โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ธุรกิจ-เศรษฐกิจ

รัฐบาลทุ่ม 2 หมื่นล้าน! อุ้มชาวสวนยาง จ่ายเงินอุดหนุน ชดเชยส่วนต่างให้ด้วย

Khaosod

อัพเดต 19 พ.ย. 2561 เวลา 03.49 น. • เผยแพร่ 14 พ.ย. 2561 เวลา 10.00 น.
Un5555titled-1

รัฐบาลทุ่ม 2 หมื่นล้าน! อุ้มชาวสวนยาง จ่ายเงินอุดหนุน ชดเชยส่วนต่างให้ด้วย

เมื่อวันที่ 14 พ.ย. นายกฤษฎา บุญราช รมว.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังการหารือร่วมกับผู้ส่งออกยางพารา 5 ราย ประกอบด้วย บริษัท ไทยฮั้วยางพารา จำกัด (มหาชน) บริษัท วงศ์บัณฑิต จำกัด บริษัท ศรีตรังแอโกรอินดัสทรี จำกัด (มหาชน) และบริษัท เซาท์แลนด์ รับเบอร์ จำกัด ว่า ได้หารือแนวทางแก้ไขปัญหาราคายางพารา เพื่อกำหนดมาตรการเสนอให้คณะรัฐมนตรี(ครม.) พิจารณาในวัน 20 พ.ย.นี้

นายกฤษฎา กล่าวต่อว่า มาตรการจะแยกออกเป็น 2 ส่วนคือ 1.มาตรการเพื่อเสริมความเข้มแข็งชาวสวนยางและพัฒนาอาชีพเกษตรกรชาวสวนยาง ที่ขึ้นทะเบียนไว้กับการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ทั้งเจ้าของสวนยาง และคนกรีดยาง 1.4 แสนครัวเรือน โดยจะเสนอ ครม.ขอใช้งบกลางที่เหลืออยู่ประมาณ 10,000 ล้านบาท เพื่ออุดหนุน ในอัตราที่เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับการอุดหนุนในปี 60 ที่กำหนดไว้ 15 ไร่ ไร่ละ 1,500 บาท แนวทางนี้ได้ให้ กยท. พิจารณาในรายละเอียดว่าควรจะเพิ่มเป็นเงินให้มากขึ้นกว่าไร่ละ 1,500 บาท หรือเพิ่มจำนวนไร่ให้มากขึ้น เพื่อช่วยเหลือชาวสวนยางให้ได้มากที่สุด

2.มาตรการนี้ได้มอบหมายให้ กยท. ประสานกับภาคเอกชน สถาบันเกษตรกรให้ตั้งจุดรับซื้อยาง 3 ชนิดทั่วประเทศ คือยางก้อนถ้วย น้ำยางสด และยางแผ่นดิบ กรณีที่ราคาต่ำกว่าที่กำหนดคือ ยางก้อนถ้วย ชนิดยางแห้ง100 % กิโลกรัมละ 35 บาท น้ำยางสด กิโลกรัมละ 37 บาท และยางแผ่นดิบกิโลกรัมละ 40 บาท รวมถึงให้ กยท. เข้าไปชดเชยส่วนต่าง โดยใช้เงินกองทุนพัฒนายางพารา คาดว่าจะอยู่ที่กิโลกรัมละ 2-3 บาท ในทุกจุดรับซื้อจะมีเจ้าหน้าที่กยท.ระดับจังหวัดและอำเภอ เข้าไปตรวจสอบการซื้อขายทุกครั้ง กรณีนี้จะใช้เงินประมาณ 10,000 ล้านบาท หากเงินในกองทุนไม่เพียงพอ ก็สามารถขอรับการสนับสนุนจากรัฐบาลได้ อย่างไรก็ตาม หากราคายางสูงกว่าที่กำหนดไว้ก็ไม่จำเป็นต้องเข้าไปชดเชย

นายกฤษฎา กล่าวอีกว่า ส่วนการมาตรการใช้ยางในประเทศนั้น เตรียมเสนอให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เห็นชอบแนวคิดการผลิตอุปกรณ์เครื่องนอนให้แก่หน่วยราชการ ได้แก่ โรงเรียน โรงพยาบาล กระทรวงพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม กระทรวงกลาโหม เป็นต้น โดยขณะนี้ได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องสำรวจความต้องการใช้อุปกรณ์ทั้งหมด และแจ้ง ข้อมูลกับกระทรวงเกษตรฯ ภายในวัน 16 พ.ย. นี้ อย่างไรก็ตามหากแนวคิดนี้ผ่านความเห็นชอบ กยท.จะต้องเป็นผู้ดูแลเรื่องการรับซื้อน้ำยางกับสถาบันเกษตรกรเพื่อนำมาผลิตอุปกรณ์การนอนตามความต้องการ

ในส่วนของการใช้ยางพาราในการทำถนนซึ่งเป็นโครงการของคมนาคม พบว่ามีปัญหาในเรื่องของราคาการสร้าง เมื่อเทียบดูจะพบว่าถนนที่ทำจากยางพารามีราคาสูงกว่าการทำถนนโดยใช้ถนนแอสฟัลท์ติกคอนกรีตครึ่งหนึ่ง แต่ถ้าดูในแง่ความคงทน ถนนยางพารามีอายุใช้งานยาวนานถึง 7-8 ปี แตกต่างจากถนนแอสฟัลท์ติกคอนกรีตซึ่งมีอายุการใช้งาน 5 ปี ดังนั้นกระทรวงเกษตรฯ กำลังดูในทางกฎหมายว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้าง ว่าถ้าให้หน่วยงานราชการเหล่านั้นมาซื้อจะผิดว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างไหม เพราะถนนยางพาราแพงกว่า

