โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

ย้อนประวัติศาสตร์ลดพระอิสริยยศพระราชชายา

NATIONTV

อัพเดต 21 ต.ค. 2562 เวลา 16.46 น. • เผยแพร่ 21 ต.ค. 2562 เวลา 14.31 น. • คมชัดลึก
ย้อนประวัติศาสตร์ลดพระอิสริยยศพระราชชายา
ย้อนประวัติศาสตร์ลดพระอิสริยยศพระราชชายา

ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระภรรยา 3 พระองค์และพระคู่หมั้น หนึ่งในนั้นคือ สมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิศจี พระวรราชชายา เดิมนั้นทรงมีสถานะว่า "สมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิศจี พระบรมราชินี" แต่เพราะมีเหตุการณ์ที่ทำให้รัชกาลที่ 6 ทรงขัดเคืองพระทัย จึงทรงลดพระอิสริยยศลง นับเป็นเหตุการณ์ลดพระอิสริยยศของฝ่ายในครั้งสุดท้ายในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์

มีสาเหตุที่ทรงถูกลดพระอิสริยยศจากพระบรมราชินีมาเป็นพระวรราชชายามีหลายประการ แต่เหตุการณ์ที่เป็นเหตุสำคัญอาจเกิดขึ้นเมื่อคราวที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงซ้อมละครเรื่องพระร่วง ครั้งนั้น ในบทบาทการแสดงต้องมีการแตะเนื้อต้องตัวกันระหว่างนายมั่นแสดงโดยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว กับสาวใช้ของนางจันทร์แสดงโดยคุณเครือแก้ว อภัยวงศ์ ภาพนั้นคงไม่สบพระทัยของสมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิศจี จึงทรงกระทืบพระบาท และโปรดให้ข้าหลวงของพระองค์ โห่ฮาและใช้เท้าตบพื้นพระที่นั่ง แสดงให้เห็นว่าพระองค์ไม่ทรงพอพระทัย พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงหยุดการซ้อม และเสด็จขึ้นทันที

ขณะนั้น สมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิศจีมีพระชันษาเพียง 21 ปี เป็นธรรมดาที่จะมีพระอาการหึงหวงต่างๆ และหลายครั้งก็ไม่ทรงสามารถเก็บกลั้นพระอารมณ์ได้ เช่น ทรงขอพระบรมราชานุญาตกลับพระนครก่อน ทำให้ต้องตระเตรียมเรือพระที่นั่งอย่างฉุกละหุก และอีกครั้งหนึ่งที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระราชกระแสรับสั่งให้คุณสุวัทนากราบพระบาทสมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิศจี พระองค์ก็ทรงชักพระบาทหลบและเบือนพระพักตร์ เหตุเหล่านี้ก็เป็นเหตุให้พระเจ้าอยู่หัวไม่ทรงพอพระทัย (กัลยา, หน้า 231)

ไม่เพียงแต่สมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิศจีเท่านั้น ยังมีกรณีคล้ายกันเกิดขึ้นในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว คือกรณีพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวัลลภาเทวี อดีตพระคู่หมั้น และเคยได้รับการสถาปนาเป็น พระวรกัญญาปทาน พระองค์เจ้าวัลลภาเทวี

แต่มีพระบรมราชโองการให้ถอนหมั้น เมื่อวันที่ 15 มีนาคม พ.ศ. 2464 และโปรดเกล้าฯ ให้ออกพระนามว่า พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวัลลภาเทวี

เล่ากันว่า ครั้งหนึ่งเมื่อพระวรกัญญาปทานเสด็จมาถึงพระราชวังพญาไท มหาดเล็กเดิมคนหนึ่งได้เข้าไปเพื่อจะรับพระหัตถ์ตามธรรมเนียมตะวันตก แต่พระองค์ไม่ทรงยินยอม ครั้นเมื่อเรื่องไปถึงพระกรรณพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวก็กลายเป็นว่าทรงสะบัดมือ และแสดงพระกิริยาดูถูกมหาดเล็กเดิมคนนั้น ทำให้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงกริ้ว และอาจเป็นอีกสาเหตุหนึ่งของการถอดถอนหมั้น (ศันสนีย์, หน้า 255)

จากเหตุการณ์สะบัดมือนั้น เป็นเหตุให้พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระพิโรธ และประพันธ์กลอนเชิงบริภาษว่า (ศันสนีย์, หน้า 256)

อย่าทะนงอวดองค์ว่างามเลิศ สวยประเสริฐยากที่จะเปรียบได้อย่าทะนงอวดองค์ว่าวิไล อันสุรางค์นางในยังมากมีอย่าทะนงอวดองค์ว่าทรงศักดิ์ จะใฝ่รักแต่องค์พระทรงศรีนั่งรถยนต์โอ่อ่าวางท่าที เป็นผู้ดีแต่ใจไพล่เป็นกาอย่าดูถูกลูกผู้ชายที่เจียมตน อย่าดูถูกฝูงชนที่ต่ำกว่าอย่าทะนงอวดองค์ว่าโสภา อันชายใดฤๅจะกล้ามาง้องอน

อ้างอิง

"สมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิศจี พระวรราชชายา".วิกิพีเดีย. สืบค้นเมื่อ 21 ตุลาคม 2562.

"พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวัลลภาเทวี".วิกิพีเดีย.สืบค้นเมื่อ 21 ตุลาคม 2562.

"พระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษา สมเด็จพระนางเจ้า อินทรศักดิศจี พระบรมราชินี ณ พระราชนิเวศน์มฤคทายวัน พุทธศักราช ๒๔๖๗" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. เล่ม 41 (ตอน ง): หน้า 675. 15 มิถุนายน 2467. สืบค้นเมื่อ 27 มิถุนายน 2562.

กัลยา เกื้อตระกูล. พระอัครมเหสี พระบรมราชินี พระชายานารี เจ้าจอมมารดา และเจ้าจอมในรัชกาลที่ ๑-๗. กรุงเทพฯ:ยิปซี, 2552,

ศันสนีย์ วีระศิลป์ชัย. ลูกท่านหลานเธอ ที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จในราชสำนัก. พิมพ์ครั้งที่ 6. กรุงเทพฯ : มติชน. 2555, หน้า 255

CR : โพสต์ทูเดย์

อ่านข่าวต้นฉบับที่นี่

0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0