โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ธุรกิจ-เศรษฐกิจ

ปัญหาอุตสาหกรรมเหล็กไทย ที่เรายังไม่รู้

ลงทุนแมน

อัพเดต 17 ธ.ค. 2561 เวลา 13.25 น. • เผยแพร่ 18 ธ.ค. 2561 เวลา 03.10 น. • ลงทุนแมน

ปัญหาอุตสาหกรรมเหล็กไทย ที่เรายังไม่รู้ / โดย ลงทุนแมน

ถ้าพูดถึงอุตสาหกรรมที่เป็นปัญหาเรื้อรังในประเทศไทย
น่าจะต้องมีชื่อของ อุตสาหกรรมเหล็ก เป็นหนึ่งในนั้น

เรื่องนี้มีเบื้องหลังเป็นอย่างไร
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง

อย่างที่เรารู้กันว่า เหล็กถือว่าเป็นหนึ่งในองค์ประกอบที่สำคัญของการก่อสร้าง ซึ่งจะสัมพันธ์กับการขยายตัวของเศรษฐกิจภายในประเทศ

ประเทศไทยเองก็มีการเติบโตในช่วงหลายปีที่ผ่านมา อุตสาหกรรมเหล็กไทยก็น่าจะเติบโตตาม

แต่เรื่องกลับไม่ได้เป็นแบบนั้น เพราะอะไร?

สาเหตุหนึ่งก็เป็นเพราะ ในตลาดไม่ได้มีแต่เหล็กไทย แต่ยังมีเหล็กนำเข้าจากต่างประเทศ โดยเฉพาะจีนเป็นจำนวนมากด้วย

ทำไมเหล็กนำเข้าถึงเข้ามาสู่ประเทศไทย? ทั้งที่กำลังการผลิตเหล็กในไทยมีมากเพียงพออยู่แล้ว

อย่างที่เรารู้กันดีว่า จีนเป็นประเทศที่มีการเติบโตทางเศรษฐกิจรวดเร็วมากในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เหล็กจึงมีความต้องการเพิ่มขึ้นตามการเติบโตนั้น และส่งผลให้ผู้ผลิตเหล็กในประเทศจีนเพิ่มขึ้นตามไปด้วย

แต่ผู้ผลิตเหล็กจีนเพิ่มขึ้นมาก มากจนเกินกว่าความต้องการในประเทศจีน

คำถามต่อมาก็คือ เหล็กที่เหลือจากกำลังผลิตที่มากเกินไป จะทำอย่างไร?

ทางออกของเรื่องนี้จึงกลายเป็นการส่งออกไปขายที่ประเทศอื่น ซึ่งไทยเองก็เป็นหนึ่งในเป้าหมายนั้นเหมือนกัน

แม้ว่าประเทศไทยเองจะมีมาตรการเก็บภาษีนำเข้าเหล็กหรือที่รู้จักกันในชื่อว่า Anti-Dumping (AD) แต่สุดท้ายแล้ว เหล็กไทยก็ถูกทุ่มตลาดจากเหล็กจีนอยู่ดี

เมื่อเป็นแบบนี้ ผู้ประกอบการหลายรายก็อาจเลือกเหล็กจีน เพราะทำให้มีต้นทุนในการก่อสร้างที่ถูกกว่า

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้เหล็กจีนจะน่าดึงดูดในด้านราคา แต่ในเรื่องของคุณภาพอาจจะต่างกันออกไป

มีเหล็กจำนวนมากจากจีนที่เข้ามาในประเทศไทยแต่ไม่ตรงตามมาตรฐานและอาจกลายเป็นปัญหาต่อโครงสร้างของตัวอาคารในระยะยาว

อย่างไรก็ตามทางกระทรวงอุตสาหกรรมเองก็ไม่ได้ปล่อยปัญหานี้ผ่านไป เพราะเมื่อเร็วๆ นี้ได้มีการประกาศใช้ มอก.ใหม่นั่นเอง

แล้ว มอก.ใหม่จะช่วยแก้ไขปัญหาเหล็กจีนได้อย่างไร?

