โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

ปากแหว่งเพดานโหว่ อาการที่ไม่มีใครอยากให้ลูกเป็น

Motherhood.co.th

เผยแพร่ 19 ก.ค. 2562 เวลา 16.30 น. • Motherhood.co.th Blog
ปากแหว่งเพดานโหว่ อาการที่ไม่มีใครอยากให้ลูกเป็น

ปากแหว่งเพดานโหว่ อาการที่ไม่มีใครอยากให้ลูกเป็น

ไม่ว่าคุณพ่อคุณแม่คนไหนก็ย่อมต้องอยากให้ลูกน้อยเกิดมามีอาการครบ 32 และสมบูรณ์แข็งแรง หากเกิดความผิดปกติขึ้นมา โดยเฉพาะอาการ "ปากแหว่งเพดานโหว่" ย่อมสร้างความเครียดให้กับคุณพ่อคุณแม่แน่นอน จะรักษาได้อย่างไร จะมีวิธีการป้องกันได้ไหม ต้องติดตามอ่านในบทความนะคะ

ทำความรู้จักอาการปากแหว่งเพดานโหว่

ปากแหว่งเพดานโหว่ (Cleft Lip, Cleft Palate) เป็นโรคที่สามารถสังเกตเห็นได้ชัด คือจะมีรอยแยกที่บริเวณริมฝีปาก ใต้จมูก เหงือกบน หรือเพดานปาก สามารถเกิดขึ้นแยกกันหรืออย่างใดอย่างหนึ่ง หรือเกิดร่วมกันทั้งปากแหว่งและเพดานโหว่ได้ จัดเป็นโรคที่พบตั้งแต่เด็ก และถือเป็นความผิดปกติแต่กำเนิดอย่างหนึ่งโดยเกิดความผิดปกติตั้งแต่ในครรภ์มารดา และอาจตรวจพบได้ตั้งแต่ในครรภ์หรือหลังคลอด โดยจะส่งผลต่อลักษณะทางกายภาพ การรับประทานอาหาร การกลืน สุขภาพในช่องปาก และการได้ยิน

ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือสามารถพบเด็กเป็นโรคนี้ได้มากที่สุด
ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือสามารถพบเด็กเป็นโรคนี้ได้มากที่สุด

ลักษณะของโรค

ทารกสามารถเกิดมาพร้อมลักษณะของปากแหว่งหรือเพดานโหว่เพียงอย่างใดอย่างหนึ่งหรือทั้งสองอย่างร่วมกันได้ โดยลักษณะของโรคสามารถพบได้ 3 รูปแบบ ดังนี้

  • รอยแหว่งที่บริเวณริมฝีปากบนและรูโหว่ที่เพดานปาก ส่งผลให้ลักษณะทางกายภาพของใบหน้าเปลี่ยนไปข้างใดข้างหนึ่งหรือทั้ง 2 ข้าง
  • รอยแหว่งเล็กๆที่เกิดขึ้นเฉพาะบริเวณริมฝีปากบน หรืออาจยาวไปถึงเหงือกบน เพดานปาก รวมถึงบริเวณใต้จมูก ส่งผลให้ลักษณะทางกายภาพของใบหน้าเปลี่ยนแปลงไป
  • รอยโหว่เฉพาะบริเวณเพดานอ่อนในปาก ไม่มีผลต่อลักษณะทางกายภาพของใบหน้า

สาเหตุของโรค

สามารถเกิดได้ตั้งแต่ทารกอยู่ในครรภ์มารดา ในช่วงเดือนที่ 2 และ 3 ของการตั้งครรภ์ ทำให้เกิดความผิดพลาดในการสร้างอวัยวะบางส่วน ได้แก่ ปากและเพดานปาก ปัจจุบันแพทย์ยังไม่ทราบสาเหตุที่แท้จริงของการเกิดโรค แต่เชื่อว่าอาจเกิดจากปัจจัยต่างๆ ดังนี้

  • การสืบทอดกรรมพันธุ์ในผู้ที่มีประวัติการเกิดโรคปากแหว่งเพดานโหว่กับสมาชิกในครอบครัว
  • การสูบบุหรี่หรือดื่มแอลกอฮอล์ในระหว่างตั้งครรภ์
  • โรคอ้วนในระหว่างตั้งครรภ์
  • การขาดกรดโฟลิคในระหว่างตั้งครรภ์
  • การสัมผัสเชื้อไวรัสหรือสารเคมีระหว่างตั้งครรภ์
  • การใช้ยาบางชนิดระหว่างตั้งครรภ์ เช่น ยากันชัก สเตียรอยด์ ยารักษาสิวที่มีส่วนประกอบของแอคคิวเทน รวมถึงยาที่ใช้ในการรักษาโรคมะเร็ง โรคข้ออักเสบ และโรคสะเก็ดเงิน
  • ข้อบกพร่องอื่น ๆ เช่น กลุ่มอาการดิจอร์จ (DiGeorge Syndrome) รวมถึงปัญหาของระบบภูมิกันของร่างกาย ปัญหาต่อมไทรอยด์ เป็นต้น
เพดานโหว่ คือ การที่มีช่องเปิดระหว่างเพดานปากและฐานจมูก
เพดานโหว่ คือ การที่มีช่องเปิดระหว่างเพดานปากและฐานจมูก

