โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

เปิดเอกสารฝรั่งทำนายอนาคตสยามและเอเชีย บันทึกไว้ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5

ศิลปวัฒนธรรม

อัพเดต 28 ม.ค. 2565 เวลา 10.09 น. • เผยแพร่ 14 เม.ย. 2564 เวลา 15.47 น.
แผนที่รถไฟ
แผนที่ทางรถไฟนานาชาติตามทฤษฎีสมคบคิดของอังกฤษที่จะสร้างทางรถไฟจากพม่าผ่านสยามไปสมทบกับทางรถไฟของฝรั่งเศสจากญวนเหนือมุ่งเข้าสู่ยูนนานในจีนภาคใต้ (ภาพจาก THE ENGINEER, 27 April 1888) -ภาพจากไกรฤกษ์ นานา

ใน ค.ศ. 1874 (พ.ศ. 2417) ราวต้นรัชกาลที่ 5 ชาวตะวันตกเคยทำนายสถานะและค่านิยมของราชอาณาจักรสยามไว้ในเอกสารที่ตีพิมพ์ออกสู่สาธารณะ

เอกสารชิ้นนี้นับว่ามีความเก่าที่สุดเกี่ยวกับบทวิเคราะห์ทางการเมืองและเศรษฐกิจจากความเชื่อของคนภายนอกที่มองล่วงหน้าประเทศของเราในยุคจักรวรรดินิยมเรืองอำนาจในสมัยที่นักจัดระเบียบโลกมองเอเชียว่าเป็นรัฐล้มเหลวและตกต่ำถึงขีดสุด [1]

กระแสการเปิดประเทศจนเกิดสนธิสัญญากับต่างชาติ และการรับแนวคิดแบบตะวันตกของผู้นำสยาม(รัชกาลที่ ๔) เป็นที่กล่าวขวัญถึงอย่างกว้างขวางโดยนักจัดระเบียบโลก ชาวอังกฤษ ฝรั่งเศส และอเมริกัน สวนกระแสความต้อยต่ำของผู้นำท้องถิ่นอื่นๆ แม้กระทั่งจีนก็ยังถูกโจมตีและจัดอันดับไว้ต่ำสุดของเอเชีย

อานิสงส์นี้ส่งต่อไปยังรัชกาลที่ 5 ในทิศทางที่ค่อนข้างสดใสและมีอนาคต คำทำนายบางตอนเปรียบเทียบฐานะของสยามกับชาติมหาอำนาจเก่าอย่างจีนและญี่ปุ่นไว้อย่างมั่นใจ

“ราชอาณาจักรสยามซึ่งปกครองโดยกษัตริย์มาตั้งแต่ต้นเป็นเวลานับพันปีมีความเป็นอารยะและมีวิสัยทัศน์กว้างไกลในลำดับต้นๆ ของเอเชียดูเหมือนมีอนาคตที่สุดในสายตาคนภายนอก

รัชกาลปัจจุบัน (หมายถึงรัชกาลที่ 5 ของราชวงศ์จักรี) สืบสันตติวงศ์มาจากกษัตริย์ชาตินักรบผู้รวบรวมบ้านเมืองจนเป็นปึกแผ่นภายหลังสงครามนับครั้งไม่ถ้วนกับประเทศเพื่อนบ้าน…

แม้ว่าจะต้องเผชิญหน้ากับชาวตะวันตกผู้เจริญมากยิ่งกว่า และมีแสนยานุภาพก้าวล้ำกว่าจนเทียบกันไม่ติด แต่สยามก็มีกุศโลบายที่แยบยลเอาตัวรอดมาได้หลายครั้งหลายหน และสามารถเกลี้ยกล่อมจนรัฐบาลศัตรูกลายเป็นมิตร (อังกฤษ-ฝรั่งเศส) อย่างน่าอัศจรรย์

