โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

"ยุบสภา" คำรามจาก 3 ป. เสียงก้องในพรรคร่วม

ประชาชาติธุรกิจ

อัพเดต 08 ธ.ค. 2562 เวลา 04.43 น. • เผยแพร่ 08 ธ.ค. 2562 เวลา 09.44 น.
07

เสียงคำราม-คำขู่ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี-รมว.กลาโหม เรื่องการปรับคณะรัฐมนตรี (ครม.) และการยุบสภา ก่อนลงมติตั้งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญเพื่อศึกษาผลกระทบจากการกระทำ ประกาศและคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และการใช้อำนาจของหัวหน้า คสช. มาตรา 44 ส่งสัญญาณ “แพ้ไม่ได้” เพื่อไม่ให้ “สภาล่ม” อีกเป็น “ครั้งที่ 3”

ก่อนหน้า “วันโหวต” ในการประชุม ครม. พล.อ.ประยุทธ์-พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา-นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ “ปล่อยหมัดชุด” กลางวงประชุม ครม. ตรงไปยังรัฐมนตรีค่ายประชาธิปัตย์ กลายเป็น “เป้านิ่ง” เพราะ “คาใจ”
6 ส.ส.ในสังกัดพรรค 53 เสียง “โหวตสวน” มติวิปรัฐบาล เกิดเป็นรอยปริร้าว-ฝังลึกในพรรคร่วมรัฐบาล เบื้องหลังเสียงไชโย-โห่ร้อง กอดรัดฟัดเหวี่ยงในงานเลี้ยงพบปะสังสรรค์ ที่สโมสรราชพฤกษ์ วิภาวดีฯ

ทว่า “เช้าวันโหวต” พลพรรคสีฟ้ายังคง “เมาหมัด” เพราะไม่สามารถคอนโทรลเสียง-ก๊กในพรรคได้จึงจำใจเก็บกดความอัดอั้น-ยอมรับชะตากรรมวิกฤต “พรรคต่ำร้อย” มีเพียง “ชวน หลีกภัย” ประธานรัฐสภา อดีตหัวหน้าพรรค-ผู้มากบารมี แห่งพรรคเก่าแก่ 7 ทศวรรษ

“สวดหมัดฮุก” โต้กลับ “อย่าไปพูดถึงเลย เพราะอำนาจการยุบสภา ไม่ได้อยู่ที่คนขู่” อดีตประธานสภา-อดีตนายกรัฐมนตรี 2 สมัยกรีด? เพราะรัฐธรรมนูญเกือบทุกฉบับ-11 ฉบับ บัญญัติ “ผู้มีอำนาจยุบสภา” ไว้ว่า

“พระมหากษัตริย์ทรงไว้ซึ่งพระราชอํานาจที่จะยุบสภาผู้แทนราษฎร…” รวมไปถึงรัฐธรรมนูญฉบับที่ 20 มาตรา 103 “พระมหากษัตริย์ทรงไว้ซึ่งพระราชอํานาจที่จะยุบสภาผู้แทนราษฎรเพื่อให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรใหม่เป็นการเลือกตั้งทั่วไป”

ในอดีตที่ผ่านมานับตั้งแต่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 มีการยุบสภามาแล้ว 13 ครั้ง ครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 11 กันยายน พ.ศ. 2481 สมัยพันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา รัฐบาลแพ้โหวตต่อสภาในการลงมติญัตติขอแก้ไขข้อบังคับการประชุมและปรึกษาของสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2477 ข้อ 68 เกี่ยวกับการเสนอร่าง พ.ร.บ.งบประมาณ

ครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 15 ตุลาคม พ.ศ. 2488 สมัย ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช สภาออก พ.ร.บ.ขยายอายุ ส.ส.ออกไปถึง 2 ครั้ง และการออก พ.ร.บ.อาชญากรสงครามครั้งที่ 3 เมื่อวันที่ 12 มกราคม พ.ศ. 2519 สมัย ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช รัฐบาล “สหพรรค” เกิดปัญหาความขัดแย้งภายในรัฐบาล และ ส.ส.ส่วนหนึ่งกดดันให้ปรับ ครม. และหนีการอภิปรายไม่ไว้วางใจ

ครั้งที่ 4 เมื่อวันที่ 19 มีนาคม พ.ศ. 2526 สมัย พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเพื่อให้บางมาตราในบทเฉพาะกาลบังคับใช้ต่อไป และการเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อเปลี่ยนวิธีการเลือกตั้ง ส.ส. ถึง 4 ครั้ง ทำให้เกิดความขัดแย้งใน-นอกสภา

ครั้งที่ 5 เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2529 สมัย พล.อ.เปรม กลุ่มเสียอำนาจ-ผลประโยชน์จากการออก พ.ร.ก.เกี่ยวกับการเงินและเศรษฐกิจของประเทศ 9 ฉบับ ประกอบกับการเคลื่อนไหวของพรรคฝ่ายค้าน คัดค้าน พ.ร.ก. และการไม่อนุมัติ พ.ร.ก.แก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.ขนส่งทางบก ผลักดันให้ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ เป็นนายกรัฐมนตรี

ครั้งที่ 6 เมื่อวันที่ 29 เมษายน พ.ศ. 2531 สมัย พล.อ.เปรม มาจากความ “ขัดแย้งภายใน” พรรคประชาธิปัตย์ ระหว่างกลุ่มของนายพิชัย รัตตกุล หัวหน้าพรรค กับ “กลุ่ม 10 มกรา”

ครั้งที่ 7 เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2535 สมัยนายอานันท์ ปันยารชุน เพื่อเลือกตั้งใหม่ หลัง “พฤษภาทมิฬ 35”

ครั้งที่ 8 เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม พ.ศ. 2538 สมัยนายชวน “ชิงยุบสภา” เพื่อหนีลงมติการอภิปรายไม่ไว้วางใจ หลังจากพรรคร่วมรัฐบาล-พรรคพลังธรรม ประกาศงดออกเสียง-ลาออกจาก ครม. จากกรณี ส.ป.ก.4-01

ครั้งที่ 9 เมื่อวันที่ 28 กันยายน พ.ศ. 2539 สมัยนายบรรหาร ศิลปอาชา จากความไม่เป็นเอกภาพของพรรคร่วมรัฐบาลและกดดันให้นายบรรหารลาออก

ครั้งที่ 10 เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2543 สมัย “ชวน 2” อาฟเตอร์ช็อกจากวิกฤตเศรษฐกิจปี”40 และการเรียกร้องการปฏิรูปการเมือง

ครั้งที่ 11 เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2549 สมัย พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตรการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) การทุจริตเชิงนโยบาย และการแทรกแซงองค์กรอิสระ

ครั้งที่ 12 เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2554 สมัยนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะจากความไม่เป็นเอกภาพภายในพรรคร่วมรัฐบาล พรรคแกนนำจัดตั้งรัฐบาลอย่างประชาธิปัตย์ ไม่มีอำนาจต่อรองกับพรรคภูมิใจไทย และการชุมนุมของกลุ่มแนวร่วมประชาธิไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.)

ครั้งที่ 13 เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2556 สมัย น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จากการชุมนุมของกลุ่มคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงปฏิรูปประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์แบบอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) เพื่อคัดค้านกฎหมาย “นิรโทษกรรมเหมาเข่ง”

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0