โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

บันเทิง

[รีวิว] The Cave นางนอน: ความตั้งใจดี แต่ในฐานะหนังบันเทิง ยังไม่โดน

Beartai.com

อัพเดต 19 พ.ย. 2562 เวลา 03.47 น. • เผยแพร่ 18 พ.ย. 2562 เวลา 17.00 น.
[รีวิว] The Cave นางนอน: ความตั้งใจดี แต่ในฐานะหนังบันเทิง ยังไม่โดน
[รีวิว] The Cave นางนอน: ความตั้งใจดี แต่ในฐานะหนังบันเทิง ยังไม่โดน

สนับสนุนเนื้อหาโดย Major Cineplex

เรื่องย่อ สร้างจากเหตุการณ์จริง “ภารกิจถ้ำหลวง” บอกเล่าเรื่องราวที่ไม่เคยเผยแพร่ที่ไหนมาก่อนผ่านมุมมองของอาสาสมัครที่ต้องเผชิญหน้ากับความเป็นความตายของหมูป่าทั้งสิบสามคน ความเสียสละและความมุ่งมั่นของพวกเขา เพียงเพื่อช่วยเหลือทั้ง 13 คนให้รอดปลอดภัยไม่ว่าจะอันตรายเพียงใดก็ตาม

ปรากฏการณ์ระดับโลกที่เกิดขึ้นในไทยเมื่อปีที่แล้วในนาม ภารกิจช่วยทีมหมูป่าอะคาเดมี 13 ชีวิต ณ ถ้ำหลวงขุนน้ำนางนอน ได้รับการถ่ายทอดออกมาเป็นสื่อภาพเคลื่อนไหวหลายต่อหลายชิ้น ทั้งรูปแบบสารคดี ที่ทั้งช่องโทรทัศน์ทั้งไทยทั้งเทศต่างแย่งกันนำเสนอ ตลอดจนฉบับภาพยนตร์บันเทิง (Fiction Film) ที่ค่ายต่าง ๆ รุมล้อมแย่งกันซื้อสิทธิ์ถ่ายทำจนในที่สุดก็มี 2 ค่ายสำคัญที่จะสร้างหนังจากเหตุการณ์ดังกล่าว คือมินิซีรีส์โดยเน็ตฟลิกซ์ที่เป็นเจ้าใหญ่ที่ดีลผ่านทางรัฐบาลไทย และอีกฉบับคือหนังยาวฉบับของผู้กำกับลูกครึ่งไทย-ไอริช นาม ทอม วอลเลอร์ (Tom Waller) ผู้เคยทำหนังอย่าง ศพไม่เงียบ Mindfulness and Murderer (2011) และเพชฌฆาต The Last Executioner (2014) ไปล่ารางวัลมาหลายเวทีในระดับนานาชาติ ก็ล้วนถูกจับตามองไม่แพ้กัน ด้วยความเป็นหนังที่ลงมือถ่ายทำฉับไวจากการเก็บเรื่องราวโดย แคทรินา กรอส (Katrina Grose) กับดอน ลินเดอร์ (Don Linder) สองนักเขียนบทที่เคยร่วมงานกับวอลเลอร์ในเพชฌฆาตมาแล้ว และหนังเรื่องนี้ก็จะออกฉายแซงหน้าฉบับของเน็ตฟลิกซ์เป็นเจ้าแรกของโลกด้วย

The Cave นางนอน
The Cave นางนอน

ผกก. ทอม วอลเลอร์ (ขวา)