หากสยามยังสามารถรักษามาตรฐานทางการทูตและการเจรจาต่อรองดังเช่นบรรพบุรุษได้ดำเนินนโยบายมาอย่างสุขุมแล้วไซร้ ก็เป็นที่เชื่อได้ว่าสยามจะเอาตัวรอดและมีที่ยืนเยี่ยงชาติของชาวคริสเตียนในโลกนี้โดยผาสุกอย่างไม่ต้องสงสัย”

ต่อมาอีก 20 ปี (ค.ศ. 1895) นักการเมืองและนักการทูตผู้ช่ำชองชาวอังกฤษผู้มีนามว่า Henry Norman (ต่อมาได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์จากพระราชินีอังกฤษให้เป็นท่านเซอร์ (Sir) – ผู้เขียน) ก็เขียนหนังสือเล่มโตทำนายอนาคตของประชาคมอาเซียนไว้เป็นตำราตำรับใหญ่ชื่อ THE PEOPLES AND POLITICS OF THE FAR EAST พยากรณ์อนาคตของเอเชียภายหลังการคุกคามอย่างหนักหน่วงโดยจักรวรรดินิยมอังกฤษ-ฝรั่งเศส ช่วงทศวรรษ 1880-90 ว่าแท้จริงแล้วหลังจากที่ตลาดเครื่องเทศและสินค้าหายากจากเอเชียวายลงแล้ว ชาติมหาอำนาจยุโรปเปลี่ยนนโยบายแข่งกันเข้าครอบครองบริหารจีน ในฐานะศูนย์กลางแห่งอำนาจของชาวเอเชียทั้งทวีป [2]

โดยเฉพาะภายหลังสงครามฝิ่นครั้งที่ 2 (ค.ศ. 1860-61) ยุติลง แผ่นดินจีนก็แตกออกเป็นเสี่ยงๆ โดยภาคใต้ของจีนที่เป็นที่รู้จักกันว่า “ยูนนาน” เป็นสิ่งล่อตาล่อใจยุโรปที่สุด ในขณะที่แผ่นดินสุวรรณภูมิแปรสภาพเป็น “สะพาน” หรือ “ทางผ่าน” ที่จะเข้าสู่ยูนนาน (จีน) ได้สะดวกขึ้นเท่านั้น 

อังกฤษและฝรั่งเศสจึงแข่งขันกันหาทางที่จะเข้าไปสู่ภูมิภาคดังกล่าว ใครได้จับจองยูนนานก่อนก็จะสามารถพัฒนาเป็นเขตเศรษฐกิจขนาดใหญ่ของโลกได้ ฝรั่งเศสนั้นมีเล่ห์เหลี่ยมแพรวพราวกว่าอังกฤษมาก และมักจะส่งนักสำรวจของตนล่วงหน้ามาค้นหาข้อมูลเกี่ยวกับประวัติของพื้นที่ต่างๆ อยู่เสมอ (ดังเช่นที่ค้นพบว่าฝั่งซ้ายและฝั่งขวาของแม่น้ำโขงเคยเป็นรัฐบรรณาการของทั้งสยามและญวน เป็นต้น – ผู้เขียน) กับมณฑลยูนนานอันลี้ลับก็ไม่ละเว้น ทั้งที่อยู่ภายในขอบเขตอันมิดชิดของจีน แต่ฝรั่งเศสก็ตีแผ่อย่างหน้าด้านว่ายูนนานนั้นเคยเป็นรัฐบรรณาการเก่าแก่ของญวนมาก่อน

แผนการก็คือ ภายหลังที่ฝรั่งเศสสร้างฐานที่มั่นได้สำเร็จในญวน นับจากนี้ฝรั่งเศสก็ทำตัวเจ้ากี้เจ้าการที่จะพัฒนาความเจริญจากอินโดจีนเข้าสู่จีนอย่างจริงจัง  ความอ่อนแอทางการเมือง การทูต และการทหารของจีน ส่งผลให้อำนาจของฝรั่งเศสเบียดบังนโยบายต่างประเทศของจีนมากขึ้นเรื่อยๆ ยกตัวอย่างเช่น

