โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

ปัญยวีร์ พงศ์สินไทย: เป็นไปได้ไหม หากใครคนหนึ่งจะเลี้ยงชีพด้วยภาพแอ็บสแตร็กต์?

The Momentum

อัพเดต 25 ก.ย 2561 เวลา 10.57 น. • เผยแพร่ 25 ก.ย 2561 เวลา 10.57 น. • ฉัตรรวี เสนธนิสศักดิ์

In focus

  • ป่าน—ปัญยวีร์ พงศ์สินไทย วาดภาพแอ็บสแตร็กต์เป็นอาชีพหลัก เมื่อไม่นานมานี้เธอเพิ่งพบจุดเปลี่ยนหลายอย่างในชีวิต ข้อหนึ่งคือ จากที่คิดว่าตัวเองทำงานแบบ ‘art for art’s sake’ เธอกลับพบว่างานของตัวเองเป็นคอมเมอร์เชียลอาร์ต
  • ขณะที่ต้องหาเงินจ่ายค่าเช่าสตูดิโอ เธอตัดสินใจขอให้เพื่อนช่วยลงทุนให้ ทำสัญญากันอย่างจริงจัง แล้วเธอก็เดินหน้าทำงานต่อ จนผ่านช่วงเวลานั้นมาได้ ปัจจุบัน เมล็ดที่เคยหว่านเอาไว้เริ่มผลิดอกออกผล
  • ปัญยวีร์ยังมุ่งหน้าทำงานเชิงคอนเซปต์ รีเสิร์ช หาข้อมูลมากขึ้น หลังจากที่วัตถุดิบเดิมๆ ถูกใช้จนหมดแล้ว วัตถุดิบที่เธอสนใจในช่วงเวลานี้มักมาจากสารคดีหรือหนังสือเชิงวิทยาศาสตร์และธรรมชาติ

การมีอาชีพหลักเป็นศิลปินก็นับว่าเป็นความเสี่ยงประมาณหนึ่งแล้ว ยิ่งหากเป็นงานแขนงที่ไม่ได้อยู่ในกระแสหลักของวิชวลอาร์ตอย่างเช่นภาพแอ็บสแตร็กต์ ก็ดูจะเสี่ยงเข้าไปใหญ่ แต่สำหรับเธอคนนี้ หลายอย่างกำลังไปได้ดีกว่าที่เคยเป็นมา

ป่าน—ปัญยวีร์ พงศ์สินไทย คือหญิงสาวผู้วาดภาพแอ็บสแตร็กต์เป็นอาชีพหลัก เมื่อไม่นานมานี้ เธอเพิ่งพบจุดเปลี่ยนหลายอย่างในชีวิต ข้อหนึ่งคือ จากที่คิดว่าตัวเองทำงานแบบ ‘art for art’s sake’ เธอกลับพบว่างานของตัวเองเป็นคอมเมอร์เชียลอาร์ต จากปากคำของเหล่าคิวเรเตอร์ที่พบระหว่างทำงาน แน่นอน คำพูดนั้นสั่นสะเทือนเธอไม่น้อย และนำมาสู่ความเปลี่ยนแปลงในวิธีการทำงาน รวมถึงมุมมองต่องานศิลปะของตัวเองด้วย

อีกข้อหนึ่ง วัตถุดิบเก่าที่เคยใช้ในการทำงานของเธอได้หมดลง เรื่องชีวิตวัยเด็ก การเติบโต ความเจ็บปวดที่ต้องเผชิญ หรือกระทั่งความรักความสัมพันธ์ เธอเล่าเรื่องเหล่านั้นผ่านภาพที่วาดตลอด 3 ปีที่ผ่านมาจนหมดแล้ว ดังนั้น ปี 2018 นี้ จึงเป็นอีกก้าวหนึ่งของการทำงาน เธอเริ่มรีเสิร์ชและทำงานเชิง conceptual มากขึ้น ขณะเดียวกัน ก็ต้องเผชิญกับสภาวะทางอารมณ์ระหว่างทำงาน จนถึงอาการแพ้เนื่องจากอยู่กับสารเคมีมากเกินไป แต่ก็ไม่ได้มีความคิดที่จะหยุดทำงานแอ็บสแตร็กต์ ซึ่งต่อจากนี้เราขอให้บทสนทนาได้เล่าแทน

