โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

ย้อนรอย 4 นายกฯ “ลาออก” หลังแพ้โหวตในสภาฯ

Thai PBS

อัพเดต 16 ต.ค. 2562 เวลา 06.29 น. • เผยแพร่ 16 ต.ค. 2562 เวลา 06.29 น. • Thai PBS
ย้อนรอย 4 นายกฯ “ลาออก” หลังแพ้โหวตในสภาฯ

4 นายกฯ ลาออก เหตุแพ้โหวต

หากย้อนมองไปที่ “อดีต” ของการเมืองไทย จะพบว่า มีนายกฯ 4 คน ที่จะเลือกใช้วิธีลาออก ในกรณีที่แพ้โหวตในสภาผู้แทนราษฎร เพื่อเปิดทางให้จัดตั้งรัฐบาลใหม่ ได้แก่

1.พระยาพหลพยุหเสนา (22 ก.ย.2477) กรณี สภาไม่อนุมัติสนธิสัญญาจำกัดยาง

2.จอมพล ป.พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี (24 ก.ค.2487) กรณีแพ้การลงมติ พระราชกำหนดจัดตั้งเมืองเพชรบูรณ์เป็นเมืองหลวง และพระราชกำหนดพุทธมณฑลบุรี จ.สระบุรี

3.นายควง อภัยวงศ์ (18 มี.ค.2489) กรณีแพ้การลงมติร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองค่าใช้จ่ายของประชาชนในภาวะคับขัน พ.ศ.2548

4.ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช (6 มี.ค.2518) กรณีแพ้การลงมติไว้วางใจในการแถลงนโยบายต่อสภาฯ 

**ไม่รวมกรณีนายกฯลาออกจากสาเหตุอื่น ที่ไม่ใช้เกิดจากแพ้การลงมติในสภาผู้แทนราษฎร 

ที่มานายกฯที่ลาออก ปมะแพ้โหวตในสภาฯ 

สนธิสัญญาจำกัดยาง

วันที่ 22 ก.ย.2477 พระยาพหลพลพยุหเสนา ลาออกจากตำแหน่งนายกฯ เพราะแพ้โหวต หลังสภาฯไม่อนุมัติสนธิสัญญาจำกัดยางของรัฐบาล รัฐบาลลงนามในสนธิสัญญาจำกัดยางกับนานาประเทศ เพื่อหวังให้ราคายางดีขึ้น และชาวสวนยางได้ประโยชน์ แต่สภาผู้แทนราษฎร เห็ฯว่า สนธิสัญญานี้มีข้อเสีย ทำให้ชาวสวนยางถูกผูกมัด เสียเปรียบ จึงลงมติไม่อนุมัติตามที่รัฐบาลเสนอขอสัตยาบันด้วยคะแนน 73 ต่อ 25 พระยาพหลฯจึงลาออก

นอกจากนี้ พระยาพหลฯ ยังลาออกจากตำแหน่งนายกฯอีกครั้ง ในวัน 9 ส.ค. 2480 แต่ไม่มีสาเหตุจากการแพ้โหวตในสภา แต่เป็นเพราะถูกนายเลียง ไชยกาล ส.ส.อุบลราชธานี ตั้งกระทู้ถามเรื่องขายที่ดินพระคลังข้างที่ ที่นำที่ดินมาซื้อขายกันในราคาถูกผิดปกติ และผู้ซื้อเป็นบุคคลในรัฐบาล สมาชิกคณะราษฎร และคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์

พระยาพหลฯจึงลาออก (โดยยังไม่มีการลงมติ) เพื่อเปิดโอกาสให้มีการสอบสวน โดยมีผู้สำเร็จราชการ 3 คน ลาออกด้วย ซึ่งหลังการลาออกทั้ง 2 ครั้ง พระยาพหลฯ ได้รับการเสนอชื่อกลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีใหม่ 

ย้ายเมืองหลวงไปเพชรบูรณ์

วันที่ 24 ก.ค.2487 จอมพล ป.พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี ลาออก หลังแพ้โหวตพระราชกำหนด 2 ฉบับในสภาผู้แทนราษฎร (ต่อเนื่องกัน) รัฐบาลจอมพล ป.บริหารประเทศในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่กองทัพญี่ปุ่นเข้ามาบุกไทย และใช้อำนาจฝ่ายบริหารตรา “พระราชกำหนดจัดตั้งเมืองเพชรบูรณ์เป็นเมืองหลวง” ก่อนเปิดสมัยประชุมสภา แล้วนำเข้าสู่ที่ประชุมสภาฯภายหลัง

