โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

พ่อแม่ระวัง! อย่าให้ใคร “หอมแก้ม” ลูกพร่ำเพรื่อ

Motherhood.co.th

เผยแพร่ 14 ต.ค. 2562 เวลา 03.00 น. • Motherhood.co.th Blog
พ่อแม่ระวัง! อย่าให้ใคร “หอมแก้ม” ลูกพร่ำเพรื่อ

พ่อแม่ระวัง! อย่าให้ใคร "หอมแก้ม" ลูกพร่ำเพรื่อ

สิ่งหนึ่งที่เป็นความยากลำบากใจของพ่อแม่ และบางทีก็เกิดดราม่าหากพ่อแม่เป็นคนดัง ก็คือเวลามีคนมา "หอมแก้ม" หรือสัมผัสลูกน้อยของเราโดยยังไม่ได้ทำความสะอาดมือเสียก่อน พ่อแม่บางคนที่เฉียบขาดชัดเจนก็จะห้ามเสียงแข็ง แต่ก็ไม่วายโดนคนที่ต้องการสัมผัสลูกดราม่าใส่ ยิ่งเป็นคนดังยิ่งโดนหนัก ถูกหาว่าหยิ่งไปโน่นเลย หลายๆคนไม่ตระหนักค่ะว่าเด็กทารกนั้นบอบบางมาก เพียงการสัมผัสที่ไม่ได้ตั้งใจอาจทำให้เขาติดเชื้อจนป่วยหนักได้ แต่พ่อแม่จะบอกยังไงให้คนอื่นเข้าใจนะ

แม้แต่กับสมาชิกในครอบครัวกันเองก็ต้องระวัง
แม้แต่กับสมาชิกในครอบครัวกันเองก็ต้องระวัง

เมื่อวันที่ 8 ตุลาคม รศ.นพ.อดิศักดิ์ ผลิตผลการพิมพ์ ผู้อำนวยการสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว และผู้อำนวยการวิจัยเพื่อสร้างเสริมความปลอดภัยและป้องกันการบาดเจ็บในเด็ก คณะแพทมย์ศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า การที่ผู้ใหญ่ไปสัมผัสร่างกายเด็กๆ ซึ่งทำไปด้วยความเอ็นดู เช่น หอมแก้ม จับมือ มีโอกาสที่เด็กเหล่านั้นจะได้รับเชื้อโรคสูงกว่าผู้ใหญ่ เพราะร่างกายของเด็กยังไม่มีภูมิต้านทานมากพอกับเชื้อโรคบางชนิด เช่น ไวรัส ที่อาจทำให้ติดหวัด ไข้หวัดใหญ่ โรคมือเท้าปาก โรคท้องร่วง ตับอักเสบ เป็นต้น แต่อย่างไรก็ตาม เรื่องเหล่านี้ยังค่อนข้างใหม่ในสังคมไทย จึงต้องสร้างความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง เพราะที่ผ่านมาไม่ค่อยมีการพูดถึงปัญหาเหล่านี้มากนัก

