โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

สุขภาพ

รพ.น่าน เตือนระวังโรคเนื้อเน่า-แบคทีเรียกินเนื้อคน ป่วยแล้ว 25 ราย เข้าไอซียู 1 ราย

TODAY

อัพเดต 23 ก.ค. 2562 เวลา 08.47 น. • เผยแพร่ 23 ก.ค. 2562 เวลา 08.37 น. • Workpoint News
รพ.น่าน เตือนระวังโรคเนื้อเน่า-แบคทีเรียกินเนื้อคน ป่วยแล้ว 25 ราย เข้าไอซียู 1 ราย

รพ.น่าน แจ้งเตือนประชาชนระวังโรคเนื้อเน่าและหนังเน่า หรือแบคทีเรียกินเนื้อคน เผยเดือน ก.ค.นี้ พบป่วยแล้ว 25 ราย อาการรุนแรงเข้าไอซียู 1 ราย พบระบาดช่วงหน้าฝน เตือนผู้ที่ทำนา ถ้ามีแผลตามร่างกาย ขอให้รีบขึ้นจากโคลน รีบล้างแผลโดยให้น้ำสะอาดไหลผ่าน

วันนี้ (23ก.ค.62) โรงพยาบาลน่าน แจ้งเตือนประชาชนว่า ในเดือนกรกฎาคม 2562 มีผู้ป่วยโรคเนื้อเน่า และหนังเน่า (Necrotizing fasciitis) หรือแบคทีเรียกินเนื้อคน เข้ามารักษาที่ รพ.น่านจำนวน 25 ราย มีอาการรุนแรงเข้ารับการรักษาในไอซียู 1 ราย ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับเดือนมิถุนายนที่ผ่านมานั้น มีผู้ป่วยเพียง 2 ราย ซึ่งแสดงให้เห็นว่ามีการระบาดของโรคเนื้อเน่า

โดยผู้ป่วยส่วนใหญ่ จะมีประวัติไปดำนา ลุยโคลน และโดนหอย หรือเศษแก้วบาด เศษไม้ตำเท้า และไม่ได้ทำแผล หรือรักษาใด ๆ เนื่องจากต้องทำนาให้เสร็จ ทำให้เชื้อโรคเข้าไปในบาดแผล และเพิ่มจำนวนจนเกิดอาการรุนแรงได้

โรคเนื้อเน่าส่วนใหญ่ เกิดจากเชื้อโรคทั้งชนิดที่ไม่ใช้ออกซิเจน เช่น คลอสติเดียม และเชื้อชนิดใช้ออกซิเจน เช่น สแตปฟิโลคอคคัส สเตรปโตคอคคัส ชนิดที่สามารถสร้างสารพิษได้ โดยอาการจะมีผิวหนังบวมแดงร้อน ถ้าเชื้อลงลึกกินทั้งชั้นผิวหนังจะพบตุ่มพุพอง และค่อย ๆ เปลี่ยนสีเป็นสีม่วง และถ้าเนื้อตายจะกลายเป็นสีดำ บางรายอาจจะต้องตัดขา หรืออาจจะมีการติดเชื้อเข้ากระแสเลือด ไข้สูง และทำให้เสียชีวิต

ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้ติดเชื้อได้ง่าย คือผู้ที่มีภาวะภูมิคุ้มกันต่ำได้แก่ ประวัติดื่มสุราประจำ เป็นโรคตับแข็ง โรคเบาหวาน โรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง และการรับประทานยาสเตียรอยด์ ส่วนใหญ่โรคนี้จะระบาดในฤดูฝน ในช่วงที่เกษตรกรลงดำนา ลุยโคลน

จึงขอเตือนให้ผู้ที่ทำนา ถ้ามีแผลตามร่างกาย ขอให้รีบขึ้นจากโคลน รีบล้างแผลโดยให้น้ำสะอาดไหลผ่าน ซับด้วยผ้าสะอาด และปิดแผล ถ้ามียาฆ่าเชื้อโพวิโดนไอโอดีนสามารถใช้ทาแผลได้ แล้วรีบมาที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล หรือโรงพยาบาลใกล้บ้านเพื่อให้ตรวจรักษาต่อไป

สำหรับการรักษา แพทย์จำเป็นต้องตัดเนื้อตายออกให้หมด และให้ยาปฎิชีวนะเพื่อฆ่าเชื้อ ซึ่งถ้าเชื้อยังไม่ลุกลามเข้ากระแสเลือด ผลลัพธ์ของการรักษาจะค่อนข้างดี สำหรับผู้ป่วยบางรายที่ไม่ได้ลงนา หรือไม่มีบาดแผลก็อาจจะติดเชื้อดังกล่าวได้ โดยการเกา หรือมีบาดแผลถลอกเล็กน้อย เชื้อสเตรปโตคอคคัส หรือสแตปฟิโลคอคคัสที่อยู่บริเวณผิวหนังอาจจะเข้าไปในแผลแล้วเกิดการติดเชื้อ ถ้าผู้ใดมีผิวหนังบวมแดงอย่างรวดเร็ว แล้วมีตุ่มพุพองที่ผิวหนัง แนะนำให้รีบมาตรวจรักษาก่อนที่อาการจะลุกลามจนถึงขั้นเสียชีวิตได้

 

ที่มา: รพ.น่าน, ประชาสัมพันธ์จังหวัดน่าน

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0