โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

ประยุทธ์-ระยะห่างพรรคร่วม "จุรินทร์-อนุทิน" แยกตัวจากศูนย์โควิด-19

ประชาชาติธุรกิจ

อัพเดต 10 เม.ย. 2563 เวลา 10.23 น. • เผยแพร่ 10 เม.ย. 2563 เวลา 10.22 น.
รายงานพิเศษ-ประยุทธ์-ระยะห่าง

รายงานพิเศษ

 

อาจเป็นเพราะการบริหารสถานการณ์ฉุกเฉิน จำเป็นต้องรวบรวมอำนาจบริหารการจัดการแบบเบ็ดเสร็จ แบบ single command หรือนักเลือกตั้งทำงานพลาดเป้า-ไม่เข้าตา โดยเฉพาะการบริหารงานในยามวิกฤต

ตั้งแต่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม สถาปนาโครงสร้าง ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 (โควิด-19) เป็นศูนย์บัญชาการแก้ปัญหาไวรัสระบาด (ศบค.)

บรรดานักการเมืองทั้งหลาย “หลบฉาก” ออกจากหน้าสื่อ เพราะถูกพิษสถานการณ์โควิด-19 เข้าเล่นงาน

“จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์” รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พาณิชย์ คือคนแรกที่ถูก “พล.อ.ประยุทธ์” social distancing หลังจากมีปมเรื่องหน้ากากอนามัยขาดแคลน แถมยังเกิดเรื่องอื้อฉาวเรื่องการกักตุนหน้ากาก จนราคาในท้องตลาดแพงหูฉี่

กระทรวงพาณิชย์ ปรับแผนให้หน้ากากอนามัยเป็นสินค้าควบคุม โดยกรมการค้าภายในรับหน้าที่จัดการกระจายหน้ากากไปให้หน่วยงานสาธารณสุข รวมถึงร้านขายยา ทว่าไม่อาจแก้ปัญหาได้

กระทั่ง “พล.อ.ประยุทธ์” ลงดาบเด้ง“อธิบดีกรมการค้าภายใน” เข้ากรุทำเนียบรัฐบาล โดยที่ “จุรินทร์” ยังไม่รู้เนื้อรู้ตัวว่า ข้าราชการในคอนโทรลถูกเด้งเข้ากรุ

ศบค.ริบอำนาจกระจายหน้ากาก

“จุรินทร์” แก้ปัญหานานกว่า 2 เดือนที่ “โควิด-19” เริ่มรุกคืบเข้าประเทศไทย แต่เหมือนจะเอาไม่อยู่ ศบค.จึงจัดตั้งคณะอนุกรรมการ 3 ชุด กระจายหน้ากากอนามัยใหม่ทั้งหมด

1.คณะอนุกรรมการบริหารจัดการหน้ากากอนามัยแห่งชาติ 2.คณะอนุกรรมการบริหารจัดการเวชภัณฑ์ระดับประเทศ และ 3.คณะอนุกรรมการบริหารจัดการการส่งออกหน้ากากอนามัย

“วิษณุ เครืองาม” รองนายกฯผู้กำกับงานด้านกฎหมาย ศบค. โฆษกทุกสถานการณ์ ออกมาขยายความเรื่องกระจายหน้ากากจาก 11 โรงงาน รวมกำลังการผลิต 2.3 ล้านชิ้นต่อวัน กระจายยัง 76 จังหวัด จัดให้กระทรวงสาธารณสุข 1.3 ล้านชิ้น เพื่อนำไปแจกจ่ายบุคลากรทางการแพทย์ และให้มหาดไทย 1 ล้านชิ้น เพื่อไปให้อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) เจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหาร เจ้าหน้าที่ที่ต้องให้บริการประชาชนในสถานที่ราชการ พนักงานเก็บขยะ กลุ่มเสี่ยง เช่น ผู้สูงอายุ เด็ก และผู้มีโรคประจำตัว เป็นต้น

