โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไอที ธุรกิจ

พิเชษฐ์ อินทรพานิช คนหนองบัวลำภู ปลดหนี้จากอ้อยกว่า 10 ล้าน ด้วยศาสตร์พระราชา

เทคโนโลยีชาวบ้าน

อัพเดต 10 ต.ค. 2562 เวลา 02.53 น. • เผยแพร่ 10 ต.ค. 2562 เวลา 02.53 น.
10 ปลดหนี้อ้อย

จังหวัดหนองบัวลำภู เป็นจังหวัดหนึ่งที่มีการปลูกอ้อยมาก (ปีละประมาณ 6 แสนไร่เศษ) เช่นเดียวกับหลายจังหวัดในภาคอีสาน เป็นพืชที่ให้ผลผลิตปีละครั้ง ต้นทุนการผลิตสูง บางปีราคาดี แต่บ่อยครั้งราคาตก อย่างเช่นในฤดูการล่าสุด ราคาตันละประมาณ 400 บาท บางรายขายแบบเหมาสวนไร่ละ 3,500-4,000 บาท ซึ่งขาดทุน แต่ก็ยอมขาย เพราะหากจ้างเขาตัดก็จะขาดทุนมากยิ่งขึ้น ทำให้เกษตรกรหลายรายขาดทุน ที่กล่าวมาไม่ขาดทุนเฉพาะปีล่าสุดเท่านั้น แต่มีหลายคนที่ประสบปัญหาขาดทุนสะสมมาต่อเนื่องหลายปี แทบล้มละลาย เป็นหนี้สินนับสิบยี่สิบล้านบาท

ท่านที่เคารพครับ !!! ฉบับนี้ จึงขอหยิบยกกรณีตัวอย่างของเกษตรกรท่านหนึ่งที่เป็นหนี้สินจากการปลูกอ้อยราว 20 ล้าน แต่ด้วยการนำศาสตร์พระราชามาปรับใช้ในการประกอบอาชีพทางการเกษตร ทำให้เวลานี้ปลดหนี้ได้เกือบหมด นั่นคือ คุณพิเชษฐ์ อินทรพานิช อายุ 46 ปี อยู่หมู่ที่ 10 บ้านห้วยเดื่อ ตำบลโนนทัน อำเภอเมืองหนองบัวลำภู จังหวัดหนองบัวลำภู โทร. (092) 334-3034

คุณพิเชษฐ์ ให้ข้อมูลว่า จบการศึกษาด้านการเกษตรระดับ ปวส. จากวิทยาเขตเกษตรกาฬสินธุ์ ปี 2536 แล้วเรียนต่อระดับปริญญาตรีมหาวิทยาลัยเอกชน

หลังจบการศึกษา ไปทำงานเป็นลูกจ้างชั่วคราวที่สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดอุบลราชธานี ปี 2538-2540 ในปี 2540 มาทำงานใกล้บ้าน เป็นเจ้าหน้าที่ผสมเทียม (ลูกจ้างชั่วคราว) ที่สำนักงานปศุสัตว์อำเภอนาวัง จากนั้นปี 2542 ไปทำหน้าที่ที่สำนักงานปศุสัตว์อำเภอศรีบุญเรือง เป็นเวลา 2 ปี แล้วลาออกไปทำงานที่สหกรณ์โคนมนาวัง

ปี 2545 ไปเปิดร้านขายปุ๋ยเคมีและเคมีภัณฑ์การเกษตรที่อำเภอผาขาว จังหวัดเลย ระหว่างนั้นได้ทำไร่อ้อยควบคู่กันไปด้วยเป็นเวลา 5 ปี ปลูกอ้อย (เช่าที่) ปีละประมาณ 400 ไร่ และซื้ออ้อยเขียวอีกปีละ 1,000 ไร่ ปรากฏว่าขาดทุนสะสมประมาณ 20 ล้านบาท

