โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

ภูคราม: เปลี่ยนโลกด้วยฝ้ายหนึ่งไจ ปักลงผ้าหนึ่งผืน ตัดเย็บเป็นเสื้อหนึ่งตัว

a day BULLETIN

อัพเดต 14 พ.ย. 2562 เวลา 21.57 น. • เผยแพร่ 14 พ.ย. 2562 เวลา 21.46 น. • a day BULLETIN
ภูคราม: เปลี่ยนโลกด้วยฝ้ายหนึ่งไจ ปักลงผ้าหนึ่งผืน ตัดเย็บเป็นเสื้อหนึ่งตัว

สำหรับคุณ อะไรคือสิ่งสำคัญที่สุดของการทำงาน สำหรับ ‘เหมี่ยว’ - ปิลันธน์ ไทยสรวง แห่งแบรนด์ ภูคราม สิ่งสำคัญคืออะไรก็ตามที่จะทำให้การทำงานสามารถนำพาทุกชีวิตให้อยู่รอดและต่อยอดไปจนถึงความอยู่รอดของธรรมชาติได้ เธอจึงหยิบยกเรื่องราวของการร่วมมือกับชาวบ้าน ซึ่งเป็นแกนหลักในการเดินหน้าทำแบรนด์ภูคราม แบรนด์ที่มีหัวใจของเธอ มีเรื่องราวของการอนุรักษ์ มีความงามของผ้าฝ้าย มีปากท้องของชาวบ้าน และการดูแลธรรมชาติมาเล่าให้คุณฟัง

 

ภูคราม
ภูคราม

อะไรคือแรงขับเคลื่อนที่ทำให้คุณกลับบ้านไปสร้างแบรนด์ และสร้างชีวิตให้กับชาวบ้านในถิ่นเกิด

        ด้วยอาชีพเดิมของเราคือนักประวัติศาสตร์ชุมชน เราสนใจเรื่องนี้เป็นทุนเดิม เราเกิดคำถามต่อท้องถิ่น เราอยากทำงานกับชาวบ้านเพื่อไม่ให้ประวัติศาสตร์ชุมชนเป็นแค่เรื่องราวที่อยู่แต่ในหนังสือ เราจึงมองหาวิธีที่จะดึงประวัติศาสตร์เหล่านั้นมาใช้ให้เกิดประโยชน์หรือใช้ได้จริง โดยการดึงองค์ความรู้เดิมอย่างเรื่องกระบวนการศึกษาอย่างมีส่วนร่วม ซึ่งคล้ายๆ กับงานวิจัยมาใช้ และหาหนทางที่จะทำอย่างไรให้การกลับบ้านของเราทำให้ตัวเองอยู่รอด และคนที่อยู่กับเราอยู่รอดด้วย เราจึงนึกถึงต้นทุนทางวัฒนธรรมดั้งเดิมอย่างเรื่องของผ้าฝ้าย ที่เราคุ้นเคยอยู่แล้ว เพราะเราเองก็คือหนึ่งในชาวบ้านหมู่บ้านนางเติ่ง ตั้งอยู่บนเทือกเขาภูพาน จังหวัดสกลนคร พอเริ่มจับทางผ้า เราก็เริ่มงานกับกลุ่มป้าๆ ราว 4-5 คน ที่รวมชาวบ้านหนองส่าน หมู่บ้านติดกันเข้ามาร่วมทีม

        ตอนแรกก็สะเปะสะปะเหมือนกัน (หัวเราะ) เราตั้งต้นที่การช่วยป้าๆ ขายผืนผ้าทอเรยอง (Rayon) หรือที่ชาวบ้านมักเรียกว่า ผ้าซีกวาง ซึ่งเป็นเส้นใยกึ่งสังเคราะห์ นำมาย้อมสีธรรมชาติและทอมือขายเป็นผืน เราเห็นว่าลวดลายที่ป้าทอสวยดี ก็เลยช่วยคิดหาช่องทางการตลาด แต่ด้วยจุดประสงค์สำคัญที่เรากลับบ้านมาไม่ใช่แค่การขายของ เราเลยมองมุมใหม่ จนได้เห็นต้นทุนใหม่ ที่เรียกว่าคุณค่าแท้ของพื้นที่

