โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

กีฬา

ยาลอ ซิตี้ : สโมสรใต้สุดแดนสยามที่มุ่งทำฟุตบอลเพื่อคนทุกศาสนาในยะลา

Main Stand

อัพเดต 22 ก.ค. 2562 เวลา 13.46 น. • เผยแพร่ 18 ก.ค. 2562 เวลา 17.00 น. • อลงกต เดือนคล้อย

"ใต้สุดสยาม เมืองงามชายแดน” คำขวัญสั้นๆ แต่ได้ใจความ ของจังหวัดยะลา ที่บ่งบอกอัฒลักษณ์และความเป็นดินแดนที่มีธรรมชาติสวยงาม โอบล้อมไปด้วยขุนเขา และมีผังเมืองสวยติดอันดับ 23 ของโลก 

 

แต่นับตั้งแต่เกิดเหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ สามจังหวัดชายแดนใต้ “ยะลา” เป็นจังหวัดที่ได้รับผลกระทบนี้ไปเต็มๆ  และเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของผู้คนแบบสังคมพหุวัฒนธรรม ในจังหวัดยะลา ไปพอสมควร 

จากความไว้ใจ ความสบายอกสบายใจที่จะคบหา กลายเป็นความกังวล ความสงสัย และความไม่เชื่อใจกัน…  แม้เวลาจะผ่านมา 15 ปี และสถานการณ์เริ่มเบาบางลงมาบ้างแล้วก็ตาม

หากเปรียบยะลาเป็นภาพจิ๊กซอว์ขนาดใหญ่ คนทุกคนในจังหวัดก็คงเหมือนกับ จิ๊กซอว์ชิ้นเล็กๆ ที่มีสัดส่วนแตกต่างออกไป แต่หากนำมาประกอบร่างกัน ก็ภาพนี้สมบูรณ์แบบขึ้นมาได้ 

นั่นจึงเป็นเหตุผลที่ คนกลุ่มหนึ่งที่รักฟุตบอลและไม่มีความเกี่ยวข้องด้านการเมือง ลุกขึ้นมาทำทีมลูกหนังประจำจังหวัด เพื่อจุดมุ่งหมายที่ใช้ “ฟุตบอล” เป็นจุดเชื่อมโยงที่ประกอบ จิ๊กซอว์นี้ให้กลับมาเป็นรูปร่างอีกครั้ง ผ่านสโมสรที่อายุไม่ถึง 1 ปี อย่าง *“ยาลอ ซิตี้” *

 

จิ๊กซอว์ที่หายไป

“นับตั้งแต่เกิดเหตุการณ์ความไม่สงบ เมื่อปี พ.ศ.2547 ในตัวเมืองยะลา เหมือนถูกแบ่งด้วยภูมิศาสตร์ตามเขตแนวรถไฟ ฝั่งหนึ่ง ส่วนใหญ่เป็น คนไทย-พุทธ และศาสนกชนอื่นๆ อยู่ร่วมกัน ส่วนอีกฝั่ง ส่วนใหญ่เป็นคนที่นับถืออิสลาม ซึ่งคนไทย-พุทธ จะไม่กล้าข้ามมาฝั่งที่เรียกว่า ตลาดเก่า ทีมฟุตบอลก่อนหน้านี้จึงไม่ค่อยได้รับความนิยมนัก”

“แต่เราเป็นกลุ่มคนที่รักฟุตบอล และต้องการสร้างทีมของจังหวัด เพื่อให้คนทุกศาสนามาอยู่รวมกัน ประกอบกับ จ.ยะลา ไม่มีสโมสรในลีกอาชีพมาเป็นเวลา 1 ปี ก็ได้ไปตรวจสอบสิทธิ์กับทางสมาคมฯ ซึ่งทั้งทีม ยะลา เอฟซี และ ยะลา ยูไนเต็ด สิทธิ์ขาดไปแล้ว หากจะทำทีมก็ต้องไปเริ่มจาก ไทยแลนด์ อเมเจอร์ ลีก (ลีกสมัครเล่น) เราจึงตัดสินใจทำทีมยาลอ ซิตี้” 