เท่ากับว่าการกระจายหน้ากาก ถูกยึดมาที่ ศบค. แล้วมอบอำนาจให้กระทรวงสาธารณสุข แจกให้บุคลากรทางการแพทย์ ส่วนหน้าที่กระจายให้ชาวบ้านเป็นของกระทรวงมหาดไทย

“จุรินทร์” ชื่อไม่ถูกลดบทบาท

แต่ “จุรินทร์” ไม่ได้มองว่า เป็นการถูกลดบทบาทของกระทรวงพาณิชย์ จากการตอบคำถามของสื่อมวลชน

“เพราะรูปแบบนี้เป็นแนวทางที่กระทรวงพาณิชย์เสนอ โดยเห็นว่ากระทรวงสาธารณสุขจะได้กระจายให้โรงพยาบาลทั้งในและนอกสังกัดโดยตรง และในส่วนของจังหวัดควรให้ผู้ว่าราชการจังหวัด ที่ขณะนี้มีอำนาจเต็ม ขึ้นมาบัญชาการบริหารสถานการณ์โควิดในจังหวัดตัวเอง ผู้ว่าราชการจังหวัดแต่ละจังหวัดจะเป็นผู้ตัดสินใจว่าจะแจกจ่ายให้กลุ่มเสี่ยงกลุ่มใดก่อน”

“บิ๊กป๊อก” นำทัพแก้กักตุน

เรื่องหน้ากากอนามัยก็เรื่องหนึ่ง ยังมาเรื่องไข่ไก่ขาดตลาด รวมถึงสารพัดปัญหาเรื่องการกักตุนสินค้าในยามวิกฤตโควิด-19 คนที่เข้ามาคุมการกักตุนสินค้า เป็นบุคคลใน 3 ป. ผู้ทรงอำนาจ

31 มี.ค. คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติอนุมัติตามที่กระทรวงมหาดไทยเสนอยกเลิกมติ ครม. เมื่อวันที่ 24 มี.ค. 2497 เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการสำรวจการกักตุนโภคภัณฑ์ และแต่งตั้งคณะกรรมการสำรวจการกักตุนโภคภัณฑ์ตามพระราชบัญญัติสำรวจการกักตุนโภคภัณฑ์ พ.ศ. 2497 ขึ้นใหม่

องค์ประกอบคณะกรรมการดังกล่าว คือ รมว.มหาดไทย เป็นประธาน ส่วนคณะกรรมการ ประกอบด้วย ปลัดกระทรวงมหาดไทย ปลัดกระทรวงพาณิชย์ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ อธิบดีกรมสรรพากร อธิบดีกรมศุลกากร อธิบดีกรมการค้าภายใน อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น และอธิบดีกรมการปกครอง เป็นกรรมการ และเลขานุการ

แม้ไม่ได้อยู่ในโครงสร้าง ศบค. แต่การตั้งคณะกรรมการสำรวจการกักตุนฯดังกล่าว ทำให้ “พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา” รมว.มหาดไทย เป็นขุนพลนำฝ่ายปกครอง แก้ปัญหากักตุนสินค้า

“เพื่อเป็นการป้องกันมิให้เกิดภาวะขาดแคลน อันจะเป็นการซ้ำเติมความเดือดร้อนของประชาชน และเพื่อรักษาไว้ซึ่งความปลอดภัยและการดำรงชีวิตของประชาชน”

“จะทำให้พนักงานเจ้าหน้าที่ตามกฎหมาย สามารถปฏิบัติงานให้เป็นไปตามกฎหมายเพื่อป้องกัน ปราบปรามการกักตุนสินค้าที่จำเป็นต่อการเฝ้าระวังและควบคุมติดตามการระบาด การป้องกัน และการรักษาโรค ตลอดจนการกักตุนเครื่องอุปโภคบริโภคและสิ่งจำเป็นต่อการดำรงชีวิตประจำวันของประชาชน เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ”