คุณค่าที่แท้จริงของพื้นที่คือเรื่องอะไร

        เรื่องของการทำฝ้าย การปั่นฝ้าย การทำเส้นฝ้าย คือการเข็นมือ เพราะเราเริ่มเห็นสิ่งเหล่านี้น้อยลง ทั้งๆ ที่มันเคยมีอยู่ในวิถีดั้งเดิมของชาวบ้านที่นี่ แต่พวกเขาหันไปทำผ้าซีกวางแทน เราจึงชวนเขากลับมาทำและเริ่มนับหนึ่งไปพร้อมๆ กัน

คุณอธิบายให้ชาวบ้านฟังอย่างไร พวกเขาถึงมาร่วมทำงานกับแบรนด์ภูคราม

        จริงๆ ก็เป็นเรื่องที่ไม่ง่ายเลย สองปีแรกเราอาศัยชวนให้มา โดยอธิบายให้เห็นว่างานตรงนี้สามารถเป็นอาชีพเสริมให้กับครอบครัว แต่เราก็ไม่ได้อธิบายเพื่อให้เขาอยากเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของตัวเอง ไม่ได้พูดเพื่อให้เขาเปลี่ยนวิถีเกษตรเป็นสังคมการค้าขาย แต่เราพยายามบอกว่า สิ่งที่มีอยู่เดิมหรือความคราฟต์ที่สืบต่อมาจากบรรพบุรุษของเขา จะช่วยให้ชีวิตดีขึ้น เมียช่วยผัว ผัวช่วยเมีย เราจึงค่อยๆ ทำไปพร้อมๆ กับหาหนทางที่จะให้วัยหนุ่มสาวกลับบ้าน กลับมาทอผ้า หรือใช้ชีวิตที่เรียบง่าย และสามารถเลี้ยงปากท้องได้จริง

 

ภูคราม
ภูคราม

ชาวบ้านส่วนใหญ่อายุเท่าไร มีคนรุ่นใหม่บ้างไหม

        กว่า 98% เป็นผู้หญิงที่อยู่บ้านเลี้ยงลูก แบ่งเป็นวัยกลางคนจะทำงานปักเยอะ ส่วนงานทอจะเป็นวัยที่อายุมากกว่า 40-50 ปีประมาณ 2% นอกจากนั้นจะเป็นผู้สูงอายุ 70-80 ปี 

งานปักเป็นงานฝีมือที่ต้องใช้เวลาค่อนข้างมาก ทำไมคุณถึงเลือกวิธีนี้

        งานปักเป็นงานที่สามารถเล่าเรื่องราวได้ดีที่สุด เราเรียกสิ่งนี้ว่า ‘ผ้าบันทึก’ คล้ายสมุดบันทึก บันทึกเรื่องราวความงามของธรรมชาติในท้องถิ่นที่เราและชาวบ้านกลุ่มหนึ่งใช้ชีวิตอยู่ เพื่อให้คนภายนอกได้รับรู้ ได้เห็นคุณค่าไปพร้อมๆ กับแบรนด์ภูคราม ร่วมกับชาวบ้าน ทั้งในหมู่บ้านนางเติ่งและหนองส่าน สิ่งสำคัญคือชาวบ้านจะรู้สึกหวงแหนถิ่นเกิดและผูกพันกับสิ่งที่เขาทำและเห็นมากขึ้น ลวดลายปักสื่อสารผ่านสายตาของชาวบ้านผู้เป็นช่างปัก เราจะไม่ให้เขาไปลอกลายปักจากใครหรือที่ไหน แม้กระทั่งลอกลายกันเอง เพราะเราอยากให้ชาวบ้านสื่อสารออกมาจากความรู้สึกของเขาจริงๆ หากเขาจะเลียนแบบ อยากให้เลียนแบบธรรมชาติมากกว่างานคนอื่น ให้เขาอยู่กับธรรมชาติให้ได้มากที่สุด เพราะความงามจากมุมมองของคนแต่ละคนไม่เหมือนกัน ทุกคนมองต้นไม้ต้นเดียวกัน แต่ถ่ายทอดความงามออกมาต่างกัน