จากการประสบปัญหาขาดทุนดังกล่าว ทำให้เครียด จิตฟุ้งซ่านไม่มีสมาธิทำอะไร ต่อมาจึงตั้งสติ ค่อยๆ คิดหาทางแก้ปัญหา เริ่มจาก ขายที่ดินบางส่วนใช้หนี้ ราว 5 ล้านบาท ควบคู่กับปรับปรุงกิจกรรมการเกษตรที่ทำอยู่ บนที่ดิน 6 ไร่ เดิมปลูกลำไย กว่า 200 ต้น ซึ่งได้ผลผลิตปีละครั้ง ได้ทำการตัดโค่นบางส่วนคงเหลือไว้ทำแปลงขยายพันธุ์ จากนั้นทำการเกษตรหลายอย่าง ได้แก่ ปลูกฝรั่งไร้เมล็ด (พันธุ์กิมจู) ปีแรกปลูก 100 ต้น ต่อมาขยายพันธุ์ปลูกเพิ่มอีก 100 ต้น รวมเป็น 200 ต้น ส้มโอทับทิมสยาม ขนุน ผักปลอดสารพิษ ผักหวานป่า เลี้ยงสุกรแม่พันธุ์ด้วย นอกจากนี้ ยังมีการเลี้ยงปลาในบ่อ 5 บ่อ เช่น ปลาสลิด ปลาสวาย ปลาดุก ตะเพียน มีการเพาะพันธุ์กบขายด้วย โดยมีพ่อแม่พันธุ์ 50 คู่ พร้อมเจาะบ่อบาดาลนำน้ำมาใช้ในการเกษตรด้วย

คุณพิเชษฐ์ บอกอีกว่า กิจกรรมที่ทำรายได้อันดับหนึ่งคือ ฝรั่ง ถึงจะปลูกไม่มากนักแต่สามารถทำรายได้แทบทุวัน โดยจะเก็บผลผลิตวันเว้นวัน ขายปลีก กิโลกรัมละ 35 บาท หรือ 3 กิโลกรัม ต่อ 100 บาท รายได้เฉลี่ยเดือนละประมาณ 22,000 บาท หรือปีละร่วม 3 แสนบาท

เทคนิคการปลูก โดยใช้ระยะปลุก 2×2 เมตร เน้นระบบชิด ดูแลและกระตุ้นให้ออกดอกติดผลด้วยการตัดแต่งกิ่ง และขยายพันธุ์ (ตอน) จำหน่ายควบคู่กันไปด้วย มีการให้น้ำให้ชุ่มอยู่เสมอ เมื่อติดผลขนาดเท่าผลมะนาวต้องห่อผลด้วยถุงพลาสติกแล้วห่อด้วยกระดาษอีกชั้นหนึ่งจะทำให้กันแมลงและผิวสวย ผลผลิตที่ได้จะหวาน กรอบ อร่อย ปลอดสารพิษ 100 เปอร์เซ็นต์

การผลิตพืชภายในสวนแห่งนี้ทุกชนิดจะผลิตแบบอินทรีย์ทั้งหมดคือไม่ใช้ปุ๋ยเคมี (ผลิตปุ๋ยอินทรีย์ใช้เอง ได้แก่ น้ำหมักชีวภาพ และปุ๋ยอินทรีย์แห้ง โดยมีส่วนผสม ได้แก่ ขี้ไก่ไข่ ขี้วัว ขี้หมู กากหม้อกรองอ้อยจากโรงงานน้ำตาล และน้ำหมักชีวภาพ นำส่วนผสมคลุกเคล้าให้เข้ากัน หมักไว้ประมาณ 1 เดือน เมื่อเย็นแล้วนำมาใส่ต้นพืช) และไม่ใช้สารเคมีควบคุมแมลงศัตรูพืชทุกชนิด โดยผลิตขยายเชื้อราไตรโคเดอร์ม่าควบคุมโรคที่เกิดจากเชื้อรา ผลิตเชื้อเมตตาไรเซี่ยมกำจัดแมลง โดยได้รับความรู้จากสำนักงานเกษตรจังหวัดหนองบัวลำภู สำนักงานเกษตรอำเภอเมืองหนองบัวลำภูและสถานีพัฒนาที่ดินให้การสนับสนุนสระน้ำในไร่นา การผลิตน้ำหมักชีวภาพด้วย

