โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

ยุบอนาคตใหม่ ปล่อยพลังออกนอกสภา คุมไม่ได้ซ้ำรอย 14 ตุลา-พฤษภาทมิฬ

ประชาชาติธุรกิจ

อัพเดต 21 ก.พ. 2563 เวลา 13.26 น. • เผยแพร่ 20 ก.พ. 2563 เวลา 06.18 น.
THAILAND-POLITICS-OPPOSITION
Photo by Lillian SUWANRUMPHA / AFP

782 วัน ที่พรรคอนาคตใหม่โลดแล่น-หวือหวา สร้างปรากฏการณ์ใหม่ทางการเมือง นับตั้งแต่วันประกาศตั้งพรรค 15 มีนาคม 2561

80 ที่นั่งในสภาผู้แทนราษฎร คือของแหลมที่ทิ่มแทงฝ่ายอนุรักษ์นิยมทั่วทุกทิศ ตั้งแต่เปิดสมัยประชุมวันแรก

22 วัน หลังเลือกตั้ง 24 มีนาคม 2562 ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรค เปิดเผยเรื่องที่ธรรมเนียมการเมืองเก่าไม่เคยถกแถลง คือ“เงินที่ใช้ในการหาเสียง”

6.26 ล้านเสียง  คือมวลชนสมาชิกพรรค ฐานเสียงพรรคอายุเกือบ 3 ขวบ

“คดีกู้เงินหัวหน้าพรรค” จากปาก “ธนาธร” กลายเป็นพันธนาการ สู่ศาลรัฐธรรมนูญ

ยุบ-ไม่ยุบ คือธง ที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง ส่งถึงตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ

ก่อนฟังคำพิพากษา (21 กุมภาพันธ์ 2563) อ่านข้อวิเคราะห์จาก“ประจักษ์ ก้องกีรติ” นักรัฐศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้คร่ำหวอดกับงานวิจัย เรื่องขบวนการนักศึกษา-มวลชนนอกสภา ที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทางการเมือง ครั้งสำคัญ ในช่วง 5 ทศวรรษที่ผ่านมา

“ประจักษ์” วิเคราะห์ว่า “หากศาลรัฐธรรมนูญตัดสินยุบพรรคอนาคตใหม่ ความอึดอัดของคนจะมีมาก เพราะในแง่ timing ไม่ค่อยดี เพราะเป็นช่วงรัฐบาลกำลังขาลง ปฏิเสธไม่ได้ว่ากระแสนิยมรัฐบาลกำลังตก ปัญหารุมเร้า”

“กรณีการตัดสินยุบพรรคอนาคตใหม่ คนจะไม่อ่านคำตัดสินในแง่ข้อกฎหมาย แต่คนจะอ่านในฐานะความหมายทางการเมืองมากกว่า”

และเป็น “ผลลบ” กับ “รัฐบาลประยุทธ์” มากกว่าผลบวก

“เพราะถ้าหากยุบพรรคอนาคตใหม่ จะเป็นการปลดปล่อยพลังทางการเมืองออกไปสู่อะไรก็ไม่รู้ เพราะการที่เก็บเขาไว้ในสภา ซึ่งการเมืองในสภาเป็นการประนีประนอมรอมชอม ต่อให้อนาคตใหม่ มีความคิดก้าวหน้า (radical) ขนาดไหน เมื่อเข้าสู่สภาแล้วก็ถูกปรับเปลี่ยนให้ประนีประนอมระดับหนึ่งเสมอ”

“พรรคอนาคตใหม่ในสภาผู้แทนราษฎร เขาก็ต้อง perform ในฐานะเป็นพรรคการเมือง ที่มีกฎระเบียบของสภากำหนดอยู่ โหวตก็ยังแพ้ในหลายเรื่อง และรัฐบาลคุมเกมได้มากกว่าเพราะมีเสียงข้างมาก ดังนั้น ในแง่นี้เก็บพรรคอนาคตใหม่ ไว้ในสภา เป็นการทอนความรุนแรงของเขาแล้ว”

“แต่ถ้าผลัก พรรคอนาคตใหม่ออกไป ถูกยุบพรรค ปฏิเสธไม่ได้ว่าเขาจะไปไหน โดยเฉพาะกรรมการบริหารพรรคที่เล่นการเมืองในสภาไม่ได้อีกแล้ว ก็ผลักไปอยู่การเมืองนอกสภาโดยปริยาย ซึ่งการเมืองนอกสภาเป็นการเมืองที่คุมไม่ได้ เพราะเป็นพื้นที่เปิด”

