โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

ผิดปกติ ! โขงแห้งหน้าฝน ชมรมอนุรักษ์ฯ หวั่นผลกระทบจากเขื่อนจีน

TODAY

อัพเดต 22 ก.ค. 2562 เวลา 08.39 น. • เผยแพร่ 22 ก.ค. 2562 เวลา 08.39 น. • Workpoint News
ผิดปกติ ! โขงแห้งหน้าฝน ชมรมอนุรักษ์ฯ หวั่นผลกระทบจากเขื่อนจีน

ชมรมอนุรักษ์ฯ จ.นครพนม เผย ระดับน้ำโขงผันผวนมากที่สุดในรอบ 100 ปี น้ำแห้งในฤดูฝน กระทบระบบนิเวศน์ และวิถีชีวิตชาวบ้านริมฝั่งโขง

เมื่อวันที่ 22 ก.ค. 62 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ จ.นครพนม สถานการณ์น้ำโขงแห้งผิดธรรมชาติ ยังส่งผลกระทบ หลังระดับน้ำโขงลดต่อเนื่องในช่วงฤดูฝน ถือเป็นความผันผวนทางธรรมชาติน้ำโขงหนักสุดในรอบกว่า 50 ปี

ล่าสุดระดับน้ำโขง เหลือเพียงแค่ 1.90 เมตร และยังมีแนวโน้มที่จะลดระดับต่อเนื่อง เพราะฝนทิ้งช่วง บวกกับผลกระทบจากการกักเก็บน้ำของเขื่อนจีน โดยบริเวณน้ำโขงท้ายเมือง ในเขตเทศบาลเมืองนครพนม พบว่า มีหาดทรายเกิดขึ้นกลางน้ำโขง เป็นพื้นที่กว้างหลาย 100 ไร่ ระยะทางยาวกว่า 1 กิโลเมตร สร้างปัญหาในการเดินเรือ และออกเรือหาปลาของชาวบ้าน ซึ่งถือเป็นความเปลี่ยนแปลงทางธรรมชาติที่ไม่เคยพบมาก่อน ในช่วงฤดูฝน

ขณะเดียวกันหลังเกิดหาดทรายกลางน้ำโขง ถือเป็นปรากฏการณ์ทางธรรมชาติ ที่ชาวบ้านไม่เคยพบเห็นมาก่อน เนื่องจากหาดทรายท้ายเมือง หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า หาดทรายทอง ศรีโคตรบูรณ์ ถือเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญในช่วงหน้าแล้ง เดือนมีนาคม ถึง เดือนเมษายน ทุกปี จะพบเห็นหาดท้ายเมืองโผล่ในช่วงฤดูแล้งเท่านั้น และมีการจัดกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยวทุกปี แต่ช่วงนี้ถือว่าผิดธรรมชาติ ในช่วงฤดูฝน แต่มีหาดทรายโผล่กลางน้ำโขง

นอกจากนี้ยังเป็นที่แปลกใจของชาวบ้าน เนื่องจากมีหาดทรายเยอะกว่าช่วงฤดูแล้งที่ผ่านมา  ที่สำคัญบริเวณหาดทรายดังกล่าว ยังมีความแตกต่างจากที่อื่น เนื่องจากเม็ดทรายจะเป็นสีเหลืองทอง มีลักษณะเป็นคลื่นที่ถูกน้ำซัด เวลามองและถ่ายภาพเหมือนเกล็ดพญานาค และมองคล้ายลำตัวพญานาคทอดยาวตามลำน้ำโขง ซึ่งถือเป็นปรากฏการณ์ทางธรรมชาติที่แปลก ทำให้ชาวบ้านแห่ไปถ่ายภาพเป็นที่ระลึก

ด้าน นายอาทิตย์ พนาศูนย์ อายุ 65 ปี ประธานชมรมอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม จ.นครพนม เปิดเผยว่า ปีนี้ถือว่าระดับน้ำโขงผันผวนมากสุด ในรอบเกือบ 100 ปี  โดยจากการศึกษาข้อมูล พบว่าปัจจัยสำคัญมาจากโครงการก่อสร้างเขื่อนในประเทศจีน รวมถึง ใน สปป.ลาว ทำให้ เกิดผลกระทบต่อระบบนิเวศน์ทางธรรมชาติ  ถือเป็นสัญญาณอันตราย

ในอนาคตปัญหาขาดแคลนน้ำจะกระทบรุนแรงมากขึ้น และยากที่จะแก้ไข เนื่องจากประเทศต้นน้ำมีการควบคุมระบบน้ำโขงจากเขื่อน ไม่เป็นไปตามธรรมชาติ  ที่สำคัญที่น่าห่วงมากที่สุดก็คือ วิถีชีวิตความเป็นอยู่ของชาวลุ่มน้ำโขงจะเปลี่ยนไป ปลาน้ำโขง จะหายากมากขึ้น รายได้ลดลง เนื่องจากช่วงฤดูฝน เป็นฤดูกาลวางไข่

ธรรมชาติปลาน้ำโขง จะขึ้นไปวางไข่ต้นน้ำลำน้ำสงคราม แต่น้ำโขงแห้ง ปริมาณปลาลดลงแน่นอน ซึ่งชาวลุ่มน้ำโขงจะต้องรับสภาพ เพราะยากที่จะหาทางแก้ไข เนื่องจากเป็นผลกระทบที่เกิดจากการก่อสร้างเขื่อน จีน ต้องเป็นหารือและแก้ปัญหาระหว่างประเทศ

 

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0