โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไอที ธุรกิจ

พรมมิ “หยดน้ำตา” เป็น “หญ้าอ่อน” ให้ “คนแก่” เคี้ยว “เพื่อความจำ”

เทคโนโลยีชาวบ้าน

อัพเดต 08 ธ.ค. 2563 เวลา 09.34 น. • เผยแพร่ 29 พ.ค. 2563 เวลา 21.28 น.
30 แปลกพรมมิ

ชื่อวิทยาศาสตร์ Bacopa monnieri (L.) Wettst

ชื่อวงศ์ SCROPHULARIACEAE (เดิม) PLANTAGINACEAE (ปัจจุบัน)

ชื่อภาษาอังกฤษ Brahmi, Dwarf bacopa, Indian pennywort.

ชื่ออื่นๆ ผักมิ หยดน้ำตา ผักหมี่ นมมิ (อีสาน) พรมลี (ชุมพร) ผักเบี้ย (ราชบุรี,ชลบุรี) อือลังไฉ่หรืออุยลักก๊วยโซ๊ะ (ภาษาจีน)

หนูขอบอกก่อนนะคะว่าอย่ามาทำตาโต พอหนูบอกว่าจะเป็น “หญ้าอ่อน” ให้เคี้ยว เรื่องนี้มีที่มาจากชื่อของหนูเอง ที่เรียกกันว่า “หยดน้ำตา” ความจริงคำว่า ผักหยดน้ำตา นั้น เป็นชื่อที่เรียกตามลักษณะของใบที่เป็นรูปทรงคล้ายกับหยดน้ำตานั่นเอง และ “ใบหยดน้ำตา” นี่แหละที่เขาให้ผู้สูงอายุ “เคี้ยว” เป็นผักสด ให้รสขมหวาน ช่วยบำรุงสมองส่วนความจำเพิ่มขึ้น เพื่อคนแก่ไม่เป็นโรคอัลไซเมอร์ ไม่ใช่ให้ “โคแก่” เอ๊ย! คนแก่ “เคี้ยว” เป็น “หญ้าอ่อน” หญ้าหวาน หรอกนะคะ

ความจริงหนูก็ยังอยากจะใช้ชื่อออกแขกๆ เช่น พรมลี เหมือน พรมเหาะในหนังภารตะ เพราะหนูกำเนิดมาจากประเทศเนปาล และอินเดีย และเป็นสมุนไพรอายุรเวทของอินเดีย ส่วนในประเทศไทยก็มีตำรับยา เช่น ยาเขียวมหาพรหมก็มี หนูอยู่ในสูตรยาด้วยแต่ไม่ค่อยรู้จักกัน จนเมื่อ พ.ศ. 2548 สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ให้ทุนนักวิจัยในลักษณะบูรณาการ เพื่อการวิจัยพัฒนาสมุนไพร ก็ทำให้หนูพรมมินี่แหละโด่งดังให้คนแก่อยากรู้จัก

หนูภูมิใจมากที่หน่วยงานวิชาการ เช่น คณะเภสัชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ ของมหาวิทยาลัยหลายแห่ง เช่น ม.นเรศวร ม.ขอนแก่น ม.ธรรมศาสตร์ ม.มหิดล ได้รับการสนับสนุน จาก “วช.” วิจัยในหลอดทดลอง สัตว์ทดลอง รวมทั้งการพิสูจน์ทางคลินิก กับอาสาสมัครคนจริงๆ ที่มีอายุมากกว่า 55 ปี ได้รับผลิตภัณท์เสริมอาหาร “พรมมิ” เป็นเวลา 2 เดือนขึ้นไป แล้วพบว่ามีความสามารถในการเรียนรู้และความจำเพิ่มขึ้น