เพราะประเทศไทยตกอยู่ในภาวะสงคราม กรุงเทพฯ ถูกโจมตีจากการทิ้งระเบิดของฝ่ายสัมพันธมิตรและเห็นว่า จ.เพชรบูรณ์ มีความเหมาะสมที่จะเป็นเมืองหลวงแห่งใหม่

ปรากฏว่า ฝ่ายรัฐบาลของ จอมพล ป.แพ้โหวตลับไปด้วยคะแนน 36 ต่อ 48 โดยฝ่ายค้าน คัดค้านพระราชกำหนดดังกล่าว เพราะเห็นว่าการเกณฑ์แรงงานเพื่อการย้ายเมืองหลวงทำให้ประชาชนล้มตายเพราะไข้มาเลเรียจำนวนมาก โดยมีรายงานของสภาผู้แทนราษฎรระบุว่า ในปี พ.ศ.2487 มีผู้ที่ถูกเกณฑ์ 127,281 คน ได้รับบาดเจ็บ 14,316 คน เสียชีวิตด้วยไข้ป่า 4,040 คน

2 วันต่อมา ได้มีการนำ พระราชกำหนดพุทธมณฑลบุรี ที่จะสร้างเขตมณฑลทางพระพุทธศาสนาใน จ.สระบุรี เข้าสู่สภา ครั้งนี้รัฐบาลแพ้ในการลงคะแนนลับ 41 ต่อ 43 ทำให้ จอมพล ป.ต้องตัดสินใจยื่นใบลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 24 ก.ค.2487

ควบคุมค่าใช้จ่ายในภาวะคับขัน

วันที่ 18 มี.ค.2489 นายควง อภัยวงศ์ ลาออก เพราะแพ้โหวตร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองค่าใช้จ่ายของประชาชนในภาวะคับขัน พ.ศ. 2548 ซึ่งนายทองอินทร์ ภูริพัฒน์ (ส.ส.จังหวัดอุบลราชธานี) เป็นผู้เสนอ

สาระสำคัญของร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว คือ ต้องการให้รัฐบาลกวดขัน ควบคุมค่าครองชีพ เช่น ข้าวสาร อาหาร เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้แก่ประชาชนผู้ยากจน แต่รัฐบาลเห็นว่าไม่สามารถควบคุมค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ได้ เพราะเป็นไปตามกลไกราคาสินค้าในท้องตลาด แต่รัฐบาลแพ้โหวต เพราะสภาผู้แทนราษฎรได้ลงมติรับหลักการร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว ด้วยคะแนนเสียง 65 ต่อ 63 นายควง จึงตัดสินใจลาออก

แถลงนโยบายต่อสภาฯ

วันที่ 6 มี.ค.2518 ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช นายกฯ ลาออก เพราะแพ้โหวตในการแถลงนโยบายต่อสภาฯ รัฐธรรมนูญในขณะนั้นกำหนดให้ต้องลงมติ “ไว้วางใจ หรือไม่ไว้วางใจ” โดยรัฐบาลได้คะแนนไว้วางใจเพียง 111 เสียง แต่ไม่ไว้วางใจถึง 152 หลังจากนั้นรัฐธรรมนูญฉบับต่อมาจึงตัดเรื่องการขอมติไว้วางใจรัฐบาลการแถลงนโยบายออก เหลือเพียงการแถลงนโยบายโดยไม่ต้องลงมติ

ยุบสภาฯหลังแพ้โหวต

กรณีการยุบสภาผู้แทนราษฎร หลังแพ้โหวตในสภาฯ สาเหตุหลักของการตัดสินใจยุบสภา ที่ผ่านมาสามารถแบ่งออกเป็น 3 สาเหตุ ดังนี้

