โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

ยุบพรรคการเมือง เครื่องมือในการเปลี่ยนดุลอำนาจ และการรัฐประหารโดยไม่ต้องเคลื่อนรถถัง

a day BULLETIN

อัพเดต 21 ก.พ. 2563 เวลา 09.47 น. • เผยแพร่ 20 ก.พ. 2563 เวลา 08.41 น. • a day BULLETIN
ยุบพรรคการเมือง เครื่องมือในการเปลี่ยนดุลอำนาจ และการรัฐประหารโดยไม่ต้องเคลื่อนรถถัง

ไม่ว่าใครก็ต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า เดือนมกราคมปี 2020 เป็นเดือนมกราคมที่ยาวนานกว่าปกติ เราเปิดปีมาด้วยปัญหารอบโลกที่เกิดขึ้นมากมาย ทั้งปัญหาการเมืองระหว่างประเทศจากการ exercise อำนาจระหว่างอเมริกาและอิหร่านที่เกือบจะเป็นชนวนของสงครามโลกครั้งที่สาม

        ปัญหาโลกร้อนที่รุนแรงและเป็นรูปธรรมมากขึ้นทุกทีจากเหตุไฟป่าครั้งใหญ่ที่ออสเตรเลีย ซึ่งสร้างความสูญเสียมหาศาล จนถึงเวลานี้ยังคงประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมที่จะเกิดขึ้นในอนาคตไม่ได้

        ปัญหาเรื่องสุขภาพของคนไทย ทั้งจากน้ำประปาเค็ม ปริมาณฝุ่น PM 2.5 ที่เพิ่มขึ้นทบทวี รวมไปถึงความเสี่ยงจากไวรัสโคโรนาจากประเทศจีน ที่ทำให้ประเทศไทยเป็นพื้นที่เสี่ยงอันดับต้นๆ ของโลก ส่งผลต่อปัญหาด้านเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวของประเทศไทยอีกระลอกใหญ่

        เดือนมกราคมที่แสนยาวนานผ่านไปเพียงพริบตาเดียว ต้นเดือนกุมภาพันธ์ประเทศไทยก็ต้องเจอกับโศกนาฏกรรมครั้งใหญ่ จากเหตุกราดยิงที่คร่าชีวิตประชาชนที่โคราช ปัญหามากมายรุมเร้ามาตลอดช่วงต้นปี กำลังกลายเป็นแรงกระเพื่อมทางการเมืองครั้งใหญ่ ที่กำลังค่อยๆ ก่อตัวขึ้นภายในปีนี้

        เพราะภาชนะที่บรรจุความรู้สึกอดทนอดกลั้นของประชาชนที่มีต่อการทำงานของรัฐบาลใกล้จะเอ่อล้นเต็มที ประจวบเหมาะกับไทม์ไลน์การเมืองไทยในปีนี้จะมีเรื่องใหญ่หลายเรื่องเกิดขึ้นในเวลาไล่เลี่ยกัน ทั้งการตัดสินยุบพรรคอนาคตใหม่ หรือเรื่องการอภิปรายไม่ไว้วางใจที่เป็นกระบวนการเรียนรู้ทางการเมืองครั้งสำคัญที่กำลังจะเกิดขึ้น ไปถึงจนถึงการเดินหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่เป็นภารกิจระยะยาวในการสร้างฉันทามติร่วมกันอีกครั้งในสังคมที่มีความแตกแยกแบบนี้

        เราชวนผศ. ดร. ประจักษ์ ก้องกีรติ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มาวิเคราะห์ Landscape การเมืองไทยในปีนี้ ว่ามีเรื่องไหนต้องจับตามอง และบทสรุปเหล่านั้นจะส่งผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงการเมืองไทยอย่างมีนัยสำคัญหรือไม่ในปีนี้

 

ประจักษ์ ก้องกีรติ
ประจักษ์ ก้องกีรติ

ถ้าใครที่ศึกษาเรื่องความรุนแรงทางการเมืองหรือสังคมมา จะรู้ว่าเนื้อดินที่แย่ที่สุด จะเป็นเนื้อดินที่ก่อให้เกิดความรุนแรงมากที่สุด พูดง่ายๆ สังคมที่มีความเหลื่อมล้ำสูง จะเป็นสังคมที่เกิดความรุนแรงได้ง่าย

หลายคนพูดกันว่า เดือนมกราคมปีนี้เป็นเดือนที่ยาวนานกว่าปกติ เพราะมีเรื่องเกิดขึ้นมากมาย พอเปิดเดือนกุมภาพันธ์มาได้แป๊บเดียวเราก็เจอเหตุกราดยิงที่โคราช คุณรู้สึกว่าปีนี้จะยาวนานกว่าปกติหรือเปล่า 

