โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน หัวลำโพง-บางแค ดีเดย์ 12 ส.ค.​ พร้อมให้คนกรุงทดลองใช้ฟรี!

BLT BANGKOK

อัพเดต 24 ก.ค. 2562 เวลา 09.11 น. • เผยแพร่ 26 มิ.ย. 2562 เวลา 05.58 น.
746eea6ddf0e098aa22cee1a4e914cdf.jpg

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- 18 ก.ค. 2562 รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย เตรียมเปิดให้ทดลองใช้ฟรี 5 สถานี 29 ก.ค.-28 ก.ย. 62
- 24 ก.ค. 2562 รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินเปิดใช้ฟรี สถานีวัดมังกร-ท่าพระ 29 ก.ค.-28ก.ย. 62

ตั้งแต่วันที่ 12 สิงหาคม 2562 รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ช่วงหัวลำโพง-บางแค จะเปิดให้ประชาชนเข้าร่วมทดลองเดินรถเสมือนจริง เป็นระยะเวลา 1 เดือน โดยไม่เก็บค่าโดยสาร และเตรียมเปิดให้บริการอย่างเป็นทางการภายในเดือนกันยายนนี้ ซึ่งจะทำให้ประชาชนสามารถเข้าถึงระบบรถไฟฟ้าได้มากขึ้น และยกระดับเชื่อมการเดินทาง ล้อ-ราง-เรือ ได้สะดวกสบายยิ่งขึ้น

เติมเต็มระบบรถไฟฟ้า ด้วยระยะทางยาวถึง 16 กม.
รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ช่วงหัวลำโพง-บางแค เป็นเส้นทางส่วนต่อขยายของรถไฟฟ้ามหานคร สายเฉลิมรัชมงคล ที่ การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ดำเนินการก่อสร้างเมื่อปี 2554 โดย มีระยะทาง 16 กม. เป็นโครงสร้างทางวิ่งใต้ดินมีลักษณะทางวิ่งอุโมงค์คู่รางเดี่ยวในช่วงหัวลำโพง - ท่าพระ ระยะทาง 5 กม. มีสถานีใต้ดินจำนวน 4 สถานี และทางวิ่งยกระดับในช่วงท่าพระ - บางแค ระยะทาง 11 กม. มีสถานียกระดับจำนวน 7 สถานี
โครงการเริ่มต้นที่บริเวณสถานีรถไฟฟ้าใต้ดินหัวลำโพง เป็นเส้นทางใต้ดินตามแนวถนนพระราม 4 ผ่านถนนเจริญกรุง วังบูรพา ถนนสนามไชย ลอดใต้แม้น้ำเจ้าพระยาที่บริเวณปากคลองตลาด ลอดใต้คลองบางกอกใหญ่ ถนนอิสรภาพ แล้วเปลี่ยนเป็นเส้นทางยกระดับ มีลักษณะเป็นทางวิ่งรางคู่บนเสาตอม่อบนเกาะกลางถนนเข้าสู่สี่แยกท่าพระ ซึ่งจะมีสถานีร่วมกับโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ช่วงบางซื่อ - ท่าพระ ไปตามแนวถนนเพชรเกษม ผ่านบางไผ่ บางหว้า บางแค และสิ้นสุดสายทางที่บริเวณวงแหวนรอบนอกถนนกาญจนาภิเษก

12 สิงหาฯ เปิดให้ประชาชนร่วมทดลอง
ล่าสุดมีกำหนดว่า วันที่ 12 สิงหาคม 2562 จะเปิดให้ประชาชนเข้าร่วมทดลองเดินรถเสมือนจริง รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย ช่วงหัวลำโพง-บางแค โดยมีกำหนดให้ร่วมทดลองภายใน 1 เดือน และในระหว่างวันและเวลาที่ให้ทดลองจะไม่เก็บค่าโดยสาร จากนั้นจะเปิดให้บริการเชิงพาณิชย์ในเดือนกันยายน 2562
เมื่อเปิดให้บริการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ช่วงหัวลำโพง-บางแค จะทำให้ประชาชนในหลายพื้นที่เข้าถึงรถไฟฟ้าได้มากขึ้น และยังใช้เดินทางเชื่อมต่อกับระบบขนส่งอื่นๆ ได้สะดวกยิ่งขึ้น เนื่องจากตลอดแนวเส้นทางรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ทั้งส่วนเดิมช่วงเตาปูน-หัวลำโพง รวมถึงส่วนต่อขยายช่วงหัวลำโพง-บางแค มีจุดที่เป็นจุดเปลี่ยนถ่ายการสัญจรอยู่หลายจุด (ดูแผนที่ประกอบ) ซึ่งจะช่วยระดับการเดินทางให้รวดเร็วและใกล้กันได้มากขึ้น โดยสถานีสำคัญในการเชื่อมต่อการเดินทางคือ สถานีสนามไชย เชื่อมต่อกับท่าเรือโดยสารท่าราชินี (อยู่ในเส้นทางเรือโดยสารจากท่าบางหว้า-ท่าช้าง ที่ กทม. เปิดทดลองให้บริการฟรีในขณะนี้), สถานีอิสรภาพ เชื่อมต่อกับท่าเรือโดยสารท่าเจริญพาศน์, สถานีท่าพระ (Interchange Station) เป็นสถานีเปลี่ยนถ่ายผู้โดยสารในระบบรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ซึ่งผู้โดยสารสามารถเปลี่ยนขบวนที่สถานีนี้เพื่อเดินทางต่อไปยังเตาปูน บางซื่อ จตุจักร ได้รวดเร็วขึ้น, สถานี บางหว้า สามารถเชื่อมต่อได้ทั้งรถไฟฟ้าสายสีเขียว สถานีบางหว้าและท่าเรือโดยสารบางหว้า, ท่าเรือภาษีเจริญ เชื่อมต่อกับท่าเรือโดยสารเพชรเกษม 45 และ ท่าเรือวัดรางบัว ส่วนที่สถานีสามยอด จะเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายสีม่วง (ส่วนใต้) และที่สถานีบางขุนนนท์จะเชื่อมกับรถไฟฟ้าสายสีส้ม (ส่วนตะวันตก) ที่จะสร้างในระยะต่อไปด้วย ทั้งนี้ เมื่อรถไฟฟ้าเส้นทางต่างๆ ตามแผน M-Map1 สร้างเสร็จ รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ก็จะยิ่งมีความสำคัญมากขึ้น เนื่องจากจะทำหน้าที่เป็นแกนหลักในการเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าเส้นทางต่างๆ ช่วยเพิ่มทางเลือกและอำนวยความสะดวกในการเดินทางได้ดีมากยิ่งขึ้นไปอีก