1) ความขัดแย้งระหว่างฝ่ายบริหารกับฝ่ายนิติบัญญัติ 

2) ความขัดแย้งภายในพรรคการเมืองร่วมรัฐบาล

3) ปัญหาทางการเมืองหรือวิกฤตการณ์ทางการเมือง ในที่นี้จะกล่าวถึงเฉพาะกรณีที่เกิดความขัดแย้ง จนทำให้รัฐบาลพ่ายแพ้การลงมติในสภาผู้แทนราษฎรเท่านั้น 

แก้ไขข้อบังคับประชุมสภาฯ 

วันที่ 11 ก.ย.2481 เป็นการยุบสภาครั้งแรก ในรัฐบาลพระยาพหลพลพยุหเสนา เพราะขัดแย้งกับสภาผู้แทนราษฎร เรื่อง ญัตติขอแก้ไขข้อบังคับการประชุมและปรึกษาของสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2477

ญัตติดังกล่าวเสนอโดยนายถวิล อุดล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จ.ร้อยเอ็ด ที่เห็นว่า รัฐบาลต้องเสนอรายละเอียดงบประมาณให้สภาผู้แทนราษฎรทราบ เพื่อให้สภาฯพิจารณาตัดทอนหรือเพิ่มเติมได้ และเห็นว่ารัฐบาลเสนองบประมาณอย่างคลุมเครือไม่ชัดเจน แต่ฝ่ายรัฐบาลคัดค้านว่าทำไม่ได้ เพราะจะผูกพันรัฐบาลมากเกินไป ทำให้ระบบงบประมาณขาดความคล่องตัว และไม่เห็นด้วยกับญัตติขอแก้ไขเพิ่มเติมข้อบังคับเช่นนี้

แต่เสียงข้างมากในที่ประชุมสภา ลงมติเห็นชอบกับญัตตินี้ด้วยคะแนนเสียง 45 ต่อ 31 เป็นเหตุให้รัฐบาลแพ้ในสภา พระยาพหลฯต้องการจะลาออกจากตำแหน่ง แต่มีความจำเป็นที่รัฐบาลต้องบริหารราชการต่อไป จึงได้เลือกใช้ช่องทางการออกพระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎรแทน ในวันที่ 11 ก.ย.2481

แม้ว่า พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ จะเป็นหัวหน้ารัฐบาลอยู่นาน และต่อเนื่องถึง 8 ปี แต่กลับเป็นผู้นำรัฐบาลที่มีการยุบสภามากที่สุด คือ 3 ครั้ง และมี 2 ครั้งที่เกิดจากการลงมติในร่างกฎหมายสำคัญ

แก้ไขรัฐธรรมนูญไม่สำเร็จ

วันที่ 19 มี.ค.2526 พล.อ.เปรม ยุบสภาหลังพยายามแก้ไขรัฐธรรมนูญ 4 ครั้งแต่ไม่สำเร็จ การยุบสภาครั้งแรกของ พล.อ.เปรม เกิดขึ้นภายหลังไม่สามารถผลักดันร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อแก้ไขระบบเลือกตั้งในรัฐธรรมนูญฉบับปี 2521 ที่เปลี่ยนจากระบบแบ่งเขตเป็นระบบรวมเขตจังหวัด รวมถึงสาระสำคัญอื่น ๆ ในรัฐธรรมนูญ โดยมีความพยายามจะเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญถึง 4 ครั้งแต่ก็ไม่ผ่านความเห็นชอบจากที่ประชุมร่วม 2 สภา ได้คะแนนไม่ถึงกึ่งหนึ่งของทั้ง 2 สภาทุกครั้ง จึงมีการตัดสินใจยุบสภา

เสียภาษีรถยนต์น้ำมันดีเซล 2 เท่า

วันที่ 1 พ.ค.2529 รัฐบาล พล.อ.เปรม ยุบสภา หลังแพ้โหวต พระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติขนส่งทางบก พ.ศ.2522
โดยมีสาระสำคัญ คือ กำหนดให้รถที่ซื้อใหม่และใช้น้ำมันดีเซล ต้องเสียภาษีมากกว่าธรรมดา 2 เท่า เพราะไม่ต้องการให้สั่งน้ำมันดีเซลเข้ามามากเกินจำเป็น แต่ ส.ส.ฝ่ายค้านเห็นว่า เรื่องดังกล่าวไม่ใช่เรื่องเร่งด่วนถึงกับต้องออกเป็นพระราชกำหนด และรัฐบาลมีนโยบายส่งเสริมการผลิตเครื่องยนต์ดีเซลในประเทศไทย แต่กลับขึ้นภาษีเครื่องยนต์ดีเซลขัดกับนโยบาย

