โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไอที ธุรกิจ

ส่องทิศทางทองคำครึ่งปีหลัง กับ YLG

Wealthy Thai

อัพเดต 07 เม.ย. เวลา 13.14 น. • เผยแพร่ 25 มิ.ย. 2564 เวลา 09.16 น. • ศุภมาศ ศรีขำ

ช่วงที่ผ่านมาราคาทองคำถูกกดดันจากกระแสข่าวที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด)ส่งสัญญาณจะขึ้นดอกเบี้ยนโยบายเร็วขึ้น และเตรียมหารือลดวงเงินมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) ลง หลังคาดการณ์แนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ เป็นบวกมากขึ้นโดยปัจจัยดังกล่าวส่งผลให้ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ แข็งค่าขึ้น ทำให้ราคาทองคำในช่วงที่ผ่านมาปรับตัวลงมาเทรดที่ระดับต่ำกว่า 1,800 ดอลลาร์ต่อออนซ์ จนเกิดคำถามว่าในช่วงครึ่งหลังปี 2564 ราคาทองคำจะเป็นอย่างไร หมดรอบขาขึ้นจริงหรือไม่ วันนี้ Wealthy Thai ได้เชิญ คุณฐิภา นววัฒนทรัพย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท วายแอลจี บูลเลี่ยน แอนด์ ฟิวเจอร์ส จำกัด หรือ YLGมาตอบข้อสงสัยให้นักลงทุน

ระยะสั้นราคาทองคำจบรอบขาขึ้นแล้ว

โดยคุณฐิภา กล่าวว่า ผลการประชุมของเฟด (วันที่ 22 มิ.ย. 64) เป็นไปในเชิงสายเหยี่ยว (Hawkish)หรือสนับสนุนการคุมเข้มนโยบายการเงินมากกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้ล่วงหน้า ซึ่งเป็นที่มาที่ทำให้ราคาทองคำสัปดาห์ที่แล้วปรับตัวลดลง 6% ทำสัปดาห์ที่เลวร้ายที่สุดนับตั้งแต่เดือนมี.ค. 63 โดยผลการประชุมรอบนี้ตอกย้ำแนวโน้มว่าเฟดจะเริ่มชะลอมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจทางการเงินในไม่ช้านี้ ซึ่งถือเป็นปัจจัยหนุนดัชนีดอลลาร์ จนกดดันราคาทองคำอย่างหนัก ทำให้ราคาทองคำร่วงหลุดแนวรับทางจิตวิทยาบริเวณ 1,800ดอลลาร์ต่อออนซ์ และหลุดลงมาเคลื่อนไหวต่ำกว่าเส้นค่าเฉลี่ยระยะ 50, 100และ 200วันจนกระตุ้นแรงขายทางเทคนิคเพิ่มเติม

(ที่มา : YLG )

ทั้งนี้ แนวโน้มการดำเนินนโยบายการเงินของเฟดที่เปลี่ยนไป จะส่งผลกดดันราคาทองคำอย่างมาก โดยทำให้ 1.ราคาทองคำในระยะสั้นหลุดเทรนด์ไลน์ขาขึ้น และกลับมาเคลื่อนไหวในทิศทางขาลงในระยะสั้นอีกครั้ง, 2.ระยะกลางกลับลงมาเคลื่อนไหวในกรอบ Sideway Down (Downtrend Line สีแดง) และ 3.ราคาทองคำลงมาเคลื่อนไหวต่ำกว่าเส้นค่าเฉลี่ยระยะสั้น-กลาง-ยาว ทั้ง 10, 21, 50, 100 และ 200 วัน ซึ่งสะท้อนมุมมองเชิงลงได้เป็นอย่างดี ส่งผลให้ภาพรวมทางเทคนิคในระยะสั้นและระยะยาวมีการเปลี่ยนแปลง ระยะสั้นราคาทองคำมีการจบรอบขาขึ้น กลับมาเคลื่อนไหวในทิศทางขาลง ขณะที่ระยะกลางมีการจบรอบขาขึ้นและเปลี่ยนกลับมาเคลื่อนไหวในกรอบ Sideway Down อีกครั้ง