        ก็ยาวนานจริง เพิ่งผ่านมาเดือนกว่าๆ แต่เหมือนผ่านไปแล้วครึ่งปี จริงๆ ตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว มีคนมาให้ผมวิเคราะห์ประเทศไทยแบบนี้แหละ ผมก็พูดไปว่า ไม่ต้องเป็นหมอดูหรือเป็นนอสตราดามุสก็พอเห็นอยู่ว่าปี 2020 ของไทยจะเป็น Tough Year เป็นปีที่ยากลำบากและไม่ง่าย ทั้งทางเศรษฐกิจและการเมือง อันนั้นพูดตั้งแต่ก่อนมีปัญหาเรื่องไวรัสหรือปัญหากราดยิงเสียอีก แค่ดูจากสถานการณ์ทั่วไป หรือดูจากปัญหาที่สะสมมา 5-6 ปี ก็เห็นอยู่แล้วว่าปีนี้จะเป็นปีที่หลายอย่างปะทุออกมา เพราะว่าปัญหาหลายอย่างเราไม่ได้ถูกแก้ไขที่พื้นฐาน ถ้าเปรียบสังคมไทยเป็นร่างกาย ทุกคนก็รู้ว่าร่างกายของเราอ่อนแอ สะสมโรคมาสารพัด แต่ระยะเวลา 5 ปีที่คนรู้สึกว่าสงบดี มันเป็นการกินยาต้านกดอาการไว้เท่านั้น โรคยังไม่ได้ถูกรักษา และสักวันหนึ่งก็จะโผล่ขึ้นมา เราอยู่ในความสงบที่เป็นภาพลวงตา

        ดูอย่างเศรษฐกิจปีนี้ก็จะลำบาก แบงก์ชาติก็ออกมายอมรับเอง แต่ก็มีวาทกรรมหลายอย่างมาปลอบใจให้ดูเหมือนยังไม่อาการหนักมาก อย่างการพูดว่าเศรษฐกิจเราแค่โตช้า แต่ถ้าไปเปรียบเทียบดูจริงๆ อาการของเราหนักมาก ล่าสุดผมเพิ่งไปงานเสวนาของคณะเศรษฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์ ในงานมีการพูดถึงประเด็นเศรษฐกิจว่า 5 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยมีจำนวนคนยากจนสูงขึ้นเยอะมาก ซึ่งเป็นข้อมูลที่น่าตกใจ แล้วถ้าสถานการณ์เป็นอย่างนี้ต่อไป เราจะเผชิญปัญหาความยากจนสุดขั้วอีกครั้งหนึ่ง ทั้งที่เคยแก้ได้ไปแล้วในช่วง 10-20 ปีที่ผ่านมา แล้วก็ปัญหาการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ต่ำ แต่ก่อนประเทศไทยมีปัญหาเรื่องการกระจายรายได้ แต่เศรษฐกิจยังสามารถเติบโตต่อไปได้เรื่อยๆ แต่ตอนนี้เศรษฐกิจก็ไม่โต การกระจายรายได้ก็ยังแย่เหมือนเดิม เราเลยเจอปัญหาสองชุดไปพร้อมๆ กัน สถิติที่ปฏิเสธไม่ได้คือความเหลื่อมล้ำในประเทศสูงขึ้น จนเราไปติดอันดับประเทศที่เหลื่อมล้ำที่สุดในโลก นี่แค่เศรษฐกิจอย่างเดียว ยังไม่พูดการเมือง ก็เห็นแล้วว่าคนไทยจะมีชีวิตที่ยากลำบากพอสมควร

เกี่ยวกันหรือเปล่า ที่เมื่อประเทศมีปัญหาโดยรวมหลายอย่าง เราจึงเห็นความบ้าคลั่งที่ปะทุออกมา อย่างเหตุกราดยิงที่โคราช หรือปล้นทองที่ลพบุรี

