โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

มรดก 5 ปี คสช. - ประจักษ์ ก้องกีรติ

THINK TODAY

เผยแพร่ 23 ก.ค. 2562 เวลา 10.48 น.

คณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. สิ้นสุดลงแล้ว แต่มรดกของคสช. จะยังคงอยู่กับสังคมไทยไปอีกนาน

เมื่อวันอังคารที่ 16 กรกฎาคม 2562 ที่ผ่านมา คณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. ที่อยู่ในอำนาจมายาวนานกว่า 5 ปี ได้สิ้นสุดลง ถือเป็นการปิดฉากการดำรงอยู่ของคณะรัฐประหารที่อยู่ในอำนาจยาวนานที่สุดใน

ประวัติศาสตร์ไทยตั้งแต่หลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 โดยรวมเวลาทั้งสิ้นที่คสช. ถือครองอำนาจรัฐคือ 5 ปี 1 เดือน 3 สัปดาห์ กับอีก 3 วัน (เมื่อเทียบกับคณะรัฐประหารของสงัด ชลออยู่ สุจินดา คราประยูร และสนธิ บุญยรัตกลิน ที่อยู่ในอำนาจคณะละประมาณ 1 ปีเศษเท่านั้น) 

การสิ้นสุดของคสช. ที่นำโดยพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และคณะ เป็นไปตามรัฐธรรมนูญฉบับ 2560 ที่กำหนดให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติสิ้นสุดลงเมื่อคณะรัฐมนตรีใหม่ภายหลังการเลือกตั้งทั่วไปครั้งแรกเข้าเฝ้าฯ ถวายสัตย์ปฏิญาณเพื่อปฏิบัติหน้าที่ 

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อ่านสารอำลาผ่านทางโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจในโอกาสสิ้นสุดการทำหน้าที่ของตนเองในฐานะหัวหน้าคณะรัฐประหารในวันที่ 15 ก.ค. เป็นการอำลาท่ามกลางบรรยากาศที่ไม่มีการอาลัยมากนัก 

เนื่องจากในห้วงยามนี้ คนไทยส่วนใหญ่ของประเทศกำลังรู้สึกวิตกกังวลกับปัญหาเศรษฐกิจฝืดเคือง ภัยแล้งอย่างสาหัส ผลผลิตการเกษตรราคาตกต่ำ เงินบาทแข็งค่า และเสถียรภาพของรัฐบาลใหม่ที่นักลงทุนไม่ค่อยมั่นใจนัก 

คสช. คือใคร? และฝากมรดกอะไรไว้กับสังคมไทยบ้าง? แม้คสช. ในฐานะองค์กรทางการเมือง รวมถึงมาตรา 44 ที่ให้อำนาจเด็ดขาดสมบูรณ์โดยตรวจสอบไม่ได้กับผู้นำคสช. จะสิ้นสุดไปแล้ว แต่ผลสะเทือนหลายประการภาย

ใต้ 5 ปีของการปกครองของคสช. ยังคงอยู่กับสังคมไทย ทั้งสองคำถามนี้จึงเป็นสิ่งที่ควรบันทึกไว้ในหน้าประวัติศาสตร์ ก่อนที่ความรับรู้จะเลือนหายไป 

คสช. เป็นคณะรัฐประหารที่เข้ายึดอำนาจ และล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 โดยมีพล.อ.ประยุทธ์ เป็นหัวหน้าคณะ และผู้นำหลักของคสช. คือ เหล่าผู้บัญชาการทหารและตำรวจ ซึ่งมีการปรับเปลี่ยนและแต่งตั้งเพิ่มเติมตลอดระยะเวลา 5 ปีอันเป็นผลมาจาก

การเกษียณอายุของผู้บัญชาการเหล่าทัพ ที่น่าสนใจคือ นอกจากผู้นำกองทัพ ได้มีการแต่งตั้งพลเรือนเข้ามาเป็นสมาชิกแกนนำคสช.ด้วย 2 คน คือ นายมีชัย ฤชุพันธ์ และนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ สะท้อนการพึ่งพิงอาศัยเทคโนแครตด้านเศรษฐกิจและนักกฎหมายในการค้ำจุนอำนาจของคณะรัฐประหาร  

