โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

ม.เอกชนแข่งดุส่อเจ๊งระนาว เรียนฟรี-มาเป็นแก๊งได้ลดเพิ่ม

ประชาชาติธุรกิจ

อัพเดต 06 มิ.ย. 2563 เวลา 03.41 น. • เผยแพร่ 06 มิ.ย. 2563 เวลา 02.55 น.
S__3170508-e1567152257710
เครดิตภาพ : rbac.ac.th

วงการศึกษาระส่ำ มหา’ลัยขนาดกลาง-เล็กดิ้นหนีตาย เปิดฉากสงครามราคา ให้ส่วนลด-หั่นค่าเทอม 40-50% ระดมแจกทุน-ชูของฟรี แถมเงิน-ค่าครองชีพ กู้เงินเรียนดอกเบี้ยต่ำ สมัครเรียนเป็นคู่ ยกแก๊งได้สิทธิพิเศษเพิ่ม หวังดึงเด็กเข้าเรียน หวั่นคุณภาพการศึกษาต่ำติดดิน-ดัมพ์ค่าเทอม จัดโปรฯไฟไหม้ยิ่งพากันเจ๊ง สยองตัวเลข TCAS ปี’63 ลดวูบเหลือแค่ 3.7 แสนคน ลุ้นรอบ 5 มหา’ลัยรับตรง มหา’ลัยรัฐเจอปัญหาไม่น้อยหน้า

การแข่งขันกันในตลาดการศึกษาระดับมหาวิทยาลัยรุนแรงขึ้นตามลำดับ สวนทางกับปริมาณนักศึกษาที่มีจำนวนลดน้อยลงทุกปี จากการปรับเปลี่ยนโครงสร้างประชากรของประเทศไทยที่เด็กเกิดใหม่ลดลงมาก แต่มหาวิทยาลัยทั้งของรัฐและเอกชนยังมีจำนวนใกล้เคียงกับช่วงหลายปีก่อน การแย่งชิงนักศึกษาใหม่เข้าศึกษาในแต่ละสถาบันที่มีต่อเนื่องมาหลายปีชัดเจนมากขึ้นอีกในปีนี้ โดยเฉพาะมหาวิทยาลัยขนาดกลางและขนาดเล็ก ขณะที่มหาวิทยาลัยรัฐ และมหาวิทยาลัยเอกชนขนาดใหญ่ก็มีปัญหาเรื่องเด็กเข้าเรียนลดน้อยลง ต้องหาทางดึงดูดนักศึกใหม่เข้าศึกษาต่อเช่นเดียวกัน

ลดค่าเทอม-ให้เงินครองชีพ

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานจากการสำรวจมหาวิทยาลัยขนาดกลางและขนาดเล็กในระบบว่า ความเคลื่อนไหวจัดโปรโมชั่นของมหาวิทยาลัยในปีนี้เป็นปรากฏการณ์ที่ค่อนข้างดุเดือดรุนแรงกว่าหลายปีที่ผ่านมา เท่าที่สำรวจพบสามารถแบ่งตามโปรโมชั่น คือ 1) “ให้ส่วนลด” อย่างเช่น มหาวิทยาลัยนอร์ทกรุงเทพ ประกาศปรับลดค่าบำรุงการศึกษา ค่าบำรุงคอมพิวเตอร์ลง 25% รวมถึงยกเว้นค่าธรรมเนียม การผ่อนผันค่าเล่าเรียน ซึ่งมหาวิทยาลัยจะคืนเงินเข้าระบบให้นักศึกษาอัตโนมัติ โดยนักศึกษาไม่ต้องยื่นคำร้อง พร้อมทั้งตรวจสอบการคืนเงินผ่านระบบทะเบียนได้ทันที

2) “ฟรี” มหาวิทยาลัยรัตนบัณฑิต(RBAC) กรณีสำหรับ “นักศึกษาใหม่” ที่กำลังจะเรียนจบ ม.6, ปวช., ปวส., กศน. รวมทั้งการเทียบโอน ด้วยการชูคอนเซ็ปต์ “ไม่ต้อง และฟรี” คือ ไม่ต้องสอบสัมภาษณ์ ไม่ต้องสอบข้อเขียน ไม่ต้องยื่น TCAS ไม่ต้องยื่นคะแนน GAT-PAT ไม่ต้องยื่นคะแนน O-NET และไม่ต้องยื่นแฟ้มสะสมผลงาน