        ถ้ามองเฉพาะเหตุการณ์ คนที่กราดยิงที่โคราชเขาอาจจะมีปัญหาทางจิตส่วนตัวก็ได้ที่ทำให้เขาต้องใช้ความรุนแรงขนาดนี้ หรือไม่สามารถมีความเห็นอกเห็นใจเพื่อนมนุษย์ได้อีกต่อไป เลยระเบิดออกมา แต่เราปฏิเสธไม่ได้ว่ามีปัญหาเชิงโครงสร้างบางอย่างอยู่ คือทุกความรุนแรงที่เกิดขึ้น แน่นอนจะมีปัจจัยส่วนบุคคลมาเกี่ยวข้อง แต่เราต้องวิเคราะห์ไปให้ไกลกว่านั้น ว่าความรุนแรงที่เกิดขึ้นจากปัจเจกบุคคลคนหนึ่งสะท้อนปัญหาอะไรที่ลึกกว่านั้นหรือเปล่า ปัญหาในเชิงวัฒนธรรม ปัญหาในเชิงระบบ ปัญหาในเชิงโครงสร้างที่ใหญ่กว่านั้น เช่น ความขัดแย้งกับผู้บังคับบัญชาทำไมถึงแก้ไขปัญหาไม่ได้ เพราะไม่มีช่องทางให้ร้องเรียนหรือเปล่า แล้วนายทหารชั้นผู้น้อยจะกล้าร้องเรียนนายทหารชั้นผู้ใหญ่ได้อย่างไร หรือถ้าร้องเรียนจะเอาผิดได้หรือเปล่า ถ้าเราไม่วิเคราะห์ปัญหาที่ลึกมากไปกว่าเรื่องส่วนบุคคล เราจะหาทางแก้ไม่ได้ แล้วเหตุการณ์ก็จะเกิดซ้ำอีก

        ถ้าใครที่ศึกษาเรื่องความรุนแรงทางการเมืองหรือสังคมมา ก็จะรู้ว่าเนื้อดินที่แย่ที่สุด จะเป็นเนื้อดินที่ก่อให้เกิดความรุนแรงมากที่สุด พูดง่ายๆ สังคมที่มีความเหลื่อมล้ำสูง จะเป็นสังคมที่เกิดความรุนแรงได้ง่าย อันนี้มีงานวิจัยให้เห็นอย่างชัดเจน แต่ว่าในบางประเทศที่แม้จะมีช่องว่างระหว่างคนจนกับคนรวย แล้วเขามีความพยายามแก้ปัญหา มีสวัสดิการที่ดีให้ประชาชนอย่างประเทศญี่ปุ่น เขาก็เป็นสังคมที่มีอาชญากรรมต่ำได้ การที่ความร่ำรวยไปกระจุกตัวอยู่กับคนไม่กี่เปอร์เซ็นต์ ทำให้คนที่เหลือต้องดิ้นรนหรือลำบาก ผลักให้คนรู้สึกว่าอะไรที่เป็นโอกาสก็ต้องคว้าไว้ บางคนเดินเข้าสู่เศรษฐกิจมืดบ้าง นั่นเพราะว่าโอกาสที่จะมีชีวิตที่ดีมันน้อย ช่องทางมันตีบตัน สุดท้ายก็ไปโผล่เป็นปัญหาอาชญากรรม ลักเล็กขโมยน้อย หรือการปล้น จนความเครียดสะสมไปถึงจุดหนึ่งก็อาจฆ่าตัวตาย ในสังคมที่มีความเหลื่อมล้ำ อัตราการฆ่าตัวตายจะสูงมาก เราอย่าไปมองตัดตอนว่าคนฆ่าตัวตายเพราะว่าสุขภาพจิตไม่ดี หรือคนไปกราดยิงเพราะว่าโรคจิตคุ้มคลั่ง เราต้องวินิจฉัยโรคให้ถูก

ความเหลื่อมล้ำทำให้คนเราคลุ้มคลั่งได้อย่างไร

        เหมือนในหนังเรื่อง Parasite ทุกข์ของเราไม่เท่ากันไง สมมติฝนตกลงมา น้ำท่วม บ้านคนรวยอาจจะไม่เป็นอะไร เพราะบ้านสร้างอยู่ในที่สูง สามารถออกไปวิ่งเล่นน้ำฝนได้ แต่ถ้าคุณอยู่ในสลัม อยู่ในครอบครัวชนชั้นล่าง เห็นเลยว่าแค่ภัยธรรมชาติเกิดขึ้น ทุกข์ที่ได้รับก็ไม่เท่ากันแล้ว หรือดูอย่างเรื่อง Joker จริงๆ หนังสองเรื่องนี้พูดถึงเรื่องความเหลื่อมล้ำทั้งคู่นะ อย่างเรื่อง Parasite คนเลือกที่จะไปหาประโยชน์จากโครงสร้างที่เหลื่อมล้ำนั่นแหละ ไม่ได้จะไปเปลี่ยนโครงสร้างอะไร ฉันก็ต้องไปหลอกลวงต้มตุ๋น แต่ว่าเรื่อง Joker คุณถูกผลักออกไปจนไม่เหลืออะไรแล้ว ในที่สุดคุณก็ระเบิดออกมาเป็นความรุนแรง เข้ามาทำลายโครงสร้างสังคมแบบเดิม 

