โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

มัทนา สนิทวงศ์ ณ อยุธยา ศิลปินผู้เขียนไดอารีด้วยอิเคะบะนะ ดอกไม้ไทยๆ และดอกใดๆ

a day magazine

อัพเดต 30 พ.ค. 2563 เวลา 18.23 น. • เผยแพร่ 30 พ.ค. 2563 เวลา 04.58 น. • ณิชมน หิรัญพฤกษ์

ก่อนจะเข้าเรื่อง รบกวนทุกคนชมภาพดอกไม้สวยๆ ด้านล่างนี้ก่อน แล้วลองตอบเราหน่อยว่าในภาพนี้มีต้นอะไรบ้าง ใบ้ให้นิดหนึ่งว่ากิ่งก้านเหล่านี้มาจากต้นไม้ของไทยทั้งหมด

มัทนา สนิทวงศ์
มัทนา สนิทวงศ์

เฉลย–ภาพนี้ประกอบด้วยขอนไม้ข้างทาง กิ่งแห้งของต้นละหุ่ง ดอกหญ้าริมฟุตพาท ดอกและเม็ดของต้นเทียนกิ่ง นอกจากจะรู้จักแค่น้ำมันละหุ่ง เรายังแยกไม่ออกด้วยซ้ำว่าดอกหญ้าริมทางคือต้นไหน ก็มันสวยละเอียดดูแพงไปทุกมุม

ศิลปินเจ้าของผลงานอันอันสร้างสรรค์และประณีตนี้คือ หนูนา–มัทนา สนิทวงศ์ ณ อยุธยาสไตลิสต์งานตกแต่งบ้าน สถานที่ งานภาพถ่าย ผู้รับงานจัดดอกไม้ควบคู่ไปด้วย ซึ่งแม้แต่แบรนด์ดังอย่าง Santiburi Koh Samui, แสนสิริ, SC Asset และแบรนด์แฟชั่น SRETSIS ยังเคยเรียกใช้บริการมาแล้ว

มัทนาเล่าให้ฟังว่าตามปกติการจัดดอกไม้เป็นส่วนหนึ่งของงานสไตลิสต์แต่เธอสนใจศาสตร์นี้เป็นพิเศษจึงศึกษาหาความรู้เต็มที่และลงมือทำเอง เริ่มตั้งแต่สมัยทำงานเป็น Style Editor ของนิตยสารแต่งบ้านชื่อดัง Livingetc Thailand ที่ต้องเซตฉาก เลือกแจกัน และดอกไม้แต่งบ้านสร้างบรรยากาศในการถ่ายภาพ หลังจากสะสมความรู้และประสบการณ์มาตลอด 8 ปี จากที่เคยเป็นแค่ส่วนเล็กๆ ของงาน การจัดดอกไม้ก็เติบโตจนสามารถแยกมาเป็นอีกอาชีพหนึ่งได้

และเมื่อแอบไปส่องผลงานต่างๆ ของศิลปินสาวชาวไทยทางอินสตาแกรม เราก็ได้แต่ร้องว่า สุโก้ย!

มัทนา สนิทวงศ์
มัทนา สนิทวงศ์

 

เริ่มต้นที่อิเคะบะนะแบบดั้งเดิม

รูปแบบการจัดดอกไม้ของมัทนามีจุดเริ่มต้นจากการเรียน Ikebana หรืออิเคะบะนะ ซึ่งเป็นศาสตร์การจัดดอกไม้เก่าแก่ของญี่ปุ่นที่สืบทอดกันมาหลายร้อยปี ว่ากันว่าเป็นการต่อยอดมาจากธรรมเนียมปฏิบัติทางศาสนาและเป็นวิธีสื่อสารกับธรรมชาติอย่างลึกซึ้งผ่านดอกไม้และพืชพรรณต่างๆ อิเคะบะนะเป็นศิลปะที่มีความเข้มงวด ประณีต ละเอียดอ่อนและแฝงไปด้วยความคิดทางปรัชญา สมัยก่อนมักใช้ในพิธีกรรมทางศาสนา เป็นงานอดิเรกของชนชั้นสูง และเป็นการฝึกจิตของซามูไรช่วงพักรบด้วย ปัจจุบันเปิดกว้างให้คนทั่วไปและนำไปใช้ได้หลากหลายมากขึ้น เช่น ประกอบพิธีชงชา เป็นของขวัญหรือการประดับตกแต่งสถานที่ทั่วไป