"อาจจะต้องมีการรณรงค์กันเหมือนกับการป้องกันการติดโรคระบาดต่างๆ ด้วยการสวมใส่หน้ากากอนามัย ผมเข้าใจว่าที่ผู้ใหญ่ทำไปเพราะเห็นความน่ารักของเด็ก และเกิดความเอ็นดู อยากสัมผัสมือ แก้มของเด็ก แต่ขณะเดียวกันก็น่าเป็นห่วงเรื่องการติดเชื้อโรค ดังนั้น อาจต้องมีการให้ความรู้กันใหม่ว่า เรื่องเหล่านี้คุณสามารถทำได้หากเป็นลูกหลานในครอบครัว  ซึ่งหากเกิดอะไรขึ้นก็ต้องรับผิดชอบกันเอง แต่ถ้าไม่ต้องการให้เด็กติดเชื้อ ผู้ใหญ่คนนั้น ไม่ว่าจะเป็นพ่อแม่ ปู่ย่า ตายาย ญาติๆ ก็ต้องรู้สภาพร่างกายของตัวเอง เป็นหวัดหรือไม่ ป่วยเป็นโรคติดต่อหรือไม่ ล้างมือสะอาดหรือไม่ ก่อนที่จะไปสัมผัสกับตัวเด็ก ขณะที่หากไม่ใช่ลูกหลาน เราก็ต้องเคารพสิทธิของเด็ก และคนที่เป็นพ่อแม่ผู้ปกครองของเด็กด้วย เช่น ต้องขออนุญาตกันก่อน ถ้าผู้ปกครองเด็กอนุญาตถึงจะสัมผัสตัวเด็กได้ตามความเหมาะสม แต่ต้องรู้ด้วยว่าสภาพร่างกายของตนเองพร้อมมากน้อยแค่ไหน" รศ.นพ.อดิศักดิ์ กล่าวและเสริมว่า ทางที่ดีที่สุด หากพบเห็นเด็กที่น่ารักน่าเอ็นดู ให้ใช้วิธีพูดทักทาย หรือชูมือเป็นสัญลักษณ์ต่างๆ ส่งยิ้มเพื่อให้เด็กมีปฏิสัมพันธ์ เท่านี้ก็เพียงพอแล้ว

และขณะนี้ โรงเรียนที่ดูแลเด็กเล็กหลายแห่งก็เริ่มมีกฎระเบียบเพื่อคุ้มครองสิทธิของเด็กแล้ว เช่น ไม่อนุญาตให้ครูหอมแก้มเด็ก ซึ่งนี่ไม่ใช่แค่การป้องกันเด็กถูกคุกคามทางเพศเท่านั้น แต่ยังครอบคลุมถึงการดูแลสุขภาพอนามัยของเด็กด้วย

ต้องแน่ใจในความสะอาดของตัวเองก่อนจะสัมผัสเด็กๆ
ต้องแน่ใจในความสะอาดของตัวเองก่อนจะสัมผัสเด็กๆ

5 โรคติดเชื้อที่มาจากการหอมแก้มเด็ก

1. RSV

หลอดลมฝอยอักเสบ คือ โรคติดเชื้อที่เกิดจากการอักเสบของหลอดลมฝอย พบในผู้ป่วยเด็กอายุน้อยกว่า 2 ปี โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงอายุน้อยกว่า 6 เดือน พบในช่วงที่มีอากาศชื้นโดยเฉพาะหน้าฝน แถมยังติดต่อกันได้ง่ายเพียงการสัมผัสใกล้ชิด หรือสัมผัสสารคัดหลั่งทางตาหรือจมูก และทางลมหายใจ

Image: news.gsu.edu
Image: news.gsu.edu

สาเหตุ: ส่วนใหญ่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสในระบบทางเดินหายใจ ซึ่งติดต่อโดยการไอจามรดกัน พบว่าเชื้อไวรัสชื่อ Respiratory Syncytial Virus (RSV- อาร์เอสวี) เป็นสาเหตุมากที่สุด คือประมาณร้อยละ 70-80 ของผู้ป่วยเด็กที่เป็นโรคหลอดลมฝอยอักเสบทั้งหมด

อาการ: มีอาการเหมือนไข้หวัดธรรมดา คือ มีน้ำมูกใส ไอ ไข้ต่ำๆนำมาก่อน หลังจากนั้นประมาณ 2-3 วันอาจมีอาการหายใจเร็ว หอบเหนื่อย หายใจมีเสียงหวีด บางครั้งไข้ขึ้นสูง 40-41 องศาเซลเซียสได้ ผู้ปวยเด็กบางรายที่มีภาวะการหายใจล้มเหลวอาจต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ

2. 4S - Staphylococcal scalded skin syndrome (SSSS)

เป็นโรคติดเชื้อทางผิวหนังจากแบคทีเรียที่อาศัยอยู่ตามผิวหนังของคนเราทั่วไป มีโอกาสเกิดขึ้นบ่อย โดยเฉพาะเด็กทารกแรกเกิดหรือเด็กอายุต่ำกว่า 5 ขวบ เนื่องจากไตยังไม่เติบโตสมบูรณ์พอที่จะกำจัดพิษและระบบภูมิคุ้มกันยังพัฒนาไม่สมบูรณ์

