โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

พฤติกรรมไม่น่ารัก ในช่วงโควิด-19 กับทฤษฎีนิสัยใน 21 วัน

กรุงเทพธุรกิจ

เผยแพร่ 09 เม.ย. 2563 เวลา 06.37 น.

ถึงวันนี้ คงไม่มีใครเถียงว่า สถานการณ์โควิด-19 ได้สร้างความเปลี่ยนแปลงในหลากหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นเศรษฐกิจ สังคม การเมือง รวมไปถึงวิถีชีวิตของผู้คนที่ต้องเปลี่ยนไปจากเดิม

เมื่อความสัมพันธ์ทางกายภาพทำได้ยากขึ้น สังคมแบบดิจิทัลจึงแทนที่ได้อย่างเต็มรูปแบบ และยิ่งสถานการณ์โรคระบาดกินเวลานานเท่าใด ความเปลี่ยนแปลงที่ว่าก็ยิ่งรวดเร็วขึ้นตาม ไม่เว้นแม้แต่พฤติกรรมส่วนตัวของแต่ละคนที่ชีวิตก่อนและขณะเกิดสถานการณ์โควิด-19 เปลี่ยนแปลงไปอย่างสิ้นเชิง

นับตั้งแต่การกักตัวอยู่บ้าน และการทำงานแบบ Work From Home ถูกทำให้เป็นเรื่องจริงจัง ถึงเวลานี้ก็น่าจะเป็นเวลาปาไปกว่า 2-3 สัปดาห์ที่เราเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมใหม่ และถึงตรงนี้เราลองสำรวจดูว่ามีพฤติกรรมใดบ้างที่น่าจะสุ่มเสี่ยงต่อการเป็นพฤติกรรมยอดแย่ที่เรากำลังจะสร้างขึ้นในช่วงสถานการณ์โควิด-19

กักตุนสินค้าเกินพอดี

ประเทศไทยเป็นแหล่งอาหารที่สำคัญของโลก แต่ในช่วงสถานการณ์โรคระบาดเรากลับเห็นพฤติกรรมการกักตุนสินค้าอุปโภคบริโภคแบบเกินพอดี

แน่ว่า การกักตุนล้วนมาจากอาการตื่นตระหนก แต่อาการซื้อสินค้าไว้มากจนเกินไปจากการตื่นตระหนก (Panic buying) ทำให้การส่งซัพพลายสินค้าโดยเฉพาะอาหารได้รับผลกระทบ ทั้งเน่าเสียและจำนวนไม่เพียงพอส่งป้อนในตลาด เห็นได้จากอาหารและสินค้าอุปโภคจำเป็นบางประเภท (โดยเฉพาะหน้ากากอนามัย, แอลกอฮอล์) มีราคาสูงขึ้นแบบผิดสังเกต และยิ่งความต้องการซื้อที่เกิดจากสภาวะอารมณ์สูงขึ้น เกิดผลกระทบต่อซัพพลายอาหารในห่วงโซ่บริโภค สุ่มเสี่ยงต่อกักตุนจนกลายเป็นขยะ และสิ้นเปลืองทรัพยากรของโลกโดยไม่จำเป็น

หากใครนึกไม่ออกลองคิดถึงบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปหรืออาหารกระป๋องที่ซื้อมาเก็บเป็นจำนวนมาก ไม่ทันต่อการบริโภค จนต้องทิ้งไปในที่สุด

เดลิเวอรี่จนเป็นนิสัย

ไม่ได้บอกว่าเดลิเวอรี่คือสิ่งร้าย แต่การเสพติดมากเกินไป นั่นหมายถึงจำนวนขยะมหาศาลที่จะเพิ่มขึ้นจากบรรจุภัณฑ์ที่มาพร้อมกับอาหาร

มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) วิทยาเขตภูเก็ต เคยทำผลสำรวจพบว่า การเกิดขึ้นของ Food delivery service ได้ส่งผลถึงจำนวนขยะที่เพิ่มมากขึ้น โดยจากการสำรวจ ในช่วงระหว่างวันที่ 19 - 22 ตุลาคม 2562 พบว่ามีผู้ประกอบการให้บริการ Food delivery service ในจังหวัดภูเก็ตจำนวน 3 ราย เชื่อมโยงกับผู้ทำหน้าที่ในการรับส่งให้บริการมากกว่า 2,850 คน มีร้านที่เข้าร่วมโครงการมากกว่า 1,000 ร้าน

เมื่อวิเคราะห์ปัญหาขยะและบรรจุภัณฑ์ที่เกิดจากการให้บริการ Food delivery service ได้ผลที่น่าสนใจ โดยกรณีการสั่งอาหารกล่อง จำนวนชิ้นของกล่องบรรจุอาหารที่เกิดจากบริการ แบ่งเป็น กล่องกระดาษ 26.17% กล่องพลาสติก 25.68% กล่องโฟม 48.15% และหากในแต่ละวันมีการรับออร์อาหารเจ้าล่ะ 36 ครั้งต่อวัน จะทำให้มีขยะเพิ่มขึ้นปีละไม่ต่ำกว่า 37 ล้านชิ้น นอกจากนี้ยังมีขยะช้อนพลาสติกด้วย

