โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

ย้อนดูความเห็นกฤษฎีกา “เคยติดคุกต่างประเทศ” สมัครรับเลือกตั้งไม่ได้

TODAY

อัพเดต 22 ก.ย 2562 เวลา 03.42 น. • เผยแพร่ 22 ก.ย 2562 เวลา 03.42 น. • Workpoint News
ย้อนดูความเห็นกฤษฎีกา “เคยติดคุกต่างประเทศ” สมัครรับเลือกตั้งไม่ได้

ในช่วงหลายสัปดาห์ที่ผ่านมา เกิดประเด็นถกเถียงว่าขอบเขตของลักษณะต้องห้ามของรัฐมนตรี ตามมาตรา  160 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย อนุ 7 ที่บัญญัติว่ารัฐมนตรีจะต้อง "ไม่เป็นผู้ต้องคำพิพากษาให้จำคุก แม้คดีนั้นจะยังไม่ถึงที่สุดหรือมีการรอลงโทษ เว้นแต่ในความผิดอันได้กระทำโดยประมาท ความผิดลหุโทษ หรือความผิดฐานหมิ่นประมาท" มีขอบเขตครอบคลุมไปถึงคำตัดสินของศาลต่างประเทศด้วยหรือไม่

ทีมข่าวเวิร์คพอยท์ค้นเจอความเห็นคณะกรรมการกฤษฎีกาที่เกี่ยวกับเรื่องนี้ 2 เรื่อง โดยพิจารณาเรื่องผลของการจำคุกในต่างประเทศ ที่อาจส่งผลกระทบต่อสิทธิในการกระทำการต่าง ๆ ในระยะเวลาต่างกันกว่า 30 ปี

ปี 2525 : ต้องโทษจำคุกในต่างประเทศก็ถือว่าเข้าลักษณะต้องห้ามสมัครรับเลือกตั้ง

วันที่ 20 เมษายน พ.ศ. 2525 ประเทศไทยอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2521 กระทรวงมหาดไทยได้ร้องขอให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา พิจารณาว่าบทบัญญัติในมาตรา 96 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยในขณะนั้น ที่ระบุว่าห้ามไม่ให้บุคคลที่ "เคยต้องคำพิพากษา หรือคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมาย ให้จำคุกตั้งแต่ 2 ปีขึ้นไป โดยได้พ้นโทษมายังไม่ถึง 5 ปีในวันเลือกตั้ง เว้นแต่ในความผิดอันได้กระทำโดยประมาท" มีสิทธิสมัครเข้ารับเลือกตั้ง หมายรวมถึงการจำคุกในต่างประเทศด้วยหรือไม่

มาตรา 96 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2521

 

ในขณะนั้น กระทรวงมหาดไทยเองมีความเห็นว่า

1.บทบัญญัติดังกล่าว น่าจะหมายถึงการจำคุกทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ โดยยกเหตุผลเรื่องเจตนารมย์ของกฎหมายที่ต้องการให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรต้องเป็นผู้มีความประพฤติดีพร้อมในทุกด้าน

2.ลักษณะความผิดบางประเภทในต่างประเทศก็กำหนดไว้เช่นเดียวกับกฎหมายไทย บางกรณีแม้กระทำในต่างประเทศก็อยู่ในขอบข่ายอำนาจศาลไทยในการลงโทษด้วยซ้ำ หากปล่อยทิ้งไว้ผู้กระทำผิดอาจอาศัยช่องว่างของกฎหมายในการสมัครรับเลือกตั้ง

 

ทั้งนี้ กระทรวงมหาดไทยจึงหารือสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีการว่าหากกระทรวงมหาดไทยจะวางแนวทางปฏิบัติแก่จังหวัดไม่ให้รับสมัครบุคคลดังกล่าว เพราะถือเป็นบุคคลที่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา ๙๖ (๕) ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย จะถูกต้องหรือไม่

สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตอบกลับว่าการเคยต้องโทษจำคุกในต่างประเทศก็ถือว่าเข้าลักษณะต้องห้ามสมัครรับเลือกตั้งตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ

"ในการรับสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ถ้าข้อเท็จจริงปรากฏว่าบุคคลใดที่เคยต้องคำพิพากษาหรือคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมายให้จำคุกไม่ว่าในประเทศหรือในต่างประเทศตั้งแต่สองปีขึ้นไป โดยได้พ้นโทษมายังไม่ถึงห้าปีในวันเลือกตั้ง ซึ่งมิใช่ความผิดอันได้กระทำโดยประมาทแล้ว ก็ย่อมถือได้ว่าบุคคลนั้นเป็นบุคคลที่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา ๙๖ (๕)ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย" ข้อความในบันทึกระบุ ลงชื่อนายอมร จันทรสมบูรณ์ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา ในขณะนั้น

