โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

ผู้คนกับความทรงจำจากซากเรือ ‘อาร์เอ็มเอส ไททานิก’

The Momentum

อัพเดต 20 เม.ย. 2562 เวลา 04.30 น. • เผยแพร่ 20 เม.ย. 2562 เวลา 04.30 น. • บุญโชค พานิชศิลป์

In focus

  • วันที่ 15 เมษายน 1912 เรือไททานิกพรากอาชีพการงาน ชีวิตส่วนตัว และชื่อเสียงของ โจเซฟ บรูซ อิสเมย์ (Joseph Bruce Ismay) ดิ่งลึกลงสู่ท้องทะเลไปด้วย และความผิดพลาดของอิสเมย์ก็คือ เขารอดชีวิตมาได้จากเหตุการณ์นั้น
  • อาการเสพติดสถิติความเร็วของอิสเมย์ส่งผลให้เกิด 'การฆาตกรรมหมู่' เรือไททานิกสร้างสถิติใหม่ที่ไม่เหมือนใคร ‘ในการฆาตกรรมโดยประมาท’
  • ผู้รอดชีวิต 710 คนที่ได้รับการช่วยเหลือให้พ้นจากน้ำเย็นยะเยือกในมหาสมุทรแอตแลนติกเหนือ ไม่สามารถหลุดพ้นจากกระแสของไททานิกได้ ไม่ว่าหลังจากอุบัติเหตุครั้งนั้นพวกเขาจะเริ่มต้นใหม่หรือล้มเหลว

ก่อนเสียชีวิต หญิงชราแจ้งความจำนงอย่างชัดเจนว่า จะต้องไม่มีใครรับรู้เกี่ยวกับความตายของเธอ ในเดือนตุลาคม 2007 ที่แคมบอร์น เมืองเล็กๆ ของอังกฤษ จึงมีพิธีฝังศพหญิงชราวัย 96 ปีเฉพาะในหมู่ญาติอย่างเงียบเชียบ กระทั่งหนึ่งสัปดาห์ต่อมามีข่าวไปถึงสื่อ ชาวโลกจึงได้รับรู้ว่า บาร์บารา เดนตัน (Barbara Dainton) ผู้รอดชีวิตจากอุบัติเหตุเรือไททานิก เสียชีวิตลงแล้ว

ทว่าเดนตันไม่ใช่ผู้รอดชีวิตคนสุดท้าย และความจริงแล้วเธอสามารถมีชื่อเสียงโด่งดังหรือมีรายได้มหาศาลกว่านั้นจากเหตุการณ์เรือล่มเมื่อปี 1912 ซึ่งเธอรอดชีวิตมาได้ขณะยังเป็นทารกน้อยวัย 10 เดือน แต่เธอก็ปฏิเสธหมดทุกสิ่งตราบถึงวันตายของเธอ ในช่วงเวลาที่ยังมีชีวิตอยู่ เธอพูดให้สัมภาษณ์เพียงครั้งเดียวว่า “ฉันไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกับผู้คนบนเรือไททานิก”

1 ปีกับอีก 7 เดือนถัดจากนั้น สุภาพสตรีอีกคนจากตระกูลขุนนางในแฮมเชียร์เสียชีวิต แต่ครั้งนี้มีสื่อรายงานข่าวให้คนทั่วโลกได้รู้ว่า มิลล์วีนา ดีน (Millvina Dean) เสียชีวิตในวัย 97 ปี และเธอเป็นคนสุดท้ายในจำนวนผู้รอดชีวิตจากไททานิก ที่ขณะยังเป็นทารกน้อยเช่นกัน แม้ดีนจะจำความไม่ได้เกี่ยวกับโศกนาฏกรรมครั้งนั้น แต่ตลอดช่วงเวลายี่สิบปีก่อนหน้านี้ เธอเข้าไปมีส่วนร่วมในกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับไททานิก ตั้งแต่การแจกลายเซ็น ตอบจดหมายแฟนคลับ ‘ไททานิก’ เข้าร่วมอภิปรายในชั้นเรียน และพูดคุยกับผู้สื่อข่าว

