โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไอที ธุรกิจ

รักษาความมั่งคั่งอย่างไร เมื่อดอกเบี้ยลงมาอยู่ในระดับต่ำสุดในประวัติศาสตร์

Finnomena

อัพเดต 24 ก.พ. 2563 เวลา 03.56 น. • เผยแพร่ 24 ก.พ. 2563 เวลา 03.55 น. • DR.JITIPOL PUKSAMATANAN

เปิดปีมาไม่นานเท่าไหร่ นักลงทุนหลายคนก็ต้องรู้สึกร้อนๆ หนาวๆ ไปตามกัน ซึ่งไม่แน่ใจว่าความรู้สึกเช่นนี้ เกิดจากอากาศที่เปลี่ยนแปลง หรือไวรัสที่กำลังระบาด หรือตลาดการเงินที่ผันผวนกันแน่

แต่ผมมั่นใจว่าผู้ฝากเงินหรือผู้ที่ลงทุนเฉพาะในพันธบัตรระยะสั้น กำลังจะเป็นกลุ่มที่จะต้องเจอกับสภาวะที่ไม่สบายตัวมากที่สุด เพราะเมื่อต้นปีที่ผ่านมา ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ปรับ "ลด" อัตราดอกเบี้ยนโยบายลงมาสู่ระดับที่ต่ำสุดในประวัติกาลที่ 1.00% ซึ่งก็หมายความว่า นักลงทุนเหล่านี้จะต้องเจอกับความเสี่ยงที่ผลตอบแทนไม่เพียงพอต่อการรักษาความมั่งคั่งเอาไว้ได้ในระยะยาว แต่จะให้รับความเสี่ยงมากขึ้นทันที คงไม่ต่างจากปลาน็อคน้ำ

จนหลายคนเกิดคำถามว่า "ถ้ารู้ตัว และอยากปรับ แต่ก็ยังไม่กล้ารับความเสี่ยงสูง ควรขยับตัวอย่างไรในภาวะเช่นนี้"

ที่จริงแล้วคำถามนี้ไม่มีคำตอบตายตัว เพราะแต่ละสินทรัพย์ก็มีรูปแบบความเสี่ยงที่ต่างกัน ขณะเดียวกันเป้าหมายของนักลงทุนหรือความเสี่ยงที่รับได้ ก็มักแตกต่างกันด้วย

ทางที่ดีที่สุด ควรถือจังหวะนี้เป็นโอกาสกลับมาทบทวนว่าทางเลือกการลงทุนที่เน้นไปทางผลตอบแทน (Income) มีอะไรบ้าง แต่ละอย่างให้ผลตอบแทนเท่าไหร่ และมีความเสี่ยงแตกต่างกันอย่างไร

เริ่มด้วยแบบง่ายที่สุด ผลตอบแทนสามารถเพิ่มขึ้นได้ด้วยการย้ายมาถือพันธบัตรระยะยาว ซึ่งความเสี่ยงที่ต้องรับเพิ่มเติมคือการเปลี่ยนแปลงของดอกเบี้ยที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต

ในตลาดจะเรียกพฤติกรรมนี้ว่าเพิ่มดูเรชั่น ยีลด์ที่เราได้จะสูงขึ้น (spread) ประมาณ 0.25% สำหรับ 10ปีและ 1.0% สำหรับ 30ปี แลกมาด้วย ความผันผวนที่จะขึ้นมาอยู่ในช่วง 3-4% (สำหรับช่วงอายุ 5-10ปี) และความเสี่ยงหลักคือการที่ ธปท.อาจปรับดอกเบี้ยขึ้นกลับ และเราก็จะเสียโอกาสในการลงทุนส่วนนั้นไป

ง่ายๆ คือคิดว่าในอนาคตอีก 10 ปี ธปท. จะขึ้นดอกเบี้ยมากกว่า 0.25% หรือไม่ ถ้าคิดว่าไม่ ก็ควรลงทุนตอนนี้เลย เป็นต้น

ต่อมาถ้ายีลด์ยังไม่น่าสนใจพอ หรืออยากได้ผลตอบแทนที่คุ้มความเสี่ยง หุ้นกู้ของภาคเอกชนไทยก็เป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่จะตอบโจทย์นี้

เพราะ spread ที่เราจะได้รับเพิ่มจากการรับความเสี่ยงด้านเครดิตในตอนนี้มีถึง 3% (สำหรับหุ้นกู้ rating BBB อายุ 5-10ปี) ส่วนเพิ่มนี้สูงเมื่อเทียบกับอดีต และถือว่าค่อนข้างคุ้มกับความผันผวน 4-5% ของตราสารหนี้