        ในสังคมที่เหลื่อมล้ำสูงและไม่ได้แก้ไขปัญหาอะไรเลย คนที่อยู่ข้างบนคุณไม่ได้ปลอดภัยอะไรหรอก คุณไม่สามารถมีชีวิตอย่างสงบสุขได้ ถ้ามีคนในสังคมแค่หนึ่งเปอร์เซ็นต์ที่เข้าถึงทรัพยากรทุกอย่าง และคนที่เหลือไม่สามารถเข้าถึงอะไรเลย วันหนึ่งต้องระเบิดออกมาอยู่แล้ว ในอเมริกาใต้สังคมก็เหลื่อมล้ำคล้ายๆ บ้านเรา คนรวยหาทางออกยังไง เขาต้องจ้างบอดี้การ์ดส่วนตัว บ้านต้องสร้างกำแพงสูงๆ มีรั้วลวดหนาม เพราะว่าขโมยเยอะ มีอาชญากรรมสูง ก็อยู่อย่างไม่มีความสุข นั่นเป็นชีวิตที่ดีเหรอ คุณต้องสร้างกำแพงเพื่อกั้นตัวเองจากสังคมที่เหลือ เรื่องราวในหนังอย่าง Joker หรือ Parasite เลยเป็นหนังของยุคสมัยที่ทำไมคนดูแล้วอิน นี่ไม่ใช่เรื่องบังเอิญแต่มีที่มา เพราะว่าในรอบ 20 ปีที่ผ่านมานี้ ภาพรวมความเหลื่อมล้ำพุ่งสูงขึ้นทั่วโลก คนเรียกกันว่าในยุคนี้เป็น the Age of Anger เป็นยุคสมัยแห่งความโกรธ ที่คนรู้สึกว่าชีวิตเขาไม่มีหนทาง หรือเป็น the Age of Anxiety ยุคสมัยแห่งความวิตกกังวล และมันสะท้อนให้เราเห็นในป็อปคัลเจอร์ เห็นในหนังหรือเพลงที่มีเนื้อหาหนักขึ้น

ถ้าจะวินิจฉัยโรคของประเทศไทยให้ถูกจุด ต้องเริ่มจากอะไร

        เราต้องไปให้พ้นจากพื้นผิวหรือมองแค่อาการของโรค ถ้าเราอยากจะรักษาจริงๆ ต้องมองให้เกินไปกว่าอาการคลุ้มคลั่งของคนคนเดียว หรือมองว่านี่เป็นเรื่องของ ผอ. โรงเรียนคนหนึ่งที่ใช้ชีวิตฟุ้งเฟ้อ ใช้เงินเกินตัว จนต้องไปปล้น แล้วลงไปให้ลึกถึงปัญหารากฐาน ว่าสภาพเศรษฐกิจ สังคม การเมืองแบบไหน ที่ทำให้เกิดคนแบบนี้ได้ ต้องพยายามไปคิดในเชิงระบบให้ได้ เราชอบไปคิดในเชิงบุคคล นี่รวมถึงการเมืองด้วย การลดทอนทุกอย่างให้เป็นเรื่องของบุคคล มีแต่คนดีกับคนไม่ดี แล้วคิดว่าถ้ากำจัดคนไม่ดี นักการเมืองชั่ว นายกฯ ชั่วไปได้ ทุกอย่างก็จะดีเอง แต่จริงๆ ถ้าไม่แก้ปัญหาในเชิงระบบ ต่อให้เอาคนไม่ดีคนหนึ่งออกไป ระบบก็จะผลิตคนแบบนี้ออกมาอีกเรื่อยๆ อยู่ดี

ให้เลิกมองปัญหาแบบผิวเผิน นี่หมายถึงทั้งคนที่ออกแบบโครงสร้างสังคม แล้วก็ผู้อยู่อาศัยอย่างประชาชนด้วยใช่ไหม

        เพราะว่าปัญหาการเมืองที่ผ่านมาในรอบ 10 ปี ถูกลดทอนไปเป็นเหมือนเรียลิตีโชว์ หรือเหมือนกีฬามวย มีฝั่งหนึ่งดีฝั่งหนึ่งไม่ดี ทำอย่างไรให้กำจัดอีกฝั่งหนึ่งออกไป เดี๋ยวสังคมก็สงบสุขเอง แต่การเมืองไม่ใช่กีฬา ไม่ใช่การต่อยมวย ถ้าเรามองปัญหาแค่นี้ ก็จะถูกชักจูงไปเป็นกองเชียร์เฉยๆ เชียร์ด้วยความสะใจ แต่ว่าไม่ได้แก้ปัญหาอะไรเลย เพราะถ้าเป็นเรื่องการกำจัดตัวบุคคลออกไปแล้วจบ สังคมไทยก็ต้องดีแล้วสิ 