Millvina Dean

จุดเริ่มต้นมาจากครั้งที่ดีนไม่มีเงินพอจะจ่ายให้กับบ้านพักเอกชนที่เธอใช้ชีวิตอยู่ เธอจึงใช้ชื่อเสียงของเรือไททานิก-ที่เคยพรากชีวิตพ่อของเธอไป-ให้เป็นประโยชน์ นำเอาจดหมาย เอกสารต่างๆ รวมถึงกระเป๋าเสื้อผ้าของแม่ หลังจากได้รับความช่วยเหลือในนิวยอร์กปี 1912 ออกมาประมูล ครั้งนั้นเธอรอดพ้นจากความอดอยากมาได้ด้วยเงินกว่าหนึ่งล้านบาท

ต้นปี 2009 ดีน-วัยเกษียณเดือดร้อนเรื่องเงินทองอีกครั้ง คราวนี้ฮอลลีวูดยื่นมือเข้าช่วยเหลือ ทั้งเคต วินสเล็ต ลีโอนาร์โด ดิคาปริโอ และเจมส์ คาเมรอน-ผู้กำกับภาพยนตร์เรื่อง Titanic ได้รวบรวมเงินช่วยเหลือราวครึ่งล้านบาทเพื่อมอบให้ แต่มันช้าเกินไป ดีนเสียชีวิตเสียก่อน ในวันที่ 31 พฤษภาคม ตรงกับวันแสวงบุญไททานิกพอดี

กว่าศตวรรษผ่านไปนับตั้งแต่เรืออาร์เอ็มเอส ไททานิกแล่นชนภูเขาน้ำแข็ง แต่ดูเหมือนความหลงใหลในเรื่องราวที่เล่าขานกันนับร้อยนับพันครั้งจะยังคงวนเวียนอยู่ ไม่จางหายไปไหน บางเรื่องราวหมกมุ่นอยู่กับรายละเอียดทางเทคนิค ความหรูหราเกินจินตนาการ หรือทฤษฎีความเป็นไปได้ต่างๆ นานา บางเรื่องราวก็กล่าวเป็นข้อสรุปถึงการล่มสลายของยักษ์ใหญ่แห่งมหาสมุทรโดยอุปมาถึงความอหังการของมนุษย์

แม้แต่ผู้รอดชีวิต 710 คนที่ได้รับการช่วยเหลือให้พ้นจากน้ำเย็นยะเยือกในมหาสมุทรแอตแลนติกเหนือ ก็ไม่สามารถหลุดพ้นจากกระแสของไททานิกได้ ไม่ว่าหลังจากอุบัติเหตุครั้งนั้นพวกเขาจะเริ่มต้นใหม่หรือล้มเหลว ไม่ว่าในเวลาต่อมาพวกเขาจะได้รับชัยชนะในเกมการแข่งขันเทนนิสยูเอส โอเพน เหมือนเช่นริชาร์ด นอร์ริส วิลเลียมส์ที่ 2 (Richard Norris Williams II) หรือไม่ว่าพวกเขาจะแค่ขายหนังสือพิมพ์แล้วปลิดชีวิตตัวเองอย่างเฟรเดอริค ฟลีต (Frederick Fleet) ซึ่งเคยเป็นเจ้าหน้าที่สังเกตการณ์บนเสากระโดงเรือไททานิก ตามความรับรู้ของผู้คนแล้ว พวกเขาก็ยังเป็นผู้รอดชีวิตจากไททานิกอยู่วันยังค่ำ

เรือแม้ว่าจะจมดิ่งลงในมหาสมุทรนานแล้ว แต่มันยังเป็นภาพจำคอยตามหลอนไปตลอดชีวิต สำหรับบางคนแล้วมันเป็นเสมือนคำสาปแช่ง แต่สำหรับบางคนก็กลายเป็นบันไดไปสู่ความสำเร็จของชีวิต