ในสถานการณ์โควิด-19 “จุรินทร์” ถอยฉากมารับตัดริบบิ้น-ขับเคลื่อนอีเวนต์ งานกระทรวงพาณิชย์เป็นหลัก ส่วนใหญ่ไม่ได้เข้าไปนั่งในศูนย์บัญชาการ ศบค. เพราะตามกำหนดการของ “จุรินทร์” ที่กระทรวงพาณิชย์ ไปประชุมที่ ศบค.เพียง 1 ครั้ง เมื่อ 26 มี.ค.ที่มีประชุมครั้งแรก เมื่อครั้งเรียกว่า ศอฉ.โควิด

“อนุทิน” หลีกทางหมออเวนเจอร์

จาก “จุรินทร์” มาถึง“อนุทิน ชาญวีรกูล” รองนายกฯ และ รมว.สาธารณสุข จากที่เคยเป็น “ขุนพล” แถวหน้าในการป้องกันโควิด-19 นายกฯตั้งให้เป็นประธานคณะกรรมการอำนวยการ เตรียมความพร้อมป้องกันและแก้ไขปัญหาโรคติดต่ออุบัติใหม่แห่งชาติ เมื่อวันที่ 28 ม.ค.

วันนั้น “อนุทิน” กล่าวว่า “นายกฯมีคำสั่งตั้งคณะกรรมการระดับชาติ มีผมเป็นประธาน และประกอบด้วยรัฐมนตรีหลายกระทรวงเป็นรองประธาน ได้เชิญผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์ที่เชี่ยวชาญเรื่องระบาดวิทยา เข้ามาเป็นคณะกรรมการ เพื่อบรรยายความรุนแรงของโรคและคลายความกังวลให้กับคนไทย”

“ส่วนระยะเวลายาวนานของโรค ผู้ทรงคุณวุฒิที่เชิญมาร่วมทำงานบอกว่า วางไว้ 6 เดือน เพราะโรคซาร์ส ระยะเวลา 9 เดือน แต่ปัจจุบันประเทศจีนมีมาตรการเข้มข้น ปิดเมือง น่าจะทำให้การควบคุมโรคในประเทศไทยมีประสิทธิภาพมากขึ้น”

2 วันต่อมา 30 ม.ค. “อนุทิน” และรัฐมนตรีในสายภูมิใจไทย ทั้ง “ศักดิ์สยาม ชิดชอบ” รมว.คมนาคม “พิพัฒน์ รัชกิจประการ” รมว.การท่องเที่ยวและกีฬา แอ็กชั่นทันที นั่งหัวโต๊ะที่กระทรวงสาธารณสุข ประชุม 30 กว่าหน่วยงาน แต่นานวันเข้า “อนุทิน” ก็ต้านไม่ไหว

นาที “บิ๊กตู่” กระชับอำนาจ

12 มี.ค. 2562 “พล.อ.ประยุทธ์” จึงกระชับอำนาจบริหารสถานการณ์ ออกคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 76/2563 จัดตั้งศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 (โควิด-19) นั่งหัวโต๊ะบัญชาการเอง

ไม่กี่วันหลังจากนั้น “ขุนพลนักรบเสื้อกาวน์ระดับปรมาจารย์” ก็ถูกเชิญเข้ามาช่วยกู้-แก้สถานการณ์

16 มี.ค. 1 วันก่อนคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบการประกาศเลื่อนสงกรานต์ พล.อ.ประยุทธ์ล้อมวงหารือกับแพทย์ 5 คน ระดับปรมาจารย์ ประกอบด้วย ศ.นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร อดีต รมว.สาธารณสุข อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล ศ.นพ.อุดม คชินทร อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล อดีต รมช.กระทรวงศึกษาธิการ ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยา คลินิกภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และราชบัณฑิต

ศ.นพ.อมร ลีลารัศมี นายกแพทยสมาคม ศ.พญ.สมศรี เผ่าสวัสดิ์ นายกแพทยสภา มาเป็นทีมตัวช่วย