อย่างไรก็ตาม ในแง่โครงสร้างการทำงานของคสช. ต้องถือว่าเป็นโครงสร้างอำนาจแบบรวมศูนย์ที่กองทัพ โดยผู้ดำรงตำแหน่งในคสช. เข้าควบคุมคณะรัฐมนตรี สภานิติบัญญัติแห่งชาติ และคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ 

เป้าหมายเพื่อต้องการเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจการเมืองไทยครั้งใหญ่และสืบทอดอำนาจทางการเมืองในระยะยาว ลักษณะเช่นนี้ต่างจากการรัฐประหารในปี 2549 ของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ หรือคมช.  

ในการรัฐประหารปี 2549 คมช. ปกครองประเทศเพียง 15 เดือนและจัดให้มีการเลือกตั้งโดยเร็ว โดยที่พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน หัวหน้าคมช. ไม่ได้สถาปนาตนเองเป็นนายกรัฐมนตรีหลังการยึดอำนาจ และไม่ได้จัดตั้งพรรคการเมืองนอมินีขึ้นมาสนับสนุนตนเองในการเลือกตั้ง 

รวมถึงไม่ได้เข้ามาสนับสนุนการเลือกตั้งของพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่ง ในส่วนของคณะรัฐมนตรีของคมช. (นำโดยพล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์) ก็มีการตั้งนายทหารมาดำรงตำแหน่งในรัฐบาลเพียง 2 ตำแหน่งเท่านั้นคือ กระทรวงกลาโหมและคมนาคม ในขณะที่คณะรัฐมนตรีของคสช.ของพล.อ.ประยุทธ์ มีนายพลเป็นองค์ประกอบ

หลักเกินครึ่ง นายพลเข้าไปควบคุมในกระทรวงที่นอกเหนือความรู้ความสามารถของตนโดยตรงจำนวนมาก ทั้งกระทรวงพาณิชย์ พลังงาน เกษตรและสหกรณ์ต่างประเทศ ฯลฯ (จนกระทั่งการบริหารงานในหลายกระทรวงมีปัญหา จึงต้องมีการปรับเปลี่ยนในเวลาต่อมา)   

ในการรัฐประหารปี 2549 คมช. ตั้งนายทหารเข้าไปอยู่ในสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เพียง 26% ในขณะที่สนช. ในยุคของคสช. นั้นมีการตั้งนายทหารเข้าไปอยู่ในสภาฯ ถึง 58% ที่สำคัญทั้งพล.อ.ประยุทธ์ และพล.อ.ประวิตรได้แต่งตั้งนายทหารที่เป็นเพื่อนร่วมรุ่น ผู้ใต้บังคับบัญชา และเครือญาติให้ดำรงตำแหน่งในสนช. ด้วย 

นอกจากนี้ เครือข่ายบุคคลที่ใกล้ชิดกับผู้นำคณะรัฐประหารในวงการต่างๆ เช่น วงการธุรกิจ นักการเมือง นักวิชาการ เอ็นจีโอ และสื่อมวลชน ก็ได้รับการตอบแทนเชิงอุปถัมภ์ด้วยการถูกแต่งตั้งเข้าไปอยู่ทั้งในสนช. และสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ซึ่งในปัจจุบันบุคคลเหล่านี้จำนวนมากได้กลับมามีตำแหน่งอีกครั้งในวุฒิสภาที่มาจากการแต่งตั้งของคสช. 

ผู้ที่ดำรงตำแหน่งในคสช. สนช. และสปช. ทุกคนมีเงินเดือนประจำตำแหน่ง (หัวหน้าคสช. 125,590 ต่อเดือน รองหัวหน้าคสช. 119,920 ต่อเดือน และสนช. และสปช. 113,560 บาทต่อเดือน) ที่น่าสนใจคือ คนที่เป็นข้าราชการประจำอยู่ ก็สามารถรับเงินเดือนสองทางด้วย และหากไปนั่งตำแหน่งอื่นก็ยังมีเงินประจำตำแหน่งอีกเช่นกัน 