อย่างเช่น โดโรธี กิบสัน (Dorothy Gibson) สำหรับเธอแล้วมันเป็นทั้งสองอย่าง เธอ-ในวัย 22 ปีขณะนั้น-นอกจากจะโชคดีที่มีโอกาสได้ขึ้นเรือกู้ชีพลำแรกในคืนล่วงเข้าวันที่ 15 เมษายน 1912 แล้ว สี่สัปดาห์ต่อมาจู่ๆ เธอยังกลายเป็นคนมีชื่อเสียงของโลก เมื่อได้เล่นหนังเงียบความยาวสิบนาทีเรื่อง Saved from the Titanic เธอเล่นเป็นตัวเอง สวมชุดเดียวกันกับในวันที่เกิดเหตุ

Dorothy Gibson

แต่ในระยะยาวแล้ว ความสำเร็จแบบชั่วข้ามคืนของเธอก็นำปัญหามาให้ เพราะความสามารถที่แท้จริงด้านการแสดงของเธอแทบไม่มี ตราบจนถึงวันที่เธอเสียชีวิตในปี 1946 กิบสันเป็นได้แค่เพียงนักแสดงพื้นๆ คนหนึ่ง ที่ถึงแม้จะได้รับคำชมจากนักวิจารณ์ในช่วงต้นๆ ก็ตาม

นอกจากนั้น ไททานิกยังช่วยส่งให้มาร์กาเร็ต (มอลลี) บราวน์ (Margaret ‘Molly’ Brown) ให้กลายเป็นตำนาน ถึงแม้ว่าเธอจะเป็นเพียงผู้หญิงชนชั้นล่าง แต่ความโด่งดังจากเหตุการณ์เรือล่มก็เกื้อหนุนเธอจนกลายเป็นขวัญใจของคนทั้งชาติ ‘The Unsinkable Molly Brown’ เป็นสมญานามที่ใครๆ ตั้งให้กับนักต่อสู้เพื่อสิทธิสตรีอย่างสมเกียรติ หลังจากเธอเสียชีวิตไปในปี 1932

Margaret ‘Molly’ Brown

ระหว่างเหตุการณ์เรือไททานิกล่มนั้น มาร์กาเร็ต บราวน์เพียงแต่ทำในสิ่งที่เธอเคยทำเสมอมา นั่นคือ การให้ความช่วยเหลือ เธอแต่งงานกับวิศวกรเหมืองแร่ธรรมดาๆ คนหนึ่ง ที่กลายเป็นมหาเศรษฐีขึ้นมาหลังจากไปค้นพบขุมทองในโคโลราโด ที่ซึ่งบราวน์เคยไปช่วยงานครัว ทำซุปแจกคนงานเหมือง นอกจากนั้นเธอยังเป็นตัวตั้งตัวตีในการเรียกร้องสิทธิให้กับกลุ่มผู้หญิง กระทั่งถึงตอนที่เรือไททานิกอับปาง แม้ว่าเธอเองก็เป็นหนึ่งในผู้ประสบภัย แต่เธอให้ความช่วยเหลือผู้หญิงที่อยู่ในภาวะพะว้าพะวังขึ้นเรือกู้ชีพ

