โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไอที ธุรกิจ

ผ่อน 0% "เลิกไม่ได้" เสียงสะท้อน ปธ.ชมรมบัตรเครดิต

ประชาชาติธุรกิจ

อัพเดต 24 ก.ย 2562 เวลา 03.57 น. • เผยแพร่ 24 ก.ย 2562 เวลา 03.56 น.
11-1 สัมภาษณ์พิเศษ

สัมภาษณ์พิเศษ

หลังธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และสมาคมธนาคารไทย ทำข้อตกลงร่วมกัน เพื่อให้สถาบันการเงินปล่อยสินเชื่ออย่างมีความรับผิดชอบ (responsible lending) มากขึ้น อย่างเช่น การจะเลิกทำแคมเปญสำหรับผู้มีรายได้น้อย อย่างการทำโปรโมชั่นผ่อน 0% เพื่อใช้จ่ายในสิ่งที่ไม่เกิดประโยชน์ ซึ่งจะทำได้แค่ไหน“ประชาชาติธุรกิจ” ได้

พูดคุยกับ “ฐากร ปิยะพันธ์” ประธานคณะเจ้าหน้าที่ด้านกรุงศรี คอนซูมเมอร์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา (BAY) ในฐานะที่สวมหมวก “ประธานชมรมธุรกิจบัตรเครดิต” มานำเสนอ

เขาบอกว่า สิ่งที่ ธปท.และสมาคมธนาคารไทยพยายามบอก ก็คือ ภาวะหนี้ครัวเรือนขณะนี้ยังอ่อนไหว แต่ไม่ใช่แค่บัตรเครดิต สินเชื่อบ้าน หรือสินเชื่อรถยนต์ แต่จริง ๆ แล้วเป็นภาพรวมของหนี้ครัวเรือนทั้งหมด ทำให้ต้องมาพิจารณากันว่าจะทำอย่างไรได้บ้างเพื่อดูแลตรงนี้ แต่ไม่ใช่ว่าจะออกกฎเกณฑ์มา เพื่อให้หยุดทำโปรโมชั่นผ่อน 0% ไปเลย เพราะในความเป็นจริงแล้วคงไปหยุดไม่ได้ เนื่องจากในความเป็นจริง ไม่ว่าจะเป็นคนที่มีเงินมากหรือมีเงินน้อย ไม่ว่าจะซื้อโทรศัพท์มือถือ ซื้อประกัน ฯลฯ ก็ล้วนใช้วิธีการผ่อนชำระกันทั้งสิ้น

“ต้องเข้าใจสิ่งที่ ธปท.กับสมาคมธนาคารไทยกำลังพูดถึงกันอยู่ คือ ทำอย่างไรที่เราจะสร้าง sustainability (การพัฒนาอย่างยั่งยืน) ทางด้านการเงินก็มีหลายรูปแบบ ก่อนหน้านี้ก็มีการปรับลดวงเงินบัตรเครดิตให้เป็นไปตามรายได้ผู้สมัคร อย่างกลุ่มรายได้ 1.5-3 หมื่นบาท/เดือน สมัครบััตรเครดิตก็ได้วงเงินแค่ 1.5 เท่า คนรายได้ 3-5 หมื่นบาท สมัครก็ได้วงเงิน 3 เท่า และคนรายได้ 5 หมื่นบาทขึ้นไป ก็จะได้วงเงิน 5 เท่า จากเดิมสมัครแล้วก็ได้ไปเลย 5 เท่า ดังนั้น ก็จะเห็นว่ามีซีรีส์ของความพยายามที่จะประคับประคองไม่ให้เกิดการใช้จ่ายเกินตัว”

ผ่อน 0% “เลิกไม่ได้”

“ฐากร” อธิบายถึงการที่ต้องมีโปรฯผ่อน 0% ว่า เป็นเรื่องของการปรับกลยุทธ์ทางการตลาด จากสมัยก่อนเวลาทำโปรฯจะมี “ลด-แลก-แจก-แถม” แต่ปัจจุบันจะเป็น“ลด-แลก-แจก-แถม” หรือ “ผ่อน” ซึ่งใช้กับคนทุกระดับ ไม่ใช่เฉพาะกลุ่มที่รายได้น้อย อย่างกรณีสินค้า ไม่ว่าจะเป็นเครื่องใช้ไฟฟ้า มือถือ ฯลฯ ต้องบอกว่า ในปัจจุบันธุรกิจที่ขายสินค้า มีโปรแกรมการผ่อนเป็นตัวช่วยสร้างยอดขายอยู่ 40-50% ดังนั้นหากหยุดให้มีผ่อน 0% ก็จะกระทบธุรกิจและเศรษฐกิจในภาพรวม

“ถามว่า ผ่อน 0% มีผลกระทบบ้างหรือเปล่า ผมว่าก็อาจจะมีบ้าง แต่คงไม่ถึงขั้นจำเป็นต้องหยุด ห้ามทุกคนใช้ เพราะเป็นเรื่องการตลาด แล้วถ้าหยุดจริง ๆ ธุรกิจที่ขายสินค้านั่นแหละที่จะได้รับผลกระทบมากกว่า เพราะปัจจุบันโปรแกรมผ่อน ช่วยสร้างยอดขายให้เขาถึง 40-50%”