นอกจากนี้ ยังฟรีค่าหอพัก จ่ายเพียงค่าน้ำค่าไฟเดือนละ 300 บาท ฟรีชุดนักศึกษา 2 ชุด รวมถึงรองเท้ากระเป๋า ฟรีเสื้อกิจกรรม 1 ตัว ฟรีหนังสือเรียนตลอดหลักสูตร ฟรีฟิตเนส สระว่ายน้ำ และ WiFi ทั้งยังมีงานพาร์ตไทม์ให้ทำระหว่างเรียน รับค่าครองชีพ 3,000 บาทต่อเดือน ฯลฯ

เรียนจบ 3 ปี-กู้ไม่ต้องใช้คืน

3) “ร่นเวลาเรียน” มหาวิทยาลัยเกริก ชูจุดขายระดับปริญญาตรีในบางสาขาวิชาใช้เวลาเรียนเพียง 3 ปี รวมหน่วยกิตไม่ต่ำกว่า 120 หน่วยกิต เช่น หลักสูตรบริหารธุรกิจบัณฑิต สาขาวิชาการจัดการ ซึ่งการเรียนการสอนจะผสมผสานด้วยรูปแบบถ่ายทอดสดและวิดีโอคลิป นักศึกษาสามารถผ่อนชำระค่าเทอมแบบ “รายเดือน” ได้ นอกจากนี้ยังให้ “เรียนฟรี” ภาษาจีนพื้นฐาน ผู้ที่จบ ปวส.สามารถเทียบโอนหน่วยกิตได้ โดยใช้เวลาเรียนแค่ 1 ปี

ส่วนมหาวิทยาลัยเอเชียอาคเนย์ (SAU) จัดทุนการศึกษาให้ 40,000 บาท อีกทั้งในกรณีที่สมัครมาเป็น “คู่” จะได้รับทุนการศึกษาเพิ่มเติมอีก 5,000 บาท แต่หากมาสมัครยกแก๊ง 5 คน จะได้ส่วนลดคนละ 3,000 บาท แนะนำคนรู้จักให้เข้ามาเรียนจะได้รับทุนการศึกษา 1,500 บาท

ไม่ต่างจากมหาวิทยาลัยเอกชนในต่างจังหวัด อย่างมหาวิทยาลัยตาปี จ.สุราษฎร์ธานี ให้ความสำคัญกับการเรียนผ่านระบบออนไลน์มากขึ้น ให้เรียนเฉพาะวันเสาร์-อาทิตย์ ด้วย Google Classroom ลดค่าเทอมเหลือเพียง 19,500 บาท มีเงิน กยศ.ให้นักศึกษากู้ยืม ขณะที่สถาบันรัชต์ภาคย์ จ.ลพบุรี จัดทุนการศึกษายาว สำหรับนักศึกษาใหม่ที่เรียนจบ ม.6 หรือ ปวช. ที่มีเกรดเฉลี่ยสะสม (GPA) ขึ้นไป จะได้รับทุนเรียนฟรีตลอดหลักสูตร โดยไม่ต้องใช้ทุนคืนเมื่อเรียนจบแล้ว นอกจากนี้ยังจัดหอพักราคาถูกให้บริการ มอบตำราเรียนฟรีตลอดหลักสูตร ฟรีชุดนักศึกษาและมีสวัสดิการจัดหางานพิเศษ part time ให้กับนักศึกษาด้วย

เลือกวันเรียนได้-กู้ดอกเบี้ยต่ำ

4) “ลดต้น-ลดออกเบี้ย” หลังเรียนจบ อาทิ มหาวิทยาลัยวงษ์ชวลิตกุล จ.นครราชสีมา จัดสารพัดทุนสำหรับประเภททุนเรียนดี ครีเอตเอาใจนักศึกษาติดเพื่อน ด้วยการใช้เงื่อนไขที่ว่า ในกรณีที่จับคู่มาเรียนจะได้ส่วนลดค่าเทอมถึง 15% ตลอดหลักสูตร หากยกทีมเข้ามาสมัครเรียน มหาวิทยาลัยมอบทุนสนับสนุนเพิ่มอีก 5,000 บาท

