โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

พิพิธภัณฑ์ธรรมศาสตร์ฯ ชวนผู้สูงอายุย้อนความหลัง กับข้าวของในพิพิธภัณฑ์

The Momentum

อัพเดต 20 พ.ย. 2561 เวลา 10.44 น. • เผยแพร่ 20 พ.ย. 2561 เวลา 10.44 น. • Museum Minds

In focus

  • พิพิธภัณฑ์ธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ เป็นพิพิธภัณฑ์ด้านมานุษยวิทยา คอลเลคชั่นของที่นี่มีไว้เพื่อการศึกษาทำความเข้าใจมนุษย์ ผ่านสิ่งของที่เกี่ยวพันกับวิถีชีวิตของคนทั่วไป ทั้งในเชิงวัฒนธรรมและความเชื่อ
  • ทางโครงการได้เชิญกลุ่มชมรมผู้สูงอายุชุมชนอยู่เจริญ ซึ่งมีอายุประมาณ 60 ปี มาทำกิจกรรมผ่านกระบวนการหลักๆ 3 ประการ คือการรำลึกถึงเรื่องราวในอดีต การเรียนรู้สิ่งใหม่ และการสื่อสารแลกเปลี่ยนกับผู้อื่น
  • มีการนำของในคอลเลคชั่นของพิพิธภัณฑ์ มาให้ผู้สูงอายุลองหยิบจับและเล่าเรื่องเกี่ยวกับมัน คุณป้าท่านหนึ่งเลือกชุดสูบฝิ่นซึ่งเคยเป็นกิจการที่บ้านสมัยที่ยังถูกกฎหมาย พร้อมเล่าความรู้เกี่ยวกับฝิ่นในฐานะยาให้เพื่อนร่วมกิจกรรมได้ฟัง
  • อีกส่วนที่น่าสนใจคือการปั้นดิน เพื่อให้ผู้สูงอายุได้ลองฝึกใช้กล้ามเนื้อมือและแสดงออกทางความคิดสร้างสรรค์ เช่นมีผู้ปั้นกระทะทำขนมหวานที่เคยใช้ หรือควายที่เคยจูงตอนเด็กๆ

ก่อนหน้านี้ ข่าวว่าด้วยแพทย์ในเมืองมอนทรีออล ประเทศแคนาดาสามารถจ่ายยาเป็นการไปมิวเซียม ได้สร้างกระแสความสนใจ ต่อบทบาทของพิพิธภัณฑ์ในการสนับสนุนสุขภาพกายและจิตที่ดี ดังนั้นในโอกาสนี้นอกจากโมเดลการใช้พิพิธภัณฑ์เพื่อช่วยเหลือผู้สูงอายุที่มีอาการสมองเสื่อม (dementia) ของพิพิธภัณฑ์แห่งชาติลิเวอร์พูลที่เคยเล่าไปในครั้งก่อนแล้ว เราจะขอนำเสนอกรณีศึกษาในบ้านเราบ้าง

พิพิธภัณฑ์ในประเทศไทยกับสุขภาวะ

แม้ประเทศไทยจะยังไม่มีโปรแกรมเชิงจ่ายยาโดยการให้ไปพิพิธภัณฑ์ แต่มีโครงการนำร่องที่ใช้พิพิธภัณฑ์เป็นสื่อในการสร้างสุขภาวะอยู่บ้างเหมือนกัน เช่นพิพิธภัณฑ์ธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ กับโครงการ “การใช้วัตถุของพิพิธภัณฑ์เป็นสื่อในการเสริมสร้างสุขภาวะสำหรับกลุ่มผู้สูงอายุ”

นี่เป็นโครงการที่ทีมงาน Museum Minds ของเราเป็นผู้ดำเนินการวิจัย และได้รับคัดเลือกให้นำเสนอในงานประชุมทางวิชาการ ASEAN Museum Forum 2018 ในวันที่ 1 สิงหาคม 2561 ที่ผ่านมา โดยโครงการนี้ชี้ให้เห็นความเป็นไปได้ที่พิพิธภัณฑ์ในประเทศไทยจะสนับสนุนสุขภาวะของผู้สูงอายุ ผ่านกระบวนการหลักๆ 3 ประการ คือการรำลึกถึงเรื่องราวในอดีต การเรียนรู้สิ่งใหม่ และการสื่อสารแลกเปลี่ยนกับผู้อื่น