อาดัม อาลีอามะ ผู้จัดการทั่วไปสโมสร ยาลอ ซิตี้ ที่มีอาชีพเป็น พนักงานการไฟฟ้าฯ เล่าถึงจุดเริ่มต้นของการรวบรวมกลุ่มคนหลากหลายอาชีพ ที่รู้จักกันภายในจังหวัด มาจัดตั้งทีมลูกหนังสมัครเล่นชื่อว่ายาลอ ซิตี้ 

อันที่มีที่มาจาก ภูเขาลูกหนึ่ง ที่ลักษณะคล้ายกับแหจับปลาที่ถูกถ่างตีนแหไปโดยรอบ ภูเขาลูกนี้จึงมีชื่อ ยาลอ (คำมลายูพื้นเมือง) แปลว่า “แห” หรือ “ตาข่าย” ซึ่งเป็นนามเดิมของจังหวัดยะลา

“เราสมัครเป็นสมาชิกของสมาคมฯ ทั้งที่ตอนนั้น ยังไม่มีนักฟุตบอลอยู่ในสังกัดแม้แต่คนเดียว และไม่รู้ว่าจะไปหานักเตะจากไหน แต่เราเห็นทีมอย่าง โก-ลก ยูไนเต็ด, สุไหงปาดี เอฟซี ซึ่งเป็นทีมระดับอำเภอ เขายังส่งแข่งขันเลย แม้แต่ทีมโรงเรียนอย่าง ศิริธรรมวิทยา ก็เข้าร่วมด้วย ตอนนั้นเราคิดแค่ว่าพวกเขาทำได้ เราก็ต้องทำได้” อาดัม กล่าวเริ่ม

“แต่เงื่อนไขของทีมในอเมเจอร์ ลีก คือ การห้ามผู้เล่นอาชีพ หรือถ้าเคยเล่น ก็ต้องเว้นว่างจากการเล่นลีกอาชีพมาอย่างน้อย 1 ปี เราจึงเริ่มจากการไปติดต่อนักเตะเก่าๆของยะลา เอฟซี, ยะลา ยูไนเต็ด บวกกับการเปิดคัดตัวหาผู้เล่นจากทุกอำเภอ รายการนั้นเราได้อันดับ 2 ของโซนภาคใต้ จึงได้สิทธิ์มาเล่นไทยลีก 4 ฤดูกาลถัดไป เนื่องจากภาคใต้มีจำนวนทีมค่อนข้างน้อย”

ยาลอ ซิตี้ ตีตั๋วขึ้นลิฟท์สู่ลีกอาชีพอย่างรวดเร็ว ทั้งที่ก่อตั้งทีมไม่ถึงปี (จดทะเบียน 4 สิงหาคม 2561) โดยขุมกำลังเกือบทั้งหมดเป็นเยาวชนและนักฟุตบอลภายในจังหวัด 

แต่อุปสรรคสำคัญสำหรับทีมรากหญ้าในไทย คือ เงินลงทุน ที่ค่อนข้างต้องเสียค่าใช้จ่ายหลักล้าน เพื่อแลกกับการทำสโมสรในลีกระดับ 4 ที่มักไม่ค่อยมีสปอนเซอร์เจ้าไหน อยากเข้าไปสนับสนุนทีมเหล่านี้ โดยเฉพาะทีมในสามจังหวัดชายแดนใต้ ที่สปอนเซอร์มักมองข้าม  

ทั้งหมดเป็นโจทย์ใหญ่ของเหล่าผู้บริหารยาลอ ซิตี้ ที่จะต้องหาวิธีบริหารทีมนี้ จนกระทั่งพวกเขาปิ๊งไอเดียที่น่าจะช่วยเหลือเรื่องค่าใช้จ่าย และทำให้ผู้คนในจังหวัดได้รู้จักสโมสรน้องใหม่แห่งนี้ 

“เราดำเนินการทำตาม คลับ ไลเซนซิง ทุกอย่าง แต่ติดปัญหาเรื่องงบประมาณ เพราะสปอนเซอร์ใหญ่ไม่เข้าอยู่แล้ว ที่ได้ก็เป็นพวกห้างร้านในจังหวัดช่วยเหลือเจ้าละ 5,000 - 10,000 บาท ซึ่งก็ยังไม่พอเท่าไหร่” 

