โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

ผวาเศรษฐกิจโลกถดถอย ชาติยักษ์ใหญ่ GDP ทรุดถ้วนหน้า

ประชาชาติธุรกิจ

อัพเดต 17 ส.ค. 2562 เวลา 09.44 น. • เผยแพร่ 17 ส.ค. 2562 เวลา 10.01 น.
GDP

ความตึงเครียดของสงครามการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกากับจีนกำลังส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อระบบเศรษฐกิจโลก เนื่องจากการใช้มาตรการทางเศรษฐกิจที่ทั้งสองประเทศยักษ์ใหญ่ใช้ตอบโต้กันไปมาหลายต่อหลายครั้ง ได้สร้างแรงกดดันต่อภาคการค้าและอุตสาหกรรมทั่วโลก ซึ่งสะท้อนผ่านตัวเลขการเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ของหลายประเทศที่ร่วงลงอย่างรุนแรง ทำให้นักวิเคราะห์มองว่าความขัดแย้งครั้งนี้อาจนำไปสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยครั้งใหญ่

ขณะที่เมื่อกลางสัปดาห์ที่ผ่านมา เกิดปรากฏการณ์ที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะยาวต่ำกว่าอัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะสั้น (inverted yield curve) ที่เกิดขึ้นกับพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 10 ปี และ 2 ปีเป็นครั้งแรกในรอบ 12 ปี สร้างความกังวลต่อความเสี่ยงที่เศรษฐกิจโลกจะเผชิญกับภาวะถดถอยในช่วง 12 เดือนข้างหน้าเพิ่มขึ้น ทำให้ตลาดหุ้นสหรัฐและหลายประเทศทั่วโลกทรุดหนักนักลงทุนพากันเทขายสินทรัพย์เสี่ยง 

เศรษฐกิจสหรัฐ-จีนฉุดทั่วโลก

บลูมเบิร์ก รายงานว่า สหรัฐในฐานะประเทศต้นทางของสงครามการค้า จำเป็นต้องใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างหนัก โดยเฉพาะการที่ธนาคารกลางของสหรัฐ (เฟด) ยอมปรับลดอัตราดอกเบี้ยตามความต้องการของรัฐบาลสหรัฐ รวมถึงการอุดหนุนภาคธุรกิจต่าง ๆ ทำให้สหรัฐยังมีการเติบโตของจีดีพีในไตรมาส 2 ของปีนี้อยู่ที่ 2.1% ลดลงจากไตรมาส 1/62 อยู่ที่ 3.1% แต่ก็ยังสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้เดิมว่าจะเติบโตเพียง 1.8%

ความกังวลจากประเด็นความขัดแย้งทางการค้าของ 2 มหาอำนาจทางเศรษฐกิจของโลก กำลังลุกลามสู่ “สงครามค่าเงิน” จากการที่จีนปล่อยให้เงินยวนอ่อนค่าที่สุดในรอบ 11 ปี ปัญหาที่ยืดเยื้อสร้างความวิตกมากขึ้นว่าจะส่งผลทำให้เกิด “ภาวะเศรษฐกิจถดถอย” นักวิเคราะห์จาก“โกลด์แมน แซกส์” ประเมินว่า สหรัฐและจีนไม่น่าจะบรรลุข้อตกลงการค้าได้ก่อนการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐในปีหน้า พร้อมได้ปรับลดคาดการณ์เติบโตทางเศรษฐกิจสหรัฐในไตรมาส 4 ของปีนี้ลงสู่ระดับ 1.8% จากที่คาดการณ์ก่อนหน้านี้ 2.0% ด้วยผลกระทบจากสงครามการค้าที่จะเห็นชัดมากขึ้น

ขณะที่จีนประกาศจีดีพีไตรมาส 2 ออกมาที่ 6.2% ลดลงจากไตรมาสแรก อยู่ที่ 6.4% นับว่าเติบโตต่ำสุดในรอบ 27 ปี อย่างไรก็ตาม ตัวเลขดังกล่าวถือว่ามีความผันผวนต่ำจนนักวิเคราะห์มองว่าตัวเลขเศรษฐกิจจีนที่ประกาศออกมาดู “ราบรื่นเกินความเป็นจริง” 

แม้ว่าสหรัฐประกาศชะลอการขึ้นภาษีสินค้านำเข้า (บางรายการ) จากจีน มูลค่า 3 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ ออกไปเป็นต้นเดือน ธ.ค. 62 จากเดิมที่กำหนดไว้ที่เดือน ก.ย. แต่ “หลุยส์ คุจส์” หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ภูมิภาคเอเชียของสำนักวิจัยออกซ์ฟอร์ด อีโคโนมิกส์ในฮ่องกง ระบุว่า การเลื่อนกำหนดการดังกล่าวยังคงไม่สามารถเปลี่ยนภาพของความตึงเครียดทางการค้าได้

ยูโรโซนอ่วม-เยอรมนีป่วยหนัก

ขณะที่เศรษฐกิจในยุโรปก็กำลังเข้าสู่โซนอันตราย โดยเฉพาะเยอรมนีที่ประกาศจีพีดีไตรมาส 2/62 หดตัว -0.1% จากไตรมาสแรกขยายตัว 0.4% ปัจจัยสำคัญมาจากตัวเลขส่งออกที่อ่อนแอ ทำให้อุตสาหกรรมการผลิตเยอรมนีได้รับผลกระทบถ้วนนห้า จากความต้องการสินค้าที่ลดลงโดยเฉพาะจากตลาดจีน โดย “เฮงเค็ล เอจี” ผู้ผลิตสินค้าอุปโภคบริโภครายใหญ่ของเยอรมนี ระบุว่า เยอรมนีกำลังเผชิญแรงกดดันสองด้าน คือ การชะลอตัวของอุตสาหกรรมยานยนต์ และตลาดจีนที่หดตัว รวมถึงธุรกิจยักษ์ใหญ่ของเยอรมนีอย่าง“ซีเมนส์” บริษัทด้านพลังงานและสุขภาพขนาดใหญ่ และ“เดมเลอร์” บริษัทผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ได้แสดงความกังวลเกี่ยวกับความไม่แน่นอนทางการเมืองและยอดขายที่ลดลง ซึ่งส่งผลต่อการหดตัวของเศรษฐกิจเยอรมนี