“เราสนใจอิเคะบะนะเพราะเป็นศิลปะการจัดดอกไม้ชั้นสูงที่มีหลักการเคร่งครัด เป็นเครื่องมือที่สามารถถ่ายทอดตัวตน ความเป็นตัวของตัวเอง และใช้ความคิดสร้างสรรค์ได้อย่างมีทักษะผ่านการเรียนรู้การจัดวางความสัมพันธ์ระหว่างดอกไม้ กิ่งใบ มีทั้งความเรียบง่ายไปและความซับซ้อน ซึ่งต้องใช้ความคิดและการตัดสินใจในการเลือกเก็บหรือเลือกตัดออก เหลือไว้แต่ความหมายที่คมชัดที่สุด” 

มัทนา สนิทวงศ์
มัทนา สนิทวงศ์

เธออธิบายเพิ่มว่าจากการได้ศึกษา หลักการของญี่ปุ่นเข้มงวดเรื่องพื้นฐานก่อนถึงค่อยต่อยอดเป็นตัวของตัวเอง ความเคร่งครัดที่ว่ามักเป็นเรื่องของความคิด เช่น หากหยิบกิ่งไม้ขึ้นมาหนึ่งกิ่ง ผู้จัดต้องดูว่าเราจับกิ่งนี้ถูกทิศในธรรมชาติมั้ย หันใบถูกด้านหรือเปล่า หรือถ้าจะคว่ำใบต้องมีเหตุผล เช่น ศิลปินต้องการจะเล่าเรื่องพายุซัด แต่ถ้าไม่ได้พูดเรื่องนั้นก็ต้องทำให้ถูก นอกจากนี้ก็ยังมีพื้นฐานเกี่ยวกับการวัดระยะ เช็กองศาของกิ่ง ดอก ใบ ซึ่งต้องฝึกซ้ำไปจนชิน พอคล่องแล้วจะหยิบจับอะไรขึ้นมาก็รู้เลยว่าต้องคิดถึงอะไรบ้าง 

คำอธิบายเหล่านั้นทำให้เราเข้าใจผลงานของเธอลึกมากไปกว่าความสวยงาม งานจัดดอกไม้ของสไตลิสต์สาวคนนี้มีทั้งความซับซ้อน ความเรียบง่าย ความสง่างาม ความอ่อนโยน และความเข้มแข็ง บางครั้งก็มีอารมณ์ขันปะปนอยู่ด้วยซ้ำ ที่สำคัญ ทุกกิ่งใบและกลีบดอกผ่านการคิดก่อนจัดวางมาอย่างถี่ถ้วนเพื่อสื่อสารสิ่งที่ตั้งใจ เช่นงานเหล่านี้ที่เธอเล่าคอนเซปต์ให้เราฟัง

Welcome to Thailand ดอกไม้ที่ผู้ว่าจ้างอยากมอบเป็นของขวัญให้เพื่อนชาวต่างชาติที่มาเมืองไทย ด้วยความที่เพื่อนคนนั้นเป็นเจ้าของบริษัทดีไซน์เลยอยากมอบดอกไม้ที่มีความเป็นไทยและเก๋ไก๋สร้างความประทับใจเป็นพิเศษ

งานนี้คอนเซปต์คือ Fantasy ใช้วัสดุพืชพื้นบ้านไทย เช่น อ้อย หางจระเข้ กระทกรก

มัทนา สนิทวงศ์
มัทนา สนิทวงศ์

Miss SailorMoon ผลงานส่วนตัวที่สร้างขึ้นจากความสนุกสนาน อยากให้มีความกวนหน่อยๆ เป็นงานทดลองที่ปล่อยไหล เหมือนอยากวาดรูปอะไรก็วาด ไม่ได้คิดมาก

