โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ธุรกิจ-เศรษฐกิจ

รถไฟฟ้ารางเบา แก้ปัญหาจราจรขอนแก่น

กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ - Economics

เผยแพร่ 14 มิ.ย. 2561 เวลา 03.51 น.

การแก้ไขปัญหาจราจรของเมืองใหญ่ ดูจะเป็นปัญหาหลักที่ผู้บริหารเมืองจะต้องวางแนวทางในการแก้ไขเอาไว้อย่างถี่ถ้วน เพราะการเติบโตของเมืองที่มีเกิดขึ้นทุกๆ ปี ทำให้ปริมาณประชากรเพิ่มขึ้น รวมถึงปริมาณยานพาหนะบนถนนเพิ่มขึ้นด้วย แต่ทว่าผิวจราจรที่รองรับมีเท่าเดิม

เมืองใหญ่อย่างขอนแก่นเองก็เช่นกัน ปัญหารถล้นเมืองกำลังเกิดขึ้นต่อเนื่องมาตลอดเวลา 10 ปี และขอนแก่นได้ถูกเลือกให้เป็นหนึ่งในเมือง "สมาร์ทซิตี้" หรือเมืองอัจฉริยะ ซึ่งนั่นหมายถึงการแก้ไขปัญหาความเป็นอยู่ของประชากรก็จะต้องดีขึ้นตามไปด้วยเหตุนี้เองทำให้ผู้บริหารเทศบาลนครขอนแก่นอย่าง ธีระศักดิ์ ฑีฆายุพันธุ์ ได้หารือกับอีก 4 เทศบาลใกล้เคียง เพื่อผลักดันให้เกิดรถไฟฟ้ารางเบา หรือ LRT (Light Rail Transit System) เพื่อหวังจะเป็นรถขนส่งมวลชนจากนอกเมืองเข้ามายังเมือง แก้ไขปัญหาจราจรติดตัด โดยเฉพาะเส้นหลักอย่างมิตรภาพ ที่พอถึงชั่วโมงเร่งด่วน รถติดยาวเหยียดไม่แพ้เมืองหลวงอย่างกรุงเทพมหานคร

แนวคิดเรื่องการจัดสร้างบริการขนส่งมวลชนนี้เกิดมาหลายปี แต่เพิ่งมาเป็นรูปเป็นร่างชัดเจนในสมัย ธีระศักดิ์ ฑีฆายุพันธุ์ เป็นนายกเทศมนตรี ด้วยความพร้อม และโอกาสที่เอื้ออำนวยในยุคการบริหารบ้านเมืองแบบพิเศษ อีกทั้ง 4 เทศบาลใกล้เคียงทั้ง เทศบาลตำบลสำราญ เทศบาลเมืองศิลา เทศบาลตำบลเมืองเก่า และเทศบาลตำบลท่าพระ ที่อยู่ระหว่างถนนมิตรภาพเขตอำเภอเมืองขอนแก่นได้เห็นพ้องต้องกันในการจะร่วมมือร่วมใจและร่วมลงทุนในรูปแบบบริษัท โดยแนวคิดนี้เริ่มต้นเมื่อปี 2558 จนสำเร็จเป็นรูปเป็นร่างมีการจดทะเบียนตั้งเป็น บริษัท ขอนแก่น ทรานซิท ซิสเต็ม จำกัด หรือ KKTS เมื่อเดือนมีนาคม 2560 ที่ผ่านมา

โดยบริษัทนี้นอกจาก 5 เทศบาลที่กล่าวมาจะร่วมลงทุนลงแรงแล้ว ยังมีประธานหอการค้า เข็มชาติ สมใจวงษ์ ประธานหอการค้าจังหวัดขอนแก่น นั่งเป็นประธานคณะกรรมการ และมี พล.ต.ชาติชาย ประดิษฐ์พงษ์ เป็นประธานคณะกรรมการบริหาร มีการนำไปหารือกับกระทรวงคมนาคมตั้งแต่สมัย พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง นั่งเก้าอี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวง แม้จะโยกย้ายไปอยู่กระทรวงอื่นแล้วก็ยังตามไปเป็นกำลังใจให้กัน

ขณะที่พระราชกฤษฎีกา หรือ พ.ร.ฎ.รถไฟฟ้าในจังหวัดขอนแก่น นั้นได้มีการเปิดรับฟังความคิดเห็นเพื่อเสริมสร้างการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน ให้การก่อสร้างรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน (LRT) เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมใน จ.ขอนแก่น เมื่อวันศุกร์ที่ 18 พฤษภาคม 2561 ซึ่งจากการฟังเสียงประชาชนกว่า 1,000 คนส่วนใหญ่สนับสนุน เห็นด้วย รอคอย และลุ้น

