โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

ย้อนที่มา‘เพื่อนโชค’กต.สั่งสอบ‘อธิบดี’ไม่ให้ตรวจใบขับขี่ผกก.ทุ่งใหญ่พัลวัน

มติชนสุดสัปดาห์

เผยแพร่ 20 พ.ค. 2562 เวลา 03.38 น.
เพื่อนค

สำหรับเหตุการณ์ที่ท่านอธิบดีศาล ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจยศ นายสิบเรียกตรวจใบขับขี่ ขณะผ่านด่านตรวจที่อ.ทุ่งใหญ่ จ.นครศรีธรรมราช

ดังที่ปรากฏในคลิปวิดีโอ ที่ท่านอธิบดีไม่ยินยอมให้ตรวจ ถึงขั้นท้าให้ค้นรถ

พร้อมลั่นประโยคอมตะ “ผมเพื่อนผู้กำกับโชค”

กลายเป็นคำพูดฮิตติดปาก ตามมาด้วยคำถามว่าทำไมถึงเป็นอธิบดีแล้วไม่ต้องแสดงใบขับขี่ตามที่เจ้าพนักงานสอบถาม

หรือว่าเพราะเป็นเพื่อนผู้กำกับ เลยไม่ต้องให้ตรวจ

โดยเมื่อผู้กำกับคนดังกล่าวออกมาชี้แจง พร้อมตำหนิลูกน้องของตนเอง ว่ากระทำการไม่เหมาะสม จนต้องย้ายพ้นจากการทำหน้าที่

ก็ยิ่งเกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์มากยิ่งขึ้น

จนกระทั่งกต.และผบช.ภาค 8 สั่งสอบสวนข้อเท็จจริง

ก็ได้แต่รอฟังผล ว่าจะมีบทสรุปออกมาเช่นใด

คลิปว่อนหนุ่มเพื่อนโชค
เหตุการณ์ดังกล่าวถูกเผยแพร่เมื่อช่วงค่ำวันที่ 8 พ.ค. เป็นคลิปความยาว 1.19 นาที เป็นชายใส่เสื้อยืดสีส้มขับรถเก๋งสีขาวมาพร้อมผู้หญิงคนหนึ่ง ในคลิปมีเสียงเจ้าหน้าที่ตำรวจขอดูใบอนุญาต ขับรถ ขณะที่ชายใส่เสื้อสีส้มระบุว่าให้ไปเรียกผู้กองมา

ขณะที่ตำรวจคนดังกล่าวย้ำอีกว่าขอดูใบอนุญาตขับรถ และระบุว่าตัวเองมีอำนาจหน้าที่เต็ม ทำให้ชายคนดังกล่าวขึ้นเสียงสูงว่า “ดูมีอำนาจหน้าที่เต็ม ไปเรียกผู้กองมา”

เมื่อผู้กองมา ตำรวจนายดังกล่าวก็บอกว่าคนขับรถไม่ให้ดูใบขับขี่ จนชายดังกล่าวระบุว่าตัวเองเป็นอธิบดีศาลอาญาคดีทุจริตภาค 8 เพื่อนผู้กำกับโชค ให้โทร.ไปถามเลย ก็บอกว่าเป็นอธิบดีจะเอาอะไร จะค้นรถเลยไหม ขณะที่ตำรวจชี้แจงว่าเป็นขั้นตอนปฏิบัติ แค่ขอดูใบขับขี่ ไม่ได้ขอค้นรถอะไร

ก่อนที่ชายคนดังกล่าวถามว่าไปได้ไหม แล้วผู้กองก็บอกให้ ไปได้ แต่ก่อนไปชายคนดังกล่าวหันมาถามชื่อตำรวจที่ขอดูใบขับขี่ แล้วจึงขับรถออกไป

หลังจากเหตุการณ์ถูกเผยแพร่ ก็เกิดคำถามขึ้นมากมาย ไม่ว่าจะเป็นชายดังกล่าวเป็นอธิบดีศาลจริงหรือไม่ และหากเป็นจริง จะถือเป็นสิทธิในการปฏิเสธให้เจ้าหน้าที่ตรวจได้หรือไม่
แล้ว ‘ผู้กำกับโชค’ ที่อ้างนั้นมีตัวตนจริงหรือไม่ อย่างไร

ไม่รอให้สงสัยอยู่นาน ทุกอย่างก็เริ่มกระจ่าง เมื่อตรวจสอบพบว่าเหตุการณ์ในคลิปเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 2 พ.ค. ในพื้นที่สภ.ทุ่งใหญ่ จ.นครศรีธรรมราช