*ดีต่อกายและใจ *

อย่างที่เรื่องราวนอสตัลเจียทำให้หลายคนมีความสุข เช่นเดียวกัน การรำลึกเรื่องราวในอดีต (reminiscence) ช่วยทำให้ผู้สูงอายุรู้สึกมีชีวิตชีวา จากการเห็นหรือได้สัมผัสสิ่งของที่คุ้นเคยในอดีต เสมือนได้กลับไปอยู่ในช่วงเวลานั้นอีกครั้ง และบางครั้ง สิ่งนี้ยังช่วยให้เราสร้างความหมายให้กับชีวิต หรือสภาพแวดล้อมที่กำลังเผชิญอยู่ด้วย (meaning-making)

ขณะที่การเรียนรู้สิ่งใหม่ สร้างความรู้สึกมีคุณค่าในตนเอง เพราะถึงแม้จะสูงอายุ แต่ก็ใช่ว่าจะไม่ต้องการเรียนรู้อะไรใหม่ๆ แล้ว การเรียนรู้อาจจะเป็นได้ทั้งการได้รู้หรือเข้าใจในเรื่องที่ไม่รู้มาก่อน ซึ่งสร้างความรู้สึกตื่นเต้น และประหลาดใจ หรืออาจเป็นการได้เรียนรู้ทักษะใหม่ๆ เช่น การร้องเพลง วาดรูป หรือการฝึกคิดวิเคราะห์ ซึ่งสร้าง sense of control หรือความรู้สึกที่ว่า “ฉันควบคุมได้ ฉันทำได้” เป็นการสร้างความมั่นใจในตัวเอง และเป็นความรู้สึกที่จำเป็นต่อการมีสุขภาวะที่ดีของผู้สูงอายุ

ส่วนการสื่อสาร พูดคุย แลกเปลี่ยนความคิดเห็น สิ่งเหล่านี้สร้างประสบการณ์ทางสังคมที่มีความหมาย ทั้งยังสร้างการเชื่อมโยงกับผู้คน ซึ่งล้วนแล้วแต่นำไปสู่สุขภาพในเชิงบวกทั้งสิ้น

การมุ่งเป้าไปที่ผู้สูงอายุเป็นหลัก นั่นเพราะเรากำลังมุ่งหน้าเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ และในประเทศไทยมีผู้สูงอายุจำนวนมากที่ไม่ได้ทำงานแล้ว ทำให้การปฏิสัมพันธ์กับคนรอบข้างน้อยลง อยู่ตัวคนเดียวมากขึ้น บ้างก็อยู่ลำพัง บ้างก็อยู่กับลูกหลานที่อยู่ในวัยออกไปทำงาน ไปโรงเรียน ซึ่งไลฟสไตล์เช่นนี้สุ่มเสี่ยงต่อการเกิดสภาวะโดดเดี่ยวทางสังคมหรือความเหงา มากกว่าคนวัยหนุ่มสาว ปัจจัยเหล่านี้เป็นตัวการสำคัญที่ส่งผลลบต่อสุขภาพ ทั้งยังเพิ่มอัตราการเสียชีวิตของผู้สูงอายุอีกด้วย

เมื่อได้ประเด็นตั้งต้นแล้ว เราจึงปรึกษากับนักศิลปะบำบัดเพื่อออกแบบกิจกรรม โดยที่งานนี้เราได้คุณปรัชญพร วรนันท์ นักศิลปะบำบัดด้วยศิลปะแบบบูรณาการ (Integrative Arts Therapy Practitioner) มาช่วยออกแบบและเป็นกระบวนการให้ เพื่อให้กิจกรรมที่เลือกมาเอื้อต่อการเกิดกระบวนการทั้ง 3 ที่กล่าวมาข้างต้น โดยมีพิพิธภัณฑ์ธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติเป็นสื่อกลางนั่นเอง