ธีระศักดิ์ ฑีฆายุพันธุ์ นายกเทศมนตรีนครขอนแก่น พร้อมด้วยผู้นำองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอีก 4 พื้นที่ ได้แก่ วิทิต ทองโสภิต นายกเทศมนตรีตำบลเมืองเก่า พิสุทธิ์ อนุตรอังกูร นายกเทศมนตรีตำบลท่าพระ อิทธิพงศ์ จันทนพิมพ์ รองนายกเทศมนตรีเมืองศิลา ยุทธภูมิ เย็นสบาย รองนายกเทศมนตรีตำบลสำราญ คณะผู้บริหารส่วนท้องถิ่น สมาชิกสภาเทศบาลนครขอนแก่น ผู้อำนวยการท่าอากาศยานจังหวัดขอนแก่น หัวหน้าส่วนการงานท้องถิ่น ตัวแทนจากบริษัทขอนแก่น ทรานซิท ซิสเต็ม จำกัด เจ้าหน้าที่ผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง และตัวแทนชุมชนทั้ง 5 พื้นที่กว่า 1,000 คน ร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นครั้งนี้

"อีก 10 ปีข้างหน้า ปัญหาการจราจรในจังหวัดขอนแก่นอาจถึงขั้นวิกฤติ จึงจำเป็นต้องมีระบบขนส่งมวลชนสาธารณะ จากผลการศึกษาของมหาวิทยาลัยขอนแก่นพบว่า ระบบรถไฟฟ้ารางเบา LRT เป็นรูปแบบที่เหมาะสมกับพื้นที่ จ.ขอนแก่น มากที่สุด โดยทั้ง 5 เทศบาลร่วมลงทุนพร้อมจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทตามพระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ.2496 โดยการอนุมัติจากกระทรวงมหาดไทยในนามบริษัทขอนแก่น ทรานซิท ซิสเต็ม จำกัด และเพื่อให้การดำเนินงานสามารถขับเคลื่อนอย่างเป็นรูปธรรมด้วยหลักประชารัฐ ตามหลักการพัฒนาอย่างยั่งยืน ท้องถิ่นได้รับประโยชน์สูงสุด ลดความเสี่ยงของการลงทุน เกิดการสร้างงาน สร้างรายได้แก่ท้องถิ่น และมีการพัฒนาพื้นที่ที่เหมาะสม สามารถตอบโจทย์ด้านงบประมาณ เกิดความเชื่อมั่นของการดำเนินงานภายใต้กรอบของระเบียบและกฎหมาย" ธีระศักดิ์ กล่าว

นายกเทศมนตรีนครขอนแก่น ยังบอกอีกว่า การดำเนินการเรื่องก่อสร้างรถไฟฟ้ารางเบานี้ ได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง โดยมีทั้งภาครัฐ เอกชน ร่วมมือกันศึกษา ซึ่งทุกอย่างดำเนินการมาตามขั้นตอน จะเหลือปัญหาเพียงเรื่องการขอใช้พื้นที่ของสถานีทดลองข้าวของกรมการข้าว ซึ่งอยู่ตรงข้ามกับศูนย์การค้าเซ็นทรัลพลาซาเท่านั้น ซึ่งจะพื้นที่เป็นสถานีจอดรถ บำรุงรักษา และเป็นสถานีหลัก ที่ยังรอการอนุมัติเห็นชอบจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์อยู่

นอกจากนั้นยังเหลือเรื่องของการนำเอาแผนแม่บทมาดำเนินการ โดยต้องมีหนังสือจากจังหวัดขอนแก่นในนาม 5 เทศบาลส่งถึงกระทรวงมหาดไทย เพื่อให้นำเอาแผนแม่บทมาปฏิบัติใช้ ขณะนี้รอหนังสือจากผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่นส่งถึงกระทรวงมหาดไทย และให้กระทรวงมหาดไทยส่งถึงกระทรวงคมนาคม เพื่อลงนาม คาดว่าโครงการนี้จะสามารถผ่านทุกขั้นตอนในปลายปีนี้ และจะลงมือก่อสร้างได้ในปี 2562 แน่นอน

พิสุทธิ์ อนุตรอังกูร นายกเทศมนตรีตำบลท่าพระ อ.เมือง จ.ขอนแก่น ซึ่งเป็นพื้นที่ปลายสายฝั่งทิศใต้ บอกว่า ครั้งแรกที่ได้ยินโครงการนี้สงสัยว่าขอนแก่นจะทำได้ไหม ทำแล้วจะขาดทุนไหม และเราจะเอาเงินมาจากไหน สถาบันการเงินไหนจะมารับรองให้ แต่ตอนนี้มีหลายสถาบันการเงินเล็งเห็นประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตและพร้อมสนับสนุนเพื่อพัฒนา จ.ขอนแก่น เพื่อเข้าสู่การกระจายอำนาจและจัดการตนเองอย่างแท้จริง การกระจายอำนาจที่ดีต้องเริ่มจากภาคประชาชนเป็นหลัก