นอกจากนี้ มหาวิทยาลัยยังต่อยอดสาขาวิชาที่ตลาดต้องการ คือ “โครงการส่งเสริมการพัฒนาทุนมนุษย์ (Human Capital)” สนับสนุนเงินกู้ยืมให้นักศึกษาที่ต้องการเรียนในกลุ่มที่รองรับ 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายของภาครัฐ พื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ (EEC) เพื่อ “ป้อนกำลังคน” ในสายอาชีวะ/สายวิชาชีพ ที่ยังขาดแคลน พร้อมทั้งให้สิทธิพิเศษกับผู้กู้ยืมเรียนในช่วงปีการศึกษา 2562-2566 ด้วยอัตราดอกเบี้ยกู้ยืมไม่เกิน 0.5% ต่อปี สำหรับผู้กู้ยืมในระดับ ป.ตรี เมื่อเรียนจบลดเงินต้นให้ 30% และจบระดับอาชีวศึกษา ลดเงินต้นให้ 50%และมหาวิทยาลัยภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จ.ขอนแก่น ชููคอนเซ็ปต์ “เรียน ป.ตรี สไตล์คนทำงาน” เข้าเรียนเฉพาะวันเสาร์-อาทิตย์ แบ่งชำระค่าเทอมเป็นรายเดือนได้ สำหรับผู้จบ ปวส. หรือเทียบเท่า เทียบโอนหน่วยกิตได้ ผู้ที่จบป.ตรี ใบที่ 2 ก็สามารถเทียบโอนได้เช่นเดียวกัน

รามฯลดค่าหน่วยกิต 40%

แม้แต่มหาวิทยาลัยรามคำแหง ได้ประกาศลดค่าหน่วยกิตลง 40% สำหรับนักศึกษาใหม่ ทั้งระดับ ป.ตรี ภาคปกติ และนักศึกษา Predegree โดยเฉพาะเมื่อเรียนจบในระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 สามารถนำหน่วยกิตล่วงหน้ามาเทียบโอนหน่วยกิตและสมัครเป็นนักศึกษาระดับปริญญาตรีตามระเบียบของมหาวิทยาลัยในสาขาต่อไปนี้ คือ คณะนิติศาสตร์ บริหารธุรกิจ มนุษยศาสตร์ ศึกษาศาสตร์ วิทยาศาสตร์ รัฐศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ และสื่อสารมวลชน ส่วนหนึ่งคือเพื่อช่วยเหลือนักศึกษาที่มีครอบครัวได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจที่หยุดชะงักในช่วงที่โควิด-19 ระบาด โดยนักศึกษาสามารถเข้ามาสมัครผ่านระบบออนไลน์ของมหาวิทยาลัยได้

สงครามราคาพากันเจ๊ง

ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) และในฐานะประธานที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) ให้ความเห็น “ประชาชาติธุรกิจ” เกี่ยวกับปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นว่า การประกาศลดราคาค่าเทอม โปรโมชั่นดึงนักศึกษา ฯลฯ เป็น “ข้อกังวล” ที่มีการหยิบยกขึ้นหารือในที่ประชุม ทปอ.ครั้งล่าสุดว่า หากการศึกษาต้องแข่งขันกันด้วย “ราคา” เท่ากับว่าการศึกษาของไทยจะ “อ่อนแอ” เพิ่มมากขึ้น เพราะธุรกิจการศึกษาไม่ว่าจะเป็นมหาวิทยาลัยของภาครัฐ หรือของเอกชน ต่างเจอปัญหาหนัก

ในช่วงกว่า 10 ปีที่ผ่านมาอยู่แล้ว จากเศรษฐกิจที่ชะลอตัว อัตราการเกิดใหม่ของประชากรไทยลดลง และล่าสุดคือการระบาดของโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบค่อนข้างรุนแรง เมื่อแข่งขันกันด้วยราคาจะส่งผลต่อรายได้และคุณภาพของหลักสูตร ที่น่าห่วงกว่านั้นคือปัญหาอาจบานปลายขาดสภาพคล่องทางการเงินจนถึงขั้นต้องปิดมหาวิทยาลัย หรือขายทอดตลาดเหมือนกับช่วงก่อนหน้านี้

