โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไอที ธุรกิจ

ยุคไร้พรมแดน...ที่กำลังจะมาถึง อินเทอร์เน็ต - ดาวเทียมสื่อสาร

กรุงเทพธุรกิจ

เผยแพร่ 19 พ.ย. 2562 เวลา 11.05 น.

สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือจิสด้า โพสต์ผ่านเฟซบุ๊ก ระบุ ปัจจุบันประเทศไทยมีประชากร 69.24 ล้านคน มี 57 ล้านคน สามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ต โดย 55 ล้านคนแบ่งเป็น กลุ่มที่ใช้อินเทอร์เน็ตผ่านโทรศัพท์มือถือเป็นประจำ ทั้งๆ ที่ยังได้ยินบางคนบ่นเรื่องเน็ตช้าบ้าง หลุดบ้าง แต่โดยเฉลี่ยแล้วคนไทยใช้อินเทอร์เน็ตนานถึง 9.11 ชั่วโมงต่อวัน และ 90% ของคนไทยทั้งหมดใช้อินเทอร์เน็ตทุกวัน! แบบนี้แล้วอีก 5-10 ปีข้างหน้าในวันที่เทคโนโลยีการสื่อสารก้าวหน้าและครอบคลุมมากกว่านี้ ประเทศไทยจะพลิกโฉมได้ถึงไหนกัน

เรารู้กันมาโดยตลอดว่าการสื่อสารเป็นปัจจัยสำคัญในการดำรงชีวิตของมนุษย์มาแต่โบราณ เพราะการสื่อสารทำให้คนมีความรู้และโลกทัศน์ที่กว้างขวางขึ้น แลกเปลี่ยนและพัฒนาร่วมกัน จนกลายเป็นกระบวนการที่ทำให้สังคมเจริญก้าวหน้าอย่างไม่หยุดยั้ง จนมาถึงยุคแห่งข้อมูลข่าวสารในปัจจุบันที่การสื่อสารของมนุษย์ไม่เพียงแค่แลกเปลี่ยนกันซึ่งๆหน้า แต่ยังไปไกลถึงการสื่อสารผ่านดาวเทียมเพื่อความรวดเร็วและกระจายให้ครอบคลุมพื้นที่กว้าง

สำหรับประเทศไทยได้ส่งดาวเทียมสื่อสารดวงแรก "ไทยคม-1" สู่วงโครจรตั้งแต่วันที่ 18 ธันวาคม พ.ศ. 2536 ต่อมาก็มีการส่งขึ้นไปอย่างต่อเนื่องจนถึง ดาวเทียมไทยคม-8 ซึ่งเป็นดาวเทียมประเภทวงโคจรค้างฟ้า สูงจากพื้นโลกประมาณ 36,000 กิโลเมตร ทำหน้าที่ให้บริการสื่อสารผ่านช่องสัญญาณดาวเทียม เชื่อมโยงข่าวสารระหว่างไทยกับประเทศอื่นๆ รวมถึงประเทศเพื่อนบ้านในพื้นที่ให้บริการมาอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอด

แต่ปัจจุบันพฤติกรรมของผู้บริโภคเปลี่ยนไป คือ มีความต้องการใช้งานอินเทอร์เน็ตและแอพพลิเคชั่น ที่เกี่ยวข้องผ่านอุปกรณ์สื่อสารแบบเคลื่อนที่จำนวนเพิ่มสูงขึ้นตลอดเวลา! ดังตัวเลขสถิติที่กล่าวไปในช่วงแรก แน่นอนว่าการให้บริการผ่านระบบการสื่อสารผ่านดาวเทียมจึงจำเป็นต้องมีการปรับเปลี่ยน คือสามารถให้บริการเผยแพร่ข้อมูลในรูปแบบการออกอากาศสัญญาณภาพและเสียง การสื่อสารระยะไกล และการใช้งานอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงได้

เพื่อรองรับแรงผลักดันจากผู้บริโภค การพัฒนาเครือข่ายดาวเทียมสื่อสารย่านวงโคจรต่ำ (600-2,000 กิโลเมตรเหนือพื้นโลก) จึงเป็นแนวคิดสำคัญที่จะช่วยเสริมประสิทธิภาพของดาวเทียมสื่อสารกลุ่มวงโคจรค้างฟ้า (สูงประมาณ 36,000 กิโลเมตรเหนือพื้นโลก) และทำให้เกิดการพัฒนาดังต่อไปนี้

1.เพื่อลดทอนเวลาที่ใช้ในการเดินทางของสัญญาณ จะทำให้ในอนาคตมีการรับส่งข้อมูลได้รวดเร็วยิ่งขึ้นเนื่องจากสัญญาณใช้เวลาเดินทางสั้นลง