“วอลล์สตรีตเจอร์นัล” ระบุว่า ชะตากรรมเศรษฐกิจของสหภาพยุโรป (อียู) ส่วนหนึ่งขึ้นอยู่กับเศรษฐกิจของเยอรมนี เพราะหลังวันที่ 31 ต.ค.นี้อียูจะต้องสูญเสียสหราชอาณาจักร (ยูเค) ที่เคยเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจที่สำคัญของยุโรป ตามกำหนดการถอนตัวออกจากอียู หรือ “เบร็กซิต”

“อเล็กซานเดอร์ ครูเกอร์” หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์จาก Bankhaus Lampe ของเยอรมนี ระบุว่า นอกจากแนวโน้มเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว โดยเฉพาะเศรษฐกิจจีน ภาวะการกีดกันทางการค้าที่มีความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ประกอบกับประเด็นความไม่ชัดเจนของแนวทางการ “เบร็กซิต” รวมถึงความขัดแย้งในพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วโลก ได้ส่งผลต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจของยูโรโซนทั้งทางตรงและทางอ้อม

ทำให้หลายฝ่ายมองว่า ยูโรโซนจะเป็นพื้นที่ได้รับผลกระทบอย่างมาก เนื่องจากเศรษฐกิจของทั้งฝรั่งเศสและสเปนก็กำลังชะลอตัว ขณะที่อิตาลีก็เผชิญปัญหาหนี้สาธารณะสูงก็ย่ำแย่หนักไปอีก โดยสำนักงานสถิติแห่งสหภาพยุโรป (ยูโรสแตต) ระบุว่า จีดีพีกลุ่มประเทศยูโรโซนในไตรมาส 2 ปีนี้อยู่ที่ 0.2% ลดลงจากไตรมาสแรกที่ 0.4%

ด้านยูเคที่กำลังเผชิญหน้ากับการเข้าสู่ “เบร็กซิต” เศรษฐกิจก็ชะลอตัวหนักขึ้น โดยอัตราการขยายตัวของจีดีพีในไตรมาส 2/62 หดตัว -0.2% จากไตรมาสแรกจีดีพี 0.5% 

สิงคโปร์โตต่ำสุดในรอบ 10 ปี

ซีเอ็นบีซี รายงานว่า หลายประเทศในเอเชียก็กำลังประสบภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวไม่ต่างจากภูมิภาคอื่นทั่วโลก โดยเฉพาะสิงคโปร์ประกาศจีดีพีขยายตัวต่ำสุดในรอบ 10 ปีลงมา อยู่ที่ 0.1% จากไตรมาสแรก 1.1% ทำให้รัฐบาลสิงคโปร์ปรับลดคาดการณ์จีดีพีปี 2562 ลงมาอยู่ที่ราว 0-1% เป็นการปรับลดคาดการณ์ครั้งที่ 2 จากเดิมที่คาดว่าปีนี้จีดีพีจะโต 1.5-2.5%

“เออร์วิน ซีห์” นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสของธนาคารดีบีเอสของสิงคโปร์ ระบุว่า สถานการณ์จีดีพีที่ต่ำกว่าที่คาดการณ์นี้ยิ่งสะท้อนถึงความเสี่ยงที่เกิดจากนโยบายขึ้นภาษีของสหรัฐ ซึ่งครอบคลุมผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์ที่ทำให้กระทบต่อสิงคโปร์เต็ม ๆ ในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งในห่วงโซ่อุปทานของอุตสาหกรรมดังกล่าว

นอกจากนี้ “อินโดนีเซีย” ประเทศที่มีระบบเศรษฐกิจขนาดใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ประกาศจีดีพีไตรมาส 2 อยู่ที่ 5.05% ลดลงมาจากไตรมาสแรก อยู่ที่ 5.07% ซึ่งถือว่าอ่อนแอที่สุดในรอบ 2 ปี ขณะที่ญี่ปุ่นซึ่งกำลังเปิดศึกการค้าคู่ใหม่กับ “เกาหลีใต้” รายงานข้อมูลจากสำนักงานคณะรัฐมนตรีญี่ปุ่น ที่ระบุว่า จีดีพีไตรมาส 2/62 ของญี่ปุ่นขยายตัว อยู่ที่ 1.8% จากไตรมาสแรก อยู่ที่ 2.2%

“ซิตี้กรุ๊ป” บริษัทการเงินข้ามชาติ สรุปว่า 3 ปัจจัยเสี่ยงสำคัญต่อเศรษฐกิจโลกครั้งนี้ คือ 1.การชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน 2.สงครามการค้า และ 3.เบร็กซิต ซึ่งล่าสุดสัญญาณเตือนจากตลาดตราสารหนี้ของสหรัฐและอังกฤษได้สะท้อนว่า เศรษฐกิจโลกเสี่ยงเข้าสู่ภาวะถดถอยครั้งใหญ่นับแต่เกิดวิกฤตการเงินในปี 2551

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0