4s เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย
4s เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย

สาเหตุ: เกิดจากพิษของเชื้อโรค Staphylococcus aureus โดยเมื่อมีการติดเชื้อแบคทีเรียชนิดนี้ก็จะเกิดการปล่อยพิษเข้าไปในกระแสเลือด ทำให้เกิดอาการต่างๆ ซึ่งนอกจากจะได้รับเชื้อจากผิวหนังของตนเองแล้ว เด็กยังมีโอกาสรับเชื้อจากการสัมผัสตัวของผู้ใหญ่ด้วย

อาการ: มีอาการติดเชื้อที่ผิวหนัง เป็นผื่นแดงลักษณะคล้ายถูกน้ำร้อนลวก ต่อมาจะกลายเป็นตุ่มน้ำพองตื้นๆ แล้วลอกออกเป็นแผ่นบางสีขาวได้ อาจเป็นผื่นได้ทั้งตัว โดยเฉพาะที่รอบปากและรอบดวงตา หรือตามข้อพับ และต่อมาจะกลายเป็นน้ำเหลืองแห้งกรังรอบปากและดวงตา โดยที่ส่วนของเยื่อบุปากและตาจะยังคงปกติดี ร่วมกับมีอาการไข้และร้องกวนผิดปกติในเด็กเล็ก

3. เริม

เริมในช่องปากเป็นเป็นโรคที่พบบ่อยที่สุดของการติดเชื้อครั้งแรก พบได้ทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ แต่สำหรับเด็กทารกที่ยังไม่มีภูมิคุ้มกัน เป็นอันตรายอย่างมาก โดยเฉพาะ 6 สัปดาห์แรกของชีวิตยิ่งอันตรายที่สุด

เด็กทารกยังไม่มีภูมิคุ้มกัน จึงอันตรายมากถ้าติดเริม
เด็กทารกยังไม่มีภูมิคุ้มกัน จึงอันตรายมากถ้าติดเริม

สาเหตุ: ติดเชื้อจากเชื้อไวรัสเฮอร์ปีส์ซิมเพล็กซ์ ก่อให้เกิดการติดเชื้อในช่องปากและริมฝีปาก และติดเชื้อที่อวัยวะเพศที่เกิดจากการมีเพศสัมพันธ์  ซึ่งเชื้อเริมที่ทำให้ทารกเสี่ยงเสียชีวิตนั้น มักมาจากเชื้อที่เกิดจากเพศสัมพันธ์ และติดเชื้อที่จุดซ่อนเร้น แล้วเชื้อนี้แพร่กระจายไปสู่ทารก โดยทารกติดเชื้อนี้ได้ตั้งแต่อยู่ในครรภ์ผ่านทางเยื่อหุ้มทารก

อาการ: สัญญาณแรกที่สังเกตได้ คือ ทารกไม่ยอมดูดนม ซึม มีไข้ ร้องไห้ไม่มีสาเหตุ ตามีอาการตาแดง มีลักษณะตุ่มน้ำใสบริเวณที่ติดเชื้อ

4. หัด

โรคหัดเป็นไข้ออกผื่นพบได้บ่อยในเด็กอายุ 1-6 ขวบ ติดต่อกันผ่านการไอ จาม น้ำมูก น้ำลาย และการสัมผัสตัวกับผู้ที่มีเชื้อ ระยะฟักตัวประมาณ 8-12 วัน

แม้จะมวัคซีนป้องกันหัด แต่ก็ไม่ควรให้ลูกมีความเสี่ยง
แม้จะมวัคซีนป้องกันหัด แต่ก็ไม่ควรให้ลูกมีความเสี่ยง

สาเหตุ: เกิดจากการรับเชื้อไวรัสผ่านทางอากาศ จากการสัมผัสละอองน้ำลาย น้ำลาย และน้ำมูกของผู้ป่วย ซึ่งช่วง 4 วันทั้งก่อนและหลังเกิดผื่นนั้นถือเป็นระยะเวลาของการแพร่เชื้อ โดยเชื้อไวรัสจะเข้ามาทางระบบทางเดินหายใจและแพร่ไปทั่วร่างกาย