"สิ่งที่ขอนแก่นกำลังทำอยู่เราล้อทุกอย่างภายใต้กฎหมายหมด ไม่ได้ทำนอกกรอบ เพื่อทำให้ความเชื่อมั่นคนไทยเกิดขึ้นได้ เราเสี่ยงที่จะเปลี่ยนแปลงตัวเองสู่มิติใหม่ ถ้าขอนแก่นทำได้ ต่อไปนี้ทุกจังหวัดจะมีจุดเริ่มต้นในการพัฒนาตนเองและเกิดการกระจายอำนาจอย่างแท้จริง ซึ่งขอนแก่นเราพร้อมแล้ว ขอนแก่นเรามีความพิเศษเพราะทุกภาคส่วนทำงานร่วมกันได้ ประสานงานกันอย่างดีเยี่ยม และเราจำเป็นจะต้องทำเพื่อเป็นจุดศูนย์กลางการคมนาคมของภูมิภาค" พิสุทธิ์ กล่าว

ในขณะ อิทธิพงศ์ จันทนพิมพ์ รองนายกเทศมนตรีเมืองศิลา อ.เมือง จ.ขอนแก่น แสดงความคิดเห็น หลังมีข่าวว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟม.) มีโครงการจะมาก่อสร้างรถไฟฟ้ารางเบาในพื้นที่ แทนที่จะให้ 5 เทศบาลดำเนินการเองว่า ถ้ารฟม.มาทำ 5 ตำบลจะก่อเกิดงาน เกิดรายได้ให้ประชาชนไหม เพราะส่วนใหญ่จะเป็นส่วนกลางมาทำ แรงงานก็จะมาจากกรุงเทพฯ อุปกรณ์การก่อสร้างก็จะเอามาจากกรุงเทพฯ ถ้าทางขอนแก่นเราทำกันเอง แน่นอนการช่างบ้านเรา รายได้ของบ้านเรา สินค้าก็มาจากขอนแก่น แบบนี้น่าคิดว่าใครทำจะดีกว่ากัน รฟม.หรือคนขอนแก่นเราทำเอง

เรื่องนี้ พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รมว.ยุติธรรม ที่เคยได้ร่วมผลักดันโครงการนี้มาตั้งแต่แรก และเพิ่งมารับฟังความคืบหน้าของการดำเนินการเรื่องนี้ กล่าวว่า โครงการนี้แม้ไม่มีรัฐบาลคสช.แล้ว ก็ยังจะสามารถดำเนินการต่อไปได้ เพราะทุกอย่างมีขั้นตอนของข้อกฎหมายที่จะต้องดำเนินการทีละขั้นตอน ไม่ได้มีการละเมิดหรือทำอะไรที่ไม่อ้างอิงกฎหมาย

สำหรับบริษัทขอนแก่น ทรานซิท ซิสเต็ม จำกัด ดำเนินการลงทุนและก่อสร้างรถไฟฟ้ารางเบาเพื่อแก้ปัญหาการจราจรในเมืองขอนแก่นแล้ว บริษัทนี้จะมีการเปิดระดมทุนจากประชาชน โดยจะต้องมีเงินลงทุนในการก่อสร้างประมาณ 15,000 ล้านบาท ซึ่งได้มีการออกแบบการก่อสร้างเอาไว้หลายแบบ ทั้งบริเวณเกาะกึ่งกลางถนนมิตรภาพจากทิศเหนือคือ เทศบาลตำบลสำราญ ไปยังทิศใต้คือเทศบาลตำบลท่าพระ ระยะทางประมาณ 26 กิโลเมตร และบางช่วงหากไม่เหมาะที่จะสร้างบริเวณเกาะกลางก็จะสร้างบริเวณขอบถนน หรือลอยฟ้าแล้วแต่สภาพพื้นที่ ซึ่งหากก่อสร้างแล้วเสร็จจะสามารถลดปริมาณการใช้รถบนถนนให้น้อยลง โดยเฉพาะในชั่วโมงเร่งด่วน โดยจะใช้รูปแบบการบริหารจัดการโดยระดมทุนจากคนขอนแก่นเพื่อให้รถไฟฟ้ารางเบาสายนี้เป็นของคนขอนแก่น โดยคนขอนแก่นและเพื่อคนขอนแก่นอย่างแท้จริง และหากไม่มีอะไรผิดพลาดคาดว่าปี 2562 คงจะได้เดินหน้าอย่างเต็มสูบ

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0