ผู้อยู่ในเหตุการณ์รายงานในเวลาต่อมาว่า ภายในเรือกู้ชีพหมายเลข 6 บราวน์สนใจดูแลผู้ประสบภัยคนอื่นๆ มากกว่าตัวเธอเอง ถึงขั้นต้องทุ่มเถียงกับคนบังคับเรือ ซึ่งปฏิเสธที่จะขับเรือตระเวนหาผู้ประสบภัยที่ตกน้ำและกำลังตะโกนเรียกขอความช่วยเหลือ เนื่องจากคนเรือกลัวว่า เมื่อเรือไททานิกจมลงอาจทำให้เกิดคลื่นและทำให้เรือกู้ชีพลำเล็กๆ ของเขาพลิกคว่ำได้ แต่บราวน์ดื้อดึง จนกระทั่งคนเรือถึงกับขู่จะจับเธอโยนทิ้งทะเล งานอาสาสมัครของเธอมาประสบความสำเร็จเมื่อขึ้นบนเรือกู้ภัย ‘คาร์พาเธีย’ แล้ว เธอช่วยเป็นล่ามแปลภาษาฝรั่งเศสและเยอรมัน แจกจ่ายผ้าห่มกันหนาว และรวบรวมเงินจากผู้โดยสารที่รอดชีวิตได้ราว 10,000 ดอลลาร์ เพื่อนำไปมอบให้คนที่ไม่เหลือทรัพย์สินติดตัวแม้แต่ชิ้นเดียว

กระทั่งเรือกู้ภัยเดินทางถึงนิวยอร์ก เธอก็ได้รับเลือกเป็นประธานคณะกรรมการช่วยเหลือผู้ประสบภัยจากเรือไททานิก หลังจากนั้นบราวน์ยังเข้าไปช่วยแก้ปัญหาความขัดแย้งระหว่างคนงานเหมืองกับเครือบริษัทร็อคกีเฟลเลอร์ อีกทั้งยังต่อสู้เพื่อสิทธิของสตรีในการเลือกตั้ง ในปี 1914 เมื่อสงครามโลกปะทุขึ้น บราวน์เดินทางไปยังแนวหน้าของฝรั่งเศส เพื่อช่วยเหลือทหารผู้บาดเจ็บ นักข่าวอเมริกันเขียนรายงานเกี่ยวกับเธออย่างชื่นชมว่า บราวน์เป็นนักกิจกรรมที่ไม่เคยหยุดพัก เป็นคนรักชาติ และเป็นนักสู้ ที่ท้องทะเลก็สู้แรงเธอไม่ได้

Michel and Edmond Navratil

ต่างจากหลายคนที่พยายามถอยตัวออกห่าง ไม่อยากเกี่ยวข้องกับเรือไททานิกอีกเลย บางคนยังฝังใจกับเหตุการณ์ร้ายครั้งนั้น อย่างเช่น มิเชล นาฟราทิล (Michel Navratil) ศาสตราจารย์ด้านปรัชญาชาวฝรั่งเศส ซึ่งขณะเผชิญกับอุบัติเหตุครั้งนั้นเขายังเป็นเด็ก ต่อมาได้วิเคราะห์ตนเองพบว่า เขาตายไปตั้งแต่ตอนอายุสี่ขวบ ระหว่างที่เขาถูกโยนขึ้นเรือกู้ชีพ และเห็นพ่อของเขาจมน้ำหายไปต่อหน้า

และยังมีใครบางคนที่ติดพันอยู่กับความโชคร้ายตลอดชีวิตคล้ายเป็นมลทิน อย่างเช่นโจเซฟ บรูซ อิสเมย์ (Joseph Bruce Ismay) วันที่ 15 เมษายน 1912 เรือไททานิกพรากอาชีพการงาน ชีวิตส่วนตัว และชื่อเสียงของเขาดิ่งลึกลงสู่ท้องทะเลไปด้วย และความผิดพลาดของอิสเมย์ก็คือ เขารอดชีวิตมาได้จากเหตุการณ์นั้น

อิสเมย์ เป็นชาวอังกฤษ และเคยเป็นผู้อำนวยการบริษัทเดินเรือไวท์ สตาร์ ไลน์ ซึ่งเป็นเจ้าของเรือไททานิก หลังจากเกิดเหตุการณ์ร้ายขึ้น เขายังต้องตกเป็นจำเลยของวิลเลียม เฮิร์สต์ (William Hearst) เจ้าพ่อสื่อของอเมริกา เนื่องจากเฮิร์สต์ไม่ยอมให้อภัยที่อิสเมย์ปฏิเสธการให้สัมภาษณ์กับนักข่าวในสังกัดของเขา การตัดสินผู้ประกอบการเดินเรือจึงเกิดขึ้น

