โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

ผลประชาพิจารณ์พลิก คนค้านแบน 3 สารมากกว่า

Thairath - ไทยรัฐออนไลน์

อัพเดต 19 พ.ย. 2562 เวลา 17.20 น. • เผยแพร่ 19 พ.ย. 2562 เวลา 22.20 น.
ภาพไฮไลต์
ภาพไฮไลต์

สาธารณสุขรายงานป่วยปีละหมื่น

*คณะกรรมการวัตถุอันตรายฯมึนตึ้บ กระทรวงเกษตรฯส่งหนังสือหน้าเดียวกลับมา ไร้มาตรการรองรับผลกระทบ ตีกลับ ขอรายละเอียดเพิ่ม ส่วนผลประชาพิจารณ์พบคนคัดค้านมากกว่าเห็นด้วย เตรียมเร่งหาวันประชุม ไม่ยืนยันทันวันที่ 1 ธ.ค.นี้หรือไม่ ด้าน “สุริยะ” ชี้ กรมวิชาการเกษตรต้องเสนอผลกระทบและแนวทางแก้ไขมาทั้งระบบ รวมทั้งรายชื่อสารทดแทนด้วย ชี้ยังมีขั้นตอนอีกเยอะก่อนออกประกาศจริง ปฏิเสธไม่มีญาติทำธุรกิจรับทำลายสาร *

กระทรวงสาธารณสุข รายงาน ครม.มีเกษตรกรเจ็บป่วยจากสารเคมีกำจัดศัตรูพืช 10,000 รายต่อปี โดยเฉพาะช่วง ก.ย.ของทุกปีมักจะเจ็บป่วยจากการฉีดพ่นพาราควอต ให้ยุติใช้ 3 สารเคมีเกษตรทันที

ยังเข้มข้นสำหรับประเด็นสะเทือนสังคมเรื่องการ “แบนสารเคมีการเกษตร 3 ชนิด” ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 19 พ.ย. นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.อุตสาหกรรม ในฐานะประธานคณะกรรมการวัตถุอันตราย เปิดเผยว่า ได้ให้อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม สอบถามไปยังกรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรฯ กรณีที่คณะกรรมการวัตถุอันตรายชุดก่อน มอบหมายให้กรมวิชาการเกษตร จัดทำประชาพิจารณ์และยกร่างประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เพื่อยกระดับสารเคมีทางการเกษตร 3 ชนิด ได้แก่ คลอร์ไพริฟอส พาราควอต และไกลโฟเซต จากวัตถุอันตรายชนิดที่ 3 เป็นชนิดที่ 4 ซึ่งจะมีผลห้ามผลิต นำเข้า ส่งออกและมีไว้ครอบครอง เพื่อจะได้กำหนดวันและเรียกประชุมคณะกรรมการวัตถุอันตรายชุดใหม่ ที่มีผลตามกฎหมายฉบับใหม่ตั้งแต่วันที่ 27 ต.ค. โดยในการประชุมจะต้องนำผลจากที่กรมวิชาการเกษตรไปทำประชาพิจารณ์ มาพิจารณาด้วย เพื่อได้ทราบว่า มีคนเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย

ผู้สื่อข่าวถามว่า เมื่อยกระดับ 3 สารเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 ห้ามครอบครองจะต้องมีการทำลายหรือไม่ เพราะมีข่าวออกมาว่ามีญาติของนายสุริยะ เป็นบริษัทรับทำลายสารที่ให้ยกเลิกการใช้ นายสุริยะกล่าวว่า ญาติตนไม่มีใครทำธุรกิจพวกนี้

ล่าสุดเมื่อช่วงเย็นวันเดียวกัน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ส่งหนังสือจัดทำประชาพิจารณ์กลับมาที่กระทรวงอุตสาหกรรม แต่ปรากฏว่า ส่งมาเพียงหนังสือหน้าเดียว ไม่มีรายงานมาตรการรองรับผลกระทบ ตามที่คณะกรรมการวัตถุอันตรายมีมติให้ไปจัดทำแผนรองรับ หากมีการยกเลิกการใช้ 3 สารดังกล่าว กระทรวงอุตสาหกรรมจึงประสานให้กระทรวงเกษตรฯชี้แจงกลับมาเพิ่มเติม ส่วนผลการรับฟังความคิดเห็นพบว่า มีผู้คัดค้านมากกว่าเห็นด้วย ขณะนี้อยู่ระหว่างการประสานงานกับกระทรวงเกษตรฯ เพื่อขอเอกสารเพิ่ม หลังจากกระทรวงเกษตรฯส่งหนังสือมาแล้ว กระทรวงอุตสาหกรรมจะนัดประชุมคณะกรรมการวัตถุอันตราย จากนั้นจะนำหนังสือที่กระทรวงเกษตรฯตอบกลับมา ส่งให้ที่ประชุมคณะกรรมการวัตถุอันตราย พิจารณาต่อไป