ปี 2562 ที่ผ่านมา จำนวนนักศึกษาใหม่ในระบบ TCAS ประเมินว่าจำนวนนักศึกษาจะอยู่ในระดับ 4-5 แสนคน และปี 2562 ลดลงมาอยู่ที่ 3-4 แสนคน จากในอดีตจำนวนนักศึกษาอยู่ที่เกือบ 1 ล้านคน และควรตั้งรับด้วยการ 1) สาขาวิชาใดที่มีนักเรียนน้อยมากควรปิดตัวลง และไปพัฒนาหลักสูตรใหม่ ๆ ที่สามารถตอบโจทย์ความต้องการตลาดได้ 2) อัตราค่าเทอมควรอยู่ในระดับที่จะสร้างรายได้ให้กับมหาวิทยาลัยได้อย่างยั่งยืน 3) ไม่ควรฝากความหวังนักศึกษาต่างประเทศที่จะเข้ามาเรียนในเมืองไทยมากนัก อย่างเช่น นักศึกษาจากจีน เป็นต้น

“ผมไม่เข้าใจว่าในรายวิชาที่มีผู้เรียนน้อยจะเก็บไว้ทำไม เราควรพัฒนาและเดินไปข้างหน้าให้ได้ บางแห่งจัดโปรฯไฟไหม้ ทั้งลด แจก แถม แทบจะอุ้มนักศึกษาเข้ามาเรียน หรือแม้แต่ให้เรียนฟรี นักศึกษาในยุคนี้ก็ยังไม่สนใจ ขณะนี้ปัญหาขยายวงไปสู่บุคลากรในแวดวงการศึกษาแล้ว อาจจะถูกเลิกจ้างเพราะมหาวิทยาลัยต้องลดค่าใช้จ่าย เพื่อประคับประคองให้ไปต่อได้ คาดว่าช่วงสิ้นปี”63 นี้ อาจจะมีหลายรายที่จะพากันเจ๊ง”

ศ.ดร.สุชัชวีร์กล่าวว่า ในส่วนของมหาวิทยาลัยรัฐก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน แต่ความรุนแรงจะน้อยกว่า เพราะได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากภาครัฐ ยกตัวอย่าง สจล. มีค่าใช้จ่ายอยู่ที่ 5,200 ล้านบาท/ปี แต่ได้รับเงินสนับสนุน 2,300 ล้านบาท/ปี หรือแม้แต่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ต้องใช้เงินราว 10,000 ล้านบาท/ปี ได้รับเงินสนับสนุุนที่ 5,000 ล้านบาท เนื่องจากจุฬาฯมีรายได้จากการดำเนินการด้านอื่นในเชิงธุรกิจ คำถามที่ตามมาคือ “ส่วนต่าง” ของงบประมาณที่หายไป มหาวิทยาลัยจะต้องบริหาร จัดหารายได้ด้วยตัวเอง

TCAS 63 แตะที่ 3.7 แสนคน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากการรายงานของระบบการคัดเลือกกลาง หรือ TCAS ระบุว่า การประกาศคัดเลือกนักศึกษาเข้าศึกษาต่อในปีการศึกษา 2563 ตั้งแต่ช่วงเดือน พ.ย. ปี 2562 รอบที่ 1 (เสนอแฟ้ม) มีผู้สมัครรวม 136,636 ที่นั่ง ตามมาด้วยรอบ 2 (โควตา) ยอดรับสมัครรวม 97,262 ที่นั่ง รอบ 3 (รับตรงร่วมกัน) รวม 74,435 ที่นั่ง รอบ 4 (แอดมิสชั่น) รวม 68,186 ที่นั่ง รวมทั้งหมด 376,519 ที่นั่ง และรอบ 5 (รับตรง) ขณะนี้อยู่ระหว่างสรุปยอดที่นั่ง ชี้ให้เห็นว่าจำนวนนักเรียนจบใหม่ที่จะเข้าสู่ระบบมหาวิทยาลัยมีจำนวนลดน้อยลงมาก

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0