“และการปราศรัยนอกสภาไม่มีระเบียบกฎเกณฑ์ ไม่มีประธานสภามาโต้ว่าห้ามพูดต่อ ไม่มีหมดเวลาการประชุม เป็นเรื่องของมวลชน

“ประจักษ์” ให้เค้าลางว่า “หากยุบพรรค” เสี่ยงที่จะเกิดวิกฤตการเมือง “นอกสภา” ซ้ำรอยพฤษภาทมิฬ และ “14 ตุลา”

“ถ้ามองจากฝั่งรัฐบาลเสี่ยงมากกว่า ในการผลักอนาคตใหม่ไปอยู่การเมืองนอกสภา เพราะจะควบคุมไม่ได้เลย และในอดีตหลายรัฐบาลก็ล่มเพราะการเมืองนอกสภา เช่น รัฐบาลจอมพลถนอม กิตติขจร ปิดพื้นที่จนประชาชนรู้สึกเปลี่ยนแปลงไม่ได้ในสภา คนก็ทะลักออกไปนอกสภา เกิดเหตุการณ์ 14 ตุลา 2516 หรือพฤษภาทมิฬ สมัย พล.อ.สุจินดา คราประยูร ในปี 2535”

ประจวบกับปัจจัยใหม่-ที่เป็นปัญหาเศรษฐกิจ ยิ่งผลักให้รัฐบาล “พล.อ.ประยุทธ์” สมัยที่ 2 ล้มได้ไม่ยาก

“นี่ไม่ใช่ปีแรกของ พล.อ.ประยุทธ์ ซึ่งช่วงแรกยังมีความนิยมสูง และคนยังเบื่อความขัดแย้ง คนยังกลัว แต่ตอนนี้คนได้ความสงบจนพอแล้ว พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกรัฐมนตรี มา 6 ปี คนรู้สึกว่าความสงบที่เป็นจุดขายก็เริ่มไม่ได้แล้ว เศรษฐกิจก็ไม่ดีอีก รัฐบาลในโลกนี้มี 2 อย่าง 1.สงบ ปลอดภัย 2.กินอิ่ม ปากท้องดี ถ้าไม่มี 2 อย่างเมื่อไหร่ก็เป็นจุดเสื่อมของรัฐบาล”

“สมัยเดิมมีการประท้วงมีระบอบทักษิณ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตรเป็นเป้า ตอนนี้มีระบอบ พล.อ.ประยุทธ์ แล้ว เพราะอยู่นาน ไม่มีใครรักษาความนิยมได้ตลอดไปในการเมืองไทย คนก็เบื่อ แล้วกลายเป็นเป้าของความขัดแย้งเอง เมื่อความนิยมลดลง กองเชียร์ก็เริ่มน้อยลง กองต้านมากขึ้นตามเวลา”

เพราะความคิดที่ก้าวหน้า ท้าทายและแหลมคม กับทุกสถาบันของชนชั้นนำในสังคมไทย ทำให้อนาคตใหม่เดินมาถึงจุดที่เสี่ยงต่อการอยู่-การไป

ข้อวิเคราะห์“ประจักษ์” ตรงทะลุถึงหัวใจและอุดมการณ์พรรคอนาคตใหม่…

“อนาคตใหม่ เป็นพรรคที่พยายามมาเปลี่ยนการเมืองไทยอย่างถอนรากถอนโคน เกินกว่าชนชั้นนำไทยจะยอมรับได้ เพดานของชนชั้นนำไทยคือพรรคเพื่อไทย สิ่งที่ทำประมาณระดับเดียวกับเพื่อไทย แต่ขนาดนั้นยังโดนยุบพรรคมาแล้ว 2 ครั้ง”

“พรรคแนวทักษิณ โชว์ความเป็นพรรคที่บริหารประเทศดีกว่า มีสมรรถภาพ มีวิสัยทัศน์กว่าในด้านเศรษฐกิจ แต่พรรคเพื่อไทยไม่มาแตะด้านโครงสร้างอำนาจ กองทัพ ทุนผูกขาด แต่ประเด็นเหล่านี้อนาคตใหม่มาแตะ เกินเพดานที่ชนชั้นนำไทยยอมรับได้ เช่น แตะเรื่องอำนาจกองทัพ ทุนผูกขาด เปลี่ยนโครงสร้างรัฐไทย กระจายอำนาจให้ท้องถิ่นมีอิสระ พูดหลายอย่างที่สะเทือนผลประโยชน์ และอภิสิทธิ์ที่ชนชั้นนำไทยเคยได้”

 

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0