“ที่ผ่านมากยท.เคยซื้อยางมาเก็บไว้ในปี 56-57 ประมาณ 100,000 ตัน เสียค่าเก็บโกดังปีละประมาณ 120 ล้านบาท ซึ่งเสียเงินไปโดยไม่ได้ประโยชน์ จึงเป็นเหตุผลให้รัฐบาลนี้และกระทรวงเกษตรฯ ไม่สามารถนำเงินไปซื้อยางพารามาเก็บไว้เฉยๆ ได้ นอกจากกระทรวงเกษตรฯ ยังมีแนวทางจะรับประกันรายได้ให้กับเกษตรกร โดยให้สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร(สศก.)ทำการศึกษา คาดจะทราบผลภายใน 1 เดือน”

นายกฤษฎา กล่าวต่อว่า ขณะที่มาตรการระยะกลาง ได้เชิญบริษัทผู้ผลิตยางล้อ 7 บริษัทให้เข้าตั้งโรงงานในประเทศ กระทรวงเกษตรฯพร้อมจะหารือเพื่ออำนวยความสะดวกให้ได้มากที่สุด ทั้งนี้ในปีที่ผ่านมาไทยผลิตยางพาราได้ 4.5 ล้านตัน แบ่งเป็นใช้ในประเทศ 500,000 ตัน และส่งออก 4 ล้านตัน แต่ทั้งนี้เกษตรกรต้องเข้าใจว่าปัจุบันกำลังซื้อของหลายประเทศประสบภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ การกีดกันทางการค้า ทำให้การส่งออกมีปัญหา เกิดการกดราคายางพาราในประเทศ

ด้านนายเยี่ยม ถาวโรฤทธิ์ รักษาการผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การดำเนินงานโครงการส่งเสริมการใช้ยางของหน่วยงานรัฐ มีเป้าหมายเพื่อเพิ่มปริมาณการใช้ยางภายในประเทศผ่านหน่วยงานของรัฐ ซึ่งปัจจุบันมีหน่วยงานที่เข้าร่วม 8 กระทรวง ได้แก่ กระทรวงคมนาคม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงกลาโหม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงมหาดไทย กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬากระทรวงศึกษาธิการ และกระทรวงยุติธรรม

โดยปี 2561 ใช้งบประมาณดำเนินการไปแล้วกว่า 11,996 ล้านบาท เป็นน้ำยางข้น 8,802.40 ตัน ยางแห้ง 785.85 ตัน ซึ่งส่วนใหญ่นำไปสร้างหรือปรับปรุงถนน อยู่ระหว่างดำเนินการ และจัดซื้อจัดจ้างอีกกว่า 12,912 ล้านบาท เป็นน้ำยางข้น 37,823.78 ตัน สำหรับการซื้อยางตามโครงการส่งเสริมการใช้ยางของหน่วยงานภาครัฐจากนี้ จะดำเนินการผ่าน กยท. ซึ่งทำหน้าที่เป็นเป็นหน่วยงานหลักในการรวบรวมความต้องการใช้ยาง และเป็นศูนย์กลางในการรับซื้อยางผ่านสถาบันเกษตรกรชาวสวนยางที่ขึ้นทะเบียนกับ กยท.

“ก่อนหน้านี้หน่วยงานต่างๆ ที่เข้าร่วมโครงการติดปัญหาเรื่องงบประมาณและวิธีการจัดจ้างที่กรมบัญชีกลางยังไม่ได้กำหนดราคากลางของการทำถนนยางพาราดินซีเมนต์ ทำให้การจัดซื้อจัดจ้างล่าช้า แต่มีบางหน่วยงานใช้งบประมาณปกติเพื่อดำเนินการแล้ว ซึ่งในส่วนของงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น ประจำปี 2561 ได้รับการจัดสรรเมื่อเดือนเม.ย. งบประมาณเพิ่มเติมได้รับอนุมัติไปเมื่อวันที่ 31 พ.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งกำลังเตรียมการจัดซื้อยางผ่าน กยท. ตามงบประมาณที่ได้รับการจัดสรร”

สำหรับราคายางแผ่นรมควันปรับตัวตามสภาวะตลาด ในขณะที่ยังคงมีความต้องการของผู้ซื้อภายในประเทศ และมีปริมาณฝนตกชุกในบางพื้นที่ปลูกยาง ราคากลางเปิดตลาด ประจำวันนี้อยู่ที่ 39.57 บาทต่อกก. โดยปิดตลาดสูงสุด ณ ตลาดกลางนครศรีธรรมราช ราคาอยู่ที่ 40.67 บาทต่อกก. ส่วนตลาดกลางสงขลาอยู่ที่ 39.41 บาทต่อกก. และตลาดกลางสุราษฎร์ธานี อยู่ที่ 39.37 บาทต่อกก.

ไม่พลาดข่าวสำคัญ แค่กดเป็นเพื่อนกับ ไลน์@ข่าวสด ที่นี่

เพิ่มเพื่อน
เพิ่มเพื่อน

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0