“ศาสตร์การจัดดอกไม้ของไทย เช่น การร้อยมาลัย การจัดพาน เป็นงานประดิษฐ์เนี้ยบๆ ที่ต้องค่อยๆ ทำ ใช้เวลาและเน้นฝีมือที่ประณีตวิจิตร มีเส้นแบ่งชัดเจน ทุกอย่างเริ่มต้นจากจุดศูนย์กลางแล้วกระจายออกไปรอบๆ แต่งานดอกไม้ของญี่ปุ่นจะเน้นความเคลื่อนไหวเหมือนสิ่งที่อยากให้เกิดขึ้นในภาพถ่าย อาจเพราะเราทำงานสไตลิสต์และการถ่ายภาพมา แม้ดอกไม้ที่จัดเป็นสิ่งที่วางอยู่เฉยๆ แต่ดูมีมูฟเมนต์ด้วยเส้นหรือการทิ้งสเปซ มันต้องมีความเคลื่อนไหวในนั้น ศิลปินต้องใช้ความคิด ตัดสินใจ หมุนหามุมที่สวยงามที่กิ่งก้านหรือดอกจะพูดหรือสื่อสารได้ สิ่งที่ใส่ลงไปต้องมีความหมาย เป็นการจัดวางความสัมพันธ์ของวัสดุธรรมชาติกับพื้นที่ว่างเหมือนการจำลองธรรมชาติลงในแจกันแบบเชิงสัญลักษณ์”

นอกจากการจัดดอกไม้ใบไม้แล้ว มัทนายังบอกว่าการจัดวาง ‘ที่ว่าง’ ก็สำคัญไม่แพ้กัน

“การจัดดอกไม้เป็นงานออกแบบแขนงหนึ่ง เราทำงานโดยคำนึงถึงสเปซและใช้การใส่สิ่งต่างๆ ลงไปเพื่อสร้างเรื่องในนั้นแต่ไม่ใช่ว่าถมสเปซเต็มแล้วจะถือว่าเสร็จ บางทีเราลากเส้นให้มาเจอดอกไม้หรือใบไม้หนึ่งก้อนงานก็จบแล้ว สวยแล้ว ช่องว่างที่เว้าเข้าไปก็เป็นงานของเราเหมือนกัน ความโบ๋คือสิ่งที่ตั้งใจ เราต้องคิดว่าเราสร้างพื้นที่ว่างเพื่อให้มองเห็นอะไร”

มัทนา สนิทวงศ์
มัทนา สนิทวงศ์

 

แตกหน่ออิเคะบะนะดอกไม้ไทย

เมื่อสังเกตดีๆ แม้มัทนาจะเลือกใช้ศาสตร์การจัดดอกไม้แบบญี่ปุ่นแต่เธอนิยมใช้ต้นไม้ไทยไม่น้อย แถมเป็นดอกใบที่คนทั่วไปแทบไม่รู้จัก หรือถึงรู้จักก็อาจจะจำไม่ได้เมื่อมันอยู่ในองค์ประกอบที่เราคาดไม่ถึง 

“เราชอบดอกไม้ทุกประเภทไม่ว่าจะไทยหรือฝรั่ง แต่พอดีว่าบ้านเราอยู่แถบชานเมืองเขตสะพานสูง แถวนี้มีต้นไม้บ้านๆ ขึ้นอยู่ตามป่าข้างทางและสวนที่บ้านเราเองก็มีต้นไม้มากมายหลายชนิดเป็นเหมือน secret garden ของเรา ตั้งแต่เด็ก ต้นไม้ ใบไม้ เถาวัลย์ ดอกไม้เป็นของเล่น เรารู้ชื่อต้นไม้ทุกชื่อในสวน พอโตมาทำงานจัดดอกไม้เลยถือว่ามีความรู้เรื่องต้นไม้ติดตัวมาเยอะหน่อย ส่วนใหญ่จะศึกษาดอกไม้ฝรั่งเพิ่มเติมมากกว่า” 

