โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

สุขภาพ

ม.มหิดลแนะรับมือ PM2.5

new18

อัพเดต 18 ม.ค. 2562 เวลา 05.47 น. • เผยแพร่ 18 ม.ค. 2562 เวลา 05.45 น. • new18
ม.มหิดลแนะรับมือ PM2.5
มหาวิทยาลัยมหิดลห่วงใยประชาชน แนะการดำเนินชีวิตท่ามกลางฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 ระบุ PM2.5 มีความสัมพันธ์กับการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด หลอดเลือดในสมอง ชี้การอยู่ในสถานที่อากาศมี PM2.5 สูง ในระยะยาวอาจสัมพันธ์กับการเกิดโรคสมองเสื่อม มะเร็งปอด เผยสารอาหารบางชนิดที่มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ อาจลดผลกระทบทางสุขภาพจาก PM2.5 เมื่อใช้ในปริมาณที่เหมาะสม เช่น วิตามินซี วิตามินอี และน้ำมันปลา

มหาวิทยาลัยมหิดลห่วงใยประชาชน แนะการดำเนินชีวิตท่ามกลางฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5  ระบุ PM2.5 มีความสัมพันธ์กับการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด หลอดเลือดในสมอง ชี้การอยู่ในสถานที่อากาศมี PM2.5 สูง ในระยะยาวอาจสัมพันธ์กับการเกิดโรคสมองเสื่อม มะเร็งปอด เผยสารอาหารบางชนิดที่มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ อาจลดผลกระทบทางสุขภาพจาก PM2.5 เมื่อใช้ในปริมาณที่เหมาะสม เช่น วิตามินซี วิตามินอี และน้ำมันปลา 

เมื่อวันที่ 18 ม.ค. ที่ห้องประชุมคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ตึกอำนวยการ ชั้น 2 รพ.ศิริราช ศ.นพ.บรรจง มไหสวริยะ รักษาการแทนอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นประธานการแถลงข่าว “มาตรการการดูแลสุขภาพและการจัดการที่ประชาชนสามารถดำเนินการได้เกี่ยวกับฝุ่นขนาดเล็ก PM2.5” โดยมี ศ.ดร. นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ศ.นพ.วินัย วนานุกูล หัวหน้าภาควิชาอายุรศาสตร์ ผู้แทนคณบดีคณะแพทยศาสตร์รพ.รามาธิบดี รศ.ดร.ชะนวนทอง ธนสุกาญจน์ คณบดีคณะสาธารณสุขศาสตร์ รศ.ดร. กัมปนาท ภักดีกุล คณบดีคณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ ผศ.ดร. จักรกฤษณ์ ศุทธากรณ์ คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ และคณาจารย์ผู้เชี่ยวชาญร่วมด้วยโดยมีเนืิ้อหาสรุปดังนี้

ผลกระทบของ PM2.5 ต่อสุขภาพของมนุษย์

PM2.5 คือ อนุภาคขนาดเล็กที่มีเส้นผ่าศูนย์กลางเฉลี่ยน้อยกว่า 2.5 ไมโครเมตร แขวนลอยอยู่ในอากาศรวมกับไอน้ำ ควัน และก๊าซต่าง ๆ ซึ่งผลกระทบของ PM2.5 ต่อสุขภาพมีดังต่อไปนี้

1.ผลต่อระบบทางเดินหายใจ ในระยะสั้นสามารถทำให้คนที่มีโรคระบบการหายใจเรื้อรังเกิดอาการกำเริบ ทั้งโรคจมูกอักเสบภูมิแพ้ โรคหืด และ โรคถุงลมโป่งพอง ในระยะยาวอาจมีส่วนทำให้เกิดโรคถุงลมป่องและมะเร็งปอดได้เพิ่มขึ้น

2.ผลต่อระบบอื่น ๆ ซึ่งการสูดดม PM2.5 มีผลกระทบทางสุขภาพระบบอื่น ๆ นอกจากระบบทางเดินหายใจด้วย การศึกษาส่วนใหญ่เป็นการศึกษาทางระบาดวิทยาและในสัตว์ทดลอง พบว่าปริมาณสาร PM2.5 ในอากาศมีความสัมพันธ์กับการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด รวมถึงหลอดเลือดในสมองทั้งในระยะเฉียบพลันและการได้รับในระยะยาว นอกจากนั้นยังพบว่าการอยู่ในที่ ๆ อากาศมี PM2.5 สูง ในระยะยาวอาจสัมพันธ์กับการเกิดโรคสมองเสื่อมด้วย