       ยกตัวอย่างการเมืองตอนนี้ที่มีปัญหางูเห่า มีการซื้อเสียง หรือบางคนพูดแรงถึงขนาดว่ามีการขายตัวในสภา แต่ปัญหางูเห่าไม่ใช่ปัญหาเรื่องบุคคล ปัญหาของนาย ก. นาย ข. ที่โลภ แต่เป็นเรื่องระบบที่เอื้อให้เกิดงูเห่า เป็นเพราะการออกแบบรัฐธรรมนูญที่ย้อนไป 50 ปี ที่ทำให้พรรคการเมืองอ่อนแอ ทำให้พรรครัฐบาลมีเสียงปริ่มน้ำ แต่ถ้าคุณออกแบบระบบให้เข้มแข็ง แล้วยังมีการซื้อตัวกันแบบนี้ ก็ให้ตัดสิทธิ์นักการเมืองคนนั้นเลย ปัญหางูเห่าก็ไม่มี

คุณมอง Landscape การเมืองของไทยปีนี้อย่างไร อย่างเรื่องการตัดสินยุบพรรคอนาคตใหม่

        คาดเดายาก เขาพูดกันเล่นๆ ว่านักรัฐศาสตร์อย่าคาดเดาอะไรเยอะ เพราะส่วนใหญ่มักจะเดาผิด (หัวเราะ) ยิ่งการเมืองไทยมีความผันผวนสูง มีปัจจัยที่ควบคุมไม่ได้เยอะ เหมือนรถไฟเหาะตีลังกา เกิดอะไรที่พลิกล็อกมากมาย แต่ต้องบอกว่าพรรคอนาคตใหม่เขาสะบักสะบอมจริง โดนรับน้องทางการเมืองมาหนัก พอลองไปดูว่าจริงๆ แล้วพรรคนี้ทำอะไรไปบ้าง เขายังไม่ได้ทำอะไรเลยนะ (หัวเราะ) ยังไม่ได้บริหารหรือมีอำนาจอะไรเลย ดูประหลาดมากกับสิ่งที่เขาเจอ

พรรคการเมืองเป็นสถาบันที่รวบรวมความฝันของคนจำนวนมากเอาไว้ แล้วกว่าจะสร้างได้มันไม่ง่าย การที่คุณไปยุบพรรคเท่ากับคุณไปทำลายความฝันของคนจำนวนหนึ่ง ทำให้เขารู้สึกเสียงของเขาไม่มีความหมายในประเทศนี้

แต่การมาของอนาคตใหม่ก็เป็นตัวแปรสำคัญที่ทำให้พรรคเก่าๆ หัวหมุน

        เราเรียกเขาว่าเป็น disruptor ทางการเมือง ผมคิดว่าพรรคอนาคตใหม่เข้ามาเขย่าการเมืองไทยและทำให้ผู้เล่นเก่าๆ ตกใจ เพราะว่าอยู่ดีๆ เป็นพรรคใหม่ ตั้งมาได้ไม่ถึงปี ไม่มีประสบการณ์ทางการเมืองเลย ไม่มีผู้สมัครในพรรคเคยเป็น ส.ส. มาก่อน แต่คุณได้คะแนนเสียงในตลาดการเมืองไปเยอะมาก คุณเป็นพรรคอันดับ 3 ไปแล้ว ทั้งๆ ที่คุณเพิ่งเข้าตลาด เพิ่งจดทะเบียนบริษัท แต่พอวางขึ้นชั้นแล้วมีคนมาซื้อของคุณไปเยอะมาก จนผู้เล่นเก่าหลายคนแพ้ไปก็มี ได้เสียงสนับสนุนไป 6 ล้านเสียง โดยที่อันดับ 1 ได้ไปแค่ 8 ล้านเสียง จะเห็นว่าคะแนนไม่ห่างกันเลย ในกรุงเทพฯ ยังได้คะแนนป็อปปูลาร์โหวตอีกด้วย แล้วมีตัวเลขออกมาอีกว่า ในหมู่คนรุ่นใหม่ทั้งหมด อนาคตใหม่ได้คะแนนเสียงไปเกือบร้อยเปอร์เซ็นต์ ผู้เล่นหน้าเก่ากลัวกันหมด เพราะพรรคนี้มาแบบแหกขนบด้วย ไม่ว่าคุณจะชอบหรือไม่ชอบนะ ลองดูว่าเขาใช้โซเชียลมีเดียในการหาเสียง ไม่ใช้หัวคะแนนท้องถิ่น สร้างแคมเปญของตัวเองส่งผ่านสื่อ ขายนโยบายใหม่ๆ 