มัทนา สนิทวงศ์
มัทนา สนิทวงศ์

นอกจากต้นไม้ มัทนายังถูกใจวัชพืช ดอกไม้ ต้นไม้ริมทางเป็นพิเศษ แถมยังสามารถทำให้สิ่งที่คนมักจะมองข้ามดูแพงขึ้นมาในชั่วข้ามคืนราวกับซินเดอเรลล่าได้รองเท้าแก้ว

“สมมติคนไทยเห็นซากุระอาจจะรู้สึกว่าสวยและแปลกตาเพราะไม่ใช่ต้นไม้ท้องถิ่นบ้านเรา แต่ถ้าเราลองนำดอกไม้ที่คุ้นตามาจัดในรูปแบบที่ไม่คุ้นเคยบ้าง ให้คนที่เห็นรู้สึกว่าเอามาทำแบบนี้ได้ด้วยเหรอ เราว่ามันน่ารักดี 

“สวนทั่วไปหรือแม้แต่สวนที่บ้านเรามันสวยเพราะเป็นสิ่งที่เราตั้งใจสร้างขึ้นมาให้สวย แต่วัชพืชเป็นต้นไม้ที่ขึ้นเองตามธรรมชาติ ไม่ได้มีใครตั้งใจให้มันอยู่ตรงนั้นตรงนี้ เชปและฟอร์มของมันเลยดูเป็นธรรมชาติ เรียกได้ว่าสวยแบบไม่ได้ตั้งใจ พอหยิบมาใช้ในงาน ต้นไม้ที่อยู่ริมถนนเหล่านี้จึงให้ความรู้สึกที่ดูไร้เดียงสามากๆ เหมือนมันไม่รู้ตัวด้วยซ้ำว่าฉันเก๋ ฉันสวย”

มัทนา สนิทวงศ์
มัทนา สนิทวงศ์

Winter 2020 วาระสุดท้ายของดอกก้านธูป ต้นกระถินริมรั้วและดอกหญ้าที่แทรกตามขอบถนน

Landscape Summer 2020 (กก, หงอนไก่และใบอ่อนของต้นที่ไม่รู้จัก) ความสวยงามอันเรียบง่ายที่เกิดจากวัชพืชและต้นไม้ริมทางทั้งหมด

เมื่อเราแสดงความแปลกใจที่ได้เห็นเฟื่องฟ้าเวอร์ชั่นหรูสง่าแปลกตา มัทนาจึงเล่าที่มาให้ฟังเพิ่มเติมว่าเป็นเพราะสีและสิ่งที่จัดวางให้อยู่โดยรอบ

“เราคิดว่าไม่มีดอกไม้ใบไม้ที่น่าเกลียด มีแค่เราเอาไปไว้ข้างวัตถุอะไรแล้วมันเกิดหรือไม่เกิดซึ่งต้องใช้ประสบการณ์ ของบางอย่างสวยแต่ลองเอาไปวางแล้วไม่เวิร์กเพราะฆ่ากันเอง บางอย่างก็ดูน่าจะเข้ากันได้ แต่ความยาวโดยธรรมชาติไม่เหมาะสม เราต้องลอง ต้องรื้อ และต้องคิดเยอะมาก แต่คนไม่รู้หรอก เขาเห็นผลงานที่เสร็จแล้วก็คิดว่า แค่นี้เอง ไม่เห็นยากเลย” นักจัดดอกไม้สาวคนเก่งเล่าพร้อมเสียงหัวเราะ

Summer 2020 ฝักคูนสีดำผสมกับดอกไม้ใบไม้จากในสวน เรดาร์ เฟื่องฟ้า และเฟิร์นใบมะขาม