“มือถือ” ไม่ใช่สินค้าฟุ่มเฟือย

ส่วนที่มีการมองกันว่า“โทรศัพท์มือถือ” ที่มีโปรฯผ่อน 0% เป็นปี ๆ น่าจะเป็น“สินค้าฟุ่มเฟือย” นั้น “ฐากร” มองต่างว่า มือถือไม่ใช่สินค้าฟุ่มเฟือย เพราะทุกวันนี้คนแทบจะใช้ชีวิตอยู่บนมือถือกันตลอดแล้ว

“มือถือทุกวันนี้ กลายเป็นการใช้ชีวิตของคนแล้ว ผมว่าไม่ฟุ่มเฟือย เพราะทุกคนต้องใช้”

ส่วนการผ่อน 0% เที่ยวต่างประเทศนั้น “ฐากร” ไม่ปฏิเสธว่า มีผู้ที่ทำโปรฯนี้อยู่ เพียงแต่อยากย้ำว่า ไม่ว่าผู้ผ่อนจะมีรายได้ 5 หมื่นบาท หรือ 1 แสนบาท หากมีโปรแกรมผ่อนให้ ก็จะเลือกผ่อนกันเกือบทั้งสิ้น แม้ว่าจะสามารถซื้อเงินสดได้ก็ตาม เพราะผ่อนแล้วไม่ต้องเสียดอกเบี้ย

“ยิ่งถ้าคนมีรายได้เยอะ ๆ เขาก็ดูแล้วว่า ทำไมต้องจ่ายทีเดียว 5 หมื่นบาท จ่ายทีละงวด งวดละ 1 หมื่นบาท เงินที่เหลือนำไปลงทุน หรือฝากเงินไว้ก็ได้ดอกเบี้ย เพราะยังไงส่วนที่ผ่อนก็ไม่เสียดอกเบี้ย ดังนั้น ถามว่ากระตุ้นไหม ก็อาจมีบ้าง แต่ผมไม่คิดว่าจะทำให้ทุก ๆ คนมีพฤติกรรมเบี่ยงเบนไปขนาดนั้น”

คุม DSR แก้ปัญหาตรงจุดกว่า

“ฐากร” ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า แต่ละปีมีการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตร่วม 2 ล้านล้านบาท/ปี ซึ่งแต่ละปีสินเชื่อคงค้างบัตรเครดิตเพิ่มขึ้น 2-3 หมื่นล้านบาท แต่หากไปดูในหนี้ครัวเรือน จะพบว่า หนี้คงค้างบัตรเครดิตอยู่ที่กว่า 4 แสนล้านบาท มีสัดส่วนน้อยมากเมื่อเทียบกับหนี้ครัวเรือนทั้งหมดกว่า 12 ล้านล้านบาท ดังนั้น การแก้ปัญหาควรจะโฟกัสอย่างตรงจุด โดยใช้การควบคุมดูแลกลุ่มผู้กู้ที่อ่อนไหว เหมือนอย่างที่ ธปท.ส่งสัญญาณว่าจะคุมภาระหนี้ต่อรายได้ (DSR) ที่ 70% ซึ่งมีการขอความร่วมมือสถาบันการเงินมา ต้นปีหน้า กรุงศรีฯก็จะเริ่มดำเนินการตามนั้น

สำหรับบัตรเครดิตของ “กรุงศรี” ปัจจุบันก็ยังใช้โปรแกรมผ่อนอยู่ในหลายหมวดสินค้า อาทิ มือถือ คอมพิวเตอร์ เครื่องใช้ไฟฟ้า ประกัน เป็นต้น ส่วนหมวดอื่น ๆ ไม่ได้โตมาก ดังนั้นหากจะไปลดผ่อน 0% ในส่วนที่ไม่ได้มีมาก ก็ไม่กระทบอะไร แต่หมวดท่องเที่ยวนั้น หากจะเลิกโปรแกรมผ่อนส่วนนี้ ก็จะกระทบคนที่มีเงินไปด้วย

“เราคงดูว่า อะไรมีความ sensitive (มีความอ่อนไหว) ต่อกลุ่ม ถ้าอยากจะประคับประคองกลุ่มรายได้น้อยกว่า 3 หมื่นบาท ก็คงต้องเข้าไปจัดการตรงนั้น แต่ถ้าไปหว่านแล้วกระทบหมดทุกกลุ่ม คงไม่ถูกต้อง”

ปัจจุบันยอดสินเชื่อคงค้างบัตรเครดิตและบัตรกดเงินสดของ “กรุงศรี” รวมกันอยู่ที่ 1.35 แสนล้านบาท โดยยอดการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิต “กรุงศรี” ปีนี้น่าจะโตได้ 12% หลัง 9 เดือนโตมาแล้ว 10-11% ส่วนบัตรกดเงินสดน่าจะโตราว 10% หลัง 9 เดือนโตแล้ว 8-9% ซึ่งส่วนหนึ่งอาจจะเป็นเพราะภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวทำให้คนขอสินเชื่อเพิ่มขึ้น

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0