นอกจากงานปักแล้ว งานผ้าในส่วนอื่นๆ คุณให้สัดส่วนมากน้อยกว่ากันแค่ไหน

        เราให้ความสำคัญเท่ากันหมด แต่คนข้างนอกจะให้ความสำคัญกับงานปักมากกว่า แม้กระทั่งคนปักเองก็ให้ความสำคัญกับตัวเองเยอะ (หัวเราะ) แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่างานปักคือตัวเอกในการสื่อสารหลักเรื่องธรรมชาติและวิถีชีวิตดั้งเดิม อีกอย่างกระบวนการเป็นส่วนที่ใช้ความคิดสร้างสรรค์สูงและใช้ฝีมือ เราเองก็พยายามให้ช่างทอคิดลายจากสิ่งที่เห็นรอบตัว จากเดิมที่ใช้ความเคยชินหรือภูมิปัญญาที่ตกทอดมา หลายคนเมื่อมีโอกาสได้คิดลายเอง ดูเขาสนุกและมีความสุขมาก

 

ภูคราม
ภูคราม
ภูคราม
ภูคราม

คุณมีเกณฑ์ในการคัดเลือกคนเข้าทำงานอย่างไรบ้าง

        ปัจจุบันเรามีชาวบ้านทำงานร่วมประมาณ 60-70 คน เราจึงต้องใช้หลัก ‘คนคัดงาน งานคัดคน วิธีการทำงานก็คัดคนอีกที’ เราจริงจัง ดังนั้น คนที่ทำงานกับเราก็ต้องจริงจัง แต่ไม่ได้หมายความว่าเครียด แต่จริงใจต่อหน้าที่และงานของตัวเอง หากไม่จริงใจก็คือรีบทำงานเพื่อหวังเงินเร็วๆ แต่ผลงานที่ได้เละเทะ ซึ่งเราก็ต้องให้เขาเอากลับไปทำใหม่ เอาผืนใหม่ไปทำให้ดีกว่านี้ บางคนไม่มีการพัฒนาฝีมือ สองปีก็ยังเท่าเดิม บางคนดีขึ้น บางคนพัฒนาไปได้ไกลแล้วดันกลับมาทีเดิม งานพวกนี้ใช้อารมณ์เป็นหลัก แต่บางคนเข้าใจงานและเป็นศิลปินจริงๆ สามารถถ่ายทอดงานได้สม่ำเสมอก็มี

คุณใช้วิธีใดในการทำงานร่วมกับคนในชุมชน จนเกิดผลสำเร็จอย่างที่เห็น

        เราใช้ความเชื่อใจ เพราะเราเชื่อว่า ‘คนเลือกงาน งานก็เลือกคน’ เพราะงานเหล่านี้คืองานฝีมือ หากให้ปักดอกไม้ร้อยดอก คนรักงานกับคนไม่รักงาน ทำออกมาจะไม่เหมือนกัน ดังนั้น อีกคำหนึ่งที่เราต้องใช้ร่วมด้วยก็คือ ‘โอกาส’ และ ‘การสื่อสาร’ ช่วงปีแรกๆ เราแทบจะไม่ค่อยคุยหรือแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับชาวบ้านเลย แต่วันเวลาผ่านไปเราเรียนรู้ว่าการสื่อสารคือสิ่งที่สำคัญในทุกๆ กระบวนการทำงานกับ ‘คน’ ยิ่งกับชาวบ้าน เราต้องทำให้ทุกคนรับรู้ทุกอย่างร่วมกันและเท่ากัน ไม่เว้นแม้กระทั่งเรา ซึ่งเราให้เกียรติเขาในฐานะเพื่อนร่วมงานที่จะคิดงานไปด้วยกัน ไม่ใช่ลูกจ้าง สิ่งนี้เห็นผลชัดเจน โดยออกมาเป็นผลงานที่สวยมาก งานปักของเขาออกมาจากชีวิตและจิตใจของเขาจริงๆ การเคารพซึ่งกันและกัน การไว้ใจแม้กระทั่งการคิดงาน การทำงานร่วมกัน ทำให้สร้างสรรค์งานออกมาได้ดี