Summer 2020 สวนหลังบ้าน ต้นใบทอง หญ้าแห้ง เฟื่องฟ้า ต้อยติ่ง

แล้วการจัดอิเคะบะนะจำเป็นต้องมินิมอลหรือเปล่า–เราสงสัย

“ส่วนตัวของเราคิดว่าไม่จำเป็น การจัดดอกไม้น่าจะมีความเป็นตัวตนของคนจัด อิเคะบะนะสำหรับเราเป็นการศึกษาทฤษฎีทางศิลปะที่ทำเพื่อให้เราได้แสดงออกอย่างเป็นอิสระตามสไตล์ของตัวเอง จะจัดดอกไม้แบบเยอะๆ ก็ได้ ถ้าออกมามีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน บางคนทำน้อย ใส่แค่สองก้านแล้วมันดูเป็นหนึ่งเดียวก็ได้เหมือนกัน แล้วแต่สไตล์ แต่เราใส่สองก้านแล้วรู้สึกยังไม่พอก็ใส่ไปอีก

“ส่วนตัวเราชอบเรื่องความขัดแย้ง งานของเราจึงมักเล่นอยู่ระหว่างความงามแบบคลาสสิกและความนอกกรอบเพราะเราชอบทั้งความหรูหราสง่างามและความขี้เล่นซุกซน ตัวอย่างความขัดแย้งในงานของเราก็เช่น การเอาขอนไม้ดูโหดๆ ทึบๆ จับมาอยู่กับดอกไม้เล็กๆ ไร้เดียงสาคล้ายๆ โฉมงามกับเจ้าชายอสูร หรืออาจจะขัดแย้งด้วยวัสดุก็ได้ ความตรงข้ามทำให้เกิดความรู้สึกและเรื่องราว มีความเคลื่อนไหวในภาพ ถ้าทุกอย่างเหมือนกัน เท่าๆ กัน มันจะเป็นงานนิ่งๆ เว้นแต่ว่านั่นคือความตั้งใจให้รู้สึกแบบนั้น”

Summer 2020 วัสดุจากริมถนน คอนทราสต์ระหว่างความโหดของตอไม้ไหม้ไฟและมะแว้งกระจุ๋มกระจิ๋ม

เธอบอกว่าจากการศึกษา อิเคะบะนะเป็นศาสตร์ที่มีแบบแผนอันเข้มงวดแต่จุดสูงสุดของศิลปะนี้คือการหลุดไปสู่ความเป็นตัวของตัวเองเพียงแต่ว่าเซนเซหรืออาจารย์อาจจะไม่ยอมให้ไปเร็วนัก

“การจัดดอกไม้จึงเป็นการเดินทางสั่งสมประสบการณ์มาเรื่อยๆ สำหรับเราเราไม่สามารถกำหนดรูปแบบที่จะเป็นเอกลักษณ์ของตัวเองได้ตั้งแต่แรก มันรู้สึกไม่จริง ตัวตนจะออกมาเองตามธรรมชาติระหว่างที่เราทำไปเรื่อยๆ ดังนั้นถ้าเราไปลอกงานคนอื่นตอนช่วงพีคของเขาแล้วเราจะไปต่อได้ยังไง ทุกวันนี้เราเลยค่อยๆ เติมไปเรื่อยๆ ถ้ามันจะโตก็โต เอกลักษณ์ของเราก็เปลี่ยนไปตามแนวคิดและประสบการณ์ เราถึงเคยบอกว่าการจัดดอกไม้ใช้ความคิดและความรู้สึกนำ มีหลายอารมณ์” เธอหัวเราะอารมณ์ดี

 

ไดอารีดอกไม้

ในฐานะคนที่เคยเข้าเวิร์กช็อปอิเคะบะนะ (คอร์สเบสิกขั้นสุดสำหรับชาวต่างชาติ) เราเข้าใจดีว่าทักษะงานฝีมือที่ใช้ทั้งสมองและสองมือภายใต้ความเข้มงวดแบบญี่ปุ่นแขนงนี้ยากขนาดไหน ยิ่งฟังผู้เชี่ยวชาญเล่ากระบวนการทางความคิดอันซับซ้อนยิ่งทำให้เราอยากรู้เหตุผลที่ทำให้มัทนายังอยากฝึกฝนตัวเองในวิถีนี้ต่อไป