สักเมื่อหนึ่งปีก่อน งานของคุณยังไม่ได้ขายง่ายเท่าตอนนี้ใช่ไหม

ใช่ ตอนนั้นมันยากกว่านี้ ตอนหลังมานี้เคยมีครั้งหนึ่ง โพสต์รูป5 นาที ก็มีคนขอซื้อเลย จุดเปลี่ยนคือเราทำงานเยอะขึ้น บ่อยขึ้น เราทำจริงจังขึ้นด้วยแหละเราไม่ได้แสดงงานเยอะ แต่ขณะเดียวกัน เรารู้จักคนใหม่ๆ เยอะขึ้นออกไปเจอคนเยอะขึ้น เราไม่เขินที่จะบอกเล่าเกี่ยวกับงานที่ทำ อย่างในfriend suggestion มันก็จะมีบางกลุ่มคนที่ทำงานอาร์ต เราก็แอดเขาไป มันก็เลยกลายเป็นว่า พอเราทำอะไรเขาก็เริ่มเห็น หรืออย่างคนที่รู้จักเราสามปีก่อนหน้านี้เขาก็ดูเรามาตลอด กลายเป็นว่ามีคนที่รออยู่แล้วเพราะว่าเขาเห็นเรามาก่อน

แล้วคือไม่นานมานี้ เราเพิ่งรู้ว่างานเราเป็นคอมเมอร์เชียลอาร์ต แต่ก่อนเราจะบอกว่าเราไม่ใช่ แต่พอหลังๆ เราไปเช่าแกลเลอรี่เพื่อทำเป็นสตูดิโอ แล้วได้เจอคิวเรเตอร์หลายคน เขาก็จะบอกว่าจริงๆ งานเราเป็นคอมเมอร์เชียล เป็นงานที่คนจะซื้อไปแต่งบ้าน ไม่ใช่งานที่คนจะสะสมหรือแบบที่คอลเลคเตอร์เขาเก็บๆ กันไว้เก็งกำไรในอนาคต ซึ่งเราก็เลยรู้ว่า อ้อ ที่ทำมานี้ก็ยังไม่ใช่ศิลปะเพื่อศิลปะจริงๆแฮะ มันยังเป็นศิลปะเพื่อซื้อมา-ขายไป

รู้สึกอย่างไรตอนที่ถูกบอกว่า งานตัวเองเป็นคอมเมอร์เชียลอาร์ต

ตอนแรกๆ ก็นอยด์นะ แต่ที่สุดแล้ว ในความหมายของมันเราว่าไม่ได้แย่มาก เราก็อยากให้งานมีคนเห็น อย่างน้อยมีประโยชน์กับคน ถึงมันจะเป็นรูปแต่งบ้าน แต่งโรงแรม แต่มันก็ให้อะไรกับคนที่เห็นงาน เท่านี้เราก็แฮปปี้แล้วแถมเราก็อยู่ได้ด้วย แต่เราก็ไม่สามารถฝืนตัวเองว่า ทำแนวนี้แล้วมีคนซื้อแน่นอนก็ทำแต่แนวนี้ แบบนั้นก็ไม่ไหว เราไม่ใช่โรงงานผลิตเราพยายามทำในแบบที่เราสนุกอยู่ แล้วจริงๆทำงานเพื่อขายก็ไม่เป็นไรหรอก