ทั้งนี้ หากคณะกรรมการมีมติเห็นด้วย จะส่งร่างประกาศกำหนดให้ 3 สารเคมีเป็นวัตถุอันตรายจากชนิดที่ 3 เป็นชนิดที่ 4 ให้นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.อุตสาหกรรมลงนาม ประกาศเป็นกฎกระทรวงอุตสาหกรรม ให้ยกเลิกการใช้สารเคมี 3 ชนิดต่อไป แต่หากไม่ผ่านการพิจารณา ที่ประชุมคณะกรรมการ จะส่งเรื่องดังกล่าวไปยังคณะอนุกรรมการพิจารณาร่างกฎหมายลูกตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) วัตถุอันตราย พิจารณาใหม่ คณะอนุกรรมการฯจะมีกรรมการจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งจากสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา มาร่วมพิจารณา คาดว่าใช้เวลาไม่เกิน 1 วัน หากเกิน 1 วัน จะเร่งนัดวันพิจารณาให้เสร็จเร็วที่สุด จากนั้นส่งกลับไปให้คณะกรรมการวัตถุอันตรายพิจารณาอีกครั้ง

ขณะเดียวกัน กระทรวงอุตสาหกรรมได้พิจารณาว่า การที่กระทรวงเกษตรฯ ส่งหนังสือมาเพียงหน้าเดียว ทำให้มีข้อมูลไม่เพียงพอในการพิจารณา เพราะการประชุมคณะกรรมการวัตถุอันตรายชุดใหญ่ที่มี รมว.อุตสาหกรรม เป็นประธาน ควรจะมีข้อมูลครบถ้วนมากกว่านี้ ส่วนจะประกาศแบน 3 สาร ทันในวันที่ 1 ธ.ค.หรือไม่ ต้องขึ้นอยู่กับคณะกรรมการวัตถุอันตราย และขั้นตอนการประกาศในราชกิจจานุเบกษา

อีกด้าน นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี รับทราบตามที่กระทรวงสาธารณสุขรายงาน ว่า ได้ประชุมกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงอุตสาหกรรม สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ เมื่อวันที่ 13 ก.ย. ถึงผลจากการใช้วัตถุอันตราย 3 ชนิด จากข้อมูลพิษวิทยาจากต่างประเทศ รวมถึงข้อมูลจากกองโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อม กรมควบคุมโรค พบว่าทำให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพเกษตรกร โดยผลจากการตรวจระดับเอนไซม์อะซีติลโคลีนเอสเตอเรสในเลือด ของเกษตรกรกลุ่มตัวอย่าง ณ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลทั่วประเทศ ตั้งแต่ปี 2554-2562 พบว่าแต่ละปีเกษตรกร 30 % ของผู้ได้รับการตรวจมีระดับเอนไซม์ที่แสดงให้เห็นว่า มีการสัมผัสสารเคมีกำจัดศัตรูพืชสูงกว่าคนทั่วไป อยู่ในระดับเสี่ยงต่อสุขภาพ สัดส่วนของเกษตรกรที่มีความเสี่ยงจะเจ็บป่วย จากสารเคมีกำจัดศัตรูพืชยังมีแนวโน้มสูงขึ้นและสถานการณ์เจ็บป่วยจากพิษสารกำจัดศัตรูพืช ที่รายงานสถานการณ์โรค จากหน่วยบริการทั่วประเทศ ช่วงปี 2558-2562 พบว่ามีอุบัติการณ์ระหว่าง 8.9-17.12 ราย ต่อประชากรแสนราย หรือประชาชน 10,000 รายต่อปี เมื่อวิเคราะห์ประวัติการเจ็บป่วยโดยละเอียดพบว่า ในช่วงเดือน ก.ย.ของทุกปีมักจะเจ็บป่วยจากการฉีดพ่นพาราควอต

นางนฤมลยังกล่าวอีกว่า และจากการวิเคราะห์ข้อมูลยังพบว่า มีการเจ็บป่วยเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญในช่วงเวลาที่มีการฉีดพ่นยาฆ่าหญ้าในไร่อ้อยหรือในนาข้าว แสดงให้เห็นว่าการใช้ยาฆ่าหญ้าทางการเกษตร มีผลต่อการเจ็บป่วยของประชาชนทั้งในส่วนของเกษตรกรผู้ใช้ ผู้สัมผัสและผู้บริโภคอาหารที่มีการปนเปื้อนวัตถุอันตรายดังกล่าว รวมทั้งข้อมูลงานวิจัยของคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ที่พบสารพาราควอตในขี้เทาทารกแรกเกิด ซึ่งจะมีผลต่อการถูกทำลายของต่อมไร้ท่อในลูกอัณฑะทำให้มีอสุจิลดลง ต่อมไทรอยด์ทำให้มีภาวะฮอร์โมนไทรอยด์ต่ำที่ทำให้เกิดปัญญาอ่อน ส่งผลต่อพัฒนาการและภาวะการเจริญเติบโตของเด็กในอนาคต กระทรวงสาธารณสุขเห็นว่า การใช้วัตถุอันตรายทั้ง 3 ชนิด ก่อให้เกิดโรคจากสิ่งแวดล้อมตาม พ.ร.บ.ควบคุมโรคจากการประกอบอาชีพและโรคจากสิ่งแวดล้อม พ.ศ.2562 จึงมีความจำเป็นที่จะต้องป้องกัน และควบคุมโรคจากสิ่งแวดล้อมแก่ประชาชนที่ได้รับหรืออาจได้รับมลพิษ จึงเห็นควรยุติการใช้สารเคมีทางการเกษตรทั้ง 3 ชนิดทันที

ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุม ครม.ถึงการแบน 3 สารพิษที่จะมีผลบังคับใช้วันที่ 1 ธ.ค.ว่า มีการประกาศในราชกิจจานุเบกษาไปแล้ว ต่อไปเป็นขั้นตอนของการดำเนินการว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไป โดยเฉพาะในเรื่องของการทำความเข้าใจ ทราบว่ากระทรวงเกษตรฯ ได้หารือกับผู้ส่งออกและนำเข้าสารเคมี รวมทั้งทำความเข้าใจกับเกษตรกรและประชาชนว่าแก้ปัญหากันอย่างไรในเรื่องนี้ ก่อนที่กฎหมายจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 ธ.ค.

สำหรับประกาศของราชกิจจานุเบกษาเรื่องการแบน 3 สารเคมีการเกษตร เมื่อช่วงค่ำวันที่ 18 พ.ย. เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่คำสั่งกรมวิชาการเกษตรที่ 1511/2562 เรื่อง การดำเนินการกับวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 ที่กรมวิชาการเกษตรเป็นผู้รับผิดชอบ อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 41 มาตรา 42 และมาตรา 52 แห่ง พ.ร.บ.วัตถุอันตราย พ.ศ.2535 แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ.2551 อธิบดีกรมวิชาการเกษตร ออกคำสั่งไว้ ดังต่อไปนี้

วัตถุอันตรายตามคำสั่งนี้ หมายความว่าวัตถุอันตรายไกลโฟเซต ไกลโฟเซต-เซสควิโซเดียม ไกลโฟเซต-โซเดียม ไกลโฟเซต-ไดแอมโมเนียม ไกลโฟเซต-ไตรมีเซียม ไกลโฟเซต-โพแทสเซียม ไกลโฟเซต-โมโนเอทิลแอมโมเนียม ไกลโฟเซต-โมโนแอมโมเนียม ไกลโฟเซต-ไอโซโพรพิลแอม-โมเนียม คลอร์ไพริฟอส คลอร์ไพริฟอส-เมทิลพาราควอต พาราควอตไดคลอไรด์ และพาราควอตได-คลอไรด์ [บิส (เมทิลซัลเฟต)] ที่กรมวิชาการเกษตรรับผิดชอบ ตามประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่อง บัญชีรายชื่อวัตถุอันตราย ออกตามความในมาตรา 18 วรรคสอง แห่ง พ.ร.บ.วัตถุอันตราย พ.ศ.2535 ให้วัตถุอันตรายข้างต้น ที่อยู่ในความครอบครอง ก่อนวันที่ประกาศกำหนดให้วัตถุอันตรายนั้นเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 ต้องแจ้งปริมาณที่มีไว้ในครอบครอง ภายใน 15 วัน นับแต่ประกาศกำหนดให้วัตถุอันตรายดังกล่าว เป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 มีผลบังคับใช้แล้ว โดย กทม.ให้แจ้งที่สำนักควบคุมพืชและวัสดุการเกษตร ส่วนภูมิภาคแจ้งที่สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 1 จังหวัดเชียงใหม่ สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 2 จังหวัดพิษณุโลก สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 3 จังหวัดขอนแก่น สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 4 จังหวัดอุบลราชธานี สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 5 จังหวัดชัยนาท สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 6 จังหวัดจันทบุรี สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 7 จังหวัดสุราษฎร์ธานี สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 8 จังหวัดสงขลา

คำสั่งดังกล่าวยังระบุด้วยว่า ให้ผู้มีไว้ในครอบครอง ซึ่งวัตถุอันตรายข้างต้น ส่งมอบวัตถุอันตรายดังกล่าวที่อยู่ในความครอบครองต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ภายใน 15 วัน นับแต่วันที่แจ้งปริมาณการครอบครอง ดังนี้ กทม.ส่งมอบที่สำนักควบคุมพืชและวัสดุการเกษตร ส่วนภูมิภาคส่งมอบที่สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 1 จังหวัดเชียงใหม่ สำนักวิจัยและ พัฒนาการเกษตรเขตที่ 2 จังหวัดพิษณุโลก สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 3 จังหวัดขอนแก่น สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 4 จังหวัดอุบลราชธานี สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 5 จังหวัดชัยนาท สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 6 จังหวัดจันทบุรี สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตร เขตที่ 7 จังหวัดสุราษฎร์ธานี สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 8 จังหวัดสงขลา คำสั่งนี้ให้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา และมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ธ.ค.2562 เป็นต้นไป สั่ง ณ วันที่ 29 ตุลาคม พ.ศ. 2562 น.ส.เสริมสุข สลักเพ็ชร์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร

ข่าวอื่นที่เกี่ยวข้อง

ตามข่าวก่อนใครได้ที่
- Website : www.thairath.co.th
- LINE Official : Thairath

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0