โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

ม็อบอดีตพนง.รัฐบุกสธ. ทวงคืนอายุราชการ-เงินเดือนเหลื่อมล้ำ

กรุงเทพธุรกิจ

เผยแพร่ 20 ส.ค. 2562 เวลา 08.45 น.

เมื่อเวลา 09.45 น. วันที่ 20 สิงหาคม ที่กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) ตัวแทนอดีตพนักงานของรัฐในกระทรวงสาธารณสุข(พนง.รัฐสธ.) ราว 100 คน นำโดยนายมานพ ผสม ประธานชมรมอดีตพนักงานของรัฐสังกัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เดินทางมายื่นหนังสือต่อนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข(รมว.สธ.) และนายสาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข(รมช.สธ.) เพื่อเรียกร้องขอคืนอายุราชการในช่วงที่เป็นพนักงานของรัฐ และขอให้แก้ไขเงินเดือนเหลือมล้ำ โดยมีนายวัชรพงศ์ คูวิจิตรสุวรรณ เลขานุการรมว.สธ.. นายเรวัต อารีรอบ ผู้ช่วยเลขานุการรมช.สธ. และนพ.ไพศาล ดั่นคุ้ม รองปลัด สธ. เข้ารับเรื่องดังกล่าว พร้อมทั้งได้เข้าหารือร่วมกันเพื่อหาทางออกในการช่วยเหลือบุคลากรกลุ่มนี้จำนวน 24,063 คน

นายมานพ กล่าวว่า ตนและผู้แทนอดีตพนักงานของรัฐในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข ตั้งแต่พ.ศ.2543-2546 ซึ่งมีจำนวน 24,063 คน มาขอความช่วยเหลือในประเด็นการขอคืนอายุราชการ และการแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำเงินเดือนจากหลักเกณฑ์เยียวยาสำนักงานคณะกรรมการข้าราชพลเรือน(ก.พ.)หนังสือที่ นร 1012.2/250 ในปี 2557 ทำให้ข้าราชการรุ่นน้องที่บรรจุภายหลังมีเงินเดือนมากกว่ารุ่นพี่ โดยขอให้ผลักดันเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) เพื่อออกเป็นมติในการช่วยเหลือ ซึ่งหากทำได้ จะทำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยตรง อย่างก.พ. ยอมแก้ไขระเบียบและคืนความเป็นธรรมให้พวกตนเสียที

"ต้องขอความเห็นใจจากฝ่ายการเมือง และท่านนายกรัฐมนตรีให้ช่วยเหลือพวกเรา เพราะเรื่องนี้เป็นปัญหาจากมติ ครม. ก็ต้องแก้ไขที่มติครม. เนื่องจากครม.ให้การเยียวยาเมื่อปี 2557 แต่ให้เฉพาะกลุ่มรุ่นน้องที่ทำงานหลังธันวาคม 2555 แต่ไม่ถึงรุ่นปี 2543-2546 ซึ่งกลุ่มนี้มีกว่า 2 หมื่นคน ทำให้เราขาดอายุราชการไป 4 ปี ทั้งที่ก่อนหน้านี้ ก.พ.เคยบอกว่า ที่ไม่นับรวมพวกเราเพราะเราเป็นพนักงานของรัฐ ซึ่งมีสิทธิประโยชน์เทียบเท่าข้าราชการ แต่ทำไมกลับไม่ย้อนหลังเรื่องอายุราชการ ทำให้เราขาดไป 4 ปี มีผลต่อเงินบำเหน็จบำนาญ อย่างแพทย์ พยาบาล ทันตแพทย์ หรือนักรังสี และอื่นๆ ที่เป็นเจ้าพนักงานของรัฐ หากเกษียณจะได้เงินบำนาญไม่ถึงหมื่นบาท ขณะที่รุ่นน้องที่ได้รับการเยียวยาจะได้ประมาณ 2 หมื่นบาท ซึ่งต่างกันมาก" นายมานพ กล่าว

นายวัชรพงศ์ ให้สัมภาษณ์ภายหลังการหารือร่วมกับตัวแทนว่า จากการพูดคุยกับพี่น้องบุคลากรที่ได้รับผลกระทบ มีอยู่ 2 เรื่อง คือ 1.สืบเนื่องจากมติครม.ปี 2543 ไม่ให้มีการเพิ่มการบรรจุตำแหน่งข้าราชการ บุคลากรกลุ่มนี้จึงต้องเป็นพนักงานของรัฐแทน แต่ต่อมาในปี 2557 มีมติเยียวยากลุ่มลูกจ้างและพนักงานราชการที่บรรจุใหม่ ทำให้รุ่นน้องได้รับค่าตอบแทนมากกว่ารุ่นพี่ และ 2.ขอให้มีการเยียวยาคืนอายุราชการที่หายไปในช่วง 4 ปีของกลุ่มพนักงานของรัฐ เพื่อให้ได้รับเงินบำเหน็จบำนาญตามสิทธิประโยชน์ของข้าราชการ ซึ่งจากการหารือเรื่องนี้ไม่ใช่แค่สธ.เท่านั้น แต่ยังเกี่ยวข้องและเป็นอำนาจของกระทรวงการคลัง และ ก.พ. จึงได้มีมติตั้งคณะกรรมการขึ้นมาเพื่อศึกษาทั้ง 2 เรื่อง และหาทางออกเรื่องนี้ โดยมีปลัดสธ.เป็นประธาน มีนพ.ไพศาล ในฐานะรองปลัดฯ และผู้ที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะกระทรวงการคลัง และก.พ.เข้าร่วม ซึ่งจะดำเนินการให้เร็วที่สุด