นอกจากนั้น ยังมีการตั้งทีมงานคสช. ฝ่ายต่างๆ ซึ่งมีเงินเดือนประจำเหมือนข้าราชการ อาทิ ที่ปรึกษา (ส่วนใหญ่เป็นนายทหาร บางคนก็ตั้งบุตรหลาน) สำนักเลขาธิการ กองโฆษก ฯลฯ ทำให้คสช. กลายสภาพเป็นเหมือนหน่วยราชการขนาดใหญ่ที่มีอิสระ ไม่ขึ้นตรงต่อใคร และมีอำนาจเหนือกฎหมาย (ม.44 ให้อำนาจเด็ดขาดสมบูรณ์แก่หัวหน้าคสช.) โดยมีบุคลากร งบประมาณ และอำนาจในการควบคุมสังคมอย่างกว้างขวาง  

นอกจากนั้น ตลอด 5 ปีในยุคคสช. ยังเป็นยุคของการขยายอำนาจ ผลประโยชน์ และเครือข่ายอุปถัมภ์ของกองทัพและคณะรัฐประหารเข้าไปอยู่ในระบบเศรษฐกิจ รัฐธรรมนูญ องค์กรอิสระ และยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี โดยมีการตั้งนายทหารเข้าไปดำรงตำแหน่งในรัฐวิสาหกิจจำนวนมาก รวมทั้งในวุฒิสภา และแต่งตั้งบุคคลที่คสช.ไว้วางใจ

ให้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ เช่น คณะกรรมการการเลือกตั้ง เป็นต้น และคสช.เป็นผู้วางยุทธศาสตร์ระยะยาวกำหนดทิศทางของประเทศในอนาคต 

การปกครองของคสช. จึงเป็นการปกครองที่ผสมผสานระหว่างฐานอำนาจเชิงสถาบัน (กองทัพและรัฐธรรมนูญ) กับฐานอำนาจที่เป็นเครือข่ายความสัมพันธ์ส่วนตัว  

นอกจากคสช. เป็นคณะรัฐประหารที่อยู่ในอำนาจยาวนานที่สุดในรอบ 40 ปีแล้ว คสช. ยังเป็นคณะรัฐประหารที่ออกประกาศและคำสั่งมากที่สุดในประวัติศาสตร์ไทยอีกด้วย ล่าสุดแม้ว่าจะมีการยกเลิกประกาศและคำสั่งของคสช. และหัวหน้าคสช.อย่างน้อย 70 ฉบับ แต่ก็ยังมีคำสั่งอีกจำนวนไม่น้อยที่ยังไม่ถูกยกเลิก โดยเฉพาะคำสั่งที่กระทบสิทธิเสรีภาพของสื่อและประชาชน และคำสั่งที่กระทบสิทธิในกรบวนการยุติธรรม สิทธิชุมชนและสิ่งแวดล้อม 

เช่น คำสั่งที่ให้อำนาจเจ้าหน้าที่ทหารค้น จับกุม และกักตัวบุคคลได้, คำสั่งที่ให้ยกเว้นกฎหมายผังเมืองและกฎหมายควบคุมอาคารในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ เป็นต้น โดยบรรดาคำสั่งที่ไม่ถูกยกเลิกเหล่านี้จะได้รับการแปลงสถานะให้มีสถานะเทียบเท่ากฎหมายและมีผลบังคับใช้ต่อไป   

ที่สำคัญ อำนาจและหน้าที่หลายอย่างของคสช. จะถูกโอนย้ายให้ไปอยู่กับกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (กอ.รมน.) ต่อไป

ฉะนั้น แม้คสช.ในฐานะองค์กรการเมืองจะสิ้นสุดลงไปแล้วในวันนี้ แต่ตัวบุคคลและโครงสร้างอำนาจของคสช. ยังคงอยู่ ผ่านบรรดาคำสั่งคสช.ที่ยังไม่ถูกยกเลิก วุฒิสภาแต่งตั้ง (ที่มีผู้บัญชาการเหล่าทัพ นายทหาร และอดีต

สนช.จำนวนมากได้รับการแต่งตั้ง) ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน และคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ที่นำโดยอดีตหัวหน้าและรองหัวหน้าคสช. ซึ่งทั้งหมดนี้ เราอาจจะเรียกได้ว่าเป็นการจำแลงแปลงกายคสช. ให้มาอยู่ภายใต้เสื้อคลุมใหม่นั่นเอง 

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0