Joseph Bruce Ismay

“ใครล่ะที่เลือกความรุ่งเรืองจากความตาย” เฮิร์สต์ตั้งคำถามเมื่อวันที่ 19 เมษายน 1912 หมายความไปถึงชายคนที่ขึ้นเรือกู้ชีพเป็นคนสุดท้าย จากนั้นก็แสดงท่าทีคล้ายไม่มีอะไรเกิดขึ้น “ใครล่ะไม่อยากตายแบบฮีโร่ แต่อยากจะมีชีวิตแบบคนขี้ขลาด”

นักข่าวในสังกัดของเขาเป็นคนตอบคำถามเหล่านั้น – แน่นอนว่าต้องเป็นบรูซ อิสเมย์ ไม่ใช่เขาหรอกหรือที่แอบหนีไปพร้อมกับเรือกู้ชีพ ไม่ใช่เขาหรอกหรือที่ออกคำสั่งให้กัปตันเรือเร่งเครื่องผ่านน้ำแข็งเพื่อสร้างสถิติความเร็ว และแทนที่จะเป็นเช่นนั้น เรือไททานิกกลับสร้างสถิติใหม่ที่ไม่เหมือนใคร ‘ในการฆาตกรรมโดยประมาท’ นักข่าวอเมริกันเขียนเหน็บแนม อาการเสพติดสถิติความเร็วของอิสเมย์ส่งผลให้เกิดการฆาตกรรมหมู่

บรูซ อิสเมย์ต้องถูกสังคมตราหน้าไปตลอดชีวิต และมันไม่ช่วยให้อะไรดีขึ้น ไม่ว่าคดีฟ้องร้องเมื่อผ่านการพิจารณาของศาลแล้วต้องมีอันตกไป หรือแม้จะมีพยานรู้เห็นว่าเขาคอยช่วยเหลือผู้โดยสารขึ้นเรือกู้ชีพอย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อยก็ตาม กระทั่งก่อนเรือไททานิกจะจมลง และไม่หลงเหลือผู้หญิงและเด็กให้ต้องช่วยอีกแล้ว เขาจึงปีนขึ้นเรือกู้ชีพลำสุดท้ายที่ด้านข้างห้องกัปตัน เรือกู้ชีพลำที่เขาขึ้นนั้นมีคนเห็นว่าบรรทุกผู้คนไม่เต็มลำเรือ

“ความอับปางของเรือไททานิกทำให้ชีวิตของเราพังไปด้วย” ภรรยาของเขารำพันในภายหลัง อิสเมย์ใช้ชีวิตอยู่โดยต้องมีคนคุ้มกัน และถูกปลดออกจากบริษัทไวท์ สตาร์ ไลน์ เขาพยายามก่อตั้งมูลนิธิขึ้นเพื่อให้ความช่วยเหลือครอบครัวผู้ประสบภัย แต่ในสายตาของสังคมแล้ว บรูซ อิสเมย์ ที่บ่อยครั้งมักถูกเรียกขานว่า ‘บรูต (Brute = อมนุษย์) อิสเมย์’ ก็ยังเป็นคนที่ถูกสังคมตราหน้าไปอีกนับทศวรรษหลังจากเขาเสียชีวิตลงในปี 1937

ในภาพยนตร์เรื่อง Titanic ของเจมส์ คาเมรอน ภาพลักษณ์ของอิสเมย์ก็ยังถูกตอกย้ำให้ชาวโลกนับล้านคนได้เห็นอีกครั้งว่า เขาเป็นคนขี้ขลาดอย่างไร

 

อ้างอิง:

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0