        แต่ทีนี้ถ้าเป็นการแข่งขันในโลกธุรกิจ การจะกำจัดคู่แข่งทางธุรกิจทำอย่างไรโดยที่คุณไม่ต้องปรับตัวมาก มีทางเดียวก็คือทำลายคู่แข่งสิ อันนี้ง่ายที่สุด นี่เป็นวิธีคิดแบบเก่า คุณไม่ต้องสร้างนวัตกรรมอะไรหรือพัฒนาอะไรให้ดีขึ้น แค่ทำให้คู่แข่งหายไป ถ้ามองในภาพรวม ปฏิเสธไม่ได้ว่ามีความพยายามอยู่จริงที่อยากเห็นอนาคตใหม่หายไป เพราะผู้เล่นหน้าเดิมๆ ก็จะได้ประโยชน์ โลกของเขาก็จะสงบสุขมากขึ้น 

        แล้วคดีที่เขาโดนหนักๆ 2 คดี คือคดีกู้เงินกับคดีอิลูมินาติ นี่ไม่ได้เป็นคดีที่ควรไปถึงศาลด้วยซ้ำ คดีอิลูมินาติไม่มีมูลอะไรเลย เป็นการกล่าวหากันลอยๆ อย่างร้ายแรง ก็โชคดีที่ศาลเห็นประเด็นนี้ คดีกู้เงินก็เป็นปัญหาที่มีนักกฎหมายออกมาชี้ว่ามีหลายพรรคที่ทำเหมือนกัน ทำไมเลือกฟ้องอนาคตใหม่พรรคเดียว แต่การยุบพรรคเป็นเครื่องมืออันหนึ่งทางการเมือง เป็นเครื่องมือในการเปลี่ยนดุลอำนาจ นักรัฐศาสตร์เรียกปรากฏการณ์นี้ว่าเป็นการรัฐประหารโดยไม่ต้องเคลื่อนรถถังออกมา 

ในประเทศอื่น การยุบพรรคการเมืองถือเป็นเรื่องใหญ่ไหม 

        เป็นเรื่องใหญ่ เพราะว่าการยุบพรรคไม่ใช่เรื่องของ ส.ส. ในสภาแค่ 70-80 คนที่โดนตัดสิทธิ์ แต่เป็นเรื่องของคนที่สนับสนุนพรรคการเมืองนั้นอีกเป็นล้านคน สมมติเป็นพรรคพลังประชารัฐเองที่มีคนเลือกกว่า 8 ล้านเสียง ถ้าเขาโดนยุบพรรคเหมือนที่พรรคอนาคตใหม่โดน ถามว่าคนที่เลือกพรรคพลังประชารัฐจะรู้สึกไม่ได้รับความยุติธรรมไหม เพราะฉะนั้น ในต่างประเทศการยุบพรรคจึงไม่ค่อยเกิดขึ้น แม้จะมีกฎหมายฉบับนี้อยู่ก็ตาม ต้องเป็นเรื่องที่ร้ายแรงมากๆ พรรคการเมืองหนึ่งถึงจะถูกยุบได้ เพราะพรรคการเมืองเป็นสถาบันที่รวบรวมความฝันของคนจำนวนมากเอาไว้ แล้วกว่าจะสร้างได้มันไม่ง่าย การที่คุณไปยุบพรรคเท่ากับคุณไปทำลายความฝันของคนจำนวนหนึ่ง ทำให้เขารู้สึกเสียงของเขาไม่มีความหมายในประเทศนี้ นโยบายที่เขาต้องการไม่มีวันเกิดขึ้นได้ในประเทศนี้ 

        อย่างประเทศเยอรมนี กฎหมายการยุบพรรคเป็นประวัติศาสตร์ที่ตกค้างมาตั้งแต่ยุคนาซี ที่เมื่อก่อนมีพรรคการเมืองได้อำนาจมาแล้วไปฆ่าล้างเผ่าพันธุ์คน ในเยอรมัน ถ้าพรรคที่มีแนวนโยบายแบบสุดโต่ง มีแนวโน้มล้มล้างระบอบประชาธิปไตย ศาลถึงจะตัดสินยุบพรรคได้ ไม่ใช่เอาเรื่องการกู้เงินหรือเรื่องทางเทคนิคมาเป็นเหตุผล เพราะเรื่องแค่นี้คุณก็ตัดสิทธิ์หัวหน้าพรรค ตัดสิทธิ์เหรัญญิกพรรค หรือว่าปรับเงินพรรคการเมืองนั้นไป ไม่ใช่มายุบทั้งพรรคแบบนี้