กลไกการเกิดโรคจาก PM2.5 มีสมมติฐาน คือ ก่อให้เกิดอนุมูลอิสระ หรือเหนี่ยวนำให้เกิดการอักเสบในบริเวณที่เป็นโรค และอาจจะมีสารบางชนิดติดกับอณูของ PM2.5 เช่น โลหะหนักบางชนิด หรือสารก่อมะเร็ง เช่น สารกลุ่ม Polycyclic aromatic hydrocarbon (PAH) การสูดดม PM2.5 จะทำให้ได้รับสารเหล่านี้แล้วเป็นสาเหตุให้เกิดมะเร็ง การศึกษาพบว่าสัมพันธ์กับการเกิดมะเร็งปอด

*แหล่งกำเนิดของ PM2.5 PM2.5 ในกรุงเทพและปริมณฑลมาจาก 4 แหล่งหลัก ได้แก่ *

1. ไอเสียจากรถยนต์ หรือจากการจราจร ซึ่งส่วนใหญ่มาจากรถยนต์ที่ใช้น้ำมันดีเซล

2. การเผาชีวมวล การเผาในที่โล่ง และในที่ไม่โล่ง

3. ฝุ่นทุติยภูมิที่เกิดจากปฏิกิริยาการรวมตัวกันของไอเสียรถยนต์

4. การเผาไหม้เชื้อเพลิงในโรงงานอุตสาหกรรมและโรงไฟฟ้า

ทั้งนี้ปัญหา PM2.5 ไม่ได้เป็นปัญหาใหม่ที่เพิ่งเกิดขึ้น แต่เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะในช่วงเดือน ม.ค.ถึงเดือน มี.ค.ที่อากาศสงบและลมนิ่ง โดยปริมาณ PM2.5 เฉลี่ยระดับ 24 ชั่วโมงจะสูงเกินกว่าค่ามาตรฐานประมาณ 40-50 วันต่อปี นอกจากนี้ปริมาณ PM2.5 ยังมีความแตกต่างกันตามแต่ละสถานที่ สิ่งแวดล้อมและช่วงเวลา โดยปริมาณ PM2.5 จะมีระดับสูงขึ้นในช่วงเช้าและเย็น และมีระดับลดลงในช่วงกลางวัน

*มาตรการในระยะเร่งด่วนเพื่อลดผลกระทบทางสุขภาพจากปัญหา PM2.5 *

สิ่งสำคัญในการรับมือปัญหา PM2.5 คือ 1) การประเมินสถานการณ์ความรุนแรงของปัญหา PM2.5 ในแต่ละพื้นที่ เนื่องจากปริมาณ PM2.5 มีการเปลี่ยนแปลงแตกต่างกันไปตามสถานที่ สิ่งแวดล้อมและช่วงเวลา โดยปัจจุบันสามารถประเมินได้ผ่านจากแอปพลิเคชันหรือเว็บไซต์ต่าง ๆ เช่น Air4Thai, AirVisual, Air Quality หรือ www.aqicn.org/city/bangkok โดยแบ่งความรุนแรงตามระดับสี (สีเหลือง สีส้มและสีแดง) ถ้าไม่สามารถประเมินด้วยวิธีดังกล่าวได้ อาจสังเกตจากสภาพอากาศหรือคำแจ้งเตือนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแทน 2) การประเมินภาวะทางสุขภาพ ว่าเป็นคนทั่วไปที่มีสุขภาพแข็งแรงดี หรือคนกลุ่มเสี่ยง ได้แก่ เด็ก ผู้สูงอายุ หญิงตั้งครรภ์ และผู้ที่มีโรคทางเดินหายใจหรือโรคหัวใจและหลอดเลือด ทั้งนี้มาตรการในการรับมือปัญหา PM2.5 จะแตกต่างกันไปตามระดับความรุนแรงของปัญหาและสุขภาพของแต่ละบุคคล

*1. พื้นที่สีเหลือง สถานการณ์อยู่ในระดับปานกลาง *

บุคคล: คนทั่วไป สามารถออกไปกลางแจ้งได้ ออกกำลังกายกลางแจ้งได้ หากเป็นอาชีพที่ต้องออกไปกลางแจ้งเป็นเวลานานพิจารณาใส่หน้ากากป้องกัน ทั้งนี้ควรมีช่วงที่กลับไปพักในอาคารที่มีการระบายอากาศดีหรือมีเครื่องปรับอากาศเป็นระยะ ๆ คนกลุ่มเสี่ยง ควรปรับเวลาในการออกไปกลางแจ้ง และหากต้องออกไปกลางแจ้งควรใส่หน้ากากป้องกัน

สถานที่: บ้าน สามารถเปิดประตูหรือหน้าต่างห้องได้ ถ้าไม่มีคนกลุ่มเสี่ยงอยู่ในห้อง แต่ไม่ควรเปิดทิ้งไว้ตลอด โรงเรียนหรือหน่วยงาน พิจารณาปรับเวลาเข้าและเลิก ลดกิจกรรมกลางแจ้ง