2.ปัจจุบันอุปกรณ์รับ-ส่งสัญญาณมีขนาดใหญ่เพื่อแก้ปัญหาการลดทอนสัญญาณในอัตราที่สูงเนื่องจากเดิมต้องเดินทางไกล แต่หากเป็นดาวเทียมวงโคจรต่ำจะส่งผลให้อุปกรณ์รับ-ส่งสัญญาญในอนาคตมีขนาดเล็กลง เหมาะสำหรับอุปกรณ์สื่อสารแบบเคลื่อนที่

3.เพื่อให้ครอบคลุมพื้นที่ขั้วโลกเหนือและใต้ ที่ระบบดาวเทียมสื่อสารในปัจจุบัน (วงโคจรค้างฟ้า) ยังไม่สามารถทำได้

อีกสิ่งหนึ่งที่เป็นข้อดีของแนวคิดนี้คือ การทำงานของดาวเทียมวงโคจรต่ำร่วมกันหลายดวงเป็นโครงข่าย จะทำให้การสื่อสารไม่ขาดตอน มีความต่อเนื่องในทุกพื้นที่บนโลกและตลอดเวลา แม้ในที่ที่ห่างไกลก็ตาม โดยเฉพาะอุปกรณ์เคลื่อนที่ระยะทางไกล อาทิเช่น เครื่องบิน เรือขนส่งสินค้า เป็นต้น

สำหรับภาคประชาชนโดยเฉพาะในพื้นที่ห่างไกลหรือยากต่อการเข้าถึงอินเตอร์เน็ตความเร็วสูงได้สะดวกยิ่งขึ้น การสื่อสารในพื้นที่ประสบภัยพิบัติไม่ล่ม คนในเมืองก็จะมีตัวเลือกตัวเลือกช่องทางเข้าสู่อินเตอร์เน็ตเพิ่มขึ้น ส่งข้อมูลขนาดใหญ่ได้เร็วยิ่งขึ้น กลุ่มผู้ประกอบการสามารถประยุกต์ใช้อุปกรณ์รับ-ส่งสัญญาณที่เล็กลงนั้นเกิดเป็นนวัตกรรมใหม่ อาทิ อุปกรณ์อัจฉริยะควบคุมระยะไกล การควบคุมเครื่องจักรในโรงงาน และการสื่อสารสมัยใหม่ที่นอกจากเหนือจากภาพและเสียง เป็นต้น

การปรับเปลี่ยนในครั้งนี้ยังส่งผลดีถึงการพัฒนาเทคโนโลยีภูมิสารสนเทศ ทำให้การสื่อสารกับอุปกรณ์เซนเซอร์ตรวจวัดต่างๆทำงานได้รวดเร็ว แม่นยำ นำไปสู่การได้มาซึ่งข้อมูลที่มีความถูกต้องสูงมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะเมื่อมีการทำงานร่วมกับระบบดาวเทียมกำหนดตำแหน่ง เช่น การนำทางที่แม่นยำ การควบคุมรถยนต์ไร้คนขับ การตรวจวัดค่าต่างๆที่จะได้ผล เป็นต้น

มาถึงตรงนี้หลายๆ คนอาจจะมองเห็นภาพของคลื่นแห่งการเปลี่ยนแปลงอีกระลอกหนึ่งที่จะส่งผลต่อชีวิตประจำวันของเราโดยตรงไปตลอด หน้าที่เราก็คงต้องศึกษาเพื่อความเข้าใจในเทคโนโลยีอนาคตเพื่อจะนำไปปรับใช้ได้อย่างเหมาะสม นอกจากเพื่อให้เกิดคุณค่าต่อตัวเองและยังต้องคำนึงถึงสังคมให้มากที่สุดด้วยเช่นกัน จึงจะเกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืนและสร้างความสุขให้ทุกๆคน

ในช่วงนี้นับว่าเป็นโอกาสดีของคนไทย เนื่องจากมีการจัดงานประชุม APSCC Satellite Conference and Exhibition ประจำปี 2019 โดย Asia-Pacific Satellite Communications Council ตั้งแต่วันนี้ - 21 พฤศจิกายน 2562 ณ โรงแรมอินเตอร์คอนติเนนตัล กรุงเทพมหานคร เพื่อเรียนรู้และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ด้านการพัฒนาเทคโนโลยีดาวเทียมสื่อสารกับผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศ

- รายละเอียดเพิ่มเติมสำหรับการประชุม >> https://apsccsat.com/wp-content/uploads/2019/11/2019-Program-Guide-Book_Web.pdf

- อ้างอิง ผลสำรวจ "Global Digital 2019" โดย We Are Social และ Hootsuite

- โครงข่ายดาวเทียมวงโคจรระดับต่ำ (LEO Satellite Constellation) เครือข่ายการสื่อสารรูปแบบใหม่ที่ เราควรทำความรู้จัก โดย น.อ.ยศภาค โชติกพงศ์

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0