การวินิจฉัยโรค

ปากแหว่งเพดานโหว่สามารถเกิดขึ้นได้ตั้งแต่ทารกอยู่ในครรภ์มารดาหรือเกิดขึ้นหลังการคลอด การวินิจฉัยสามารถทำได้ด้วยกัน 2 วิธี คือการอัลตราซาวด์ และการตรวจร่างกายทารกแรกเกิด

  • การอัลตราซาวด์ (Ultrasound) คือการใช้คลื่นเสียงเพื่อจำลองภาพของทารกในครรภ์ โดยแพทย์จะทำการตรวจโครงสร้างใบหน้าของทารกเพื่อหาความผิดปกติ สามารถทำการตรวจได้ตั้งแต่อายุครรภ์ช่วงสัปดาห์ที่ 13 และอาจตรวจตัวอย่างน้ำคร่ำเพื่อหาความผิดปกติของโครโมโซม สำหรับการตรวจด้วยวิธีอัลตราซาวด์ อาการปากแหว่งจะสามารถตรวจพบได้ง่ายกว่าอาการเพดานโหว่ที่เกิดขึ้นในเพดานปากเพียงอย่างเดียว
  • การตรวจร่างกายทารกแรกเกิด คือการตรวจลักษณะทางกายภาพของทารกหลังคลอดในช่วงแรกเกิด เพื่อตรวจความปกติของร่างกาย เช่น ความผิดปกติบนใบหน้าและช่องปาก ตา สะโพก หัวใจ

วิธีการรักษา

การรักษามีจุดประสงค์เพื่อเพิ่มความสามารถในการรับประทานอาหาร การพูด การได้ยิน รวมไปถึงลักษณะทางกายภาพให้สามารถใช้งานได้ตามปกติ สามารถทำได้ด้วยวิธีการผ่าตัด จะใช้เวลาประมาณ 1-2 ชั่วโมง รูปแบบของการผ่าตัดจะขึ้นอยู่กับอาการของผู้ป่วยแต่ละราย โดยมีรายละเอียดดังนี้

  • การผ่าตัดอาการปากแหว่ง จะทำภายในช่วง 12 เดือนหลังคลอด โดยแพทย์จะทำการเย็บเพื่อเชื่อมรอยแยกที่บริเวณริมฝีปากรวมถึงรอยแยกบริเวณใต้จมูกเข้าด้วยกัน
  • การผ่าตัดอาการเพดานโหว่ จะทำเมื่อเด็กมีอายุ 18 เดือน โดยแพทย์จะทำการเย็บเพื่อปิดรอยแยกที่บริเวณเพดานอ่อนหรือเพดานแข็งในปาก
  • การผ่าตัดใส่ท่อในหู จะทำเมื่อเด็กมีอายุ 6 เดือน เป็นการผ่าตัดเพื่อระบายของเหลวในหูชั้นกลาง และลดความเสี่ยงของการเกิดการติดเชื้อที่จะนำไปสู่การสูญเสียการได้ยิน
  • การผ่าตัดซ่อมแซมรอยแหว่งที่เหงือกโดยใช้กระดูก จะทำเมื่อเด็กมีอายุ 8-12 ปี
  • การผ่าตัดเพื่อปรับปรุงลักษณะและการทำงานของริมฝีปากและเพดานปาก อาจมีการผ่าตัดในรูปแบบนี้ร่วมด้วยในกรณีที่การผ่าตัดอาการปากแหว่งหรือเพดานโหว่ยังไม่สามารถทำให้ประสิทธิภาพในการพูดของผู้ป่วยใช้งานได้เหมือนปกติ
  • การผ่าตัดกรามหรือขากรรไกรล่าง เพราะผู้ป่วยที่เป็นโรคนี้จะมีกรามหรือขากรรไกรล่างที่ผิดรูปไปจากปกติ

การดูแลรักษาจำเป็นต้องอาศัยแพทย์เฉพาะทางหลายสาขาร่วมดูแลเป็นทีม เช่น กุมารแพทย์ ศัลยแพทย์ตกแต่ง ทันตแพทย์ โดยจะมีการวางแผนการดูแลรักษาผู้ป่วยและให้คำแนะนำการผ่าตัดผู้ป่วยอย่างเป็นระบบ

