โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไอที ธุรกิจ

ผักไฮโดรโปนิกส์ สกลนคร ผลิตได้ทั้งปริมาณและคุณภาพ

เทคโนโลยีชาวบ้าน

อัพเดต 21 ก.พ. 2563 เวลา 08.29 น. • เผยแพร่ 21 ก.พ. 2563 เวลา 21.15 น.
22 ผักไฮโดร

วันนี้ได้รับการเชิญชวนจาก คุณขจรศักดิ์ เบ็ญชัย อาชีพทนายความ และอดีต ส.อบจ. สกลนคร เขตอำเภอวานรนิวาส และทำการเกษตร ปลูกพืชเลี้ยงสัตว์ ให้เดินทางไปชมแปลงปลูกผักไฮโดรโปนิกส์ ในพื้นที่บ้านห้วยแสง ตำบลหนองแวง อำเภอวานรนิวาส จังหวัดสกลนคร สิ่งที่น่าสนใจเพราะเป็นคนรุ่นหนุ่มสาว หลังเรียนจบมักจะทำงานราชการ แต่กลับมาปลูกพืชผัก ส่งขายรายได้เลี้ยงครอบครัวและเป็นรายใหญ่ของสกลนคร

จุดนัดพบกันอยู่ที่หน้ามหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร คุณขจรศักดิ์ เบ็ญชัย ได้ให้เกียรติขับรถมารับ ในเช้าวันนี้ วันที่อากาศขมุกขมัว ท่ามกลางอากาศที่เปื้อนฝุ่น พี เอ็ม 2.5 (PM 2.5) รุนแรง ในสภาวการณ์ฝุ่นละออง ต้องสวมเครื่องกันฝุ่น เพื่อความปลอดภัย จากสภาพที่เห็นในปัจจุบัน สภาพแล้งร้อนเริ่มรุมเร้าและมีแนวโน้มทวีความรุนแรงขึ้นเป็นลำดับ

หลังจากเตรียมตรวจสอบอุปกรณ์ครบ คุณขจรศักดิ์ ทนายความที่ชื่นชอบการเกษตรเป็นผู้ทำหน้าที่สารถีเอง มุ่งหน้าไปตามถนนสายสกลนคร-อุดรธานี ราว 30 นาที หลุดออกมาจากตัวเมืองสกลนคร เข้าสู่เขตอำเภอพรรณานิคม มองสองฟากฝั่งข้างถนน มีบางช่วงจะพบกับคลองชลประทานจากเขื่อนน้ำอูน เห็นน้ำในคลองไหลรินเอื่อยๆคาดการณ์ว่าน่าจะมีน้ำน้อย ประกอบกับปีนี้ทางเขื่อนประกาศการจัดการบริหารน้ำให้กับกลุ่มเกษตรกร และเกษตรกร หากพื้นที่ใดน้ำไม่ถึงหรือลำบากก็ควรหันไปปลูกพืชที่ใช้น้ำน้อย เพราะจะเป็นการประหยัด ส่วนพื้นที่นาปรังก็ต้องมีการจำกัด ทั้งนี้ จากนโยบายของทางรัฐบาลในการบริหารจัดการน้ำให้มีคุณค่าประโยชน์สูงสุดนั่นเอง

หากมองไปทางซ้ายมือ จะมองเห็นเทือกเขาภูพานทอดยาวขนาน หมอบสงบนิ่ง มีเมฆปกคลุมบางส่วน มองแล้วเพลินตา แต่ซ้ายมือเรื่อยมาจนถึงพื้นที่อำเภอพังโคน จะพบบางแห่งมีการปลูกข้าวนาปรัง สลับกับการปลูกพืชฤดูแล้ง มะเขือเทศ ถั่วลิสง แต่ก็บางตา …

จากสกลนครมาถึงสี่แยกอำเภอพังโคน ราว 54 กิโลเมตร แล้วเลี้ยวขวา ตามเส้นทาง อำเภอพังโคน จังหวัดบึงกาฬ  ผ่านตัวอำเภอวานรนิวาส อีกราว 13 กิโลเมตร ก็ถึงบ้านห้วยแสง หมู่ที่ 3 ตำบลหนองแวง อำเภอวานรนิวาส จังหวัดสกลนคร

พบกับ คุณวาฤทธิ์ นันบุญตา อายุ 35 ปี เจ้าของ “อธิพงศ์” ฟาร์ม และ คุณอธิพงศ์ นันบุญตา สามี กำลังจัดเตรียมผักส่งลูกค้าที่จังหวัดอุดรธานี