นอกจากนี้ ยังมีรายได้จากการผลิตกิ่งพันธุ์ไม้ผล เช่น ฝรั่ง ลำไย ขนุน ปลาหลากหลายชนิด สุกรแม่พันธุ์ (ขายลูก) มีเขียงหมูเป็นของตนเอง และที่กำลังทดลองเลี้ยงคือหนูพุก 4 บ่อ และปูนา

คุณพิเชษฐ์ บอกว่า ข้อดีของการทำการเกษตรแบบผสมผสานคือทำให้มีรายได้ทุกวัน โดยมีแผงขายสินค้าเป็นของตนเองที่ตลาดลานค้าชุมชนห้วยเดื่อ (อยู่ใกล้บ้าน) อยู่ติดถนนหนองบัวลำภู-อุดรธานี สำหรับลานค้าชุมชนห้วยเดื่อเป็นตลาดใหญ่ ประมาณ 300 แผง มีสินค้าหลากหลาย ทั้งผัก ผลไม้ ของป่า ผู้คนแวะมาซื้อสินค้าวันละนับ 1,000 คน ถ้าวันหยุดหรือเทศกาลก็หลาย 1,000 คน ตนเองทำหน้าที่เป็นเลขานุการของผู้ค้าในตลาด โดยตนเองนำสินค้าเข้าตลาดประมาณ 10 โมงถึงบ่ายเล็กน้อย เมื่อสินค้าหมดก็กลับ ไปทำกิจกรรมภายในฟาร์ม ทำให้มีสินค้าอะไรก็ขายได้หมด

โดยเฉลี่ยจะมีรายได้รวมปีละประมาณ 5 แสนบาท ส่วนเขียงหมู มีกำไรวันละประมาณ 1,000 กว่าบาท จากการนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงและศาสตร์พระราชามาปรับใช้ ทำให้ทยอยใช้หนี้ได้เกือบหมด ขณะนี้เหลืออยู่ราว 2 ล้านบาท ทยอยส่งรายเดือน คาดว่าจะใช้หนี้หมดในเวลาไม่นาน จากอดีตที่เคยดื่มเหล้าหนัก เครียด แต่ปัจจุบันนี้เลิกเหล้า ประกอบกับขายสินค้าทำให้ได้พูดคุยกับผู้คน ทำให้ชีวิตเริ่มดีขึ้น

ข้อคิด “อย่าทำใหญ่โตเกินกำลังตนเอง ให้เริ่มจากน้อยไปหามาก ค่อยๆ ศึกษาเรียนรู้”

ท่านที่เคารพครับ !!! จะเห็นว่าการทำการเกษตรเชิงเดี่ยวนั้นมีความเสี่ยงสูง ทั้งด้านภัยธรรมชาติและเสี่ยงด้านการตลาดและราคา ดังนั้น จึงควรทำการเกษตรหลายอย่างที่เรียกว่าไร่นาสวนผสมหรือทำกิจกรรมหลายอย่างแล้วมีผลพลอยได้มาใช้เกื้อกูลภายฟาร์มช่วยลดต้นทุน ที่เรียกว่า เกษตรผสมผสาน จะทำให้มีรายได้ดียิ่งขึ้น ควบคู่กับน้อมนำศาสตร์พระราชามาปรับใช้ หากท่านใดอยากจะแลกเปลี่ยนประสบการณ์หรือซื้อสินค้าเกษตรอินทรีย์ กับคุณพิเชษฐ์ ติดต่อได้ที่ โทร. (092) 334-3034

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0