ภายหลังสงครามจีน-ญี่ปุ่น (ค.ศ. 1894-95) เมื่อญี่ปุ่นพยายามครอบงำเกาหลี ซึ่งเป็นรัฐบรรณาการของจีน ฝรั่งเศสก็สาระแนตั้งตัวเป็นกรรมการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทของจีนกับญี่ปุ่น จากนั้นก็ลำเลิกบุญคุณขอสัมปทานในโครงการใหญ่ๆ ที่เกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ของยูนนาน เช่น 1. การเชื่อมต่อสายไฟฟ้าจากญวนเข้ามาสู่จีน  2. การบริหารกิจการเหมืองแร่ในยูนนาน 3. การสร้างทางรถไฟเข้ามาในยูนนาน เป็นต้น ทั้งหมดล้วนเป็นตัวขับเคลื่อนให้แผนขั้นบันไดชั้นสูงสุดคือได้ครอบครองยูนนานใกล้ความเป็นจริงขึ้น

สนธิสัญญาต่างๆ ที่จีนจำต้องทำกับฝรั่งเศส ส่งเสริมให้อิทธิพลเถื่อนของฝรั่งเศสแผ่ขยายเข้าไปถึงมณฑลต่างๆ ทางภาคใต้ของจีนที่เชื่อมต่อกับเขตอิทธิพลของฝรั่งเศสในญวนและลาว (ที่เพิ่งได้ไปใหม่จากวิกฤติการณ์ ร.ศ. 112) จนฝรั่งเศสสามารถครอบครองและกุมอำนาจสิทธิพิเศษทางการค้า ทำให้มณฑลต่างๆ ของจีนตอนใต้กลายเป็นตลาดระบายสินค้าและแหล่งสนองวัตถุดิบของฝรั่งเศส โดยเฉพาะอย่างยิ่งฝรั่งเศสได้ถือครองสิทธิ์ในการเปิดเหมืองแร่และการสร้างทางรถไฟในดินแดน ๓ มณฑลของจีน คือ ยูนนาน กวางสี และกวางตุ้ง

เป้าหมายทางอ้อมของฝรั่งเศส คือได้ประกาศศักดาเทียบรัศมีคู่แข่งตัวฉกาจอย่างอังกฤษ ซึ่งแย่งชิงอาณานิคมกันอยู่ทั่วโลก ทั้งในอเมริกาเหนือ แอฟริกา ตะวันออกกลาง และน่านน้ำในมหาสมุทรต่างๆ ต่อไปก็ถึงคราวเอเชียซึ่งอุดมด้วยทรัพยากรธรรมชาติอันมหาศาล ใครได้ครอบครองเมืองจีนก่อนก็เหมือนได้ยึดครองเอเชียทั้งทวีป

การกระทำของฝรั่งเศสกระทบกระเทือนผลประโยชน์ของอังกฤษ ไม่เพียงทำให้ความได้เปรียบในบริเวณแม่น้ำแยงซีเกียงตอนบนเกิดการสั่นคลอน อีกทั้งยังเป็นการตัดขาดการติดต่อและคมนาคมทางบกของบริเวณนี้จากอินเดียผ่านพม่าเข้าจีน ซึ่งคุกคามเสถียรภาพของอังกฤษในบูรพาทิศ ดังนั้น รัฐบาลอังกฤษจึงเรียกร้องขอเปิดเจรจากับฝรั่งเศสเพื่อต่อรองปัญหาการแย่งชิงดินแดนในตะวันออกไกลและแอฟริกา ซึ่งทั้ง 2 ประเทศมีอิทธิพลครอบงำอยู่ ทั้ง 2 ฝ่ายได้บรรลุข้อตกลงแบ่งผลประโยชน์กันที่กรุงลอนดอนในเดือนมกราคม 1896 (Anglo-French Declaration 1896) ในเบื้องต้นอังกฤษยอมถอยให้ฝรั่งเศส 1 ก้าวในทวีปแอฟริกา ส่วนมณฑลยูนนานและเสฉวนของจีนก็ได้ตกลงกันว่าถ้าฝ่ายใดได้อำนาจหรือสิทธิพิเศษจากจีน ทั้ง 2 ฝ่ายต้องแบ่งผลประโยชน์ร่วมกัน