นโยบายการเงินเฟด ปัจจัยหลักชี้ชะตาทองคำ

ต้องยอมรับว่าการแนวโน้มการดำเนินนโยบายการเงินของเฟดที่เปลี่ยนไป ส่งผลกระทบต่อราคาทองคำอย่างมาก เพราะจากสถิติในอดีต เห็นได้ชัดว่าในช่วงที่เฟดผ่อนคลายนโยบายการเงิน ทองคำจะปรับตัวสูงขึ้นเหมือนที่เกิดขึ้นในช่วงปี 2552-2554 และช่วงปี 2563 จนถึงปัจจุบัน ขณะที่ในช่วงที่เฟดเริ่มชะลอการผ่อนคลายนโยบายการเงิน และกลับมาคุมเข้มนโยบายการเงินก็ส่งผลกดดันราคาทองคำเช่นกัน เหมือนที่เกิดขึ้นในช่วงปี 2556-2561ที่เป็นแบบนั้นเพราะการดำเนินนโยบายการเงินของเฟดส่งผลต่อการเคลื่อนไหวของสกุลเงินดอลลาร์ ซึ่งดอลลาร์สหรัฐกับทองคำเคลื่อนไหวไปในทิศทางตรงกันข้าม
ดังนั้นทิศทางราคาทองคำในสิ้นปี 2564จะขึ้นอยู่กับการดำเนินนโยบายการเงินของเฟดเป็นสำคัญ หากการฟื้นตัวเศรษฐกิจดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง จนท้ายที่สุดแล้วเฟดเริ่มต้นคุมเข้มนโยบายการเงินตามแผนการ จะเป็นปัจจัยกดดันราคาทองคำในช่วงสิ้นปีให้มีแนวโน้มปิดตลาดในปีนี้ในกรอบ 1,700-1,800 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ซึ่งทำให้นักลงทุนต้องระมัดระวังในการถือครองทองคำมากยิ่งขึ้นในช่วงที่เหลือของปีนี้

กลยุทธ์ลงทุนทองคำระยะสั้น-ระยะยาว

ราคาทองคำดิ่งลงแรงทำระดับต่ำสุดของเดือนมิ.ย. บริเวณ 1,761 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ซึ่งเข้าใกล้ระดับต่ำสุดของเดือนพ.ค. บริเวณ 1,765 ดอลลาร์ต่อออนซ์ แม้ว่าราคาทองคำจะทิ้งตัวลงแรง แต่ก็มีแรงซื้อเข้ามาพยุงให้ราคาฟื้นตัวกลับขึ้นมาได้ ประกอบกับหากสังเกตจากระดับสูงสุดในช่วงเดือนเดือน มี.ค. เม.ย. พ.ค. และ มิ.ย. มีการยกระดับสูงสุดขึ้น

(ที่มา : YLG )

สำหรับกลยุทธ์การลงทุนระยะสั้น แนะนำให้นักลงทุนแบ่งทองคำออกขายเมื่อราคาเกิดการดีดตัวขึ้นในระยะสั้น โดยประเมินแนวต้านแรกที่ 1,826ดอลลาร์ต่อออนซ์ หากยืนได้จะทำให้แรงขายลดลง ราคามีโอกาสปรับตัวขึ้นทดสอบแนวต้านถัดไปบริเวณ 1,872 ดอลลาร์ต่อออนซ์ (ระดับสูงสุดของเดือนก.พ.) ส่วนการเข้าซื้อ จับตาบริเวณแนวรับแรก 1,767-1,761ดอลลาร์ต่อออนซ์ หากยืนอยู่ได้จะเกิดการแกว่งตัวออกด้านเพื่อสร้างฐานของราคา หรือราคามีโอกาสฟื้นตัวขึ้น ซึ่งจะใช้เป็นจุดซื้อเพื่อทำกำไรจากการดีดตัวในระยะสั้นเท่านั้นเนื่องจากทิศทางในระยะสั้นยังอยู่แนวโน้มขาลง และหากหลุดแนวดังกล่าวจะทำให้แนวโน้มราคาทองคำยิ่งมีมุมมองเชิงลบเพิ่มขึ้น และราคามีโอกาสอ่อนตัวลงต่อ ทดสอบแนวรับถัดไปโซน 1,717 ดอลลาร์ต่อออนซ์ (ระดับต่ำสุดของเดือนก.พ.)