“เราชอบที่ได้ใช้ความคิดและความรู้สึกผ่านการจัดดอกไม้ เหมือนได้เขียนไดอารีบันทึกความประทับใจแล้วถ่ายรูปเก็บไว้

“ดอกไม้เป็นเรื่องธรรมชาติ มีฤดูกาล ช่วงนี้อะไรออกดอก ออกเม็ด ใบแห้ง ส่วนมากเรามักจะเดินไปเจอธรรมชาติที่ชอบแล้วอยากบันทึกไว้ เช่น ความประทับใจแบบเดินผ่านต้นหญ้าแล้วเจอต้นหญ้าออกดอก เฮ้ย โคตรสวยเลย ต้องโดน ต้องจัดสักหน่อย อยากบันทึกโมเมนต์นั้นไว้ คล้ายๆ สเกตช์สะสมงานเราด้วยในอนาคตย้อนกลับมาดูเป็นเรฟเฟอเรนซ์ได้”

“ปกติเราซื้อต้นไม้มาตุนไว้ที่บ้านเรื่อยๆ อยู่แล้ว อย่างงานที่ชื่อว่าสวนหลังบ้าน เกิดจากการที่เราไปเจอต้นหญ้าแห้งกอนี้พอดี เรารู้สึกว่ามันสวย อยากจะจดจำไว้ เวลาเราเห็นของที่ชอบเราก็อยากทดลองนู่นนี่กับมัน จะไปต่อกับมันยังไงดี ตอนคิดก็สนุก ตอนทำก็สนุก เหมือนหลุดไปในโลกส่วนตัว บางทีเวลาผ่านไปหลายชั่วโมง”

สวนหลังบ้าน กอหญ้าแห้งและดอกเรดาร์

จัดดอกไม้แทนการเขียนไดอารีว่าเก๋แล้ว ศิลปินสาวยังใช้การจัดดอกไม้จัดระเบียบอารมณ์ด้วย

“การจัดดอกไม้สามารถบันทึกอารมณ์ได้ ทั้งมีความสุข สนุก เศร้า ระบายความโกรธด้วยการจัดดอกไม้ก็ได้นะการทำงานแบบนี้บางครั้งก็ต้องมีประสบการณ์ของอารมณ์ความรู้สึกเข้ามาเกี่ยวข้องบ้าง” 

“จัดดอกไม้เหมือนแต่งเพลง ถ้าตอนทำเราไม่มีอารมณ์ความรู้สึก มันจะไปสื่อสารกับคนที่รู้สึกอย่างเดียวกับเราได้ยังไง” 

ดอกไม้ตามความขม กิ่งเฟื่องฟ้าและดอกเฟื่องฟ้า

ติดตามไดอารีดอกไม้ของมัทนาได้ที่อินสตาแกรม nunafloral

Highlights

  • มัทนา สนิทวงศ์ ณ อยุธยา คือสไตลิสต์และศิลปินนักจัดดอกไม้ผู้เคยร่วมงานกับแบรนด์ระดับโลกอย่าง Shiseido และ Sretsis มาแล้ว
  • เอกลักษณ์ในงานของเธอคือการผสมผสานระหว่างศาสตร์การจัดดอกไม้แบบ Ikebana ของญี่ปุ่นที่มีแบบแผนเข้ากับดอกไม้ ใบไม้ไทยๆ ไปจนถึงวัชพืชข้างทาง กลายเป็นงานที่สวย หรู แต่ดูๆ ไปกลับซ่อนรายละเอียดซุกซน
  • นอกจากการจัดดอกไม้ให้สวยงาม มัทนายังใช้การจัดดอกไม้เป็นไดอารีบันทึกความรู้สึกสุข เศร้า เหงา หรือแม้กระทั่งใช้ดอกไม้มีหนามระบายความโกรธ
0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0