ 1.3 แสนล้านบาท หรือ 8.49 หมื่นล้านบาท โดยเป็นการขายทอดตลาด 3.7 หมื่นล้านบาท งดการบังคับคดี 1.3 หมื่นล้านบาท และถอนการบังคับคดี 3.45 หมื่นล้านบาท

“2 ไตรมาสที่ผ่านมา ทำได้สูงกว่าช่วงเดียวกันปีก่อนถึง 26% เป็นผลจากการไกล่เกลี่ยที่มากขึ้น แล้วกรมก็มีวิธีการขายเชิงรุก ทำงานวันเสาร์ด้วย มีมหกรรมการขายทอดตลาดในต่างจังหวัด ทำให้คนเข้ามาซื้อทรัพย์มากขึ้น สังเกตได้ว่าเป็นคนหน้าใหม่ ๆ เข้ามาร่วมประมูลถึง 20% ซึ่งก็ส่งผลให้ราคาทรัพย์ดีขึ้นด้วย”

โดย ณ สิ้นเดือน มี.ค. 2562 กรมมีทรัพย์พร้อมขาย 2.41 แสนล้านบาท จาก 1.52 แสนคดี แบ่งเป็นที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้าง 1.14 แสนล้านบาท ที่ดินว่างเปล่า 9.85 หมื่นล้านบาท และห้องชุดกว่า 2.87 หมื่นล้านบาท

ดันทรัพย์กลับสู่ระบบปีละแสนล้าน

“รื่นวดี” เล่าว่า ปัจจุบันกรมบังคับคดีจะพูดถึงการผลักดันทรัพย์สินออกจากระบบ จะไม่ใช่การขายทรัพย์สินอย่างเดียว อย่างเมื่อปีงบประมาณ 2561 สามารถผลักดันทรัพย์สินออกไปได้ 1.47 แสนล้านบาท โดยมาจากขายทรัพย์ทอดตลาดแค่ 6.1 หมื่นล้านบาท งดการบังคับคดีอีก 2.1 หมื่นล้านบาท และถอนการบังคับคดี 6.4 หมื่นล้านบาท ซึ่งการถอนมาจากกระบวนการไกล่เกลี่ยนั่นเอง คือแม้ว่ากรมบังคับคดีจะยึดทรัพย์มาแล้ว แต่ลูกหนี้ก็ยังสามารถมาเจรจาไกล่เกลี่ยกับเจ้าหนี้ได้ ซึ่งวิธีนี้ทำให้สมประโยชน์ทั้งสองฝ่าย ผลก็ออกมาเหมือนกัน คือผลักดัน ทรัพย์สินออกจากการบังคับคดี ทำให้เศรษฐกิจโดยรวมคล่องตัวขึ้น ไม่จำเป็นต้องจบด้วยการขายทอดตลาดอย่างเดียว

“เดี๋ยวนี้ลูกหนี้ไม่กลัวที่จะมากรมบังคับคดีแล้ว และกรมก็ไม่ได้เน้นการขายทอดตลาด แต่เป้าหมายคือการผลักดันทรัพย์สินออกจากกรมบังคับคดี เพื่อให้เข้าสู่ระบบเศรษฐกิจได้คล่องตัวขึ้น โดยไม่ต้องรอขายทอดตลาดอย่างเดียว”

เน้นไกล่เกลี่ยประนอมหนี้

“4 ปีกว่าที่เข้ามา โจทย์ที่ทำก็คือ เน้นศักยภาพลูกหนี้รายย่อย กางให้เจ้าหน้าที่ดูว่า กลุ่มเป้าหมายคืออะไร เรามองไปที่หนี้ครัวเรือน ซึ่งก่อนจะเข้ามา กรมก็มีกลไกเรื่องไกล่เกลี่ยหนี้อยู่ แต่เรามาระเบิดออกให้กว้างขึ้น ให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ ทำเชิงรุกในการเข้าไปหาพันธมิตร ทั้งสถาบันการเงิน บัตรเครดิต ห้างร้านต่าง ๆ กยศ. เอสเอ็มอีแบงก์” นางรื่นวดีกล่าวและว่า