“เราจึงตัดสินใจจัดงานวิ่งชื่อว่า ยาลอ รันนิ่ง โดยตั้งจุดออกสตาร์ทที่สนามฟุตบอลหญ้าเทียม เทศบาลนครยะลา ที่ตั้งอยู่ในชุมชมมุสลิม จารูพัฒนา เพื่อให้คนที่ไม่เคยข้ามฝั่งมา ได้มาสัมผัสว่าสนามฟุตบอลที่นี่มีความสวยงามแค่ไหน” 

“และถือโอกาสเป็นการประชาสัมพันธ์, เฉลิมฉลองว่า จังหวัดยะลาจะมีทีมฟุตบอลอีกครั้ง งานนั้นคนให้การตอบรับดีมาก มีคนเข้าร่วมเกือบ 4,000 คน และได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วน” ผู้จัดการทั่วไป ยาลอ ซิตี้ เผย

จิ๊กซอว์จากหลากหลายชุมชน หลากหลายความเชื่อ หลั่งไหลมายังจุดออกสตาร์ท เพื่อร่วมวิ่งในงาน ยาลอ รันนิ่ง ซึ่งนับเป็นภาพที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในรอบหลายปี 

คงเหมือนกับความหมายบนโลโกของยาลอ ซิตี้ ที่เลือกใช้จิ๊กซอว์ 4 ส่วน 4 สี  เป็นตัวแทนแต่ละชาติพันธุ์ในจังหวัดมาประกอบกัน 

สื่อถึงการอยู่ร่วมกันของคนหลากหลายเชื้อสายมาตั้งแต่อดีตกาล ไม่ว่าจะเป็น คนเชื้อสายมลายู, คนเชื้อสายไทย, คนเชื้อสายจีน หรือคนเชื้อสายอื่นๆ

 

เพื่อเด็กบ้านเรา 

ความน่าสนใจอย่างหนึ่งที่ไม่ค่อยเหมือนใครของยาลอ ซิตี้ คือ พวกเขามีแนวทางไม่ใช้ผู้เล่นต่างชาติ แม้แต่คนเดียว และนักเตะแทบจะทั้งหมดในทีมเป็นเด็กท้องถิ่นที่เกิด เติบโต หรือไม่ก็เรียนอยู่ในจังหวัดยะลา

เรื่องนี้ อาดัม อาลีมามะ ผู้จัดการทั่วไป ยาลอ ซิตี้ อธิบายกับเราว่า เรื่องงบประมาณทำทีมที่ค่อนข้างจำกัด เป็นเหตุผลข้อหนึ่งที่ทำให้สโมสรไม่สามารถไปทุ่มเงินจ้างนักฟุตบอลฝีเท้าดีต่างถิ่น หรือบรรดาแข้งต่างชาติแพงๆมาได้ 

แต่เหตุผลอีกข้อที่สำคัญกว่า คือ สโมสรแห่งนี้ ต้องการสร้างทีมฟุตบอล เพื่อมอบโอกาสแก่เด็กในท้องถิ่นให้มีเวลาได้แสดงศักยภาพ ไม่ใช่มุ่งหวังแต่ผลการแข่งขันเพียงอย่างเดียว

“ทำไมสโมสรเราถึงใช้แต่เด็กท้องถิ่น? เพราะเป้าหมายทีมในปีแรก เรายังไม่ได้วางไว้สูงนัก และงบประมาณเรามีน้อย ดังนั้นจึงอยากสร้างพื้นที่ตรงนี้ ให้ลูกหลานและเยาวชนในท้องถิ่นได้มีโอกาส ขยับขึ้นมาเล่นลีกอาชีพ” อาดัม กล่าวเริ่ม 