ถ้าเกิดเหตุการณ์ยุบพรรคอนาคตใหม่ขึ้นมาจริงๆ จะเกิดอะไร 

        ผมคิดว่าถ้าไม่ยุบพรรค การเมืองไทยยังพอเดินต่อไปได้ในระบอบนี้ ก็ไปสู้กันในสภา เพราะสู้กันในสภาดีที่สุด มีอารยะที่สุด และไม่นองเลือด ที่เรามีระบอบรัฐสภาก็เพื่อให้ความขัดแย้งไม่ออกมาบนท้องถนน ก็สู้กันไป ใครมีเสียงมากกว่าก็ชนะ ใครอภิปรายโน้มน้าวได้ดีกว่าก็ผ่านกฎหมายที่อยากได้ออกมา หรือถ้าแพ้ถึงวันหนึ่งก็เลือกตั้งใหม่ สังคมก็เดินต่อไปได้และไม่ตึงเครียดมาก

        แต่ถ้ามีการยุบพรรค อุณหภูมิทางการเมืองจะไต่สูงขึ้นอย่างรวดเร็ว และเราปฏิเสธพลังของคนที่อยู่ในออนไลน์ไม่ได้ เพราะถึงจุดหนึ่งพลังที่ว่าอาจทะลักไปถึงโลกออฟไลน์ได้ เห็นมาแล้วในเคสอย่างอาหรับสปริงที่การประท้วงมีการเชื่อมโลกออนไลน์กับออฟไลน์เข้าด้วยกัน หรือในอียิปต์ ในตูนิเซีย แล้วประเทศไทยก็มีประวัติศาสตร์ที่ร่ำรวยมากในเรื่องของการเคลื่อนไหวบนท้องถนน เราเห็นแบบนี้มาหลายรอบแล้ว ที่การเมืองนิ่งอยู่ แล้วผู้มีอำนาจก็ดูเบาว่าคนไทยมีความอดทนสูง ปกครองง่าย ใครจะไปคิดว่าจะเกิดเหตุการณ์อย่าง 14 ตุลา, 6 ตุลา หรือพฤษภาทมิฬ สังคมไทยก็ประหลาดที่การเมืองจะนิ่งสักพัก แล้วอยู่ดีๆ ประชาชนก็ระเบิดขึ้นมาเลย เป็นสังคมที่ไม่เคยนิ่งนาน ไม่เหมือนอย่างในเมียนมาหรืออินโดนีเซีย ผู้นำของเขาอยู่ในอำนาจได้ 3-4 ทศวรรษ ของไทย 5-10 ปี ต้องมีการเปลี่ยนแปลง แล้วยุคนี้โซเชียลมีเดียก็เป็นตัวเร่งอีกอย่าง 

 

ประจักษ์ ก้องกีรติ
ประจักษ์ ก้องกีรติ

การยุบพรรคอนาคตใหม่เป็นเชื้อไฟทางการเมืองที่น่ากลัวแค่ไหน 

        เรียกว่าเป็นการไปเร่งอุณหภูมิโดยไม่จำเป็น อุณหภูมิที่เริ่มเดือดอยู่แล้วก็อาจจะระเบิดออกมาได้ แล้วอย่าลืมว่าสองเดือนมานี้ รัฐบาลมีปัญหามากมายที่รุมเร้า คนไม่ได้ชอบรัฐบาลมากนักในแง่ของการแก้ไขปัญหา ในแง่ความใส่ใจทุกข์สุขความเดือดร้อนของประชาชน จริงๆ ในช่วงเวลาแบบนี้รัฐบาลไม่ควรไปเพิ่มปัญหาให้ตัวเองโดยไม่จำเป็น

แต่ผู้นำของเราดูเหมือนสร้างความไม่พอใจบ่อยๆ เวลาออกสื่อ เช่น การทำท่ามินิฮาร์ตในภาวะที่อาจไม่เหมาะสม

        ก็สะท้อนปัญหาเรื่องการสื่อสาร แต่จริงๆ ปัญหาลึกมากกว่ามาก เพราะถ้าเป็นแค่เรื่องการสื่อสาร สามารถแก้ไขได้ง่ายนิดเดียว ก็เอานักนิเทศศาสตร์เก่งๆ มาช่วยสิ แต่นี่เราเห็นการทำผิดซ้ำๆ ซึ่งสะท้อนภาวะของรัฐบาล ที่รู้สึกว่าไม่ต้องเอาใจคนทั้งประเทศก็ได้ ยังไงฉันก็ได้อยู่ในอำนาจ หรือไม่ก็ไปซื้องูเห่ามาช่วยโหวตได้ พอถึงจุดวิกฤตก็มี ส.ว. มาร่วมโหวตได้อีก ภาวะแบบนี้ทำให้รัฐบาลรู้สึกย่ามใจ ประชาชนที่บ่นๆ ก็อยู่แค่ในโซเชียลเน็ตเวิร์ก ผมว่าการออกแบบรัฐธรรมนูญนี่แหละที่ทำให้รัฐบาลสามารถสื่อสารโดยไม่ต้องแคร์ประชาชนมาก ปัญหาเรื่องมินิฮาร์ตมันเลยลึกกว่าการสื่อสาร