ขณะเดียวกัน ที่ผ่านมาได้มีการแก้กฎหมายในประเด็นเรื่องประนอมหนี้ให้มีกรอบเวลา แก้ปัญหาลูกหนี้ซื้อเวลาไปเรื่อย ๆอธิบดีกรมบังคับคดีกล่าวว่า วันนี้โครงการไกล่เกลี่ยหนี้ชั้นบังคับคดี ช่วยให้คุณภาพชีวิตลูกหนี้ดีขึ้น และทำให้ลูกหนี้ยินดีเดินเข้ามาหากรมบังคับคดีกันมากขึ้น ขณะที่กระบวนการผลักดันทรัพย์ที่ถูกบังคับคดีมามีความคล่องตัวมากขึ้น ทำให้เจ้าหนี้ก็พร้อมทำงานร่วมกันมากขึ้น

“ถ้าเจ้าหนี้ไปว่าจ้างสืบทรัพย์ ยึดทรัพย์ ต้นทุนจะสูง อย่างที่ผ่านมากรมได้ร่วมกับทางบัตรเครดิตกรุงไทย เป็นเจ้าแรกในการจัดมหกรรมไกล่เกลี่ยหลังคำพิพากษา ก็มีคนเข้าร่วมกว่า 4,000-5,000 ราย ก็ช่วยให้เจ้าหนี้ทำงานได้ง่ายขึ้น”

รื้อ พ.ร.บ.ล้มละลายขับเคลื่อน ศก.

“รื่นวดี” เล่าถึงภารกิจหลังเข้ามารับตำแหน่งเมื่อ 17 ก.ค. 2557 ว่า รับนโยบายรัฐบาลมาผลักดันเรื่องสำคัญหลายเรื่อง เรื่องแรกก็คือ การปรับปรุงกฎหมายให้ทันสมัย เป็นมาตรฐานสากล ซึ่งกรมบังคับคดีจะเกี่ยวกับกฎหมายประมวลพิจารณาความแพ่ง ภาคบังคับคดี กับพระราชบัญญัติล้มละลาย รวมถึงเรื่องการช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ

ประเด็นสำคัญ คือ การแก้ไขกฎหมายเพื่อเปิดกระบวนการใหม่ คือ ฟื้นฟูกิจการขนาดเล็ก (เอสเอ็มอี) ให้เกิดขึ้นอย่างง่าย สะดวก และประหยัด คือ ให้คนตัวเล็กเข้าฟื้นฟูกิจการได้ โดยไม่ต้องเป็นหนี้สินล้นพ้นตัว แค่เพียงไม่สามารถชำระหนี้ได้ การแก้ส่วนนี้ธนาคารโลกถือว่าเป็นการปฏิรูปกฎหมายล้มละลายครั้งสำคัญ ทำให้คะแนนการจัดอันดับ “Ease of Doing Business” พุ่งขึ้นมา จนวันนี้ยังเป็นอันดับ 1 ของอาเซียนอยู่ แซงหน้าสิงคโปร์ขึ้นมา

อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่ปี 2559 ถึงปัจจุบัน มีเอสเอ็มอีที่ยื่นขอฟื้นฟูกิจการ และศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูมีเพียง 2 รายเท่านั้น อธิบดีกรมบังคับคดีระบุว่า ส่วนหนึ่งเกิดจากการที่กรมมีนโยบายให้ไกล่เกลี่ยหนี้ในชั้นบังคับคดี มีการปรับโครงสร้างหนี้โดยไม่ต้องเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟู ซึ่งถึงตอนนี้ก็ปรับโครงสร้างหนี้ไป 5,000-6,000 ล้านบาทแล้ว