เมื่อมีการลงมติครั้งแรก ปรากฏว่าที่ประชุมไม่เห็นด้วยกับพระราชกำหนดนี้ 140 ต่อ 137 เสียง จึงมีการลงมติครั้งที่ 2 ด้วยการ “ยืนขึ้น” ซึ่งมีผู้ลงมติไม่อนุมัติ 143 ต่อ 142 เสียง จึงมีการลงมติครั้งที่ 3 ด้วยการ“ขานชื่อ”อีกครั้ง พบว่ามีผู้ไม่อนุมัติถึง 147 เสียง ต่อ 143 เสียง ในจำนวนนั้น มี ส.ส.สังกัดพรรคร่วมรัฐบาลคือพรรคกิจสังคม ลงมติไม่อนุมัติถึง 38 คน และไม่อยู่ในห้องประชุมอีก 6 คน ทำให้รัฐบาลตัดสินใจยุบสภา ในเวลา 23.30 น.ของวันเดียวกัน

นอกจากนี้ ในวันที่ 29 เม.ย.2531 พล.อ.เปรม ยังตัดสินใจ ยุบสภาอีกครั้ง แต่ไม่ได้เกิดจากการแพ้การลงมติ แต่เกิดจากปัญหาภายในพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งเป็นพรรคร่วมรัฐบาล

รัฐมนตรี 16 คนของพรรคประชาธิปัตย์ ลาออกทั้งหมด เพื่อแสดงความรับผิดชอบกรณี ส.ส.ของประชาธิปัตย์ 32 คน คาดว่าเป็น ส.ส.ในกลุ่ม “10 มกรา” ลงมติไม่รับร่างพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ของรัฐบาล แม้รัฐบาลจะได้เสียงข้างมาก 183 เสียงต่อ 134 เสียง ในการผ่านร่างกฎหมายดังกล่าว

พล.อ.เปรมไม่ต้องการปรับคณะรัฐมนตรี หรือลาออก แต่ให้เหตุผลในพระราชกฤษฎีกายุบสภาว่า เป็นเพราะพรรคการเมืองไม่สามารถดำเนินการภายในพรรคได้อย่างมีเอกภาพ สะท้อนถึงปัญหาความขัดแย้งในพรรคประชาธิปัตย์เพราะไม่พอใจการจัดสรรตำแหน่งรัฐมนตรี และเป็นจุดกำเนิดของกลุ่ม “10 มกรา”

กรณีการยุบสภาที่เกี่ยวพันกับการอภิปรายไม่ไว้วางใจ

นอกจากนี้ยังพบว่า มีการยุบสภาหลายครั้ง ที่เป็นผลสืบเนื่องมาจากการยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจ ซึ่งพบทั้งกรณี ยุบสภาเมื่อพรรคฝ่ายค้านยื่นญัตติ ยุบสภาก่อนวันลงมติ และยุบสภาหลังลงมติแล้ว 

รัฐบาล ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ เสียงปริ่มน้ำ

วันที่ 12 ม.ค.2519 รัฐบาล ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ยุบสภา หนีญัตติเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจ เพราะเกรง ส.ส.รัฐบาล ไปร่วมโหวตกับฝ่ายค้าน รัฐบาล ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช อยู่ในภาวะรัฐบาล “ปริ่มน้ำ”ใกล้เคียงกับกรณีของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ในปัจจุบัน โดย ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ เป็นหัวหน้าพรรคกิจสังคม และเป็นพรรคแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล แต่มี ส.ส.เพียง 18 เสียง ได้เป็นรัฐบาลหลัง ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช นายกฯจากพรรคประชาธิปัตย์ลาออก โดยรวบรวม ส.ส.140 เสียงต่อฝ่ายค้าน 124 เสียง

รัฐบาลคึกฤทธิ์ เข้าบริหารประเทศในเดือน มี.ค.2518 และมีความขัดแย้งในพรรคร่วมรัฐบาลโดยตลอด โดยเฉพาะพรรคธรรมสังคม ซึ่งมี ส.ส.จำนวนมากถึง 45 คน และเมื่อจะมีการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณ ในช่วงเดือน ต.ค.ก็มีความเคลื่อนไหวจาก ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาล ว่าจะโหวตร่างกฎหมายงบประมาณให้รัฐบาล แต่ก็ผ่านพ้นมาได้