สิ่งแวดล้อม: ยานพาหนะ สามารถเข้ามาได้ในพื้นที่ตามปกติ ควรปลูกต้นไม้เพิ่ม โดยเฉพาะต้นไม้ที่มีใบมาก ไม้เลื้อย ไม้ล้มลุก หรือไม้พุ่มบางชนิด เช่น เล็บมือนาง กะทกรก ใบระบาด เครือออน คริสตินาและไทรเกาหลี

เวลา: ปริมาณ PM2.5 มีการเปลี่ยนแปลงตามช่วงเวลา โดยมีระดับสูงขึ้นในช่วงเช้าและเย็น และจะมีระดับลดลงในช่วงกลางวัน ควรมีการติดตามสถานการณ์เป็นระยะ ๆ

*2. พื้นที่สีส้ม สถานการณ์อยู่ในระดับเริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ *

บุคคล: คนทั่วไป ควรปรับเวลาในการออกไปกลางแจ้ง ลดการออกกำลังกายกลางแจ้ง หากเป็นอาชีพที่ต้องออกไปกลางแจ้งเป็นเวลานานควรใส่หน้ากากป้องกัน ทั้งนี้ควรมีช่วงที่กลับไปพักในอาคารที่มีการระบายอากาศดีหรือมีเครื่องปรับอากาศเป็นระยะ ๆ คนกลุ่มเสี่ยง ลดเวลาในการออกไปกลางแจ้ง และหากต้องออกไปกลางแจ้งควรใส่หน้ากากป้องกัน

*สถานที่: * บ้าน ไม่ควรเปิดประตูหรือหน้าต่างห้อง หากมีเครื่องปรับอากาศและเครื่องฟอกอากาศสามารถใช้ได้ โรงเรียนหรือหน่วยงาน ลดเวลาเรียนหรือทำงาน งดกิจกรรมกลางแจ้ง

สิ่งแวดล้อม: ยานพาหนะ สามารถเข้ามาได้ในพื้นที่ตามปกติ  หลีกเลี่ยงการเผาขยะ ควรปลูกต้นไม้เพิ่ม โดยเฉพาะต้นไม้ที่มีใบมาก ไม้เลื้อย ไม้ล้มลุก หรือไม้พุ่มบางชนิด เช่น เล็บมือนาง กะทกรก ใบระบาด เครือออน คริสตินาและไทรเกาหลี

เวลา: ปริมาณ PM2.5 มีการเปลี่ยนแปลงตามช่วงเวลา โดยมีระดับสูงขึ้นในช่วงเช้าและเย็น และจะมีระดับลดลงในช่วงกลางวัน ควรมีการติดตามสถานการณ์เป็นระยะ ๆ

3. พื้นที่สีแดง สถานการณ์อยู่ในระดับมีผลกระทบต่อสุขภาพ

บุคคล: คนทั่วไป ลดเวลาในการออกไปกลางแจ้ง งดออกกำลังกายกลางแจ้ง หากเป็นอาชีพที่ต้องออกไปกลางแจ้งเป็นเวลานานควรใส่หน้ากากป้องกัน ทั้งนี้ควรมีช่วงที่กลับไปพักในอาคารที่มีการระบายอากาศดีหรือมีเครื่องปรับอากาศเป็นระยะ ๆ คนกลุ่มเสี่ยง งดการออกไปกลางแจ้ง และหากต้องออกไปกลางแจ้งควรใส่หน้ากากป้องกัน

สถานที่: บ้าน ไม่ควรเปิดประตูหรือหน้าต่างห้อง หากมีเครื่องปรับอากาศและเครื่องฟอกอากาศสามารถใช้ได้ โรงเรียนหรือหน่วยงาน ควรปิดเรียนหรือหยุดทำงาน

สิ่งแวดล้อม: ยานพาหนะ ลดจำนวนพาหนะที่เข้าสู่พื้นที่ โดยเฉพาะเครื่องยนต์ดีเซล จัดการจราจรให้คล่องตัว งดการเผาขยะ ควรปลูกต้นไม้เพิ่ม โดยเฉพาะต้นไม้ที่มีใบมาก ไม้เลื้อย ไม้ล้มลุก หรือไม้พุ่มบางชนิด เช่น เล็บมือนาง กะทกรก ใบระบาด เครือออน คริสตินาและไทรเกาหลี

เวลา: ปริมาณ PM2.5 มีการเปลี่ยนแปลงตามช่วงเวลา โดยมีระดับสูงขึ้นในช่วงเช้าและเย็น และจะมีระดับลดลงในช่วงกลางวัน ควรมีการติดตามสถานการณ์เป็นระยะ ๆ

การป้องกันผลกระทบทางสุขภาพจาก PM2.5 ขณะนี้เริ่มมีข้อมูลมากขึ้นว่า สารอาหารบางชนิดที่มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ อาจสามารถลดผลกระทบทางสุขภาพจาก PM2.5 เมื่อใช้ในปริมาณที่เหมาะสม เช่น วิตามินซี วิตามินอี และน้ำมันปลา เป็นต้น 

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0