และในวันที่ 3 พ.ค. พ.ต.อ.โชคดี รักษ์วัฒนพงษ์ ผกก.สภ.ทุ่งใหญ่ ก็มีคำสั่งย้ายส.ต.ต.เอกพล จุ้ยส่องแก้ว ผบ.หมู่งานป้องกันปราบปราม สภ.ทุ่งใหญ่ ให้มาปฏิบัติหน้าที่ออกตรวจร่วมกับผกก.สภ.ทุ่งใหญ่

แต่เมื่อกลายเป็นเรื่องโด่งดัง พล.ต.ต. ฐากูร เนตรพุกกนะ ผบก.ภ.จว.นครศรี ธรรมราช ก็สั่งให้พ.ต.อ.โชคดี ยกเลิกคำสั่งย้ายส.ต.ต.เอกพล แล้วให้กลับไปปฏิบัติหน้าที่สายตรวจจราจรตามเดิม

โดยพล.ต.ต.ฐากูรระบุว่า ต้องขอชื่นชมในการทำงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจจราจร ที่ปฏิบัติหน้าที่เข้มแข็งอย่างถูกต้อง แต่การที่มีคลิปแพร่ออกไปสู่สาธารณะ อาจส่งผล กระทบต่อการทำงานของสองหน่วยงาน ระหว่างตำรวจกับทางศาลยุติธรรม เปรียบเสมือนนักมวยขึ้นชกก็จะมีแผลแตกยับเยินทั้งคู่

จึงขอให้การทำงานในครั้งนี้เป็นบทเรียนอันยิ่งใหญ่

ขณะที่พล.ต.ท.พงษ์วุฒิ พงษ์ศรี ผบช.ภาค 8 สั่งตั้งกรรมการสอบข้อเท็จจริง โดย มีพ.ต.อ.สุขเกษม นครวิลัย รองผบก.ภ.จว.พังงา ช่วยราชการที่นครศรีธรรมราช เป็นประธานสอบสวน ให้แล้วเสร็จใน 7 วัน

รอฟังผลการสอบสวนอย่างเป็นทางการ

กต.ตั้งกก.สอบอธิบดี

ส่วนความเคลื่อนไหวจากทางศาล นายสราวุธ เบญจกุล เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม(กต.) ได้ทำหนังสือถึง นายไกรรัตน์ วีรพัฒนาสุวรรณ อธิบดี ผู้พิพากษาศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 8 ที่ปรากฏอยู่ในคลิปดังกล่าว ชี้แจงรายงานข้อเท็จจริงตามเรื่องที่ปรากฏ เมื่อวันที่ 10 พ.ค.

หลังจากนั้นในการประชุมก.ต. ในวันที่ 13 พ.ค.ที่ผ่านมา นายสราวุธเปิดเผยหลังการประชุมว่า ที่ประชุมมีมติให้ตั้งกรรมการสอบข้อเท็จจริงกรณีปรากฏคลิปภาพนายไกรรัตน์ โดนเรียกตรวจใบขับขี่ จนมีการ กระทบกระทั่งกันกับเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ปฏิบัติหน้าที่บริเวณด่านตรวจในพื้นที่ สภ.ทุ่งใหญ่

ซึ่งทางศาลยุติธรรมจะตรวจสอบข้อเท็จจริงดังกล่าวให้รอบด้านเพื่อให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย ตามกระบวนการขั้นตอนของกฎหมาย

สำหรับการสอบข้อเท็จจริงนั้นคณะกรรมการที่ถูกตั้งขึ้นจะมีการสอบว่าพฤติ การณ์หรือข้อมูลที่ปรากฏ รวมถึงคำชี้เเจงของนายไกรรัตน์ เข้าข่ายมีมูลที่จะกระทำผิดวินัยหรือไม่ โดย ไม่ว่าผลจะปรากฏอย่างไร จะต้องส่งผลการสอบข้อเท็จจริงไปยังคณะอนุกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม (อ.ก.ต.) พิจารณากลั่นกรองทำความเห็นส่ง ก.ต.พิจารณาต่อไป

ขณะที่การสืบสวนข้อเท็จจริงกำลังดำเนินไป

กระแสสังคมก็ยังคงลุกโชนอย่างต่อเนื่อง

ตั้งแต่การวิพากษ์วิจารณ์ จนถึงเกิดวลีเด็ดขึ้นว่า ‘ผมเพื่อนโชค’ มีการนำไปตัดสติ๊กเกอร์ติดท้ายรถยนต์ นำขึ้นมาโพสต์ในโลก โซเชี่ยล แชร์กันอย่างแพร่หลาย

กลายเป็นความดัง ที่ห้ามไม่ได้จริงๆ

ผกก.ทุ่งใหญ่โวยลูกน้อง

ขณะที่ พ.ต.อ.โชคดี หรือ ‘เพื่อนโชค’ ผกก.สภ.ทุ่งใหญ่ เล่าถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นว่า เหตุการณ์ตามคลิปนั้นได้รับรายงานมาจาก จนท.ว่าเป็นเหตุการณ์เมื่อวันที่ 2 พ.ค. วันนั้นจนท.ตั้งด่านตรวจและมีรถยนต์ฮอนด้า แอคคอร์ด ที่มีอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญาทุจริตและประพฤติมิชอบ ภาค 8 ขับขี่มาหลังจากกลับมาจากทานข้าวกับญาติ