“ซึ่งเด็กส่วนใหญ่ในยะลา เขาไม่ได้เอาเรื่องเงินเป็นใหญ่ ขอแค่พื้นที่ให้เขาได้เล่นฟุตบอล ทุกคนจึงมีใจอยากมาอยู่กับเรา แม้เราจะไม่ใช่ทีมให้เงินเดือนได้สูงนัก อีกอย่างพวกตัวต่างชาติที่อยู่ในลีกล่างไทย ผมมองแล้ว ฝีเท้าไม่ได้หนีกับเด็กไทย ถ้าเด็กไทยได้รับการขัดเกลาดีๆ และเขามีความตั้งใจที่อยากจะพัฒนาตัวเอง เขาสามารถต่อยอดได้”

“นักฟุตบอลในทีมส่วนมากเป็น นักศึกษา อาจมีบางคนที่เป็นวัยทำงาน มีอาชีพประจำอยู่แล้ว เช่น ทำงานรับจ้าง, พนักงานวิ่งส่งเอกสารตามชายแดน แต่ถ้าในอนาคตเขามีทีมในลีกที่ใหญ่กว่า ดีกว่า ต้องการตัวไปเล่น เราก็ยินดีเปิดโอกาสให้เขาไปแบบไม่ปิดกั้น เพราะถ้าไม่มี ยาลอ ซิตี้ นักบอลหลายๆคนก็อาจไม่มีเวทีได้แสดงความสามารถ เราก็เลยต้องพยายามอยู่ให้ได้ด้วยตัวเอง”

นักฟุตบอลที่อยู่ในทีม ยาลอ ซิตี้ อาจไม่ใช่พวกผู้เล่นชั้นดี หรือมีประสบการณ์มากนัก แต่เหล่าผู้บริหาร เชื่อมั่นว่า ภายใต้การดูแลและฝึกสอนของ บูคอรี ดือเระ อดีตนักฟุตบอลทีมชาติไทย และเฮดโค้ชผู้คร่ำหวอดในวงการลูกหนังสามจังหวัดชายแดนใต้  จะช่วยยกระดับ แข้งท้องถิ่นของ ยาลอ ซิตี้ ขึ้นไปอีกขั้น

นอกจากนี้ ยาลอ ซิตี้ ยังใช้ความเป็นสโมสรท้องถิ่นนิยม เป็นจุดแข็งในการประชาสัมพันธ์ ทั้งการออกนโยบาย ตั๋วปี 1,000 บาท 1 ใบ สามารถพามาชมเกมเหย้าได้ยกครอบครัว การใช้แบรนด์เสื้อกีฬาท้องถิ่น เพื่อกำหนดราคาให้แฟนบอลสามารถจับต้องได้ 

รวมถึงการตระเวนไปดูช้างเผือกจากทุกอำเภอเข้ามาอยู่ในทีม และมักหาเวลาว่างพาทีมไปเตะตามพื้นที่ต่างๆในจังหวัด กับบรรดาทีมชุมชน เพื่อสร้างความใกล้ชิดกับประชาชนชาวยะลา ทั้งหมดเป็นส่วนประกอบที่ทำให้สโมสร ที่มีอายุไม่ถึง 1 ปี มีแฟนบอลเข้าชมเกมเต็มสนามที่มีความจุ 3,000 คน อยู่เสมอ ยามแข่งในบ้าน

“สโมสรเรามีนโยบายที่ต้องการให้คนเข้ามาดูที่สนามให้ได้มากที่สุดก่อนในปีแรก ตั๋วปี 1,000 บาท คุณได้ทั้งเสื้อแข่ง และได้ชมเกม 12 นัด โดยสามารถพามาดูได้ทั้งครอบครัว ถ้าสังเกต ตั๋วหน้าสนาม เราขายได้ไม่เยอะ แต่ทำไมเรามีคนดู เพราะเราได้ยอดขายจากตั๋วปีมาบริหารทีมก่อนแล้ว”

“อีกเหตุผลที่ทำให้ มีคนมาดูสโมสรเรามาก ทั้งที่ก่อนหน้านั้น คนในจังหวัดไม่ค่อยเข้ามาดูทีมอาชีพ เพราะเราพยายามจะเสาะหานักฟุตบอลจากทุกอำเภอมาอยู่ในทีม ลองนึกภาพ ถ้าคนในพื้นที่รู้ว่า เด็กในอำเภอของพวกเขามาเล่นให้สโมสรจังหวัด พวกเขาก็อยากเดินทางตามมาดู อย่างน้องหมายเลข 24 (อันวา อาลีมามะ) คนนี้มาจากอำเภอบันนังสตา ที่เป็นพื้นที่สีแดง ก็มีแฟนบอลในพื้นที่ขับรถมาดูน้องถึงสนาม”