ถึงแม้ มอก.ใหม่ จะไม่ได้ป้องกันโดยตรงเหมือนกับการออกมาตรการ Anti-Dumping
แต่ มอก.ใหม่ จะช่วยแบ่งชั้นคุณภาพของเหล็ก ให้มีความชัดเจนมากขึ้น

โดยกำหนดให้ผู้ผลิตเหล็กต้องแสดงชนิดของเตาหลอมที่ใช้ในการหลอมเหล็กเป็นตัวนูนเพิ่มลงไปบนเนื้อเหล็กทุกเส้น ซึ่งในไทยจะมีเตาอยู่ 2 ประเภท คือแบบ EF และ IF

EF จะเป็นเตาหลอมซึ่งมีข้อดีคือ สามารถควบคุมความบริสุทธิ์ของเหล็กได้โดยไม่ต้องคำนึงถึงคุณภาพเหล็กที่นำมาใช้หลอม หรือพูดง่ายๆ ก็คือ เหล็กที่ได้จากเตา EF จะสามารถควบคุมให้มีคุณภาพสม่ำเสมอได้

ส่วนเตา IF เป็นเตาหลอมเหล็ก ซึ่งคุณภาพของเหล็กที่ได้ จะขึ้นกับคุณภาพเศษเหล็กที่นำมาใช้หลอม ส่งผลให้คุณภาพเหล็กที่ได้อาจจะไม่สม่ำเสมอ

สรุปแล้วก็คือ เตาแบบ EF ให้เหล็กที่คุณภาพดีกว่า และ มอก.ใหม่นี้จะควบคุมเหล็กให้ใช้เตาหลอมแบบ EF

ส่วนเหล็กที่ได้จากเตาหลอมแบบ IF จะต้องมีคุณภาพที่ตรงตามมาตรฐานที่ถูกยกระดับขึ้นเท่านั้น

มาถึงตรงนี้แล้วหลายๆ คนน่าจะพอเดาได้ว่า เหล็กจีนส่วนมากแล้วจะใช้เตาหลอมแบบ IF นั่นเอง

ถ้าเราติดตามข่าวในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาจะเห็นว่า ประเทศจีนมีกฎหมายควบคุมมลพิษที่รุนแรงมากขึ้น ส่งผลให้โรงงานที่ใช้เตาแบบ IF จำนวนมากต้องถูกสั่งปิด

ฟังดูเหมือนว่าเรื่องนี้น่าจะเป็นประโยชน์ต่ออุตสาหกรรมเหล็กไทย แต่เรื่องนี้กลับผิดคาด

เพราะเรื่องกลายเป็นว่า เตาแบบ IF จำนวนมากจากประเทศจีนกำลังย้ายมาผลิตในประเทศไทยแทน เพราะเนื่องจากราคาของเตาชนิดนี้มีราคาถูกกว่า

กลายเป็นว่า ประเทศไทยอาจจะมีเหล็กด้อยคุณภาพเพิ่มมากขึ้น และที่สำคัญก็คงเป็นเรื่องของมลพิษที่จะเพิ่มขึ้นมาในอนาคต

ซึ่งตรงกันข้ามกับเตาหลอมแบบ EF ที่ก่อให้เกิดมลพิษน้อยและควบคุมคุณภาพเหล็กได้ง่ายกว่า

อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้เราจะโทษว่าเป็นผลมาจากประเทศจีนก็ไม่ได้เสียทีเดียว เพราะถ้าไม่มีคนซื้อ ก็ไม่มีคนขาย

หรือแปลได้ว่า ในประเทศไทยก็ยังคงมีการก่อสร้างหลายโครงการที่ใช้เหล็กจากจีนอยู่เพราะต้องการควบคุมต้นทุน

สุดท้ายแล้วปัญหาของอุตสาหกรรมเหล็กไทยจะถูกแก้ไขได้หรือไม่ เราคงจะต้องติดตามกันต่อไป

แต่ถ้าแก้ไขไม่ได้
อุตสาหกรรมเหล็กก็อาจจะกลายเป็นปัญหาใหญ่ของประเทศไทยในอนาคตนั่นเอง..
———————-
ติดตามเรื่องรอบตัวอื่นๆ ได้ที่เพจลงทุนแมน ในแอปพลิเคชัน blockdit โซเชียลมีเดียรูปแบบใหม่ของคนไทย โหลดฟรี blockdit.com
———————-

References
-https://www.reuters.com/article/us-china-pollution-steel/chinas-xuzhou-shuts-steel-mills-in-pollution-crackdown-sources-idUSKBN1HY0HP
-https://www.khaosod.co.th/economics/news_756089
-https://mgronline.com/business/detail/9600000086787
-http://seaisi.org/seaisi2017/file/file/full-paper/12B-5%20Induction%20Versus%20Electric%20Arc%20Furnace%20in%20Steelmaking%20Process.pdf
-https://www.builk.com/th/deformbar_ef-if/

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0