โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

ผักชี (Parsley)

รักบ้านเกิด

อัพเดต 24 ก.ย 2562 เวลา 08.10 น. • เผยแพร่ 24 ก.ย 2562 เวลา 08.10 น. • รักบ้านเกิด.คอม

ผักชีเป็นผักที่สามารถใช้ประโยชน์ได้ทุกส่วน คือ ส่วนของใบและก้านใบใช้บริโภคเป็นผักสดหรือใช้รับประทานกับสาคูไส้หมู ต้นและรากใช้เป็นส่วนประกอบอาหารได้หลายอย่าง ใช้ต้มเป็นน้ำซุป หรือน้ำก๋วยเตี๋ยวทำให้น้ำซุบมีกลิ่นหอมและรสชาติดี เมล็ดใช้เป็นส่วนประกอบของเครื่องแกงเผ็ด หรือนำมาบดคลุกกับเนื้อวัวสดทำให้ได้เนื้อสวรรค์มีกลิ่นหอมน่ารับประทาน กลิ่นหอมของเมล็ด ราก ใบ และต้นของฟักชีสามารถใช้ดับกลิ่นคาวของเนื้อสัตว์ได้เป็นอย่างดี ผักชีนอกจากจะใช้ปรุงอาหารเพื่อให้มีกลิ่นหอมแล้ว ยังใช้เพิ่มความอร่อยและความสวยงามของอาหารแล้ว ยังใช้เป็นยาสมุนไพรแก้ผื่น ปวดฟัน หัด ท้องอืดเฟ้อ ริดสีดวงทวาร ช่วยขับลม บำรุงธาตุ ช่วยย่อยอาหาร นอกจากนี้ในผักชียังมีสารหอมระเหย วิตามีซีและเอสูง จึงช่วยบรรเทาอาการหวัดได้อีกด้วย
ลักษณะโดยทั่วไป :
ผักชีมีชื่อเรียกหลายชนิดแตกต่างกันไป เช่น ภาคเหนือเรียกว่า ผักหอมป้อมและผักหอมผอม ภาคอีสานเรียกว่า ผักหอมน้อย และที่นครพนมเรียกว่า ผักหอม ผักชีเป็นผักที่อยู่ในตระกูล Unbelliferae มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Coriandrum sativa Linn
ผักชีเป็นพืชล้มลุกที่มีอายุสั้นคือ ประมาณ 40-60 วัน ลำต้น ราก ใบ ก้านใบ ดอก และเมล็ดมีกลิ่นหอม สามารถขึ้นได้ในดินแทบทุกชนิด ไม่ว่าจะเป็นดินเหนียว ดินร่วน ร่วนปนทราย แต่จะชอบดินร่วน มีการระบายน้ำดีสามารถปลูกได้ทั่วทุกภาคของประเทศไทย ปลูกได้ตลอดปี ช่วงที่เหมาะสมที่สุด คือ ฤดูหนาว แหล่งปลูกที่สำคัญได้แก่ ราชบุรี นครปฐม และเขตปริมณฑล