แหม…! แต่หนูขอติงสักนิดนะคะ คนอายุ 55-60 ปี หนูว่าท่าน “ยังไม่แก่” หรอกนะ ยังเคี้ยวสดๆ ทั้งใบ ทั้งต้น สบายๆ  และในงานวิจัยของมหาวิทยาลัยมหิดล ยังเผยแพร่สรุปใว้ในจุลสาร ข้อมูลสมุนไพร ฉบับ 29(3), 29(4) ผลการทดลองกับอาสาสมัครผู้สูงอายุ และเด็ก อายุ 4-18 ปี ให้รับประทานเป็นแคปซูลสารสกัด นาน 4 เดือน พบว่า ช่วยเพิ่มพัฒนาการการเรียนรู้และความจำดีขึ้นมาก

ชื่อ พรมมิ ของหนู ใครได้ยินคงมีอารมณ์จินตนาการเหมือนต้นหญ้าอ่อนๆ ที่ปูเป็นพื้นพรมเขียวๆ แผ่กว้าง อ่อนนุ่ม เพราะเขาจัดเป็นพืชล้มลุก ลำต้นอวบน้ำ มีลักษณะเป็นข้อปล้อง ลำต้น เลื้อยบนดิน ส่วนยอดจะชูเด่นชัด ใบสีเขียวเข้มไม่มีขน เติบโตตามพื้นที่ชุ่มน้ำ หรือริมตลิ่ง มีดอกสีขาว หรือสีครามอ่อน ออกตามซอกใบ เป็นดอกสมบูรณ์เพศ มีอายุต่อเนื่องหลายปี เพราะแตกกิ่งก้านมาก รากงอกที่ข้อติดพื้นดิน มีผลเล็กๆ แห้งแตกได้จึงขยายพันธุ์ได้เรื่อยๆ

สรรพคุณสมุนไพรในตัวหนู เป็นที่รู้จักจากภูมิปัญญาชาวบ้าน จึงทำให้นักวิทยาศาสตร์เล็งเห็นคุณค่า ได้ค้นคว้าวิจัยสารสกัด และยืนยันงานวิจัยสอดคล้องกับประเทศจีนและประเทศอินเดีย ที่นิยมกินเป็นยาอายุวัฒนะ  บำรุงสมอง และผสมยารักษาโรค

ส่วนการแพทย์อายุรเวท ระบุว่า ใช้เป็นยาเย็น มีรสขมหวาน เสริมสร้างการทำงานของสมอง ลดความเสื่อมของเซลล์สมอง เพิ่มสมาธิ บำรุงหัวใจ เพราะมีสาระสำคัญในกลุ่ม แอลคาลอยด์ เช่น ซาโปนิน บรามิน (Brahmine) และนิโคติน  ลดอาการวิตกกังวล และลดอาการซึมเศร้า อาการชัก ส่วนองค์ประกอบทางเคมี มีสาร Steroildal saponins

งานตีพิมพ์ใน ธรรมศาสตร์เวชสาร ปีที่ 13 ฉ.4 ตุลาคม 3 ธันวาคม 2556 รายงานผลวิจัยทดลอง ใช้ทั้งเป็นพืชสด สกัดหยาบ และสกัดแยกเฉพาะสาร BACOSIDE พบว่า ได้ผลในระดับเดียวกัน อ้อ..! จะปลูกหนูไว้บนพื้นดิน หรือจับหนูใส่กระถางแขวนไว้ริมหน้าต่าง หนูก็ไม่เกี่ยงนะจ๊ะ

ในสภาวะหนีห่างเชื้อไวรัสโควิด-19 แม้ว่าเราจะต้องแยกกันอยู่ แต่หนูก็รู้ว่า คุณลุงคงไม่ลืม “ล้างหนู” หลายๆ ครั้งก่อนจะ “เคี้ยวสด” และรู้ว่าลุงไม่ลืม “ล้างมือ” ทุกครั้งที่จะมาหยิบหนู

คุณลุงคะ…แม้ว่าลุงจะเคยอยู่กับ “โสมและแปะก๊วย” ช่วยจำ แต่…ตอนนี้หนู ขอเสนอตัวเป็น “คู่แข่ง” ลุงจะตัดสินใจเลือกหนูมั้ยคะ

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0