ทีนี้ เวลาทำงาน เราก็เลยจะมีแยกส่วนกัน ทั้งงานที่เราอยากทำ ด้วยคอนเซ็ปต์ของเราเอง กับงาน  private commission ก็คือลูกค้าเขาซื้อเฟรมเปล่า ไซส์เท่าไหร่ก็ได้ที่เขาอยากจะได้ ตกลงราคากัน เขาจะซื้องานเราตั้งแต่ยังไม่เริ่มเลย ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นงานสำหรับแต่งบ้าน เขาก็จะบอกว่าห้องเราเป็นแบบนี้นะ หรืออาจจะให้อินทีเรียดีไซเนอร์มาคุยกับเรา

แต่ตอนแรกๆ มันมีปัญหา เพราะคนจะคิดว่าจะขอเเบบไหนก็ได้ ซึ่งเราบอกเลยว่าเราไม่รับจ้างทำงานตามพินเทอร์เรสต์ คือพี่ส่งเรฟเฟอเรนซ์มาให้หนูได้ แต่ว่าเรฟฯ นั้นต้องเป็นงานที่เราเคยทำแล้วเราจะต่อยอดความคิดจากตรงนั้น เราก็จะมีข้อแม้ของเราแบบนี้

ที่บอกว่าไม่เขินที่จะเล่าเรื่องงานตัวเอง คุณเล่าในแง่ไหน

เราเล่าว่ากำลังทำงานชิ้นนี้อยู่นะ แล้วกระบวนการมันคืออะไรบ้าง คือเราต้องทำการตลาดเยอะเหมือนกัน เพราะเราต้องการอยู่ด้วยงานนี้ให้ได้ มันจะมีช่วงหนึ่งที่เราเลิกกับแฟนคนเก่า ชีวิตเปลี่ยนไปเลย จากที่จะมีแกลเลอรี่ มีสตูดิโอเป็นของตัวเอง กลายเป็นว่าต้องไปจ่ายเงินเช่าแกลเลอรี่ เงินใกล้หมด รายจ่ายมันก็เยอะขึ้น ก็เครียดมาก วันที่สิบกว่าแล้วยังไม่มีตังค์จ่ายค่าห้อง ค่าสตูฯ นอนทั้งวัน นอนแบบเศร้ามาก ตื่นมาก็ร้องไห้ แล้วความพีคคือ พอตื่นมาร้องไห้เสร็จก็ต้องไปสัมภาษณ์พอดแคสต์ต่อ คือพลังใจไม่มีเลย

แต่ในที่สุดมันก็ดีนะ พอไปสัมภาษณ์แล้วเหมือนเราได้ทบทวนตัวเองว่าที่ทำอยู่เราทำไปทำไม ช่วงก่อนหน้านี้มีปัญหาเยอะแล้วต้องยืมเงินคนนู้น คนนี้เพื่อให้อยู่ได้ ทำงานได้ พอถึงจุดหนึ่งเเล้ว เราก็แบบว่า มันต้องมีทางสิวะ ก็เลยคุยกับเพื่อนคนหนึ่งที่เขาสะสมงานศิลปะอยู่ เราคิดจะบอกมันว่า“เห้ย มึง กูอาจจะต้องยืมตังค์มึงว่ะ” แต่พอคิดไปคิดมา เราก็เลยพูดไปว่า“กูไม่ยืมเงิน แต่ว่ามึงเป็นinvester ให้กูได้มั้ย”

เราบอกไปว่า เราไม่มีอะไรเลย มีแค่สกิล มีโอกาสที่จะขายงานได้ช่วยลงทุนให้หน่อยได้ไหม เราต้องใช้เงินก้อนจำนวนเท่านี้เพื่อที่จะไปต่อได้ ซึ่งเพื่อนก็ดีมาก คุยกับเราแบบละเอียด แล้วเราก็ไม่ได้ทำปากเปล่า คือเรามีสัญญาให้หมด เออ มึงหักเปอร์เซ็นต์ไปเลย เหมือนเขาลงทุนให้เราก้อนนี้ เขาจะได้อีกเท่าตัวหนึ่งจากที่เขาลงทุนให้เรา ในที่สุดเราก็ทำได้ แล้วก็ต่อยอดมาเรื่อยๆขายงานจริงจัง อย่างตอนนี้ งานที่แสดงที่ตึก8 Thonglor เขาก็ขายแบบจริงจัง แล้วมันก็มีคนที่เขาตามงานเราอยู่ รอดูงาน เช่น ถ้าจะทำเซ็ตนี้ออกมาเขาขอดูก่อนเลย ถ้าเขาชอบ เขาซื้อเลย ก็แปลกใจเหมือนกัน 