(ที่มา : YLG )

สำหรับกลยุทธ์การลงทุนระยะยาว YLG ตั้งกรอบเป้าหมายราคาทองคำระดับแรกในปีนี้ที่ 1,960-1,958ดอลลาร์ต่อออนซ์ หรือ 29,450บาทต่อบาททองคำมาตั้งแต่ช่วงปลายปีที่แล้ว ซึ่งจะเห็นได้ว่าราคาทองคำในปีนี้ได้ทดสอบกรอบเป้าหมายแรกของ YLG เป็นที่เรียบร้อยแล้ว แต่เมื่อราคาไม่สามารถทะลุแนวดังกล่าวไปได้ จึงเกิดการปรับตัวลงเพื่อสะสมกำลังอีกครั้ง ทั้งนี้หากราคาทองคำสามารถผ่านกรอบเป้าหมายแรกไปได้ YLG ประเมินว่าจะมีโอกาสให้ราคาทองคำปรับตัวขึ้นต่อโดยมีเป้าหมายถัดไปอยู่ที่ 2,075ดอลลาร์ต่อออนซ์ หรือ 31,200บาทต่อบาททองคำ ซึ่งถือเป็นโซนระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ราคาเคยขึ้นไปทดสอบในช่วงเดือนส.ค.ปี 63 โดยกรอบแนวรับแรกของปีนี้ YLG ขยับลงมาอยู่บริเวณ 1,676-1,630ดอลลาร์ต่อออนซ์ หรือ 25,150-24,450 บาทต่อบาททองคำ หากไม่หลุดราคาจะยังคงรักษาแนวโน้มเชิงบวกไว้ได้ ทำให้ราคายังคงมีโอกาสทดสอบแนวต้าน แต่หากราคาเกิดหลุดแนวรับแรก มุมมองเชิงบวกจะลดลง ราคามีโอกาสอ่อนตัวลงต่อทดสอบแนวรับถัดไปโซน 1,530 ดอลลาร์ต่อออนซ์ หรือ 22,950บาทต่อบาททองคำ (ฐานของราคาทองคำในปี 2012)
อย่างไรก็ตาม หากนักลงทุนถือครองสถานะทองคำเป็นจำนวนมาก แนะนำให้ลดสถานะการถือครองทองคำบางส่วน ด้วยการขายทำกำไรระยะสั้นเพื่อลดความเสี่ยงบริเวณแนวต้าน แล้วรอการอ่อนตัวลงของราคาจึงกลับเข้าซื้อเพื่อถัวต้นทุน ขณะเดียวกันนักลงทุนที่มีทองคำในมือไม่มาก รอการอ่อนตัวลงของราคาจึงกลับเข้าซื้อเพื่อถัวต้นทุน บริเวณกรอบแนวรับแรกของปีนี้ ซึ่ง YLG ขยับลงมาอยู่บริเวณ 1,676-1,630ดอลลาร์ต่อออนซ์
ด้านนักลงทุนที่ยังไม่มีทองคำในมือ ประเมินว่าการปรับตัวลงของราคาทองคำยังคงเป็นโอกาสในการเข้าซื้อเช่นเดิม แต่แนะนำให้แบ่งไม้เข้าซื้อ โดยไม่เข้าซื้อที่แนวรับใดแนวรับหนึ่งเต็ม 100% ของพอร์ต และเน้นทำกำไรระยะสั้นเป็นหลัก เนื่องจากภาพรวมระยะสั้นราคาทองคำยังมีโอกาสปรับตัวลดลง รวมถึงต้องประเมินความเสี่ยงที่รับได้ก่อนเข้าสถานะ และกำหนดจุดตัดขาดทุนให้ชัดเจน

กระจายความเสี่ยงพอร์ตด้วยทองคำ

นอกจากการเก็งกำไรแล้ว YLG แนะนำให้นักลงทุนใช้โอกาสที่ราคาทองคำปรับตัวลดลง เพื่อเพิ่มสัดส่วนการลงทุนทองคำในพอร์ตแบบผสม เพราะการมีทองคำในพอร์ตการลงทุน สามารถสร้างผลตอบได้ในระดับที่ใกล้เคียงหรือบางครั้งอาจจะมากกว่าพอร์ตลงทุนแบบ 60 ต่อ 40 แต่ประโยชน์ที่สำคัญที่สุดคือช่วยลดความเสี่ยงของพอร์ตลงทุนด้วยการลด Drawdownsและช่วยเพิ่ม ผลตอบแทนต่อ 1 หน่วยความเสี่ยง ดังนั้นนักลงทุนจึงควรใช้ประโยชน์ที่หลากหลายของทองคำ โดยแนะนำถือครองทองคำในสัดส่วนอย่างน้อยๆ 5-15% ของพอร์ตลงทุน เพื่อเพิ่มโอกาสของผลตอบแทนและลดความเสี่ยงในยามที่ตลาดเผชิญกับความไม่แน่นอนอีกด้วย