"ท่านอนุทิน และท่านสาธิต มีความเป็นห่วง และกำชับให้ดูแลเรื่องนี้อย่างดีที่สุด เพราะบุคลากรทั้งหมดคือ พี่น้องของกระทรวงฯ เพียงแต่จะหาทางออกอย่างไร ต้องมาคุยกันก่อน เนื่องจากยังมีเรื่องระเบียบของ ก.พ. ที่ต้องดูว่าจะดำเนินการอย่างไร ซึ่งหากจะเยียวยา ช่วยเหลือบุคลากรกลุ่มนี้กว่า 2 หมื่นคน จะต้องใช้เงินประมาณหมื่นล้านบาท เบื้องต้นจากการพูดคุยตัวแทนชมรมฯ ก็เข้าใจดีว่า ประเด็นข้อเรียกร้องไม่ใช่แค่กระทรวงฯ จะมีอำนาจฝ่ายเดียวเท่านั้น แต่เราจะช่วยเหลือให้ดีที่สุด จากนี้จะเสนอรมว.สธ.ในการพิจารณาแต่งตั้งคณะกรรมการต่อไป" นายวัชรพงศ์ กล่าว

นพ.ไพศาล กล่าวว่า สธ. มีการติดตามและสอบถามไปทางกระทรวงการคลัง และก.พ. หลายครั้งได้รับคำตอบว่าเรื่องนี้เกี่ยวกับกฎหมาย 2 ฉบับ คือ พ.ร.บ.กองทุนบำเหน็จบำนาญ…. และพ.ร.บ.บำนาญ….ที่ระบุว่าราชการนับตอนเป็นราชการ และกระทรวงการคลังไม่เคยพิจารณาคืนอายุราชการให้หน่วยงานใดเลย ส่วนประเด็นเรื่องเงินเดือนเหลื่อมล้ำ สธ.ได้ทำหนังสือสอบถามไปยังก.พ. 19 ครั้งแล้ว และล่าสุด ก.พ.ทำหนังสือตอบกลับเมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 2562 ระบุว่า มติครม.ระบุว่าสิทธิประโยชน์ของพนักงานของรัฐ และราชการเป็นไปตามมติครม.นั้นๆ

ผู้สื่อข่าวถามว่า หากไม่สามารถดำเนินการอะไรได้ มีความเป็นไปได้ที่สธ.จะทำแผนออกจาก ก.พ.เพื่อวางกรอบกำลังคนเองหรือไม่ นพ.ไพศาล กล่าวว่า เป็นเรื่องเชิงนโยบาย ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่ก็ต้องดูว่าผู้บริหารจะมีนโยบายอย่างไร แต่การตั้งคณะกรรมการขึ้นมา ก็ถือว่าเป็นครั้งแรกที่มีการหารือร่วมกันระหว่างสธ. กระทรวงการคลัง และก.พ. จากก่อนหน้านี้จะหารือแยกหน่วยงาน

ด้านนพ.กฤษ ใจวงค์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสันติสุข จ.น่าน กล่าวว่า จากการพูดคุยและได้รับฟังคำตอบก็ดูจะเป็นเรื่องยุ่งยาก และความหวังดูจะริบหรี่ ทำให้เป็นเรื่องยากที่จะไปให้คำตอบสมาชิกที่มาเรียกร้องวันนี้ เพราะหากพูดถึงระเบียบกฎหมายต่างๆ ก็ค่อนข้างยาก แต่ก็มีความหวังเพียงฝ่ายการเมืองที่จะเข้ามาช่วยเหลือจุดนี้ อย่างไรก็ตาม ปัญหาที่เกิดขึ้นสะสมมานาน อย่างปัจจุบันเท่าที่ทราบมีแพทย์ที่ได้รับผลกระทบกว่า 100 คน แต่ติดต่อได้ประมาณ 70 คน ซึ่งก่อนหน้านี้มีแสดงความจำนงว่าอยากลาออกประมาณ 50 % เรื่องนี้จึงเป็นเรื่องขวัญกำลังใจที่หากไม่มีการช่วยเหลือ คงเกิดไหลออกนอกระบบอีกมาก

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0