พิพิธภัณฑ์ฟื้นความทรงจำให้ผู้คน

พิพิธภัณฑ์ธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ เป็นพิพิธภัณฑ์ด้านมานุษยวิทยา หมายความว่า คอลเลคชั่นของที่นี่มีไว้เพื่อการศึกษาทำความเข้าใจมนุษย์ ผ่านสิ่งของที่เกี่ยวพันกับวิถีชีวิตของคนทั่วไป ไม่ใช่เรื่องไกลตัวที่ไหนเช่น กระต่ายขูดมะพร้าว เครื่องเล่นแผ่นเสียง ชุดเชี่ยนหมาก กระดานชนวน กระทั่งของที่สะท้อนความเชื่อมาแต่โบราณ เช่น ลักยม ตุ๊กตาเสียกบาล เป็นต้น แน่นอนว่าของเหล่านี้ถือเป็นตัวกระตุ้นความทรงจำอย่างดีสำหรับผู้สูงอายุ

ในโครงการนี้เราได้เชิญกลุ่มชมรมผู้สูงอายุชุมชนอยู่เจริญ ซึ่งมีอายุประมาณ 60 ปี (อายุเฉลี่ยอยู่ที่ 63) เกือบทุกท่านเกษียณแล้ว บ้างก็อยู่บ้านเป็นหลัก บ้างก็มีงานอดิเรกเป็นการออกกำลังกายหรืออาสาดูแลผู้ป่วย โดยกิจกรรมในโครงการถูกแบ่งเป็น 4 ช่วง ได้แก่

กิจกรรมที่ 1 — Icebreaking เป็นการอุ่นเครื่องและสลายความเกร็ง ให้ทุกคนได้เริ่มพูดคุยกัน แชร์ประสบการณ์ของตัวเอง โดยเราเตรียมภาพถ่าย โปสการ์ด แผ่นพับ ฯลฯ ที่มีรูปหลากหลายแนว บ้างก็มีตัวหนังสือประกอบ เป็นจำนวนมากมากองบนโต๊ะ ให้ทุกคนเลือกภาพที่ชอบแล้วบอกว่าทำไมถึงชอบภาพนั้นๆ คนส่วนมากเลือกภาพที่ทำให้นึกถึงอดีต แล้วแชร์เรื่องราวความทรงจำ ประสบการณ์ หรือความประทับใจของตน พร้อมทั้งทำบทบาทเป็นผู้ฟังเรื่องราวของผู้ร่วมวงด้วย กิจกรรมง่ายๆ นี้ทำให้เกิดพื้นที่ safe space ที่ทุกคนไว้ใจกันและรู้สึกปลอดภัยที่จะเปิดใจพูดคุยเรื่องราวของตัวเอง ลดความกังวลว่าจะถูกตัดสิน หรือพูดไปแล้วไม่มีใครใส่ใจฟัง

กิจกรรมที่ 2 — Object Handling เรานำของในคอลเลคชั่นของพิพิธภัณฑ์ธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติมาราว 20 กว่าชิ้น ให้แต่ละคนเลือกสิ่งของที่ทำให้นึกถึงวัยเด็ก ของที่ชอบ หรือที่สนใจเป็นพิเศษ แล้วนำมาพูดคุยกัน เช่น เล่าว่าตัวเองเคยเห็น หรือเคยใช้ของสิ่งนั้นอย่างไร เป็นต้น

คนส่วนมากเลือกของที่เคยเห็น หรือเคยใช้สมัยเป็นเด็ก มีคุณป้าท่านหนึ่งเลือกชุดสูบฝิ่น ซึ่งเดิมเราคาดว่าน่าจะเป็นของที่เกี่ยวข้องกับผู้ชายมากกว่า แต่คุณป้าเล่าว่าตอนเด็กๆ คุณพ่อเป็นเจ้าของโรงสูบฝิ่น เป็นสมัยที่ฝิ่นยังเป็นของถูกกฎหมาย โรงสูบฝิ่นเป็นที่ที่ชาวบ้านมาสูบเพื่อคลายเครียด ให้หายเหนื่อย สูบเพียงครั้งละบาท คุณป้าเล่าว่าฝิ่นสมัยก่อนเป็นยา หากปวดหัวตัวร้อนไม่สบาย เพียงเอาฝิ่นมาปั้นเป็นก้อนเล็กๆ แล้วทานก็จะหาย!