ปัจจัยบวกและลบที่ต้องติดตาม

คุณฐิภา กล่าวว่า ปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อราคาทองคำที่ต้องติดตามมีด้วยกัน 4 ข้อ ได้แก่ 1. ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐ เพราะตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐจะเป็นตัวแปรสำคัญสำหรับการดำเนินนโยบายการเงินของเฟดในอนาคต หากตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง จะเป็นปัจจัยสนับสนุนการชะลอมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจทางการเงินของเฟด นั่นจะเป็นปัจจัยหนุนสกุลเงินดอลลาร์และกดดันราคาทองคำ ขณะเดียวกันหากตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐย่ำแย่ลงหลังจากนี้ อาจส่งผลให้ชะลอแผนการต่างๆ ทั้งการการดำเนินการต่างๆของเฟด ทั้งการปรับลดวงเงิน QE และการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยออกไป ซึ่งนั่นจะเป็นปัจจัยที่กลับมาสร้างแรงหนุนให้แก่ราคาทองคำ
2.หนี้สาธารณะที่ทะยานขึ้นจากออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจทางการคลังของสหรัฐ ผลจากภาวะหนี้ในระดับสูงจะทำให้เฟดต้องรักษาระดับของอัตราดอกเบี้ยไว้ในระดับต่ำเพื่อลดภาระต่อรัฐบาลในการจ่ายคืนดอกเบี้ย การขาดดุลงบประมาณจะทำให้รัฐบาลสหรัฐต้องระดมเงินผ่านการออกประมูลพันธบัตรรัฐบาล นั่นทำให้อุปทานของพันธบัตรสหรัฐมีสูงขึ้นจนเป็นปัจจัยกดดันอัตราผลตอบแทนพันธบัตร ที่สำคัญคือ เม็ดเงินในระบบเศรษฐกิจในปริมาณอาจกระตุ้นภาวะเงินเฟ้อในประเทศ จะทำให้ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ มีค่าลดลง ซึ่งเป็นปัจจัยหนุนราคาทองคำ
3.อุปสงค์ทองคำกายภาพจากจีนและอินเดียที่เริ่มฟื้นตัว จีนและอินเดียถือเป็นประเทศที่บริโภคทองคำมากที่สุดในโลก โดยบริโภคทองคำรวมกันเกือบ 2,000 ตันต่อปี และมีแนวโน้มฟื้นตัวอย่างมีนัยสำคัญในช่วงไตรมาส 1/64 หากแรงซื้อจากจีนและอินเดียกลับมาฟื้นตัวต่อเนื่อง อย่างน้อยๆ ก็จะเป็นปัจจัยที่ช่วยจำกัดความเสี่ยงด้านต่ำของราคาทองคำได้ แต่หากความต้องการทองคำจากจีนและอินเดียสูงกว่าที่คาด ก็อาจเป็นปัจจัยที่ช่วยผลักดันราคาทองคำให้ปรับตัวสูงขึ้นได้เช่นกัน
4.กระแสเงินทุนไหลเข้า-ออกจากกองทุน ETF ทองคำ หากกองทุน SPDR เดินหน้าเพิ่มการถือครองทองคำต่อไปจะสะท้อนความเชื่อมั่นในการลงทุนทองคำซึ่งเป็นสัญญาณเชิงบวกที่ช่วยหนุนราคาทองคำ หรือ สกัดไม่ให้ราคาทองคำร่วงลงแรงดังเช่นที่เคยเกิดขึ้นในช่วง 7 เดือนก่อนหน้านี้ กลับกันการกลับมาลดการถือครองทองคำก็ต้องระมัดระวังในการถือครองทองคำเช่นเดิม

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0