“แฟนบอลทั่วไป เมื่อเขาได้สัมผัสกับกองเชียร์ กับน้องอันวา เขาก็จะได้เข้าใจว่า คนบันนังสตา ไม่ได้น่ากลัวอย่างที่คิดนะ ฉะนั้นเวลาแฟนบอลที่นี่มาดูในสนาม ความรู้สึกก็เหมือนเขามานั่งเชียร์ลูกหลานลงเล่นบอลอาชีพ อะไรแบบนั้น” อาดัม ผจก.ทั่วไป เผย

 

สโมสรของทุกคน

“ปกติถ้าเป็นทีมอื่นที่มาใช้สนามก่อนหน้านี้ ผมไม่เคยอาสาเข้ามาช่วยนะ แต่พอเห็นพวกเขาตั้งใจมาทำทีมฟุตบอลเพื่อจังหวัดเรา โดยไม่ได้ยุ่งเกี่ยวกับการเมือง หรือคิดทำกำไร” 

“ผมก็ชักชวนชาวบ้านมาช่วยในวันแข่ง เพราะเขามาทำเรื่องดีๆ ในพื้นที่ชุมชนเรา เราก็ต้องช่วยเหลือเขา ในสิ่งที่เราพอจะทำได้” 

อิบรอฮิม ดือราแม หรือ “จิเฮง” ผู้นำชุมชนจารูพัฒนา เผยสั้นๆถึงเหตุผลที่เขาเดินทางมาถึงสนามฟุตบอลก่อนใครเพื่อน ตั้งแต่ช่วงเวลาบ่ายโมง เพื่อเตรียมสถานที่ 

แน่นอนว่าเขาเป็นจิตอาสาเช่นเดียวกับชาวบ้านหลายคนในพื้นที่ ที่มาช่วยกันคนละแม่ไม้มือ ไม่นานนัก “ดาอิ” ดอเล๊าะ เจ๊ะโซ๊ะ ขับรถยนต์ส่วนตัวถึงสนาม ก่อนเปิดท้ายรถเพื่อหยิบลูกฟุตบอล เดินเข้าสนาม จนเราแทบไม่รู้เลยว่าเขามีตำแหน่งเป็น สมาชิกเทศบาล (สท.) 

สักพักใหญ่ๆ แวอัสมาน สาและ ช่างภาพประจำสโมสรที่อาสามาช่วยบันทึกภาพให้ทีม เข้ามาทักทายและพูดคุยอย่างเป็นกันเองกับเรา ก่อนที่จะชักชวนไปร้านโรตี ที่เป็นอาชีพหลักของเจ้าตัว ในเช้าวันรุ่งขึ้น 

นี่คือภาพที่เราเห็นความร่วมมือร่วมกันของคนในจังหวัด คนละไม้คนละมือ ตามกำลังที่ทำได้ ในสนามเดียวกันกับที่มีเจ้าหน้าที่ทหาร, เจ้าหน้าที่ตรวจวัตถุระเบิด หลายสิบนาย คอยเดินสำรวจ และดูแลความเรียบร้อย จนจบการแข่งขัน

“สำหรับคนทำทีมทุกคน เรามองว่า คนยะลาทุกคนคือเจ้าของทีม ไม่ใช่พวกผม ไม่ใช่บอสรอน (อิมรอน เส็นหลีหมีน ประธานสโมสร) เราพยายามทำให้ทุกคนรู้สึกว่าตัวเองได้มีส่วนร่วมกับทีม แค่คุณเสียเงินซื้อตั๋วเข้ามาชมเกมในสนาม ก็ถือว่าได้ช่วยทีมบ้านเราแล้ว” 