เราว่าเหมือนเราหว่านไปเยอะ หว่านเมล็ดไปเรื่อย แล้วพอถึงเวลามันก็เเค่เริ่มโต เราก็ค่อยๆ เก็บเกี่ยวแล้วก็หว่านต่อไปเรื่อยๆ อีก คือเราว่า ถ้าก่อนหน้านี้เราไม่ได้โพสต์เรื่องงาน ไม่ได้คุยกับคนเรื่องงาน เราไม่ได้ไปนู่น ไปนี่ ก็คงจะไม่มีอะไรแบบนี้ตอนนี้บางทีเราได้รับงานชิ้นที่ใหญ่จนพอทำเสร็จคือแทบตาย

ซึ่งพอเรารับงานชิ้นใหญ่ขึ้น มันเลยเป็นเหตุผลที่ต้องไปเช่าแกลเลอรี่ทำสตูฯที่ Bridge Cafe & Art Space ตรงสาทร เพราะว่าบ้านเราที่ไม่พอ ซึ่งเขาก็เข้าใจบอกเราว่า “ป่านทำพื้นเลอะไปเลยเว้ย” หรือ“ป่านถ้าที่ทำงานไม่พอ มึงลงไปข้างล่างก็ได้นะ” เราก็เลยรู้สึกว่าได้ใช้ทั้งตึกเลยเขาให้นอนได้ด้วย แต่ยังไม่เคยนอนนะ แล้วข้อดีคือ พอเราไปอยู่แกลเลอรี่ เราก็ได้ดูงานที่มาแสดงที่นั่นไปโดยปริยายมันมีอินพุทตลอดเวลา

นอกจากทำการตลาดเยอะขึ้นแล้ว คุณยังฝึกเทคนิกเยอะขึ้นด้วย?

เราเริ่มลองทำอะไรเยอะขึ้นหลักๆ ก็ยังใช้มือเหมือนเดิมนะ แต่เริ่มลองเล่นกับน้ำ เริ่มเล่นกับพวกสารเคมี เริ่มใช้สีหลักหลายๆ แบบ เริ่มโฟกัสเรื่องเท็กซ์เจอร์ของงาน เล่นกับรสชาติในงาน พอเราออกไปเจอคน ก็ต้องกิน ต้องดื่ม จากมิติที่เป็นเรื่องเล่ามาตลอด งานเราก็จะมีมิติอื่นด้วย เช่น รสชาติ บางงานเห็นเป็นของกินก็ได้ เราต้องเปิดรับทุกอย่าง ไม่งั้นมันก็จะเป็นเรื่องเดิม เราก็ไม่อยากเล่าเรื่องเดิมๆ ชีวิตฉันลำบากมาก่อน หรือว่าเรื่องคนอะไรแบบนี้ เราก็อยากเล่าเรื่องอื่นบ้าง

อย่างล่าสุด เราเพิ่งดูสารคดีเกี่ยวกับทะเลแล้วประทับใจมันก็จะออกมาในงานจะใช้สีฟ้าเป็นหลัก เหมือนคลื่นซัด ในบริบทของงานมันสวยแหละ สวยแบบคนซื้อง่าย สีมันเฟรนด์ลี่เป็นสีฟ้าอ่อนๆ สดชื่น แต่ว่าในเท็กซ์เจอร์ของงาน มันคือน้ำที่ซัดเข้าฝั่ง แล้วดึงตัวเองกลับออกมา แต่ภาพมันจะดูไม่ออกว่าฝั่งไหนมีคลื่น ฝั่งไหนเป็นน้ำ มันคือinfinite มันเป็นเรื่องของ give and take การคืนกลับมา เป็นพื้นฐานของธรรมชาติ