ชุดสูบฝิ่นนี้ทำหน้าที่กระตุ้นความทรงจำวัยเด็กได้เป็นอย่างดี ที่สำคัญคุณป้าไม่เคยเล่าเรื่องนี้ให้เพื่อนในชมรมผู้สูงอายุฟังมาก่อน แต่เมื่อมีของที่เชื่อมโยง แล้วมีพื้นที่ที่ปลอดภัยให้แชร์เรื่องราว การพูดคุยแลกเปลี่ยนจึงเกิดขึ้น ในขณะที่ผู้สูงอายุอีกท่านหนึ่งเลือกสร้อยลูกปัดแก้วสมัยบ้านเชียงเพราะสนใจ และอยากรู้ว่ามันคืออะไร ตรงนี้ก็ได้เจ้าหน้าที่พิพิธภัณฑ์ช่วยให้ความรู้ ทำให้กิจกรรมนี้ได้ทั้งการรำลึกเรื่องราวในอดีต ได้เรียนรู้สิ่งใหม่ และเกิดการสื่อสารแลกเปลี่ยนอย่างครบถ้วน 3 กระบวนการด้วยการใช้คอลเลคชั่นของพิพิธภัณฑ์

กิจกรรม 3 คือการชมพิพิธภัณฑ์ เพราะไหนๆ ก็มาเยือนพิพิธภัณฑ์ถึงที่แล้ว จะไม่เดินชมห้องจัดแสดงต่างๆ สักหน่อยก็คงจะเสียเที่ยว แต่ที่น่าสนใจคือ วันนั้นเจ้าหน้าที่แทบจะไม่ต้องนำชมเลย เพราะผู้สูงอายุรู้จักของในพิพิธภัณฑ์ธรรมศาสตร์แทบจะทุกชนิด เรียกได้ว่าแทบจะนำชมกันเอง แถมบางอย่างก็รู้ลึกกว่าเจ้าหน้าที่เสียอีกเพราะเป็นของที่พวกเขาเคยหยิบใช้มากับมือ การเดินชมข้าวของเหล่านี้จึงเหมือนกับการได้พบเจอเพื่อนเก่าที่คุ้นเคยในวัยเด็ก วัยหนุ่มสาว อีกครั้ง เจ้าหน้าที่ถึงกับบอกเราว่านี่เป็นผู้เข้าชมที่กระตือรือร้น และตื่นเต้นกับคอลเลคชั่นที่นี่มากที่สุดเท่าที่เคยเจอมา

กิจกรรม 4 – ปั้นดิน ก่อนจบกิจกรรมในวันนั้น เราให้ผู้สูงอายุได้ฝึกใช้กล้ามเนื้อมือ และแสดงออกทางความคิดสร้างสรรค์ โดยโจทย์ที่ให้ปั้นคือ ของที่มีความหมายกับตัวเอง จะโยงเข้ากับสิ่งที่พบเจอที่พิพิธภัณฑ์ด้วยก็ได้ คนส่วนมากปั้นสิ่งที่ตนชอบหรือผูกพันด้วยในอดีต เช่น กระทะสำหรับทำขนมหวานแบบที่ตนเคยใช้ ควายไถนาที่ตอนเด็กๆ เคยต้องจูง ฯลฯ บางคนไม่ถนัดการปั้น ก็เน้นพูดคุยแลกเปลี่ยนกับคนอื่นเป็นหลัก

