โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

พิธีประดิษฐานรูปปั้น เจ้าพระยาโกษาธิบดี (ปาน) ณ เมืองแบรสต์ ประเทศฝรั่งเศส

สวพ.FM91

อัพเดต 16 ก.พ. 2563 เวลา 16.00 น. • เผยแพร่ 16 ก.พ. 2563 เวลา 16.00 น.
พิธีประดิษฐานรูปปั้น เจ้าพระยาโกษาธิบดี (ปาน) ณ เมืองแบรสต์ ประเทศฝรั่งเศส

 วันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2563 เพจเฟสบุ๊ก "Royal Thai Embassy - Paris, France - สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงปารีส"  ได้โพสต์เรื่องราว  :
 เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2563 เอกอัครราชทูต ณ กรุงปารีส นายศรัณย์ เจริญสุวรรณและภริยา พร้อมด้วยหัวหน้าสำนักงานทีมประเทศไทยประจำกรุงปารีสและสำนักงานที่มีเขตอาณาครอบคลุมประเทศฝรั่งเศส และข้าราชการสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงปารีส ได้เดินทางไปยังเมืองแบรสต์  (Brest) ซึ่งเป็นเมืองท่าตั้งอยู่ทางตะวันตกของฝรั่งเศส เพื่อเตรียมการและเข้าร่วมพิธีประดิษฐานรูปปั้น เจ้าพระยาโกษาธิบดี (ปาน) ที่เมืองแบรสต์ 
โดยรูปปั้นเจ้าพระยาโกษาปานเป็นโครงการริเริ่มโดยสมาคมครูสอนภาษาฝรั่งเศสแห่งประเทศไทย (สคฝท.) เพื่อเฉลิมฉลองการครบรอบ 333 ปีราชทูตสยามเยือนฝรั่งเศส ซึ่งคณะราชทูตได้ขึ้นท่าที่เมืองแบรสต์ ก่อนเดินทางไปเข้าเฝ้าพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 เมื่อวันที่ 1 กันยายน 2229 และได้เดินทางกลับสยามเมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2230 โดยขึ้นเรือที่ท่าเรือเมือง Brest เช่นกัน
ปัจจุบัน นับได้ว่าเมืองแบรสต์ เป็นเมืองที่มีร่องรอยทางประวัติศาสตร์ที่แสดงถึงมิตรภาพของไทยและฝรั่งเศสเป็นจำนวนมากที่สุดในฝรั่งเศส นับแต่การตั้งชื่อถนนสายหลักของเมืองว่าถนนสยาม ตั้งชื่อสถานีรถ Tramway ว่าสยาม และมีหุ่นจำลองของคณะราชทูตที่พิพิธภัณฑ์ประจำเมือง (พิพิธภัณฑ์ Tour Tanguy) และยังมีรูปปั้นเจ้าพระยาโกษาปานตั้งอยู่ด้วย โดยเมืองแบรสต์ได้เสนอให้ประดิษฐานรูปปั้น ที่หัวมุมถนน Louis Pasteur ตัดกับถนน Ducouëdic ซึ่งเป็นจุดที่โกษาปานได้ขึ้นท่าที่เมืองแบรสต์เมื่อกว่า 300 ปีที่แล้ว และยังเป็นพื้นที่ที่มีผู้คนสัญจรผ่านจำนวนมากเนื่องจากเป็นที่ตั้งของสถานีรถกระเช้าไฟฟ้าเพื่อข้ามฝั่งไปยัง les ateliers des capucins ซึ่งเป็นพื้นที่สาธารณะจัดกิจกรรมต่างๆ ของชาวเมืองแบรสต์
กิจกรรมต่าง ๆของวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2563 ได้เริ่มขึ้นจากพิธีประดิษฐานรูปปั้นโกษาปานเวลา 11:00 น.โดยมีบุคคลสำคัญของฝรั่งเศสเข้าร่วมงานจำนวนมาก อาทิ นาย François Cuillandre นายกเทศมนตรีของเมืองแบรสต์ นาย Ivan Bouchier รองผู้ว่าการจังหวัด Finistère นาย Thierry Mathou อธิบดีกรมเอเชียและโอเชียเนีย กระทรวงยุโรปและการต่างประเทศฝรั่งเศส และยังมีประชาชนชาวไทยซึ่งเดินทางมาจากทั่วทุกหนแห่งในฝรั่งเศสและจากประเทศไทยเข้าร่วมงานด้วย เคียงข้างกับชาวเมืองแบรสต์อีกเป็นจำนวนมาก จากนั้นได้รำกลองยาวไปจนถึงที่ทำการเมืองแบรสต์เพื่อเข้าร่วมงานเลี้ยงรับรอง ซึ่งมีการแสดงวัฒนธรรมของไทยจากกระทรวงวัฒนธรรม กรมศิลปากร และมีการสาธิตการนวดไทยซึ่งได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกที่จับต้องไม่ได้โดยยูเนสโกเมื่อปีที่แล้วอีกด้วย
สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงปารีส ขอขอบคุณชาวไทยในฝรั่งเศสที่ได้เข้าร่วมงานในครั้งนี้และได้ช่วยสนับสนุนการจัดงาน ขอขอบพระคุณสมาคมครูสอนภาษาฝรั่งเศสแห่งประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งอาจารย์ธิดา บุญธรรม อุปนายกสมาคมฯ และเมืองแบรสต์ซึ่งได้ร่วมแรงกันจนงานสำเร็จได้ในวันนี้ รวมทั้งคณะกระทรวงวัฒนธรรม และทุกท่านที่ได้เดินทางมาจากประเทศไทย และได้เป็นสักขีพยานของช่วงเวลาที่สำคัญอีกช่วงหนึ่งของมิตรภาพไทย-ฝรั่งเศส โดยเชื่อมั่นว่ารูปปั้นโกษาปาน จะเป็นหลักฐานของมิตรภาพไทย-ฝรั่งเศสตลอดไป 
 ชมภาพเพิ่มเติม  https://www.facebook.com/ThaiEmbassyParis/posts/894344157651148
 [ ข้อมูลจาก วิกิพีเดีย ] ปาน เป็นบุตรของเจ้าแม่วัดดุสิต พระนมของสมเด็จพระนารายณ์ พระมหากษัตริย์อยุธยา  และเป็นน้องชายของเจ้าพระยาโกษาธิบดี (เหล็ก) ซึ่งดำรงตำแหน่งพระคลังระหว่าง พ.ศ. 2200–2226  
ปานได้บรรดาศักดิ์ ออกพระวิสุทธสุนทร และได้รับแต่งตั้งเป็นทูตออกไปเจริญสัมพันธไมตรีกับฝรั่งเศส ในสมัยดังกล่าว ฝรั่งเศสมีอิทธิพลในราชสำนักของพระนารายณ์มาก จุดประสงค์ของฝรั่งเศส คือ เผยแพร่คริสต์ศาสนา และพยายามให้พระนารายณ์เข้ารีตเป็นคริสตชน รวมทั้งพยายามมีอำนาจทางการเมืองในอยุธยาด้วยการเจรจาขอตั้งกำลังทหารของตนที่เมืองบางกอกและเมืองมะริด  
คณะทูตไปฝรั่งเศสดังกล่าว ประกอบด้วย ปาน เป็นราชทูต, ออกหลวงกัลยาราชไมตรี เป็นอุปทูต, และออกขุนศรีวิสารวาจา เป็นตรีทูต พร้อมทั้งบาทหลวงเดอ ลีออง และผู้ติดตาม รวมกว่า 40 คน ออกเดินทางจากกรุงศรีอยุธยาในวันที่ 18 มิถุนายน พ.ศ. 2229 ได้เข้าเฝ้าพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 เมื่อวันที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2229 ณ พระราชวังแวร์ซาย และเดินทางกลับเมื่อวันที่ 9 ตุลาคม พ.ศ. 2230 
ปานเป็นนักการทูตที่สุขุม ไม่พูดมาก ละเอียดลออในการจดบันทึกสิ่งที่พบเห็นในการเดินทาง[ต้องการอ้างอิง] ในการเข้าเฝ้าพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 คณะทูตอยุธยาได้รับการยกย่องชื่นชมจากชาวฝรั่งเศส เนื่องจากเป็นครั้งแรกที่พระเจ้าแผ่นดินฝ่ายตะวันออกแต่งทูตไปยังฝรั่งเศส พระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ทรงรับรองคณะทูตอย่างสมเกียรติยศ โปรดให้ทำเหรียญที่ระลึกและเขียนรูปเหตุการณ์เอาไว้[ต้องการอ้างอิง]
พระราชสาสน์พระเจ้าหลุยส์ที่ 14 กล่าวถึงปานว่า "ราชทูตของพระองค์นี้ รู้สึกว่า เป็นคนรอบคอบ รู้จักปฏิบัติราชกิจของพระองค์ถี่ถ้วนดีมาก หากเรามิฉวยโอกาสนี้เพื่อเผยแพร่ความชอบแห่งราชทูตของพระองค์บ้าง ก็จะเป็นการอยุติธรรมไป เพราะราชทูตได้ปฏิบัติล้วนถูกใจเราทุกอย่าง โดยแต่น้ำคำที่พูดออกมาทีไร แต่ละคำ ๆ ก็ดูน่าปลื้มใจ และน่าเชื่อถือทุกคำ
– พระราชสาสน์ของพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ถึงพระนารายณ์มหาราช ประมาณ พ.ศ. 2230 ความสำเร็จจากการทูตดังกล่าว ทำให้ปานได้ฉายาว่า ราชทูตลิ้นทอง หรือนักการทูตลิ้นทอง" 
เครดิต :  Royal Thai Embassy - Paris, France - สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงปารีส  

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0

ดูเพิ่มเติม สวพ.FM91