ดูเพิ่มเติมได้ที่ บันทึกเรื่อง หารือบุคคลต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ปัญหาการตีความมาตรา 96 (5) ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย)

 

ปี 2554 : “เวลากฎหมายไทยกล่าวถึงศาล ก็ต้องหมายถึงศาลไทย มิเช่นนั้นจะละเมิดหลักอธิปไตย”

 

แม้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ปี 2525 จะให้ความเห็นว่าการต้องคำพิพากษาให้จำคุกในต่างประเทศย่อมตกเป็นลักษณะต้องห้ามไม่ต่างอะไรกับไทย ในกรณีของการสมัครรับเลือกตั้ง แต่ปี 2554 หน่วยงานเดียวกันให้ตวามเห็นกับเรื่องการต้องคำพิพากษาให้จำคุกในต่างประเทศ ต่างออกไป

 

ปี 2554 สำนักงานเลขาธิการคณะรัฐมนตรีพบปัญหาบุคลากรของส่วนราชการเคยถูกศาลต่างประเทศพิพากษาให้จำคุก แต่สำนักงานเลขาธิการคณะรัฐมนตรีต้องพิจารณาว่าบุคคลากรคนดังกล่าวจะสามารถยื่นเรื่องขอพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือกและเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย พ.ศ. 2536 หรือถ้ามีการมอบให้ไปแล้วจะเรียกคืนเครื่องราชอิสริยาภรณ์ได้หรือไม่

 

ทั้งนี้ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการขอพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือกและเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย พ.ศ. 2536 กำหนดว่า ผู้ได้รับการพิจารณาเสนอขอพระราชทานจะต้อง "เป็นผู้ไม่เคยรับโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก ยกเว้น เป็นโทษสำหรับความผิดที่ได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ"

 

และมีการกำหนดเหตุแห่งการเรียกคืนว่าต้องเป็นกรณี "ผู้ต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก เว้นแต่มีความผิดอันได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ"

 

ในเรื่องนี้ คณะกรรมการกฤษฎีกามองแตกต่างออกไปจากความเห็นเมื่อ 30  ปีก่อนหน้า โดยเชื่อว่าการตรากฎหมายในประเทศย่อมมีขอบเขตเพียงในประเทศนั้นๆ

 

"(ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีข้างต้น) ย่อมหมายความเฉพาะคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุกของศาลไทย … เท่านั้น ไม่อาจตีความเพื่อให้หมายความถึงคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุกของศาลต่างประเทศ … ได้" บันทึกสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เรื่องเสร็จที่  562/2554 ระบุ "เพราะจะเป็นการขัดต่อหลักกฎหมายเรื่องขอบเขตการใช้อำนาจอธิปไตยของรัฐ"

 

และกล่าวว่าหากผู้ตรากฎหมายมีประสงค์จะให้ครอบคลุมคำตัดสินของศาลต่างประเทศ ก็จะมีการกำหนดไว้ชัดเจนว่าคำตัดสินศาลที่ว่าหมายรวมถึงคำตัดสินของศาลในต่างประเทศ โดยยกตัวอย่างพ.ร.บ.คนเข้าเมือง พ.ศ. 2522 มาตรา 12 อนุ 6

พ.ร.บ.คนเข้าเมือง พ.ศ. 2522 มาตรา 12 อนุ 6 กำหนดไว้ชัดว่า คำพิพากษา รวมถึง คำพิพากษาของศาลไทย และ คำพิพากษาของศาลต่างประเทศ

นอกจากนี้ยังได้ชี้ว่ากฎหมายของแต่ละประเทศมีการกำหนดการกระทำที่เป็นความผิดไว้ต่างกัน การพิจารณาว่าเท่าใดคดีจึงจะถึงที่สุด กรณีใดเป็นความผิดประมาท หรือเป็นลหุโทษก็แตกต่างกัน หากตีความให้ยอมรับคำพิพากษาต่างประเทศด้วยจะทำให้ "มีความลักลั่นและไม่ได้มาตรฐานเดียวกัน อันจะก่อให้เกิดปัญหาโต้แย้งตามมาเป็นอย่างมาก"

 