นอกจากนี้ยังมีรายงานว่า การสั่งอาหารออนไลน์ที่สะดวกและรวดเร็ว อีกทั้งยังทำให้ผู้บริโภคไม่จำเป็นต้องเสียค่าใช้จ่ายในการส่ง ทำให้ผู้บริโภคที่สั่งมีแนวโน้มว่าจะสั่งอาหารมากเกินที่พวกเขาต้องการ ซึ่งนั้นทำให้มีค่าใช้จ่ายต่อมื้ออาหารสูงกว่าการซื้อแบบดั้งเดิมที่ผู้บริโภคจะเห็นจำนวนอาหารที่พอเพียงกับความต้องการ

เสพติดหน้าจอ ไม่ขยับ

ช่วงที่สถานการณ์โควิด-19 กำลังเคร่งเครียด การเสพข้อมูลคือสิ่งแรกๆ ที่ใครต่อใครทำกัน นั่นเพราะข้อมูลเป็นส่วนหนึ่งของการใช้ชีวิต

หากแต่เมื่อสิ่งเหล่านี้ถูกทำในปริมาณที่มากไป อาการติดจอกลายเป็นสิ่งที่บั่นทอนความสุขและความพึงพอใจในการดำรงชีวิตได้ เช่น ความรู้สึกกลัว กังวล โดดเดี่ยว เหงา และเศร้ามากขึ้น

มีการศึกษาของมหาวิทยาลัยมิชิแกน ได้รวบรวมข้อมูลจากกลุ่มตัวอย่าง ซึ่งใช้บริการเฟซบุ๊กบนสมาร์ทโฟนเป็นประจำ พบว่าการใช้เฟซบุ๊กมากเกินไปจนมีอาการติดจอ อาจกลายเป็นสิ่งที่บั่นทอนความสุขและความพึงพอใจในการดำรงชีวิตได้ เช่น รู้สึกโดดเดี่ยว เหงา และเศร้ามากขึ้น

อย่างไรก็ตาม ความเครียดเป็นกลไกโดยธรรมชาติที่ช่วยให้มนุษย์เตรียมตัว วางแผน และรับมือกับสถานการณ์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ถึงเช่นนั้นเราก็ควรติดตามข่าวสารเท่าที่จำเป็น และเลือกรับข่าวสารจากแหล่งข่าวที่เชื่อถือได้ เช่น ประกาศของรัฐบาลและกระทรวงสาธารณสุข เป็นต้น ลดการเสพโซเชียลมีเดีย ระมัดระวังข่าวปลอม

21-Day Habit Theory กับ โควิด-19

ถึงตรงนี้ไม่มีใครรู้ว่าสถานการณ์ที่กำลังดำเนินไปจะสิ้นสุดลงไปเมื่อไร แต่สิ่งที่เราเรียนรู้จากโควิด-19 คือการเกิดความปกติในรูปแบบใหม่ (New Normal) ไม่ว่าจะเป็นทั้งในระดับประเทศ ระดับองค์กร หรือระดับบุคคลที่เกิดพฤติกรรมใหม่จากการเปลี่ยนแปลงตัวเองรับสถานการณ์ที่เป็นอยู่

ในช่วงเวลา 2-3 สัปดาห์ที่เราเลี่ยงออกจากบ้าน หากใครเริ่มพฤติกรรมใหม่ตั้งแต่เริ่มต้น ก็น่าจะเข้าข่ายทฤษฎี ‘21-Day Habit Theory’ อันโด่งดัง ของ Dr.Maxwell Maltz ที่มีใจความว่า การที่เรามีพฤติกรรมใดๆ จนกลายเป็น “นิสัย” ได้ ต้องกระทำต่อเนื่องอย่างน้อยเป็นเวลา 21 วัน เพราะนี่เป็นเวลาที่ไม่มากไปและน้อยไปที่จะทำให้เราเชื่อในภาพลักษณ์ตัวตนในจิต หรือ Self-Image ที่เราปรารถนาจะเป็นได้

แล้วสิ่งที่ว่านี้ เกี่ยวอะไรกับสถานการณ์โควิด-19 ?

คำตอบนั่นก็คือ แม้สถานการณ์จะเอื้อให้เราเกิดพฤติกรรมแย่ๆ  เช่น ต้องใช้บริการสั่งของออนไลน์ และอาหารเดลิเวอรีจนเคยชิน, การนอนตื่นสายกว่าเดิมเพราะไม่ต้องเสียเวลาเดินทาง, การเสพข่าวบนหน้าจอโทรศัพท์ตลอดเวลา กระทั่งความรู้สึกเฉื่อยชาจากการอยู่บ้านนานๆ แต่ถ้าเราปรับมันเป็นพฤติกรรมในแง่บวก เช่น การหันมาดูแลสุขภาพมากขึ้น, การใส่ใจกับครอบครัว และสื่อสารกันอย่างเข้าใจ เช่นนี้แล้วในสถานการณ์โควิด-19 เราก็อาจจะเป็นจุดเริ่มต้นของการพบเรื่องที่ดีได้

ในช่วงเวลาที่บังคับให้เราต้องปรับตัว เพื่อให้เกิดพฤติกรรมใหม่ๆ เวลาเดียวกันนี้ถ้าเรามองเป็นมุมบวก ก็จะช่วยสร้างพฤติกรรมที่ดีขึ้นและกลายเป็นนิสัยถาวรของเราได้ดีเช่นเดียวกัน

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0