โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

พลาสติกที่ใช้ จะกลับมาทำร้ายเราได้อย่างไรบ้าง?

The MATTER

อัพเดต 21 ส.ค. 2562 เวลา 12.23 น. • เผยแพร่ 21 ส.ค. 2562 เวลา 12.14 น. • Quick Bite

เคยลองนับกันดูบ้างไหม ว่าในแต่ละวันเราใช้พลาสติกกันไปมากเท่าไหร่? เชื่อว่าหลายๆ คนคงใช้สินค้าหรือผลิตภัณฑ์ที่ทำจากพลาสติกกันจนชินไปแล้วในชีวิตประจำวัน แต่เมื่อใช้เสร็จจนทิ้งลงถังไปแล้ว มันเกิดอะไรขึ้นหลังจากนั้นบ้าง?

The MATTER ขอพาทุกคนไปดูอันตรายของพลาสติกในขั้นตอนต่างๆ ที่ถึงแม้จะพ้นมือเราไปเป็นขยะพลาสติกแล้ว ก็ยังสามารถส่งผลกระทบมาถึงเราได้อยู่ดี 

การผลิตพลาสติก

อันตรายจากพลาสติกจริงๆ แล้วเริ่มตั้งแต่กระบวนการผลิตเลยนะ ต้องมีการสกัดน้ำมันและก๊าซเพื่อผลิตพลาสติก อีกทั้ง 99 เปอร์เซ็นต์ของพลาสติกก็มาจากเชื้อเพลิงซากดึกดำบรรพ์ (fossil fuel) ทำให้มีสารเคมีอันตรายมากกว่า 170 ชนิด ลอยขึ้นสู่อากาศและไหลลงแหล่งน้ำ เป็นอันตรายต่อร่างกายของเราทั้งสิ้น ก่อให้เกิดทั้งอาการระคายเคืองผิวหนัง ปัญหาระบบประสาท ระบบทางเดินหายใจ ระบบภูมิคุ้มกันร่างกาย และโรคมะเร็ง

คนใช้สินค้าจากพลาสติกได้รับไมโครพลาสติกโดยไม่รู้ตัว

ผลการศึกษาจาก World Wide Fund for Nature แสดงให้เห็นว่าคนเราบริโภคไมโครพลาสติก (ชิ้นส่วนพลาสติกขนาดจิ๋วเล็กกว่า 5 มิลลิเมตรที่แตกออกมาจากพลาสติก) เฉลี่ยแล้ว 5 กรัมต่อสัปดาห์ ในชีวิตประจำวันโดยที่ไม่รู้ตัว จากการใช้สินค้าที่มีบรรจุภัณฑ์เป็นพลาสติก เท่ากับว่าในปีหนึ่งคนเราบริโภคไมโครพลาสติกไปกว่า 250 กรัมต่อปี และที่น่าตกใจก็คือจำนวนนี้มีส่วนมากที่มาจากการดื่มน้ำในขวดพลาสติก ซึ่งขวดน้ำพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้งมีปริมาณไมโครพลาสติกอยู่ที่ประมาณ 2 ถึง 44 ชิ้น

ผลกระทบต่อการได้รับไมโครพลาสติกเข้าไปในร่างกาย ยังไม่มีข้อมูลมากนักว่าต้องสะสมมากขนาดไหนถึงเป็นอันตราย แต่เมื่อรวมกับสารเคมีในพลาสติก (จะถูกปล่อยออกมาจำนวนมากเมื่อโดนความร้อน) สรุปได้ว่าอาจก่อให้เกิดโรคมะเร็ง ปัญหาในระบบพัฒนาการของร่างกาย และรบกวนการทำงานของระบบฮอร์โมนในร่างกาย

เมื่อเราทิ้งพลาสติกที่ใช้แล้ว ไม่ได้หมายความว่าเราจะพ้นจากมันเสมอไปนะ การเปลี่ยนสถานะมาเป็นขยะพลาสติกยังสามารถส่งผลกระทบกลับมาถึงเราได้อยู่ดี ดังนี้

1.การจัดการขยะในหลุมฝังกลบแบบผิดวิธี

การขนย้ายขยะพลาสติกไปยังหลุมฝังกลบ (landfill) เป็นหนึ่งในวิธีจัดการขยะพลาสติก โดยนำไปกองทับกันไว้ในหลุม จากนั้นก็รอให้มันย่อยสลายในดินตามธรรมชาติ แต่การทำแบบผิดวิธีคือการฝังกลบแบบเปิด ซึ่งพอฝนตก อนุภาคของน้ำฝนจำนวนหนึ่งก็อาจรวมเข้ากับสารพิษที่ออกมาจากขยะพลาสติกตามกาลเวลาในระหว่างย่อยสลาย กลายเป็นน้ำชะขยะ หรือที่เรียกว่า ‘leachate’ ซึมลงไปในดิน หรือกระจายไหลออกสู่สิ่งแวดล้อมและแหล่งน้ำตามธรรมชาติ อีกทั้งเศษพลาสติกยังมีโอกาสปลิวออกไปสร้างมลพิษตามธรรมชาติได้อีก