อาการ: มีอาการคล้ายเป็นไข้หวัด มักตัวร้อนและอาจมีไข้ขึ้นสูงถึง 40 องศาเซลเซียส ซึ่งจะเริ่มเป็นไข้ประมาณ 10-12 วันหลังได้รับเชื้อ นอกจากนี้ยังมีอาการน้ำมูกไหล ไอบ่อย เจ็บคอ ตาเยิ้มแดง และมีตุ่มแดงที่มีสีขาวเล็กๆตรงกลางขึ้นในกระพุ้งแก้ม หลังออกอาการได้ 3-5 วัน จะเกิดผื่นขึ้นตามร่างกาย ซึ่งคล้ายผื่นคันตามผิวหนัง โดยเกิดผื่นแดงหรือสีแดงออกน้ำตาลขึ้นเป็นจุดบนหน้าผากก่อน แล้วค่อยแพร่กระจายมาที่ใบหน้าและลำคอ ภายใน 3 วันจะเกิดผื่นกระจายมาถึงมือและเท้า อาการผื่นคันนี้จะปรากฏอยู่ 3-5 วันและหายไปเอง

5. อีสุกอีใส

โรคอีสุกอีใสเป็นโรคติดต่อทางผิวหนังที่ทำให้ร่างกายเกิดผื่นคัน มีตุ่มนูนขนาดเล็ก หรือตุ่มน้ำใสๆทั่วร่างกาย ส่วนใหญ่มักเกิดขึ้นได้บ่อยในเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 15 ปี

หอมแก้มเด็ก- อีสุกอีใส
หอมแก้มเด็ก- อีสุกอีใส

สาเหตุ: เกิดจากเชื้อไวรัสวาริเซลลา ซอสเตอร์ ไวรัส (Varicella zoster virus หรือ เรียกย่อว่า VZV/ วีซีวี) หรือ ฮิวแมนเฮอร์ปี่ไวรัส ชนิดที่ 3 (Human herpes virus type 3) ติดต่อโดยการหายใจ ไอ จามรดกัน หอมแก้ม หรือการสัมผัสถูกตุ่มแผลสุกใส สัมผัสถูกของใช้ ที่เปื้อนตุ่มแผลของผู้ป่วย และการหายใจเอาละอองของตุ่มน้ำเข้าไป

อาการ: เริ่มจากมีไข้ต่ำ รู้สึกครั่นเนื้อครั่นตัว เหนื่อยง่าย เฉื่อยชา ปวดศีรษะ เจ็บคอ ความอยากอาหารลดลงหรือไม่อยากอาหารในช่วง 1-2 วันแรกของการติดเชื้อ จากนั้นจะเกิดผื่นเป็นจุดแดงๆตามร่างกาย ทั้งใบหน้า หน้าอก หลัง ปาก เปลือกตา อวัยวะเพศ ผื่นแดงเหล่านี้จะเริ่มกลายเป็นตุ่มพองขนาดเล็ก มีน้ำใสๆภายในตุ่มในอีก 2-4 วัน ก่อนจะเกิดการตกสะเก็ดในสัปดาห์ต่อมา ซึ่งมักจะมีอาการคันบริเวณที่เกิดผื่นหรือตุ่มพองอยู่บ่อยครั้ง

หากไม่อยากให้ลูกน้อยต้องเป็นโรคดังที่กล่าวมานี้ ก่อนจะสัมผัสเด็กเล็ก ทุกคนในครอบครัวล้างมือด้วยสบู่ฆ่าเชื้อและเช็ดทำความสะอาดให้แห้ง และต้องระวังอย่าให้คนแปลกหน้า กอด หอม หรือจับบริเวณใบหน้าของลูก

 

อ่านบทความสำหรับแม่และเด็กอื่นๆที่น่าสนใจได้ที่นี่ >> story.motherhood.co.th

มองหาสินค้าสำหรับแม่และเด็กในราคาสุดพิเศษได้เลยที่ >> Motherhood.co.th

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0