เดี๋ยวนี้ดีขึ้นตรงที่ว่า ข้อมูลเก่าของเรามันหมดแล้ว เราจะมาวาดรูปเพื่อพูดเรื่องความสัมพันธ์ ความคิดวัยเด็ก มันไม่ได้แล้ว พูดไปหมดแล้วมันเลยท้าทายขึ้นตรงที่เราต้องทำรีเสิร์ชมากขึ้น อ่านหนังสือเยอะขึ้นเพื่อจะหาข้อมูล บางทีเราไปอ่านชาร์ลส์ ดาร์วินเรื่องต้นกำเนิดมนุษย์อะไรแบบนั้นหรืออย่างช่วงนี้เราชอบเรื่องสัตว์ งานที่แสดงอยู่ตอนนี้ก็ทำเกี่ยวกับเรื่องสัตว์เราพยายามศึกษาพฤติกรรมของมัน นิสัยของแต่ชนิดแล้วถ่ายทอดมันออกมาเป็นภาพแอ็บสแตร็กต์ แต่ละภาพก็อาจจะมีเทคนิกต่างกันไป

 

ความสนใจเกี่ยวกับสัตว์ชนิดหนึ่ง มันคลี่คลายกลายเป็นภาพแอ็บสแตร็กต์ได้อย่างไรบ้าง

ขอเล่าด้วยแมงกระพรุน คือเราก็เพิ่งรู้ว่าแมงกระพรุนเป็นอมตะ มันมีสองชีวิต สมมติว่ามันใช้ชีวิตไปแล้วชีวิตหนึ่ง แล้วอยู่ๆ สภาพแวดล้อมแม่งแย่มาก อยู่ไม่ได้ มันจะสามารถย้อนกลับไปเป็นตัวเล็ก แล้วกลับมาเป็นแมงกระพรุนได้อีกตัวหนึ่ง คือมันเหมือนreverse ตัวเองได้ อีกประเด็นหนึ่งของแมงกระพรุนคือ มันมีเปอร์เซ็นของน้ำในร่างกายเยอะ มันจึงเคลื่อนไหวด้วยการพึ่งพาสภาพแวดล้อม ต้องมีน้ำเพื่อพามันไป

แล้วความพีคของมันก็คือ ต่อให้เป็นอมตะ ก็ไม่มีหัวใจและไม่มีสมอง สมองของมันไม่มีต่อมรับรู้ความรู้สึกหรืออะไรเลย มันแค่รู้ได้ว่า อันตรายหรือไม่อันตราย แต่ด้วยความที่มันเป็นอย่างนั้น มันเลยทำร้ายทุกคนได้โดยที่มันก็ไม่รู้อะไรเลย แล้วต่อให้มันเป็นอมตะ ก็ไม่รู้ด้วยซ้ำว่ามันเป็นอมตะ อยู่กับความไม่รู้ของตัวเอง เหมือนพระเจ้าให้มาไม่ครบ แล้วเรารู้สึกว่ามันเป็นความเว้าแหว่งที่น่าจะเอามาทำเป็นงาน แต่มันยังไม่ออกมาเป็นภาพนะเราก็จะตีความสิ่งที่เล่ามานี้ด้วยสี ด้วยน้ำหนักของมัน ทิศทางของสี หรืออื่นๆ ถ้าเป็นภาพน่าจะเข้าใจมากขึ้น

เรารู้สึกว่าสัตว์มันน่าสนใจกว่าที่คิด บางชนิดก็ล้ำลึกอย่างกับเทคโนโลยีเราเคยดูสารคดีปลาน้ำลึกชนิดหนึ่ง ตอนดูคือ โห เฟี้ยวมาก เป็นปลาน้ำลึกที่มีสีเงินสองฝั่ง แล้วพอมันพลิกตัวก็จะหายไปเลย มันคือการพรางตัวด้วยการสะท้อนแสง มองจากข้างล่างก็ไม่เห็น อะไรแบบนี้