ในการที่จะทำให้ถูกต้องเพื่อความปลอดภัยและรัดกุม ควรจัดให้หลุมฝังกลบอยู่ในสถานที่ปลอดภัย เป็นบริเวณจำกัด นำดินหรือวัสดุอื่นๆ มากลบ และมีแนวทางป้องกันไม่ให้สารพิษรั่วไหลออกไปนอกหลุม 

2.การจัดการขยะพลาสติกโดยการเผาและแปรสภาพเป็นก๊าซ

ตลอดทุกขั้นตอนในการเผาและแปรสภาพให้เป็นก๊าซ จะมีการปล่อยก๊าซที่เป็นพิษและสารอินทรีย์ อย่างเช่น ไดออกซินกับฟิวแรนออกมา รวมถึงตะกั่วและปรอทด้วย สิ่งที่เป็นพิษเหล่านี้จะขึ้นไปบนอากาศ ลงดิน และไหลลงน้ำ เป็นอันตรายต่อผู้คนและธรรมชาติได้

3.ไมโครพลาสติกในสิ่งแวดล้อม

เมื่อขยะพลาสติกแตกออกเป็นไมโครพลาสติกตามกาลเวลา ก็จะถูกปล่อยออกไปสู่สิ่งแวดล้อม ขนาดของมันเล็กจนคนเราสามารถสูดหายใจ บริโภค หรือสัมผัสได้โดยไม่รู้ตัว อาจทำให้เกิดอาการอักเสบที่ผิวหนัง เป็นผลเสียต่อการสืบพันธุ์ เกิดความเครียดจากปฏิกิริยาออกซิเดชัน และเซลล์ตาย ซึ่งสามารถนำไปสู่โรคมะเร็ง โรคหัวใจ โรคเบาหวาน โรคหลอดเลือดสมอง และโรคเรื้อรังอื่นๆ 

4.ไมโครพลาสติกเข้าสู่ห่วงโซ่อาหาร

ในปีหนึ่งปริมาณพลาสติกและไมโครพลาสติกที่ไหลลงสู่ทะเลมีมากถึง 8 ล้านตัน เมื่อปลาหรือสัตว์ทะเลอื่นๆ กินเข้าไป ก็จะเท่ากับว่าพลาสติกเข้าไปอยู่ในห่วงโซ่อาหารตามธรรมชาติ ซึ่งท้ายที่สุดแล้วก็อาจจะมาจบในร่างกายของเราด้วยจากการที่เรากินมันเป็นอาหาร 

นอกจากนี้ วัตถุดิบจากทะเล อย่างเกลือทะเลที่นำไปประกอบอาหารก็มีส่วนผสมของไมโครพลาสติกอย่างน้อย 600 ชิ้น ต่อ 1 กิโลกรัม ซึ่งถ้าเรากินอาหารที่มีส่วนประกอบของเกลือทะเล 5 กรัมต่อวัน (ปริมาณที่มากที่สุดที่คนควรกินในแต่ละวัน) ก็จะเท่ากับว่าเรากินไมโครพลาสติก 3 ชิ้นต่อวัน

บนดินก็เช่นกัน เมื่อไมโครพลาสติกส่วนหนึ่งที่ปะปนอยู่กับของเสีย ถูกนำไปทำเป็นปุ๋ยชีวภาพ ก็กลายเป็นว่าไมโครพลาสติกเข้าไปอยู่ในดินด้วย ทำให้มีผลต่อคุณภาพของดิน และอาจเข้าสู่ห่วงโซ่อาหารบนบกได้ จนมาถึงอาหารที่เรากินกัน อีกทั้งยังมีโอกาสแทรกซึมเข้าไปยังแหล่งน้ำใต้ดิน และแหล่งน้ำใกล้เคียง เป็นภัยต่อสิ่งมีชีวิตที่ดื่มน้ำในแหล่งนั้น 

อ้างอิงข้อมูลจาก

https://www.ecowatch.com/plastics-toxic-chemicals-health-risks-2629698471.html

https://qz.com/1644802/you-eat-5-grams-of-plastic-per-week/

https://www.nationalgeographic.com/environment/2019/06/you-eat-thousands-of-bits-of-plastic-every-year/

https://grist.org/article/plastic-has-a-long-lifespan-its-probably-shortening-yours/

https://ed.ted.com/lessons/what-really-happens-to-the-plastic-you-throw-away-emma-bryce#review

https://www.unenvironment.org/news-and-stories/story/plastic-planet-how-tiny-plastic-particles-are-polluting-our-soil

https://www.independent.co.uk/life-style/food-and-drink/food-microplastics-eating-plastic-pollution-environment-a8395556.html

https://www.independent.co.uk/environment/microplastic-pollution-fertilisers-gardens-farmland-germany-plastic-waste-a8288776.html

https://medium.com/@robertwiblin/what-you-think-about-landfill-and-recycling-is-probably-totally-wrong-3a6cf57049ce

https://ourworldindata.org/faq-on-plastics

Illustration by Sutanya Phattanasitubon

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0