        อีกเรื่องที่สำคัญไม่แพ้กันก็คือเราเองก็ต้องเปิดใจเพื่อให้ชาวบ้านเห็นเราทุกมุมอย่างแท้จริง เพื่อให้เขาเห็นเราเป็นเพื่อนร่วมงาน ไม่ได้มองว่าเราเป็นนายจ้าง แต่เรื่องของชิ้นงานยังคงเป็นเราที่ต้องตีกรอบคอนเซ็ปต์ จัดวางองค์ประกอบและคุมการใช้สีอยู่ประมาณ 80% ที่เหลือ 20% ครึ่งหนึ่งสามารถสร้างสรรค์ด้วยตัวเองได้ดีกว่าเราเสียอีก (หัวเราะ)

การสื่อสารรูปแบบใดที่ทำให้ชาวบ้านเข้าใจได้ง่ายที่สุด

        การทำงานกับชาวบ้านจะต้องไม่บุ่มบ่าม ต้องใจเย็นอย่างมาก ให้เราและเขาเรียนรู้ไปพร้อมๆ กัน เราเองก็ไม่สามารถไปบังคับชีวิตของทุกคนให้มาทำตามที่เราบอกได้ เพราะทุกคนต้องเลือก เราเหมือนเป็นคนให้ข้อมูล เสนอทางเลือกมากกว่าการบังคับ ยิ่งเราทำงานกับช่างแต่ละประเภท การพูดหรือวิธีการสื่อสารก็ไม่เหมือนกัน ทุกคนต้องมีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นและออกแบบ แต่รูปแบบนี้ ชาวบ้านไม่ค่อยเข้าใจสักเท่าไหร่ เขายังคุ้นชินอยู่กับการบอกให้ทำตาม ซึ่งมีกว่า 60% นั่นแสดงว่าแต่ละคนใน 60% เรามีหน้าที่ที่ต้องเข้าไปคุย พร้อมแก้ปัญหาต่างๆ แบบรายตัวอยู่บ่อยๆ

 

ภูคราม
ภูคราม

คุณป้องกันปัญหาการกระทบกระทั่งกันเพราะความเข้าใจผิดอย่างไร

        เรากำลังสร้างระบบหัวหน้ากลุ่มที่เรียกว่า ‘ครูช่าง’ มาเป็นผู้ช่วยในการกำกับและดูแลภาพรวมของงาน โดยครูช่างคนนี้จะผ่านการคัดเลือกมาจากคนในกลุ่มด้วยกัน เพื่อให้เขายอมรับกันและกันให้ได้มากที่สุด ซึ่งจะเริ่มรันระบบนี้ด้วยกลุ่มช่างปักก่อน แต่การวางคอนเซ็ปต์หลักก็ยังคงเป็นเราที่ต้องดูกันเป็นรายบุคคลเหมือนเดิม แต่เมื่อมีครูช่างมาช่วย เราก็เบาใจได้เยอะ

แล้วมีความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นไหม

        ในแต่ละปีมีการเปลี่ยนแปลงเสมอ เริ่มที่ตัวเอง เราทำงานมาตลอด 4 ปีจนใกล้จะครบ 5 ปี ข้างในของเราเปลี่ยน เพราะเราทำงานกับคุณค่าของคน เรามีความเชื่อเรื่องพลังชีวิต การถ่ายเทคุณค่าในการทำงานและคุณค่าของคนให้กันและกัน สิ่งเหล่านี้ทำให้เราเติมเต็มความเป็นคนมากขึ้น ส่วนการเปลี่ยนแปลงต่อชาวบ้าน หลายๆ คนบอกว่าชีวิตของเขาดีขึ้น เขาอยู่ได้ ช่วยแบ่งเบารายจ่ายของครอบครัวได้ ครอบครัวไม่ทะเลาะกันก็เพราะได้ทำสิ่งนี้