คุณวาฤทธิ์ เล่าว่า ก่อนที่จะมาทำฟาร์มปลูกผักไฮโดรโปนิกส์นั้น เรียนจบจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตสกลนคร สาขาสัตวบาล จากนั้นพอจบก็ไปทำงานที่จังหวัดเพชรบูรณ์ ดูแลฟาร์มสัตว์เลี้ยงให้กับบริษัทเอกชนแห่งหนึ่ง อยู่ประมาณ 3 ปี และได้พบกับ คุณอธิพงศ์ สามี จากนั้นคิดว่าการทำงานเป็นพนักงานบริษัทนั้นคงไม่นาน เพราะคิดอยากจะทำธุรกิจเป็นของตนเอง ประกอบกับคุณอธิพงศ์ชอบทางการเกษตรปลูกพืชผักสวนครัว โดยเฉพาะการปลูกผักไฮโดรโปนิกส์ เขามีความรู้และทำมานาน จึงตัดสินใจลาออกและพร้อมกันกลับสู่บ้านเกิด และอาศัยที่มีพื้นที่จากที่มีอยู่ จำนวน 18 ไร่ ตัดสินใจลงทุนทำฟาร์มปลูกผักไฮโดรโปนิกส์ โดยลงทุนครั้งแรกเพียงเงินจำนวน 300,000 บาท

โดยจัดทำโรงเรือน ระบบน้ำ ผักที่ปลูกก็เริ่มทยอยจำหน่าย มีทั้ง ผักบุ้ง ผักสลัด มะเขือเทศ มีหลากหลาย โดยในช่วงปีแรก ส่งขายแทบไม่ทันตลาด ต่อมาได้ขยายพื้นที่ และมีการจัดตั้งเป็นกลุ่มวิสาหกิจชุมชน กลุ่มเกษตรกรปลูกผักลอยน้ำขึ้น

มีสมาชิก พร้อมทั้งได้ขอกู้เงินจาก ธ.ก.ส. เป็นแหล่งเงินทุนนับล้านบาท เพื่อมาลงทุน บนเนื้อที่ 18 ไร่ และถือได้ว่าเป็นการลงทุนครั้งใหญ่

คุณอธิพงศ์ เล่าว่า การปลูกผักแบบนี้ต้องมีใจรัก และต้องศึกษาก่อน ข้อดีคือ ไม่ต้องปลูกที่ดิน ผักสะอาดปลอดภัย ยอมรับว่า กว่า 5 ปี ที่ทำมา ทุกปีจะมีรายได้พอให้ลูกน้อง 4-5 คน อยู่ได้ แต่ปีนี้ ในช่วงหนึ่งที่ผักจากต่างประเทศ เช่น จีน เข้ามาทำให้ผักมีราคาตกต่ำมาก ราคาครึ่งต่อครึ่ง ต้องทำใจ อยากให้รัฐบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้หันมาดูแลในส่วนนี้ด้วย ทุกวันนี้ จากที่เคยจำหน่ายได้วันละนับแสนบาท ลดลงมามาก มากจนน่าตกใจ และเรื่องราคาต้องสู้กับผักที่ไหลเข้ามา ส่วนที่ได้เปรียบคือ ผักของเราปลูกในประเทศและจำหน่ายแบบมีคุณภาพ

แต่ถึงอย่างไรก็ต้องทนทำ เพราะใจรัก และทำมานาน เป็นแปลงเดียวรายเดียวที่สามารถบอกได้ว่า ใหญ่ที่สุดในแถบนี้ เพราะนอกนั้นก็ทำแบบปลูกกินเอง

“ตลาดขณะนี้ไปได้ แต่ราคาจะลดลงบ้าง ก็พออยู่ได้ ฝากถึงรัฐบาลช่วยเกษตรกรด้วย แปลงของเรามีความพร้อม ทั้งผู้ที่ต้องการศึกษาดูงาน แหล่งน้ำก็ไม่มีปัญหา เราขุดบ่อเอง มีน้ำไหลเวียนเพียงพอ สามารถปลูกส่งได้ ทุกวันนี้ ผักต่างๆ จะออกประมาณวันละ 1 ตัน ก็ยาก ลดลงมามากพอสมควร”

คุณวาฤทธิ์ บอก และเล่าต่ออีกว่า

“การปลูกผักไฮโดรโปนิกส์ ถือได้ว่าเป็นเทรนด์การปลูกผักแบบใหม่ที่กำลังมาแรงสุดๆ เนื่องจากมีขั้นตอนที่ไม่ยาก ใช้พื้นที่ไม่ต้องมาก ไม่ต้องพึ่งดินหรือออกแรงจับจอบจับเสียมให้เหนื่อย แต่ก็ได้ผักที่สด สะอาด อร่อย และปลอดภัย ไร้สารพิษ มากินแบบสะดวกๆ โดยถ้าหากใครกำลังมองหาวิธีการปลูกผักแบบไฮโดรโปนิกส์อยู่ละก็ วันนี้ทางฟาร์มสามารถรวบรวม การปลูกผักไฮโดรโปนิกส์ดีๆ มาฝากแล้วค่ะ

หน่วยงานราชการใด สนใจอยากศึกษา หรือดูงานก็ติดต่อไปได้ตลอดเวลา และส่วนที่ต้องการนำไปจำหน่าย ติดต่อได้ที่ คุณวาฤทธิ์ นันบุญตา “อธิพงศ์” ฟาร์ม บ้านห้วยแสง หมู่ที่ 3 ตำบลหนองแวง อำเภอวานรนิวาส จังหวัดสกลนคร โทร. 093-615-6358 …ยินดีให้บริการคำแนะนำ

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0