ปัจจุบันสามารถรักษาให้หายได้แล้ว โดยวิธีการผ่าตัดปิดช่องโหว่
ปัจจุบันสามารถรักษาให้หายได้แล้ว โดยวิธีการผ่าตัดปิดช่องโหว่

ภาวะแทรกซ้อน

  • ปัญหาในการรับประทานอาหาร เด็กที่มีอาการเพดานโหว่ไม่สามารถดูดนมแม่ได้ตามปกติ เนื่องจากมีรูโหว่ที่เพดานปาก เช่นกันกับเด็กที่มีอาการปากแหว่ง เพราะไม่สามารถปิดปากได้สนิท อาจทำให้อาหารและของเหลวขึ้นจมูก
  • การติดเชื้อที่หูและปัญหาการได้ยิน เด็กที่เป็นโรคนี้จะมีความเสี่ยงในการติดเชื้อที่หูชั้นกลางหรือหูน้ำหนวกได้มากกว่า ถ้าไม่ได้รับการรักษาอาจส่งผลต่อการได้ยิน หรือสูญเสียการได้ยินได้ แพทย์จะทำการผ่าตัดใส่ท่อที่บริเวณแก้วหูเพื่อระบายของเหลว อาจจำเป็นต้องใช้เครื่องช่วยฟังในผู้ป่วยบางราย
  • ปัญหาทางการพูด ปากและเพดานเป็นส่วนสำคัญในการออกเสียงที่ถูกต้องและชัดเจน เด็กที่เป็นโรคนี้แล้วไม่ได้รับการผ่าตัด จะทำให้เด็กพูดไม่ชัด มีเสียงขึ้นจมูกได้ แต่การผ่าตัดสามารถช่วยแก้ไขปัญหาให้ผู้ป่วยบางรายเท่านั้น แต่บางรายอาจต้องเข้ารับการรักษาด้วยการบำบัดการพูด
  • ปัญหาทางทันตกรรม เด็กที่เป็นโรคนี้มีแนวโน้มที่จะฟันผุ ฟันขึ้นผิดตำแหน่ง ฟันซ้อน ฟันเก จำเป็นต้องรับการตรวจหรือรักษาโดยทันตแพทย์เป็นประจำ หรืออาจมีการจัดฟันร่วมด้วย

การป้องกันโรค

โรคนี้ป็นสิ่งที่เกิดขึ้นตั้งแต่ทารกอยู่ในครรภ์มารดา จึงไม่อาจป้องกันได้ แต่สามารถลดความเสี่ยงของการเกิดโรคในบุตรคนต่อไป โดยสามารถปฏิบัติตามแนวทางนี้

  • เข้ารับการปรึกษาด้านพันธุกรรม หากพบว่าคนในครอบครัวเคยมีประวัติโรคปากแหว่งเพดานโหว่ ควรปรึกษาแพทย์และวางแผนการตั้งครรภ์เพื่อตรวจสอบความเสี่ยงต่อการเกิดโรค
  • คุณแม่ควรรับประทานวิตามินที่เป็นประโยชน์ต่อการตั้งครรภ์ เช่น กรดโฟลิค ธาตุเหล็ก ไอโอดีน แคลเซียม วิตามินดี วิตามินซี วิตามินอี วิตามินบี 12 ไนอาซิน หรือสังกะสี
  • คุณแม่ต้องงดการสูบบุหรี่และงดการดื่มแอลกอฮอล์ระหว่างตั้งครรภ์ รวมทั้งหลีกเลี่ยงการอยู่ในสถานที่ที่มีควันบุหรี่ และคุณพ่อที่สูบบุหรี่ก็ควรเลิกสูบเสียเพื่อสุขภาพของคุณแม่และทารกในครรภ์

หากเกิดปัญหานี้ขึ้นกับลูก คุณพ่อคุณแม่อย่าเพิ่งท้อใจ เพราะสมัยนี้แพทย์สามารถรักษาด้วยวิธีผ่าตัดจนเด็กสามารถกลับมาใช้งานอวัยวะต่างๆได้เป็นปกติ สิ่งที่ต้องทำคือการปรึกษาแพทย์ตั้งแต่เนิ่นๆและทำตามคำแนะนำอย่างเคร่งครัดค่ะ

 

อ่านบทความสำหรับแม่และเด็กอื่นๆที่น่าสนใจได้ที่นี่ >> story.motherhood.co.th

มองหาสินค้าสำหรับแม่และเด็กในราคาสุดพิเศษได้เลยที่ >> Motherhood.co.th

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0