ปลดล็อกขายทอดตลาดคอนโดฯ

ขณะเดียวกันก็ได้มีการพลิกโฉมงานของกรมบังคับคดี ในการร่วมกับกฤษฎีกาแก้ไขประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (วิฯ แพ่ง) ภาคบังคับคดี ในการเปิดให้สามารถซื้อขายทรัพย์ทางอิเล็กทรอนิกส์ ทรัพย์ที่ไม่มีรูปร่าง ทรัพย์สินทางปัญญา และให้เจ้าหนี้/ลูกหนี้ค้านก่อนเปิดการขาย และการกำหนดระยะเวลาการขายที่จะเกิดขึ้นหลังจากยึดทรัพย์ภายใน 60 วัน เพื่อให้กระบวนการต่าง ๆ รวดเร็วขึ้น

นอกจากนี้ กรมได้ทำแอปพลิเคชั่น “LED Property” ให้สามารถค้นหาทรัพย์ได้ง่ายขึ้น มีความโปร่งใส รวมถึงแอป “LED Property Plus” สำหรับการค้นหาคอนโดมิเนียมติดรถไฟฟ้า ส่งผลให้การขายทอดตลาดคอนโดฯทำได้เร็วขึ้น

ขณะเดียวกันได้แก้กฎหมายวิฯ แพ่ง ฉบับที่ 26 ปลดล็อกให้ผู้ซื้อทรัพย์ที่เป็นคอนโดฯจากการขายทอดตลาด ไม่ต้องรับภาระค่าส่วนกลางที่ค้างอยู่ ทำให้ปัจจุบันทรัพย์ที่เป็นคอนโดฯในพอร์ตเหลือไม่ถึง 10% จากที่ก่อนนั้นมีอยู่ 38%

โค้งสุดท้ายยกฐานะเรกูเลเตอร์

สำหรับภารกิจในช่วงโค้งสุดท้ายของตำแหน่งอธิบดีกรมบังคับคดี “รื่นวดี” เล่าว่าเป็นการปฏิรูปกรมบังคับคดี โดยขณะนี้ได้มีการยกร่าง พ.ร.บ.เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เอกชน แยกบทบาทให้กรมบังคับคดีเป็นเรกูเลเตอร์ (ผู้กำกับดูแล) และเปิดให้บริษัทเอกชนเข้ามาขึ้นทะเบียนเป็นเจ้าหน้าที่พิทักษ์ทรัพย์แทนกรมบังคับคดี โดยจะเป็นผู้ให้ใบอนุญาต (ไลเซนส์) กับเอกชน

ซึ่งในต่างประเทศ ทั้งคดีล้มละลาย หรือคดีแพ่ง เขาใช้เอกชนทำหมด เพราะถือว่าเป็นข้อพิพาทของเอกชน ต้องมีค่าใช้จ่ายกันเอง ไม่ใช่ให้รัฐเข้าไปรับภาระ โดยขณะนี้กฎหมายได้รับฟังความคิดเห็นเรียบร้อยแล้ว แต่คงต้องเสนอรัฐบาลหน้า

ต่อไปงานพิทักษ์ทรัพย์ จะถือว่าเป็น “วิชาชีพเฉพาะ” โดยปัจจุบันกรมเตรียมยกฐานะเจ้าพนักงานบังคับคดีแพ่ง และเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ ขึ้นเป็นวิชาชีพเฉพาะทาง โดยมีการจัดตั้งสถาบันวิชาชีพบังคับคดีขึ้นมา เตรียมเสนอคณะรัฐมนตรีภายใน เม.ย.นี้

ส่วนภารกิจใหม่ในบทบาทเลขาธิการ ก.ล.ต. ที่จะเริ่มงานในวันที่ 1 พ.ค.นี้ “รื่นวดี” บอกว่า ขณะนี้ยังเล่าอะไรมากไม่ได้ เนื่องจากจะต้องเสนอแผนการดำเนินงานให้คณะกรรมการ ก.ล.ต.เห็นชอบก่อน อย่างไรก็ดี คงจะได้เห็นภาพการทรานส์ฟอร์มทางด้านดิจิทัลออกมาต่อเนื่องอย่างแน่นอน ทั้งในแง่กระบวนการทำงานและโครงสร้างองค์กร

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0