เซอร์เฮนรี่ นอร์แมน ได้พยากรณ์เรื่องนี้ไว้ตั้งแต่ ค.ศ. 1895 อีกเพียงปีเดียวคำทำนายนี้ก็เป็นความจริง ใน ค.ศ. 1896 เมื่ออังกฤษและฝรั่งเศสต้องหันมาตกลงกันที่จะบริหารจีนในข้อตกลงฉบับใหม่นี้

เรื่องที่ท่านเซอร์นอร์แมนมิได้ทำนายไว้ก็คือ อีก 121 ปีหลังจากนั้น (คือปีนี้ ค.ศ. 2016) จีนจะสามารถปลดแอกทั้งหมดและปลดเปลื้องเครื่องพันธนาการที่ชาติตะวันตกเคยมัดไว้ แล้วผงาดขึ้นมาเป็นเจ้าโลกแทนมหาอำนาจตะวันตก

เดือนตุลาคม 2015 ที่ผ่านมา จีนประกาศเป้าหมายในแผนพัฒนาเศรษฐกิจฉบับที่ 13 (ค.ศ. 2016-20) ซึ่งมีแผนยุทธศาสตร์การรุกใหญ่ด้วยการยกระดับอำนาจทางเศรษฐกิจในเวทีโลกผ่านการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน

ตามแผนยุทธศาสตร์นี้ จีนพยายามลงทุนเพื่อหาทางออกไปทางซีกโลกตะวันตกผ่านเอเชียกลาง ออกไปสู่มหาสมุทรอินเดีย ผ่านปากีสถานและพม่ารุกลงใต้ตามนโยบาย Look South Policy เห็นได้คือแผนการสร้างทางรถไฟความเร็วสูง และท่าเรือน้ำลึกในประเทศเพื่อนบ้านของไทยและภูมิภาคอาเซียน

เสริมด้วยการสร้างท่าเรือน้ำลึกของจีนในพม่าและปากีสถาน และแผนสร้างรถไฟความเร็วปานกลางร่วมกับลาวและไทย ซึ่งกลายเป็นเส้นทางยุทธศาสตร์ทางการค้าและการเมืองจากมณฑลยูนนานเข้าสู่ประชาคมอาเซียนและทวีปภายนอก

นี่คือวาระแห่งชาติครั้งใหม่ของชาวอาเซียน เมื่อจีนใช้นโยบายรุกทั้งโลกเหมือนเมื่อครั้งชาติตะวันตกเคยทำนั้น ชาวอาเซียนจะอิงอยู่กับจีนหรือจัดการอย่างไรกับอนาคต โดยไม่ลืมบทเรียนจากชาวยุโรป?

 

หมายเหตุ : เนื้อหานี้คัดย่อจากบทความ “นักจัดระเบียบโลกทำนายอนาคตของสยามกับอาเซียนเมื่อ 142 ปีมาแล้ว” โดยไกรฤกษ์ นานา ในนิตยสาร ศิลปวัฒนธรรม ฉบับเดือนมีนาคม 2559

เชิงอรรถ :

[1] Feudge, F. R. “An Oriental Monarchy,” in THE GALAXY. Vol. 18 No. 6 (Dec. 1874), U.S.A. : New York.

[2] Norman, Henry. The Peoples and Politics of The Far East. London : T. Fisher Unwin, 1895.

เผยแพร่เนื้อหาในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 28 มกราคม 2563

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0