แต่แน่นอนว่าความเสี่ยงหลักที่จะต้องรับเพิ่มเติมนอกจากการเปลี่ยนแปลงของดอกเบี้ยนโยบายก็คือการผิดนัดชำระหนี้ที่อาจเกิดได้บ่อยขึ้นในช่วงที่เศรษฐกิจไม่แข็งแกร่ง

ดังนั้นจะเลือกลงทุนในหุ้นกู้หรือไม่ ก็ไม่ต่างกับคำถามว่าในช่วงอายุของตราสารนั้น เศรษฐกิจจะชะลอตัวจนบริษัทขาดทุนจนต้องเบี้ยวหนี้หรือเปล่า

ส่วนนักลงทุนที่ไม่มั่นใจในเศรษฐกิจไทยหรือเงินบาท ปัจจุบันก็สามารถเลือกลงทุนในตราสารหนี้ต่างประเทศได้

โดยตราสารเหล่านี้มีสามเรื่องหลักที่ต้องคำนึงถึง อย่างแรกคือความเสี่ยงของประเทศที่ลงทุน อย่างที่สองคือเราจะรับความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนด้วยไหม และท้ายที่สุดต้องถามว่าเรารับความเสี่ยงของภาคเอกชนในประเทศนั้นด้วยหรือเปล่า

ถ้ามองจากเฉพาะผลตอบแทน แน่นอนว่าดีที่สุดคือรับความเสี่ยงหมดทั้งสามอย่าง ซึ่งก็หมายความว่านักลงทุนต้องทนกับการเมืองของประเทศอย่างบราซิล ตุรกี รัสเซีย และความผันผวนระดับ 6-7% ให้ได้

ข้อดีคือถ้าอ้างอิงจาก Bloomberg Barclays Emerging Markets High Yield จะมี spread จากตราสารหนี้โลกอ้างอิง (Global Aggragate) ถึง 6% ซึ่งถือว่าสูงระดับ 20% บน (percentile ที่ 80) เมื่อเทียบกับ spread ในอดีต

แต่ถ้ารับความเสี่ยงไม่ได้ขนาดนั้น ก็สามารถถอยมาที่หุ้นกู้บริษัทในฝั่งสหรัฐ ที่วัดด้วย Bloomberg Barclays Corporate High Yield ในปัจจุบัน มีความผันผวนอยู่ในช่วง 4-5% และ spread อยู่ในระดับ 4% ซึ่งก็ไม่ได้เลวร้ายถ้าคิดว่ามีนโยบายการเงินสหรัฐพร้อมที่จะช่วยพยุงตลาดอยู่ แต่ข้อเสียก็คือที่ราคานี้ถือว่าเป็นของแพง เพราะ spread ในปัจจุบันถือว่าต่ำมาก (percentile ที่ 20) เมื่อเทียบกับอดีต

หมายความว่าการไปลงทุนต่างประเทศจะเพิ่มตัวเลือกให้อีกสองช้อย คือความเสี่ยงสูงแต่ถูก และความเสี่ยงปานกลางแต่แพง ซึ่งก็แล้วแต่ว่าใครจะชอบแบบไหน

ท้ายที่สุด นอกจากผลตอบแทนและความเสี่ยงแล้ว นักลงทุนยังสามารถ ใช้แนวโน้มของเศรษฐกิจมาเป็นมุมมองเสริมในการเลือกลงทุนได้

โดยวิธีการคิดคือ มองวัฏจักรธุรกิจ และแบ่งการลงทุนเป็นพันธบัตรรัฐบาล (Sovereign) และภาคเอกชน (Credit) ที่ไหนที่เข้าระยะเริ่มถดถอย (Early Recession) ก็ต้องหลีกเลี่ยงหุ้นกู้ แต่พันธบัตรรัฐบาลก็จะน่าสนใจเพราะมีโอกาสปรับตัวขึ้นได้ แต่ที่ไหนที่เริ่มฟื้นตัวดี (Recovery) ก็ควรทยอยขายพันธบัตรที่ราคาอาจปรับตัวลง และหันไปซื้อหุ้นกู้แทน ซึ่งถ้าอยู่ถูกที่ถูกเวลา ก็อาจได้ผลตอบแทนมากกว่าแค่คูปองจากหน้าตั๋วได้เช่นกัน

สำหรับผม มองว่าการลงทุนที่ไม่เสี่ยง ไม่ต่างจากการซื้อประกันความผันผวนเอาไว้ ดอกเบี้ยที่ต่ำลงนี้ แท้จริงก็ไม่ต่างกับการบอกว่าค่าประกันความเสี่ยงตลาดปรับตัวสูงขึ้นอีกแล้ว

ในอนาคต ผมเชื่อว่าตลาดต้องขยับตัวแน่ และแม้ตลาดนี้จะความผันผวนไม่สูง แต่ใครช้าที่สุด ก็ต้องซื้อของแพงที่สุดนะครับ

ดร.จิติพล พฤกษาเมธานันท์

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0