*ที่มากกว่ามารู้จักพิพิธภัณฑ์ คือมารู้จักกันและกัน *

กิจกรรมที่ได้กล่าวไปก่อให้เกิดกระบวนการ 3 ประการที่เราตั้งใจไว้ คือ การรำลึกถึงเรื่องราวในอดีต การเรียนรู้สิ่งใหม่ และการสื่อสารแลกเปลี่ยนกับผู้อื่น ซึ่งพอจบวันแล้ว เราพบว่าผู้สูงอายุพูดคุยกันอย่างสนุกสนาน ดูมีชีวิตชีวา และสนิทสนมกันมากขึ้น มีคอมเมนต์ที่บ่งชี้ถึงการบวนการทั้ง 3 เช่น  “ชอบที่ได้มาเห็นของโบราณ”, “ดีใจที่ได้มาแชร์กับคนรุ่นที่ทันกัน”, “ได้ฝึกสมองดี เหมาะกับคนแก่” , “ชอบที่ได้มาเรียนรู้สิ่งใหม่ที่พิพิธภัณฑ์ จากที่ปกติไปเที่ยว หรือไหว้พระอย่างเดียว อยากให้ผู้สูงอายุได้มาแบบนี้อีก”

แต่ที่น่าประทับใจที่สุดคือ ทุกคนรู้สึกสนิทสนมกันมากขึ้น และได้คุยเรื่องที่ปกติไม่ได้นำมาแชร์ แม้จะอยู่ในชมรมผู้สูงอายุด้วยกันก็ตาม คุณป้าท่านหนึ่งบอกกับเราว่าจริงๆ แล้วทุกคนไม่ได้สนิทกันขนาดนั้น เจอกันตามงานบุญ งานกิจกรรมต่างๆ ก็สวัสดีทักทาย เท่านั้นเอง แต่กิจกรรมวันนั้นทำให้รู้สึกว่าความสนิทเพิ่มขึ้นถึง 70-80% เลยทีเดียว! “มันเชื่อมสัมพันธ์ได้ดีมาก ทั้งที่ใช้เวลาแค่ไม่กี่ชั่วโมง”

โครงการนำร่องนี้ได้ทำให้เห็นว่าวัตถุของพิพิธภัณฑ์ สามารถใช้เป็นสื่อในการสร้างเสริมสุขภาวะสำหรับผู้สูงอายุได้ โดยช่วยสร้างประสบการณ์ในทางบวก นอกจากนี้ การได้ใกล้ชิดกับของ ได้หยิบจับ และมาพูดคุยสนทนากัน ยังทำให้การไปพิพิธภัณฑ์น่าสนใจมากขึ้น ซึ่งกระบวนการเหล่านี้สามารถนำไปใช้ได้กับพิพิธภัณฑ์อื่นที่มี handling collection ที่ให้สัมผัสได้ และหากสร้างความร่วมมือระหว่างพิพิธภัณฑ์กับเครือข่ายกลุ่มผู้สูงอายุได้ ก็จะทำให้เกิดโครงการในแบบที่ยั่งยืนได้อีกด้วย

สุดท้าย แม้ว่าโครงการนี้จะจัดทำกับกลุ่มตัวอย่างที่เล็ก และใช้คอลเล็คชั่นที่ค่อนข้างเฉพาะทาง ดังนั้นจึงอาจไม่สามารถใช้ผลลัพธ์เป็นตัวแทนภาพรวมในระดับประเทศ ในทุกๆ กรณีได้  แต่เราหวังว่าโครงการนี้จะเปิดแนวทางและมุมมองใหม่ๆ ทั้งในเรื่องบทบาทของพิพิธภัณฑ์ต่อการซัพพอร์ตสุขภาวะในเมืองไทย และเรื่องทัศนคติต่อผู้สูงอายุด้วย ในระดับที่ใกล้ตัวที่สุด เราอาจไม่ต้องพาผู้สูงอายุในครอบครัวเราไปไหว้พระถึง 9 วัดก็ได้ บางทีแค่ให้เขาได้พูดคุยเรื่องเก่าๆ แล้วมีคนฟังก็มีความสุขแล้ว

อ้างอิง

บุณฑริก เขมาชีวะ. (2561).  การใช้วัตถุของพิพิธภัณฑ์เป็นสื่อในการเสริมสร้างสุขภาวะสำหรับกลุ่มผู้สูงอายุ : โครงการนำร่อง ณ พิพิธภัณฑ์ธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ. การประชุมวิชาการด้านพิพิธภัณฑ์ ASEAN Museum Forum 2018 ณ ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน). 1-2 สิงหาคม 2561

https://www.weforum.org/agenda/2018/10/doctors-in-montreal-will-start-prescribing-visits-to-the-art-museum

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0