        แต่สิ่งที่ปฏิเสธไม่ได้คือส่วนใหญ่เขามีความสุขมากขึ้น สุขที่ได้ทำงาน ได้เห็นผลงานจากสองมือของตัวเอง สุขที่เกิดจากการเห็นคุณค่าของตัวเอง บางคนเวลาพูดถึงงานของตัวเองก็จะร้องไห้ เพราะรู้สึกตื้นตันกับสิ่งที่ตัวเองได้ทำ บางคนงอกงามเมื่อเราเติมเพิ่มเข้าไป เราก็อยากให้เขาจดจำและนำไปใช้ในชีวิตของเขาในทุกๆ ด้านได้ มันสามารถใช้ได้หมด เพราะทั้งหมดที่เราทำคือการดีไซน์ชีวิต ดีไซน์งาน เมื่อเราเห็นคุณค่าของงาน เห็นคุณค่าของตัวเอง มันทำให้เรามีเป้าหมายเพื่อใช้ชีวิต งานคราฟต์ก็จะอยู่รอดต่อไปได้เช่นกัน

ในเมื่อผ้าหนึ่งผืน เสื้อผ้าฝ้ายหนึ่งตัว ปักด้วยเส้นฝ้ายหนึ่งเส้น สามารถเปลี่ยนโลกของคุณ โลกของชาวบ้านและโลกของภูครามได้ ต่อไปคุณตั้งใจจะให้ผ้าเปลี่ยนสิ่งใดอีก

        เปลี่ยนกระบวนการคิดของผู้คนให้ตระหนักถึงการดูแลและอนุรักษ์ธรรมชาติ รวมทั้งสิ่งที่ตนเองมีอยู่ในท้องถิ่น ภูครามเป็นแบรนด์ที่มีกระบวนการทำฝ้ายที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมร้อยเปอร์เซ็นต์ ไม่ว่าจะเป็นการย้อมจากวัตถุดิบท้องถิ่นในธรรมชาติ ที่เราสอดแทรกการอนุรักษ์เข้าไป โดยเรากำหนดว่า สิ่งแรกคือต้องไม่ตัดไม้ทำลายป่า เราจะใช้แค่ใบและเปลือกบางส่วน ห้ามล่อนออกมาทั้งหมด ใช้เท่าที่จำเป็น ทั้งยังส่งเสริมให้ชาวบ้านช่วยกันปลูกป่าให้มากขึ้น

 

ภูคราม
ภูคราม

แสดงว่าต้นทางคือฝ้าย ปลายทางคือป่า คือสิ่งที่คุณกำลังสร้างการเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้น

        ใช่ เราตั้งใจและอยากให้เป็นอย่างนั้น เพราะหากดูจากกูเกิลแมป จะพบว่าภาคอีสานตอนบนมีภูเขาก็จริง แต่ส่วนที่เป็นภูเขาสีเขียวจะค่อนข้างน้อย เราจึงพยายามทำงานร่วมกับหน่วยงานท้องถิ่น แต่ทั้งนี้พื้นที่ส่วนใหญ่ยังอยู่ในเขตทับซ้อน ใกล้กับพื้นที่ของอุทยานแห่งชาติภูพาน ซึ่งยังอยู่ในระหว่างการคิดหาหนทางว่าจะทำอย่างไรให้ทรัพยากรอยู่ได้ โดยให้ชาวบ้านเป็นคนดูแลเอง เราหวังจะให้ชาวบ้านเป็นปราชญ์ชุมชน ช่วยกันอนุรักษ์ทรัพยากรที่มีในท้องถิ่นด้วยภูมิปัญญา และทำอย่างไรพวกเขาถึงจะเห็น เพราะเรื่องราวเหล่านี้คือประเด็นเย็น ถ้าไม่ใช่ประเด็นร้อน ก็ไม่มีใครเดือดร้อน

        ส่วนเราก็จะทำงานด้วยกระบวนการคิดและเพิ่มเติมความรู้ให้กับชาวบ้าน พร้อมลงมือทำตามสิ่งที่เราทำอยู่ทุกวันนี้ เพื่อให้ชาวบ้านรู้สึกว่าพื้นที่ทุกส่วนของภูพานคือ บ้านของเรา ที่ต้องช่วยกันดูแลและทำให้เป็นบ้านที่น่าอยู่ต่อไปได้ แม้วันข้างหน้าอาจจะไม่มีแบรนด์ภูครามแล้วก็ตาม  