แต่หลังจากนั้นมีการปรับคณะรัฐมนตรี และเกิดความไม่พอใจในพรรคร่วมรัฐบาลมากยิ่งขึ้น ประกอบกับพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งเป็นฝ่ายค้านได้ยื่นญัตติขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล และมีแนวโน้มที่ ส.ส.ในพรรคร่วมรัฐบาลจะไปสนับสนุนฝ่ายค้านได้ จึงมีการประกาศกฤษฎีกายุบสภาและกำหนดให้มีการเลือกตั้งใหม่

หนีซักฟอก สปก.4-01

วันที่ 19 พ.ค.2538 รัฐบาลชวน 1 ยุบสภา หนีการลงมติอภิปรายไม่ไว้วางใจ สปก.4-01 พรรคฝ่ายค้านนำโดยนายบรรหาร ศิลปอาชา ยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจ โดยมุ่งเน้นกรณีการออกเอกสารสิทธิ หรือ ส.ป.ก. 4-01 โดยกำหนดวันอภิปราย 17 - 18 พ.ค.2538 และให้วันที่ 19 พ.ค.2538 เป็นวันลงมติ

แต่พรรคพลังธรรม ได้ประชุมด่วนหลังการอภิปรายสิ้นสุด และมีมติจะ “งดออกเสียง” ในการลงมติ อภิปรายไม่ไว้วางใจและรัฐมนตรีของพรรคพลังธรรมจะลาออก เพราะเห็นว่ารัฐบาลไม่สามารถตอบโต้ข้อกล่าวหาของพรรคร่วมฝ่ายค้านได้ชัดเจน และ ส.ส.ในพรรคชาติพัฒนาซึ่งเป็นพรรคร่วมรัฐบาล แต่เป็นสมาชิกกลุ่ม 16 ก็จะไม่ยกมือให้รัฐบาล

นายชวน หลีกภัย ตัดสินใจประกาศยุบสภาผู้แทนราษฎร ในเวลา 12.00 น.ของวันที่ 19 พ.ค.2538 ก่อนการลงมติอภิปรายไม่ไว้วางใจเพียง 1 ชั่วโมง 30 นาที

กดดัน "บรรหาร"

วันที่ 27 ก.ย.2539 รัฐบาลบรรหาร ยุบสภา หลังพรรคร่วมรัฐบาลลงมติ “ไว้วางใจ” แต่กดดันให้ลาออก 

หลังถูกอภิปรายไม่ไว้วางใจ ในวันที่ 18 - 20 ก.ย.2539 โดยพรรคฝ่ายค้าน นำโดยพรรคประชาธิปัตย์ อภิปรายไม่ไว้วางใจว่าการบริหารประเทศไร้ประสิทธิภาพ ไม่เป็นไปตามนโยบายที่แถลงไว้ โดยมุ่งโจมตีที่ตัวนายบรรหาร ศิลปอาชา โดยตรงทำให้พรรคร่วมรัฐบาลได้แก่ พรรคความหวังใหม่ พรรคนำไทย และพรรคมวลชน ยื่นหนังสือให้เขาลาออก แลกกับการลงมติไว้วางใจ ทำให้นายบรรหารต้องแถลงข่าวว่าจะลาออกภายใน 7 วัน 

อย่างไรก็ตาม หลังการลงมติ” ไว้วางใจ” ด้วยคะแนน 207 เสียง จากทั้งหมด 391 เสียง นายบรรหารได้ประกาศยุบสภา แทนการลาออก

เหตุชุมนุมทางการเมือง

นอกจากนี้ยังมีการยุบสภาจากปัญหาการชุมนุมทางการเมือง หรือเหตุวิกฤตขัดแย้งทางการเมือง ด้วย ได้แก่ 

• การยุบสภา 24 ก.พ.2549 ของรัฐบาลนายทักษิณ ชินวัตร
• การยุบสภา 5 พ.ค.2554 ของรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ
• การยุบสภา 9 ธ.ค.2556 ของรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร

สุภาวดี อินทะวงษ์  

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0