24 มี.ค. “พล.อ.ประยุทธ์” ประกาศใช้ พระราชกำหนด (พ.ร.ก.) การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ตั้ง “ศบค.” ขึ้นมาบัญชาการ แก้ปัญหา “ต่างคนต่างทำ”

“อนุทิน” ถูกอุ้มไปไว้ข้าง ๆ โครงสร้าง ในฐานะ “ผู้กำกับ” ภารกิจ เช่นเดียวกับรองนายกรัฐมนตรี 4 คน โดยมี 5 ปลัดกระทรวง และ ผบ.สส. เป็นหัวหน้าชุดคุมสถานการณ์ หนึ่งในนั้น คือ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข

กระสุนตกที่ตำบลอนุทิน

กับสถานการณ์ที่ทำให้ “อนุทิน” ต้องหลบฉากไปโดยปริยาย คือ เหตุการณ์วันที่ 26 มี.ค. 2563

เมื่อให้สัมภาษณ์ต่อสื่อมวลชน โดยกล่าวถึงแพทย์ที่ปฏิบัติหน้าที่และติดเชื้อโควิด-19 แบบคลุมเครือ-ผิดคิว กรณีแพทย์ติดเชื้อโควิด-19 ว่า

“เท่าที่ได้รับรายงานมา แพทย์ที่ติดเชื้อเพราะการปฏิบัติหน้าที่จากโรคโควิด-19 ยังไม่มี นี่เป็นสิ่งที่ต้องไปหวดกัน เรื่องนี้พวกเราก็ไม่พอใจ สำหรับบุคลากรทางการแพทย์ที่ไม่เฝ้าระวังตัวเอง ซึ่งพวกเราก็ต้องเป็นบุคคลตัวอย่าง ต้องตื่นตัวอยู่ตลอดเวลา ต้องเซฟตัวเองให้ได้มากที่สุด”

“ก็ขอให้บรรดาแพทย์ พยาบาล เจ้าหน้าที่ทุกคน รักษาตัวเองให้เป็นอย่างดีนะครับ เราต้องเป็นตัวอย่าง เราต้องเป็นกำลังใจ และเราจะต้องทำตัวเราเองให้ปลอดภัย ที่จะให้การรักษาคนป่วยอย่างสุดความสามารถ”

“อนุทิน” กลายเป็นตำบลกระสุนตก จนแฮชแท็ก #อนุทิน ติดเทรนด์ทวิตเตอร์ ไม่กี่ชั่วโมงหลังคิวหลุด “อนุทิน” ออกคลิปสารภาพว่า

“ผมได้รับรายงานว่า มีแพทย์ 3-4 คนติดเชื้อ ซึ่งท่านเหล่านั้นไม่ได้ติดเชื้อจากการรักษาคนไข้ ที่ผมอยากสื่อสาร คือ บุคลากรทางการแพทย์มีความสำคัญมากในการรักษาคนไข้ ท่านจะป่วยไม่ได้ ท่านต้องเซฟตัวเอง ให้มีความปลอดภัย เพื่อรักษาคนไข้ ผมมีความห่วงใยในสุขภาพของหมอและพยาบาล เพราะท่านคือมือไม้แขนขาของกระทรวงสาธารณสุข ในการทำภารกิจนี้ให้สำเร็จ”

งาน “อนุทิน” วันนี้ ยังนั่งบัญชาการโควิด-19 ระดับกระทรวง ตรวจเยี่ยมผู้ป่วยโควิด-19 อำนวยความสะดวกให้ทีมแพทย์ ในฐานะผู้กำกับงานสาธารณสุข ไม่ใช่ “หัวหน้าชุด”

อาจกล่าวได้ว่า “พล.อ.ประยุทธ์” รักษาระยะห่าง จุรินทร์-อนุทิน หัวหน้า 2 พรรคใหญ่ ร่วมรัฐบาล เพราะสถานการณ์โควิด-19

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0