ก่อนจะสรุปว่า "กรณีที่บุคคลใดเคยรับโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดของศาลต่างประเทศจึงไม่ต้องด้วยลักษณะต้องห้ามในการขอรับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ฯ" และการเรียกคืนเครื่องราชฯก็ให้ใช้หลักเกณฑ์เดียวกัน

เอกสารดังกล่าวลงนามนายอัชพร จารุจินดา เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกาในขณะนั้น

 

ดูเพิ่มเติมได้ที่บันทึก เรื่อง การปฏิบัติตามระเบียบว่าด้วยการขอพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์และการขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตเรียกคืนเครื่องราชอิสริยาภรณ์

 

จากวันนั้น จนวันนี้

 

จากปี 2525 ที่เคยมีการวินิจฉัยว่าการต้องโทษจำคุกในต่างประเทศส่งผลกระทบต่อคุณลักษณะในการสมัครเข้ารับเลือกตั้งหรือไม่ ปัญหาเรื่องคล้าย ๆ กันนี้วนกลับมาอีกครั้ง แต่ครั้งนี้เป็นคำถามว่าการต้องโทษจำคุกในต่างประเทศส่งผลกระทบต่อคุณลักษณะการเป็นรัฐมนตรีหรือไม่

 

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 มาตรา 160 อนุ 7 ระบุว่า รัฐมนตรีต้อง "ไม่เป็นผู้ต้องคำพิพากษาให้จำคุก แม้คดีนั้นจะยังไม่ถึงที่สุด หรือมีการรอลงโทษ เว้นแต่ในความผิดอันได้กระทำโดยประมาท ความผิดลหุโทษ หรือความผิดฐานหมิ่นประมาท" คำถามที่ยังค้างคา คือประเด็นที่ว่า ในกรณีนี้การเป็นผู้ต้องคำพิพากษาให้จำคุกโดยศาลต่างประเทศ จะเข้าลักษณะต้องห้ามหรือไม่

 

เมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม 2562 วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีให้สัมภาษณ์ผ่านสื่อ ว่า "มันจะไม่มีผลในส่วนของคุณสมบัติที่บอกว่าเคยต้องคดีนั้นนี้โน้น แต่ว่าสำหรับที่จะมาดูในเรื่องของความประพฤติ การทุจริต มาตรฐานจริยธรรมนั่นอีกเรื่องหนึ่ง ซึ่งก็ไม่มีมีเกณฑ์ชัดเจน ในอดีตเคยมีคำวินิจฉัยแล้วว่าไปต้องคำพิพากษาต่างประเทศ มันมีส.ส.ขนยาเสพติดเข้าฮ่องกง ซึ่งตรงนั้นไม่มีผลกระทบอะไรในส่วนของไทยแต่มันจะมากระทบเรื่องชื่อเสียงเกียรติยศหรือว่าอะไรหลายอย่างซึ่งก็อาจจะเป็นข้อห้ามอีกแบบหนึ่ง แต่ว่าเอาข้อหานั้นตรงมาใช้ไม่ได้"

วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี

ทีมข่าวเวิร์คพอยท์สืบค้นหากรณีส.ส.ไทยเคยขนยาเสพติดเข้าฮ่องกงแต่ไม่พบ พบเพียงกรณีผู้นำพรรคมีชื่อในบัญชีดำ ผู้มีส่วนพัวพันการค้ายาเสพติดของสหรัฐอเมริกา ทำให้ถูกโจมตีจนต้องต้องถอนตัวจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในที่สุด แต่ในกรณีนี้ก็ยังไม่มีการต้องคำพิพากษาจากต่างประเทศเกิดขึ้น

 

อ่านต่อที่ “ณรงค์ วงศ์วรรณ” แค่ถูกกล่าวหาพัวพันพ่อค้ายา เก้าอี้นายกฯ ก็หลุดลอย

 

อาจสรุปได้ว่า ตลอดเวลาที่ผ่านมา ประเด็น การถูกพิพากษาโดยศาลต่างประเทศจะส่งผลต่อการรับตำแหน่งใด หรือรับสิทธิพิเศษใดหรือไม่ ถูกนำมาพิจารณาสูงสุดเพียงแค่ชั้นความเห็นของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา และความเห็นของรองนายกรัฐมนตรี ซึ่งก็ไม่ได้ส่งผลผูกพันต่อหลักกฎหมายแต่อย่างใด น่าสนใจว่าในอนาคตจะมีการวางหลักดังกล่าวเป็นเรื่องเป็นราวหรือไม่ เพื่อเป็นมาตรฐานในการตัดสินใจในโลกที่นับวันยิ่งไร้พรมแดน

 

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0