ซึ่งการทำงานเก็บข้อมูลของทีมสร้างนั้นก็ถือว่ารอบด้านหลากหลายมุมทีเดียว ทั้งมุมข้าราชการไทย มุมชาวต่างชาติที่พยายามเข้ามาช่วย ชาวบ้านที่ยอมเสียสละที่นาให้น้ำขัง ตลอดจนคนไทยที่เดินทางมาแสนไกลเพื่อช่วยเหลือแม้โดนกีดกันก็ตาม น่าเสียดายเพียงว่าด้วยตัวเรื่องที่มีรายละเอียดบุคคลและเหตุการณ์เยอะมาก ๆ หนังจึงได้แต่จับนิดดึงหน่อยมาประกอบ ๆ เพื่อเล่า และทำให้สัดส่วนของแง่ลึกของตัวละครนำทั้งนักประดาน้ำที่เข้าไปช่วย หรือเหล่าเด็ก ๆ ที่ติดในถ้ำหลวงนั้น ออกจะผิวเผินไปสักหน่อย ยากที่จะทำให้คนดูอินเอาใจช่วยได้ และเหตุการณ์จุดเปลี่ยนสำคัญอย่างกรณีจ่าแซมก็ไม่คุ้มแก่เวลาที่เล่าเลยเพราะทำคนดูรู้สึกน้อยมาก จริง ๆ มันก็ลำบากกับการเล่าเรื่องที่คนดูรู้ดีอยู่แล้วทั้งอารมณ์ร่วมและรายละเอียดรายวันในช่วงเหตุการณ์จริงก่อนหน้านี้ แต่หนังมีเวลาจำกัดและผู้สร้างก็เลือกตัดตอนมาเล่าได้ไม่ดีพอเลยยิ่งไปกันใหญ่

The Cave นางนอน
The Cave นางนอน

ปัญหาใหญ่ของหนังที่ต้องพูดถึงอีกอย่างคือ แม้จะได้ตัวจริงเสียงจริงหลากหลายคนมาร่วมแสดงทั้ง จิม วอร์นีย์ (Jim Warny) ซึ่งเป็นนักดำน้ำชาวเบลเยียม เอริก บราวน์ (Erik Brown) ครูสอนดำน้ำชาวแคนาดา ถันเซี่ยวหลง (Tan Xiaolong) ครูสอนดำน้ำในถ้ำชาวจีน มิกโก พาซี (Mikko Paasi) นักดำน้ำชาวฟินแลนด์ และ นภดล นิยมค้า ผู้ใหญ่บ้านเจ้าของเครื่องสูบน้ำพญานาคจากจังหวัดเพชรบุรี ที่ร่วมปฏิบัติการจริงมาแสดงเป็นตัวเอง และได้ แม่ครูจำปา แสนพรม จากกลุ่มสืบสานศิลปวัฒนธรรมล้านนาตัวจริงมาร่วมถ่ายทอดจิตวิญญาณชาวเจียงฮายในฐานะชาวบ้านที่ยอมสละที่นาให้ระบายน้ำจากถ้ำ ในด้านดีคือเราได้สัมผัสฮีโรตัวจริงมาปรากฏบนแผ่นฟิล์มทำให้คนที่รู้จักเรื่องราวดีติดตามใกล้ชิดรู้สึกถึงความสมจริง แต่ในแง่ร้ายของดาบสองคมนี้กลับเด่นชัดกว่าเพราะเมื่อไม่ใช้นักแสดงอาชีพมาเล่น ก็ต้องยอมรับในขีดจำกัดการสื่อสารของตัวละครว่าคงจะเล่นอารมณ์ให้เข้าถึงหัวใจคนดูได้ยาก แน่นอนมีบางคนสอบผ่าน บางคนพอถูไถ และบางคนไม่อาจเล่นได้เลย แต่ทีมสร้างก็ดันทุรังผลักบุคคลตัวจริงเหล่านี้ให้ยิ่งมีบทเด่นบทนำเข้าไปอีก ทำให้กระแสการเล่าเรื่องที่เบาบางอยุ่แล้วยิ่งจืดจางทางอารมณ์เข้าไปอีกอย่างน่าเสียดาย