พันธุ์ผักชี : พันธุ์ผักชีที่นิยมปลูกทั่วไปในประเทศไทย มีอยู่ 2 พันธุ์ คือ

  1. พันธุ์พื้นเมือง มีลักษณธต้นเล็ก ใบบาง เมล็ดเล็ก ออกดอกเร็ว อายุสั้น มีกลิ่นหอมจัด
  2. พันธุ์ อาฟริกา มีลักษณธ ต้นใหญ่ ใบหนาใหญ่ มีกลิ่นหอมเล็กน้อย อายุยาวนานกว่าพันธุ์พื้นเมือง
    สำหรับพันธุ์ผักชีที่นิยมปลูกทั่วไป ได้แก่ พันธุ์สิงคโปร์ พันธุ์สิงคโปร์เมล็ดดำ และพันธุ์ไต้หวัน ซึ่งสามารถหาซื้อได้ตามแหล่งขายเมล็ดพันธุ์ผักทั่วไป
    การปลูกผักชี :
    การเตรียมดิน แปลงปลูกอาจเตรียมแบบยกร่องจีน มีคูน้ำล้อมรอบแบบยกร่องธรรมดา หรือปลูกในแปลงนา โดยการไถพรวนแล้วโรยเป็นแถว ผักชีเป็นผักที่มีระบบรากตื้น การเตรียมดินปลูกผักชีก็ปฏิบัติเช่นเดียวกับการปลูกผักอื่นๆ ทั่วไป โดยขุดหรือไถพลิกดินลึกประมาณ 15-20 เซนติเมตร ตากดินไว้ 5-7 วัน เพื่อฆ่าเชื้อโรคและวัชพืชต่างๆ แล้วพรวนย่อยดินให้แตกเป็นก้อนเล็ก ใส่ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมักให้มาก คลุกเคล้าให้เข้ากับดินและปรับหน้าดินให้เสมอ
    การเตรียมเมล็ดพันธุ์ ผักชีเป็นพืชที่ขยายพันธุ์ด้วยการใช้เมล็ด ดังนั้นก่อนที่จะปลูกต้องเตรียมเมล็ดพันธุ์ให้พร้อม โดยการนำผลมาบดให้แตกเป็นสองซีก แล้วนำไปแช่น้ำประมาณ 2-3 ชั่วโมง แล้วเอาขึ้นมาผึ่งลมให้แห้งแล้วเคล้ากับทรายหรือขี้เถ้าทิ้งไว้จนเมล็ดเริ่มงอกจึงนำไปหว่านในแปลง
    วิธีการปลูก ก่อนปลูกต้องรดน้ำให้ทั่วแปลง นำเมล็ดที่เตรียมไว้มาหว่านลงบนแปลงปลูกที่ได้เตรียมไว้ กลบด้วยดินละเอียดบางๆ แล้วคลุกด้วยฟางหรือหญ้าแห้งอีกชั้นหนึ่ง เพื่อป้องกันต้นอ่อนจากแสงแดดและรักษาความชื้นของผิวดิน หรือจะปลูกโดยใช้วิธีโรยเป็นแถวบนแปลง ให้แต่ละแถวห่างกัน 20-30 เซนติเมตร แล้วทำการถอนแยกให้เหลือระยะระหว่างต้นประมาณ 10-20 เซนติเมตร หลังจากหว่านเสร็จแล้วต้องรดน้ำให้ชุ่ม
    อัตราการใช้เมล็ดพันธุ์ประมาณ 20 ลิตรต่อไร่ อัตราการใช้เมล็ดพันธุ์จะมากขึ้นหรือน้อยลงกว่านี้ขึ้นอยู่กับความอุดมสมบูรณ์ของดิน ฤดูกาล และเปอร์เซ็นต์ความงอกของเมล็ด หากดินมีความอุดมสมบูรณ์ดีจะใช้เมล็ดพันธุ์น้อยลง เพราะผักชีสามารถเจริญเติบโตได้ดีและรอดตายได้มาก
    การปฏิบัติดูแลรักษาผักชี :
    การให้น้ำ ผักชีเป็นผักที่ต้องการน้ำมากแต่ไม่ชอบน้ำขัง ดังนั้น ควรให้น้ำอย่างสม่ำเสมอวันละ 2 ครั้ง เช้าและเย็น อย่าให้น้ำมากจนโชกเกินไป เพราะผักชีถ้าถูกน้ำหรือฝนมากๆ มักจะเน่าง่าย สำหรับวัชพืชที่ขึ้นในระยะแรกควรรีบกำจัดโดยเร็ว โดยใช้มือถอน อย่าปล่อยให้ลุกลามเพราะวัชพืชเป็นตัวแย่งน้ำและอาหารจากผักชี
    การใส่ปุ๋ย ควรใส่ปุ๋ยคอกรองพื้นตอนเตรียมดินก่อนปลูก เมื่อผักชีแตกใบแล้วถ้าจะเร่งให้งามเร็วก็ใช้ปุ๋ยแอมโมเนียมซัลเฟต (21-0-0) ประมาณ 15-30 กรัม ผสมน้ำ 1 ปี๊บ ฉีดพ่นในแปลงให้ทั่ว
    ในการใส่ปุ๋ยผักชีมีการปฏิบัติกันหลายแบบแตกต่างกันไปในแต่ละท้องที่ แต่วิธีที่ให้ได้ผลผลินที่ดีคือการใช้ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมัก ซึ่งเกษตรกรสามารถผลิตผักชีได้สูงถึง 1,300-1,900 กิโลกรัมต่อไร่ และที่สำคัญคือผักชีเป็นผักที่ใช้ประโยชน์จากรากด้วย ดังนั้นในการถอนขึ้นมาจากดินจะต้องได้รากที่สมบูรณ์ ดินปลูกจึงต้องร่วนซุยพอสมควร ฉะนั้นจึงควรใส่ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมักให้มากทุกครั้งที่ปลูก หากได้ผักชีที่ต้นโตรากสวยงามก็จะทำให้ได้น้ำหนักมากขึ้นด้วย
    โรคและแมลง โรคที่อาจพบในผักชี ได้แก่ โรคเน่าที่ใบและโคนต้น ซึ่งป้องกันกำจัดได้โดยการฉีดพ่นสารแมนโคเซป เช่น ไดเทนเอ็ม 45 ในอัตราตามคำแนะนำที่ฉลาก และโรคใบไหม้ป้องกันกำจัดโดยการฉีดพ่นสารมาเน็บ เช่น ไดแทนเอ็ม 22, แมนเซทดี, แคปเทน เช่น ออร์โธไซด์ ในอัตราตามคำแนะนำที่ฉลาก
    ผักชีมักไม่ค่อยมีแมลงรบกวน แต่ในบางครั้งอาจพบเพลี้ยเข้าทำลาย สามารถป้องกันกำจัดโดยใช้คาร์บาริล เช่น เซฟวิน, คาร์โบซัลแฟน เช่น พอสซ์ อัตราตามคำแนะนำที่ฉลาก ผสมน้ำฉีดให้ทั่วหากจำเป็น
    การเก็บเกี่ยวผักชี :
    ผักชีจะเริ่มเก็บเกี่ยวได้เมื่ออายุประมาณ 30-45 วัน เนื่องจากผักชีสามารถใช้ทุกส่วนบริโภค ควรเก็บเกี่ยวโดยการถอนด้วยมือติดทั้งต้นและรากไม่ขาด แต่ก่อนถอนควรรดน้ำบนแปลงให้ดินชุ่มชื้นเสียก่อนเพื่อสะดวกในการถอน เมื่อถอนเสร็จแล้วนำไปล้างดินออก ตกแต่งโดยเด็ดใบเหลืองใบเสียทิ้ง แล้วมัดๆ ละกิโลกรัม นำไปผึ่งลมแล้วบรรจุเข่ง เพื่อให้ผักชีไม่เกิดการเน่าเละขณะขนส่งอันเนื่องมาจากน้ำแฉะเกินไป ผลผลิตผักชีที่ดีต้องมีใบเขียวสม่ำเสมอ ไม่เป็นโรคใบลายหรือใบไหม้ มีรากขาวมาก รากยาวและไม่ขาด

ที่มา : ชำนาญ เขียวอำไพ 2547 "การทำสวนผัก" หน้า 143-146,อักษรการพิมพ์.กทม.

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0