ทางจนท.ที่ตั้งด่านก็เรียกตรวจและอธิบดีก็หยุดรถพร้อมลดกระจกฝั่งคนขับเล็กน้อย ทางตำรวจขอตรวจใบขับขี่ ซึ่งอธิบดีก็ถามหาหัวหน้าชุดปฏิบัติงานในด่าน และเมื่อไปตาม หัวหน้าชุดมาก็ได้พูดคุยกัน โดยการพูดคุยเพื่อเรียกตรวจของ จนท.ตำรวจเราใช้สำเนียงที่ไม่สุภาพกับชายในคลิปก่อน จนทำให้มีการโต้เถียงกันและเป็นประเด็นขึ้นมา

จนชายคนดังกล่าวก็บอกว่าเขาเป็นอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญาทุจริต ภาค 8 ก่อนจะเลื่อนรถไปชิดขอบทางซ้ายเนื่องจากรถติด หลังจากเลื่อนรถแล้วหัวหน้าชุดปฏิบัติการ ก็ไปพูดคุยหลักการทำงานเรื่องของการใช้หลักรัฐศาสตร์มาใช้ควบคู่กับหลักนิติศาสตร์ ก่อนจะขับรถออกไปและหลังจากเกิดเหตุการณ์นั้นแล้ว ตร.คนที่ถ่ายคลิปก็ส่งคลิปมาในไลน์กลุ่มตำรวจเพื่อรายงาน ประจำวัน ก่อนจะลบคลิปออก

อาจจะมีตำรวจบางคนที่ไม่เข้าใจเหตุการณ์ และไม่ได้อยู่ในเหตุการณ์ส่งคลิปต่อและมีการแชร์ออกไปยังโซเชี่ยล จนมีการวิพากษ์วิจารณ์กันอยู่ในขณะนี้

ส่วนคำสั่งโยกย้ายข้าราชการตำรวจชุดที่ปฏิบัติการมาทำงานในสภ.ทุ่งใหญ่ เป็นแค่การย้ายช่วงเวลาหนึ่งเท่านั้น เพื่อให้มา เรียนรู้งานภายในและศึกษาข้อกฎหมายให้ถ้วนถี่

อยากจะฝากถึงคนที่แชร์คลิปและวิจารณ์ต่างๆ นานา จนเกิดความเสียหายนั้น ตนไม่อยากจะให้เป็นเรื่องน้ำผึ้งหยดเดียว

นอกจากนี้ พ.ต.อ.โชคดี ยังโพสต์เฟซบุ๊ก ระบุว่า กฎหมายที่ควรรู้ ถ้าท่านอ่านฎีกานี้เข้าใจแล้ว ทุกคนจะรู้ว่าทำไมผมจึงแก้ปัญหาให้ลูกน้องแบบนั้น เพราะไม่ต้องการให้เขามาฟ้องร้องตำรวจของตัวเองในภายหลัง

โดยเฉพาะผู้ที่ถูกตรวจค้นเป็นนักกฎหมาย “แม้ พ.ร.บ.รถยนต์ มาตรา 42 บัญญัติไว้ว่า ผู้ขับรถต้องมีใบอนุญาตขับรถใน ขณะขับ เพื่อแสดงต่อเจ้าพนักงานได้ทันที แต่นั่นมิได้หมาย ความว่า ให้อำนาจเจ้าพนักงานมีอำนาจเรียกตรวจสอบได้ทุกกรณี

เจ้าหน้าที่จะเรียกตรวจสอบได้เฉพาะมีเหตุสงสัยเท่านั้น ตามสิทธิที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ การใช้อำนาจเกินเลยของเจ้าพนักงานย่อมถูกปฏิเสธได้ เทียบตามนับฎีกาที่ 8722/2555 เมื่อไม่มีเหตุอันควรสงสัยตามกฎหมายที่จะตรวจค้นได้ การตรวจค้นจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย

จำเลยที่ถูกกระทำโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายจึงมีสิทธิโต้แย้งและตอบโต้เพื่อปกป้องสิทธิของตนเอง ตลอดจนเพิกเฉยไม่ปฏิบัติตามคำสั่งใดๆ

อันเนื่องมาจากการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบดังกล่าวได้

ก่อนจะลบโพสต์ด้วยเวลาอันรวดเร็ว และปิดเฟซบุ๊กไป ท่ามกลางเสียงวิพากษ์วิจารณ์

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0