The Cave นางนอน
The Cave นางนอน

(ซ้าย) มิกโก พาซี (ขวา) จิม วอร์นีย์ ตัวจริงเสียงจริงร่วมแสดงเป็นตัวเอง

ด้านนักแสดงมืออาชีพชาวไทยก็มาร่วมโชว์ฝีไม้ลายมือกันทั้งรุ่นเล็กรุ่นใหญ่อย่าง เบสต์ เอกวัฒน์ นิวัฒน์วรปัญญา ในบทสำคัญ โค้ชเอก ก็ถือว่าพอมีฉากให้โชว์นิดหน่อย แต่อย่างว่าเพราะหนังไม่ได้เปิดโอกาสให้บทนี้จริงจังก็เลยจบไปแค่นั้น ส่วนดาราที่ไม่รู้เชิญมาทำร้ายทำไมนั้นก็คงต้องยกให้ นิรุตติ์ ศิริจรรยา ที่มีฉากปรากฏตัวอยู่ 2-3 วินาที ในบทข้าราชการชั้นผู้ใหญ่สักคนที่เข้าพื้นที่ในวันแรก ๆ ซึ่งหลังจากนั้นหนังก็ไม่กล่าวถึงอีกเลย เรียกว่าเสียของสุด ๆ พอมองในแง่นักแสดงแบบนี้ก็ต้องบอกว่าผู้กำกับเลือกแนวทางสายสารคดีมาผสมแนวเรื่องแต่ง แต่ก็กลับถูกวิสัยทัศน์ตัวเองทำลายงานตัวเองเสียฉิบ อาจเพราะชั่งจุดดีจุดเสียของการใช้ดาบสองคมนี้ไม่ขาดด้วย

The Cave นางนอน
The Cave นางนอน

สิ่งที่น่าชื่นชมสำหรับหนังเรื่องนี้ก็มีหลายส่วนเช่นกัน ทั้งการถ่ายภาพที่สมจริงแบบแฮนด์เฮลด์ราวหนังสารคดี ดั่งผู้ชมได้เข้าไปยืนไปคลุกวงในภารกิจอย่างใกล้ชิด มีการดีไซน์มุมกล้องที่น่าสนใจหลายครั้งและเหมาะสมกับฉากที่นำเสนอทั้งฉากการดำน้ำ ฉากเปลลำเลียงที่ถูกส่งออกไป และฉากโดรนต่าง ๆ ที่สวยงามแปลกตามาก ด้านเพลงเองก็มีการใช้แนวดนตรีไทยประยุกต์ได้อย่างหวนให้เข้าบรรยากาศแห่งการโดดเดี่ยวและถูกทอดทิ้ง เรียกว่าเพลงไทยขึ้นมาทีไรเป็นได้เด่นเข้าหูเสียทุกครั้งทีเดียว

และไม้เด็ดที่หนังทำออกมาได้เกือบดีมาก ๆ คือการแอบไปเสียดสีระบบราชการไทยที่ทุกคนรู้ดีทั้งขั้นตอนซับซ้อนเชื่องช้า ลำดับการให้ความสำคัญที่ดูไม่เข้าท่าไร้เหตุผลอยู่พอสมควร ประเด็นนี้หนังเอามาขยี้หลายครั้งทั้งผ่านสายตาอาสาสมัครชาวไทยเองและต่างชาติด้วย (ลองดูในคลิปด้านล่างนี้นะ) โดยเฉพาะฉากของลุงนายกนี่ไม่รู้ว่าจงใจขนาดไหนแต่ดูจะมีอิมแพกต์ต่อคนดูได้มากทีเดียวทั้งผู้ชมชาวไทยและต่างชาติที่มาดูรอบสื่อ ไม่น่าเชื่อว่าลุงตู่ของเราเป็นคาแรกเตอร์ที่สื่อสารได้ในระดับสากลทีเดียว เป็นฉากที่น่าจดจำมากที่สุดฉากหนึ่งในหนังเลยล่ะ มาดูฉากนี้ฉากเดียวก็คุ้มนะ 555

สรุป ก็เป็นหนังที่ให้ความรู้สึกร่วมน้อยเหมือนดูสารคดีเหมือนดูข่าวที่จำลองเหตุการณ์ตามคำบอกเล่ามาตัดสลับรัดรวบย่อให้อยู่ในเวลาชั่วโมงครึ่งเสียมากกว่า พอดูได้แต่ให้ดีรอดูมินิซีรีส์ยาว ๆ กว่านี้น่าจะอินกว่า

นางนอน หรือจะสู้นอนดูหนังสนุก ๆ เลือกที่นั่งสบาย ๆ ก่อนใคร กดที่รูปด้านล่างได้เลย

 

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส

แชร์โพสนี้

[รีวิว] The Cave นางนอน: ความตั้งใจดี แต่ในฐานะหนังบันเทิง ยังไม่โดน
[รีวิว] The Cave นางนอน: ความตั้งใจดี แต่ในฐานะหนังบันเทิง ยังไม่โดน
0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0