คงอัตราค่าโดยสารเริ่มต้น 16 บาท
สำหรับรถไฟฟ้าที่ให้บริการ ปัจจุบันรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ช่วงเตาปูน-หัวลำโพง มีขบวนรถไฟฟ้าให้บริการอยู่ 19 ขบวน ความยาวขบวนละ 3 ตู้ รองรับผู้โดยสารได้ประมาณ 1,000 คน และแน่นอนว่าเมื่อมีเส้นทางส่วนต่อขยายยาวขึ้น ก็จะมีรถไฟฟ้าขบวนใหม่มาให้บริการอีก 35 ขบวน (3 ตู้/ขบวน) โดยปัจจุบันรับมอบเรียบร้อยแล้ว 6 ขบวน และจะทยอยรับมอบจนถึงเดือนกันยายน 2562 ซึ่งจะมีรถไฟฟ้ารวม 16 ขบวน และรถไฟฟ้าจะทยอยมาจนครบ 35 ขบวนในเดือนกุมภาพันธ์ 2563
ส่วนเรื่องค่าโดยสารนั้น แม้ว่ารถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ทั้งช่วงเตาปูน-หัวลำโพง, หัวลำโพง-บางแค และช่วงเตาปูน-ท่าพระ จะมีระยะทางรวมกันยาวขึ้นเป็น 48 กม. มีสถานีให้บริการรวมเป็น 38 สถานี แต่ รฟม. ยังคงเก็บค่าโดยสารตลอดสายในอัตราเดิมคือเริ่มต้น 16 บาท และสูงสุดที่ 42 บาท กรณีที่ใช้สายสีน้ำเงินต่อกับสายสีม่วง ระยะทาง 22 กม. ค่าโดยสารสูงสุดไม่เกิน 70 บาท ซึ่งทาง รฟม. ได้ยกเว้นค่าแรกเข้า 14 บาทให้เพื่อลดภาระประชาชน
โดย นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ที่กำกับดูแล รฟม. ได้กล่าวยืนยันว่า ค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินเมื่อเทียบกับระยะทางทั้งเส้นทางปัจจุบันและเส้นทางส่วนต่อขยายแล้ว เป็นราคาที่มีความเหมาะสม ด้วยระยะทางที่ยาวขึ้น และมีแนวเส้นทางที่ครอบคลุมพื้นที่สำคัญทั้งด้านประวัติศาสตร์ ย่านชุมชนเก่าแก่ แหล่งท่องเที่ยว แหล่งงาน แหล่งที่อยู่อาศัย อีกทั้งยังมีจุดสำคัญคืออุโมงค์ลอดใต้แม่น้ำเจ้าพระยา ที่เป็นส่วนเชื่อมโยงการเดินทางระหว่างฝั่งธนบุรีและฝั่งพระนครให้ไร้รอยต่อ รวมถึงมีจุดเชื่อมต่อกับระบบขนส่งอื่นๆ และแหล่งท่องเที่ยวจำนวนมาก รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน จึงเป็นระบบขนส่งมวลชนทางรางสายสำคัญ ที่ให้บริการประชาชนและนักท่องเที่ยวได้อย่างทั่วถึง สะดวก รวดเร็ว ประหยัด ต่อเติมความสุขในการเดินทางและมีความคุ้มค่าในการใช้บริการ 

[English]
Bangkok’s Extended Blue Line Train to Debut on 12 August 2019
Train commuters are informed to prepare for the free trial of the extended ‘Hua Lamphong-Bang Khae’ Blue Line electric train  system, which will start on August 12 before its commercial operation begins in September.
The construction of the 16-kilometers extension of the MRT Blue Line began in 2011 and this new route comprises both underground and elevated tracks through 11 stations on both sides of Chao Phraya River.
This new service is intended to allow more Bangkok residents a convenient access to the rail service, which is connected with other modes of public transport, and to help them travel faster through the city.
Currently, nineteen trains, each made up of three cars to carry around 1,000 commuters, are operational on the existing Blue Line route and 35 more have been prepared and expected to be delivered to Thailand by February 2020.
Once completed, the Blue Line will run a distance of 48 kilometers and comprise 38 stations while the fares will remain unchanged at 16 baht to 42 baht.  And, if commuters ride the Blue Line in connection with the Purple Line, the total fare will be capped at 70 baht on the maximum distance of 70 kilometers.
Deputy Transport Minister Pailin Chuchottaworn, who oversees Mass Rapid Transit Authority of Thailand (MRTA) – the operator of the MRT system, confirmed that the fares charged on the entire Blue Line route are reasonable, when compared with the distance it runs.

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0