คือตอนเด็กเราก็ชอบดูสารคดีแต่ดูเเล้วก็แค่ว้าวๆ เฉยๆกับวิชวลที่เห็น แต่พอโตขึ้น เรามีชุดข้อมูลของเรา พอมันมารวมกันแล้วกลายเป็นเรื่องใหม่ๆ ก็ดีนะ ตอนนี้เราก็ดูเรื่องกำเนิดจักรวาลด้วย รวมถึงประวัติศาสตร์ศิลป์เราก็พยายามรู้ เราจะได้เห็นงานของคนที่เขาเคยทำมาแล้ว เราจะได้ไม่ต้องทำแบบนั้นหรือลองคิดแบบอื่น

พอทำงานเพื่อขายได้เรื่อยๆ แล้ว เรื่องการแสดงงานยังอยู่ในความคิดไหม

ถึงจุดหนึ่งการแสดงงานในแกลเลอรี่มันก็เป็นพอร์ตที่ดี แต่ว่าบางครั้ง มันกลายเป็นงานเปิดตัวอะไรสักอย่าง สวยๆ แล้วก็จบ แต่ถามว่าดีไหม มันก็ดีเลยล่ะ เมืองนอกอยากไปแสดงไหม ก็อยากไป แต่ว่าต้องดูงบตัวเองด้วยคือถ้าส่งไปแล้วมันไม่ได้ขายก็เข้าเนื้อเราเราต้องอยู่ด้วยสิ่งนี้ให้ได้ ก็ต้องคิดเรื่องนี้

แต่ว่าเราก็มีโปรเจคต์หนึ่งที่อยากทำกับแกลเลอรี่นะ เป็นเพอร์ฟอร์แมนซ์อาร์ตที่ต่อยอดมาจากงานแอ็บสแตร็กต์เนี่ยแหละ ซึ่งพอถามแกลเลอรี่ที่เราอยากร่วมงาน ปรากฏว่าคิวเขาเต็มถึงปี2020 เลย หนึ่งคือเราตกใจ ว่า โอ้โห คิวยาวมาก สองคือ หมายความว่าคนที่เขาทำงานอาร์ตจริงๆ ต้องวางแผนเป็นปี งานต้องtimeless มากๆ ไม่ใช่เล่าเรื่องวันนี้แล้วมีความหมายแค่วันนี้ ช่วงนี้ แต่คือผ่านไปเป็นปีแล้วมันยังมีความหมายอยู่ เราก็เลยได้มุมมองใหม่ๆ ว่างานเราก็ต้องเป็นอย่างนั้น

พอเวลาผ่านไป มีความคิดที่จะกลับไปตระเวนดูงานเก่าๆ ของตัวเองไหม ที่มันตกแต่งอยู่ตามที่ต่างๆ

ส่วนใหญ่มันอยู่ในบ้านคนไงแต่อย่างบางที่ที่เปิดให้คนเข้าถึงได้ เราก็ไม่ได้แวะไปแฮะ หรืออย่างที่เอสพลานาด มันก็อยู่เหมือนเดิมตรงนั้น จริงๆ หมดสัญญาแล้วนะ แต่ว่าเขาไม่ได้ลบ ก็อยากจะไปบอมบ์งานตัวเองเหมือนกัน เเต่มันไม่ได้ไง ยามเยอะนะ

Fact Box

ผลงานส่วนหนึ่งของ ปัญยวีร์ พงศ์สินไทย จัดแสดงอยู่ที่ตึก 8 Thonglor ชั้น G ตั้งแต่วันที่ 16-30 กันยายนนี้

ติดตามผลงานของเธอได้ที่ https://www.facebook.com/veepanyavee/

Instragram : panyavee.art กับ panyavee

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0