“เมื่อเรามองว่า ประชาชนชาวยะลาทุกเชื้อสาย คือ เจ้าของ พวกผมจึงไม่เคยไปนั่งตรงที่นั่งประธาน เพราะทุกคนคือเจ้าของทีม ทุกนัดที่มีการแข่งขัน พวกผมจะไปนั่งกับแฟนบอล เพื่อคลุกคลี และลดช่องว่างระหว่างคนทำทีม กับแฟนบอล เราจะได้รับรู้ว่าเขารู้สึกอย่างไร และมีสิ่งใดที่อยากให้สโมสรปรับปรุง” 

“อีกอย่างเรามองว่า ฟุตบอลเป็นความบันเทิงเดียวที่ผู้คนทุกศาสนา สามารถยอมรับได้ และเข้ากับบริบทของสังคม เมื่อเป็นเช่นนั้น เราจึงมองว่าสโมสรฟุตบอลนี่แหละที่หลอมให้ผู้คนทุกเชื้อสาย ทุกเพศ ทุกวัย ในจังหวัด ได้มาใช้เวลาอยู่ร่วมกัน และเข้าใจกันมากขึ้น”

“ไม่งั้นพวกเราคงไม่ตั้งผู้เล่นไทยพุทธ ดุสิต หนองประทุม เป็นกัปตัน เพราะเราไม่เคยแบ่งแยกผู้เล่นด้วยศาสนา เราเชื่อว่า ยะลาคนหลากหลายศาสนาสามารถอยู่ด้วยกันได้ ทำงานร่วมกันเหมือนในอดีตที่เคยเป็นมา” 

ในยุคที่ความสำเร็จทางฟุตบอล เป็นสิ่งที่รอไม่ได้ สโมสรแห่งนี้ กลับมองเห็น ฟุตบอลเป็นเกมที่มากกว่า ถ้วยแชมป์, เลื่อนชั้น หรือประสบความสำเร็จในสนาม แต่นี่คือเกมที่จะช่วยทำให้ บ้านเมืองของพวกเขา กลับมาร่วมแรงร่วมใจอีกครั้ง

ยาลอ ซิตี้ อาจไม่ได้สร้างอิมแพกต์มากพอจะเปลี่ยนแปลงความคิดผู้คนทั้งจังหวัด แต่พวกเขาก็มั่นใจว่าการเติบโตอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยยึดการเปิดโอกาสให้ทุกคนได้มีส่วนร่วม จะทำให้ จิ๊กซอว์ชิ้นที่ชื่อว่า ยาลอ ซิตี้ ถูกประกอบขึ้นมาเป็นภาพที่สวยงาม และยากจะแยกออกจากกันได้ 

“ความเป็นเลิศในการแข่งขันเป็นแค่เรื่องรอง เรื่องหลักที่เราให้ความสำคัญ คือการสร้างระบบที่เปิดให้ทุกคนในจังหวัดได้มีส่วนร่วม เพราะเราอยากเห็นสโมสรเติบโตอย่างยั่งยืน และไม่ต้องการให้ทีมผูกติดกับบุคคลใด บุคคลหนึ่ง กลุ่มการเมืองใด กลุ่มการเมืองหนึ่ง หากวันหนึ่งคนๆนั้นไม่อยู่ สโมสรต้องล้มหายตายจากหรือ? เราไม่เอาแบบนั้น”

“เราต้องการให้ สโมสรเป็นของทุกคน ถ้าวันหนึ่งคนกลุ่มนี้ไม่ไหว คนอื่นก็สามารถเข้ามาทดแทนได้ พวกเราทีมบริหารทุกคนไม่มีใครยึดติดกับตำแหน่ง และพร้อมเปิดโอกาสให้ที่มีศักยภาพ ขึ้นมาทำหน้าที่ส่งเสริมกัน” 

“ถึงแม้มันต้องใช้ความอดทน รอเวลา และใจเย็น เพราะทรัพยากรและความพร้อมเรายังไม่มีหลายด้าน แต่เราเชื่อว่าหากเรายังเดินแบบนี้ ค่อยๆแก้ปัญหาไป เราไม่ล้มแน่นอน” อาดัม อาลีมามะ ทิ้งท้าย

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0