โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไอที ธุรกิจ

ผลวิจัย: ตระกูลเศรษฐีไทย รวยชนะสภาวะเศรษฐกิจ ยิ่งนานวันยิ่งรวย สวนทางคนจนชัดเจน

TODAY

อัพเดต 24 ส.ค. 2562 เวลา 04.08 น. • เผยแพร่ 23 ส.ค. 2562 เวลา 13.24 น. • Workpoint News
ผลวิจัย: ตระกูลเศรษฐีไทย รวยชนะสภาวะเศรษฐกิจ ยิ่งนานวันยิ่งรวย สวนทางคนจนชัดเจน

อาจจะไม่ใช่เรื่องแปลกที่เรามักจะได้ยินว่า คนรวยมักเอาเงินต่อเงิน แต่ในสภาพเศรษฐกิจปัจจุบันที่แม้จะตกสะเก็ด อัตราการเติบโตของเศรษฐกิจนั้นไม่ดีก็จริง แต่เชื่อหรือไม่ว่าในบรรดาครอบครัวเศรษฐี 50 อันดับแรกนั้น กลับยังสามารถรวยเอาชนะสภาวะเศรษฐกิจได้

งานวิชาการล่าสุดจาก เควิน เฮวิสัน (Kevin Hewison) ศาสตราจารย์กิตติคุณด้านเอเชียศึกษา มหาวิทยาลัยนอร์ทแคโรไรนาที่แชปเปลฮิลล์ (University of North Carolina at Chapel Hill) และอาจารย์พิเศษที่ศูนย์ศึกษามาเก๊า มหาวิทยาลัยมาเก๊า ที่มีชื่อว่า “Crazy Rich Thais: Thailand’s Capitalist Class, 1980–2019” ทำการศึกษาครอบครัวเศรษฐี 30-50 ตระกูลดังของไทย ระบุว่าครอบครัวเหล่านี้สามารถเติบโตเอาชนะสภาวะเศรษฐกิจได้เป็นอย่างดี

งานชิ้นนี้ตีพิมพ์ในวารสารวิชาการด้านเอเชียร่วมสมัย (Journal of Contemporary Asia) อาศัยการวิเคราะห์อันดับจากนิตยสารฟอบส์ของสหรัฐอเมริกาตั้งแต่ปี 2523 มาจนถึงปัจจุบัน (2562) เป็นหลัก โดยมองความเปลี่ยนแปลงทั้งในเรื่องการดำเนินธุรกิจ วิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจ และเรื่องอื่นๆ นำมาเป็นปัจจัยประกอบเพิ่มเติม

ความรวยของครอบครัวเหล่านี้ รวยเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และเอาชนะการเติบโตทางเศรษฐกิจในทุกสภาพ ไม่ว่าจะชะลอตัวหรือไม่ โดยตั้งแต่ปี พ.ศ. 2549 ถึง พ.ศ. 2562 ครอบครัวเหล่านี้รวยมากขึ้นถึง 7 เท่า และสำหรับครอบครัวในอันดับที่ 31-40 ของฟอบส์ รวยมากขึ้นถึง 9.3 เท่า ในขณะที่การเติบโตของเศรษฐกิจในประเทศ (GDP) ช่วงเดียวกัน เติบโตเพียง 2.2 เท่า ส่วนค่าแรงขั้นต่ำเติบโตเพียง 1.8 เท่า

สาเหตุส่วนหนึ่งเกิดจากการลงทุนที่ต่อเนื่องและอยู่ในหลากหลายอุตสาหกรรม แม้ว่าจะมีกิจการหลักเพียงอันเดียวก็ตาม ยกเว้นในกลุ่มครอบครัวเช่น โสภณพนิช รัตนรักษ์ และล่ำซำ ที่ความร่ำรวยลดลงหลังวิกฤตการณ์เศรษฐกิจเมื่อปี พ.ศ. 2540 ก่อนที่จะกลับคืนมาได้ในภายหลัง (ยกเว้นในกรณีของธนาคารกรุงเทพ ที่เดิมเป็นธนาคารอันดับ 1 กลายเป็นธนาคารอันดับ 3) ส่วนเตชะไพบูลย์ ซึ่งแต่เดิมเคยอยู่ในรายชื่อนี้ กลับหลุดออกไปเพราะการสูญเสียธนาคารมหานคร

นอกจากการลงทุนที่หลากหลายในหลากอุตสาหกรรมแล้ว กิจการของครอบครัวเหล่านี้ยังปรับเปลี่ยนไปตามสภาพเศรษฐกิจด้วย อย่างเช่น เครือเจริญโภคภัณฑ์ของเจียรวนนท์ ที่เปลี่ยนไปลงทุนในประเทศจีนมากขึ้น รวมถึงลงทุนในกิจการค้าปลีก การขนส่ง และอื่นๆ อีกจำนวนมาก จากเดิมที่ลงทุนเฉพาะในด้านเกษตรกรรมภายในประเทศเพียงอย่างเดียว ซึ่งไม่เติบโตมากในระยะหลัง รวมถึงการเป็นเจ้าของที่ดินด้วย ซึ่งตระกูลสิริวัฒนภักดีมีที่ดินครอบครองมากถึง 630,000 ไร่

ประเทศไทยติดอันดับความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจเป็นอันดับต้นๆ ของโลก

สิ่งที่น่าสนใจก็คือ ในบรรดารายชื่อครอบครัวเศรษฐีเหล่านี้ ถ้ารวม 5 อันดับเข้าด้วยกัน ความมั่งคั่งและความรวยจะเท่ากับอีก 25 ตระกูลรวมกัน และรายชื่อของตระกูลเหล่านี้ไม่มีการเปลี่ยนแปลงมากนักตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ยกเว้นในช่วงหลังที่ประเทศไทยเปิดเสรีมากขึ้น รวมถึงการขยายอันดับจาก 30 ตระกูล เป็น 50 ตระกูล ทำให้มีตระกูลใหม่ๆ เข้ามาอยู่ในรายชื่อเหล่านี้ด้วย

ตัวเลขในปี 2559 ระบุว่า ตระกูลเหล่าร่ำรวยนี้ ซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มคนที่ร่ำรวยที่สุด 1% ในประเทศ ครอบครองทรัพย์สินและความมั่งคั่ง 58% ของทั้งประเทศ แพ้อินเดียไป 0.4% เท่านั้น

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0