นั่นหมายความว่าคุณกำลังสร้างโมเดลเพื่อชุมชนอื่นไปด้วยพร้อมๆ กัน

        ส่วนหนึ่งที่ใช่ เพราะเราเห็นว่า ปัจจุบันมีคนจำนวนไม่น้อยที่ต้องทำงานร่วมกับชาวบ้านและชุมชน แต่หลายคนก็ไม่ประสบความสำเร็จทั้งในแง่ของการสร้างแบรนด์ชุมชน และในเชิงการมีส่วนร่วมของชาวบ้าน เราจึงคิดว่าจะสร้างโมเดลที่อิงกับการอนุรักษ์วิถีและการทำงานร่วมกับชาวบ้านขึ้นมา ผ่านการเรียนรู้ตลอดหลายปี ผสมกับชุดความรู้เก่าและใหม่ที่เรามี เพื่อเป็นต้นแบบให้กับชุมชนอื่นๆ หรือหนุ่มสาวที่อยากกลับบ้านเกิด นำไปใช้เพื่อพัฒนาคน สร้างอาชีพให้ตัวเองและชุมชนท้องถิ่นต่อไปได้เช่นกัน ซึ่งเรายอมรับเลยว่าการทำงานกับคน และยิ่งกับคนหมู่มาก เป็นงานที่เหนื่อย ยากและเต็มไปด้วยปัญหาจริงๆ

เพราะอะไรคุณจึงเลือกที่จะเดินหน้าต่อทั้งๆ ที่คุณต้องเผชิญกับความเหนื่อยและความยากมาโดยตลอด

        เพราะเราเชื่อมั่นและมีความชัดเจนต่อเป้าหมายที่เราอยากทำตั้งแต่วันแรกจนถึงเดี๋ยวนี้ อย่างเรื่องของการอนุรักษ์ ที่เราไม่สามารถอธิบายอย่างตรงไปตรงมาให้กับชาวบ้านได้ เราไม่สามารถไปบอกได้ว่าหากเธอปักต้นไม้ต้นนี้จนเสร็จ เชื่อมั้ยว่าเธอจะรักต้นไม้ต้นนี้อย่างไม่รู้ตัว ยิ่งเป็นภาพที่ปักเพื่อบอกเรื่องราวของตัวเองหรือท้องถิ่นด้วยแล้ว ยิ่งปักยิ่งซึมซับ ยิ่งทบทวนยิ่งเห็นเป็นรูปเป็นร่างจนเสร็จสมบูรณ์ เธอจะยิ้ม เธอจะภูมิใจในบ้านเกิด ผืนป่า และเทือกเขา เธอจะรักและหวงแหน มันเหมือนแอบสแตร็กต์ ที่เราเข้าใจและเห็นภาพอยู่ในหัวแค่คนเดียว  

        ดังนั้น สิ่งที่เราจะทำให้เขาเห็นภาพเดียวกันกับเราก็คือให้ลงมือทำ ทำไปเรื่อยๆ ทุกวันนี้ชาวบ้านส่วนหนึ่งเริ่มเข้าใจในสิ่งที่เราพยายามจะทำแล้ว บางคนผ่านไปสองสามปี คำตอบว่า ปักผ้าแล้วได้อะไรก็จะเปลี่ยนไปเรื่อยๆ บางคนแสดงให้เราเห็นว่า ปลายทางที่เขาเจอก็คือความรักในพื้นที่บ้านเกิดมากขึ้น ตัวเราเองก็เช่นกัน ที่รักงานตรงนี้มากขึ้น ลึกซึ้งขึ้น เพราะฉะนั้น ต่อให้เครียด เหนื่อย หรือยาก เราก็จะทำต่อ เพราะเรารู้แล้วว่าคุณค่าที่เราได้มานั้น มันมากเกินกว่าที่จะละทิ้งได้ลง

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0