การบริหารของชนชั้นนำแบบนี้จะนำไปสู่อะไร

        เพิ่งได้อ่านงานมาสองสามชิ้น และคิดว่าน่าสนใจดี ปี 2019 ที่ผ่านมา เป็นปีของการประท้วงที่เกิดขึ้นทั่วโลก ทั้งในชิลี อิรัก อิหร่าน เลบานอน หรือแม้แต่ฮ่องกง บางประเทศก็ประท้วงเรื่องรัฐบาลขึ้นค่าโดยสารสาธารณะ บางรัฐบาลบ้าจี้ไปเก็บภาษีแอพพลิเคชัน WhatsApp ที่คนใช้คุยกัน ที่น่าสนใจคือในบรรดาประเทศที่มีการประท้วง มีทั้งประเทศที่เป็นประชาธิปไตยและประเทศที่เป็นเผด็จการ นักวิชาการวิเคราะห์ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นอันนี้ว่า นี่ไม่ใช่ปัญหาว่าการปกครองประชาธิปไตยหรือเผด็จการที่เสื่อมอำนาจและเกิดปัญหามากกว่ากัน 

        แต่ประเด็นคือ ไม่ว่าระบอบไหน ถ้าปกครองโดยไม่มีสองสิ่ คือ Responsiveness หรือการตอบสนองต่อปัญหาอย่างฉับไวและมีประสิทธิภาพ มีอะไรเกิดขึ้นแล้วแก้ปัญหาให้ประชาชนทันที และ Accountability ความพร้อมรับผิดชอบต่อปัญหาที่เกิดขึ้น อย่างเช่น มีเหตุการณ์กราดยิง มีคนเสียชีวิตจำนวนมาก ต้องมีใครสักคนหรือหน่วยงานสักหน่วยรับผิดชอบต่อสิ่งที่เกิดขึ้น อย่างน้อยต้องมีความรับผิดชอบต่อสิ่งที่เกิดขึ้น มีคอร์รัปชัน รัฐบาลกล้าเอาคนผิดมาลงโทษ มีปัญหาฝุ่น PM 2.5 หน่วยงานไหนมีหน้าที่ดูแลบกพร่อง ต้องโดนลงโทษ ให้มันเกิดกลไกความรับผิดชอบ ถ้ารัฐบาลไหนไม่มีสองอย่างนี้ ก็ยากที่จะอยู่ได้แบบชิลๆ โดยไม่มีแรงต้านจากประชาชน

ถ้าอุณหภูมิการเมืองร้อนขึ้นจนคนลงถนนในปีนี้ รูปแบบม็อบที่จะเกิดขึ้นจะเป็นอย่างไร อย่างต้นปีที่ผ่านมาก็มีทั้งวิ่งไล่ลุงและเดินเชียร์ลุงมาแล้ว

        ผมว่าการออกมาของประชาชนจะเปลี่ยนรูปแบบไป เรากำลังเข้าสู่ยุคใหม่ รูปแบบม็อบที่ผมเรียกว่าไตรภาค คือมีม็อบเสื้อเหลือง เสื้อแดง แล้วมาจบที่ กปปส. ผมว่ายุคนั้นจบไปแล้ว เราอยู่ในยุคใหม่ ประเด็นใหม่ และมีคนที่สนใจการเมืองหน้าใหม่ ที่เราเรียกว่า First-time voter คนเหล่านี้เขาก็มาพร้อมกับวิถีชีวิตใหม่ๆ นวัตกรรมใหม่ๆ เมื่อเขาแสดงออกทางการเมือง รูปแบบก็เปลี่ยนไปด้วยเช่นกัน แต่ไม่มีทางที่จะย้อนไปเหมือนเมื่อ 10 ปีที่ผ่านมา แต่ความขัดแย้งก็ยังอยู่ไม่ได้หายไปไหน ที่เราเห็นวิ่งเชียร์ลุง เดินเชียร์ลุง ก็ยังคือความขัดแย้งเดิม แต่เพิ่มตัวละครเพิ่มมิติปัญหาเข้ามา เพราะว่า 5 ปีที่ผ่านมาเราไม่ได้แก้ปัญหาอะไรเลย 

ถ้าเราวิเคราะห์การเมือง เราต้องมองให้เห็นเศรษฐศาสตร์การเมือง เพราะการเมืองเป็นเรื่องของผลประโยชน์ คนไม่ได้อยากมีอำนาจเพราะอำนาจ แต่อำนาจเป็นเครื่องมือเอาไปใช้ดลบันดาลสิ่งอื่นให้เกิดขึ้น

แล้วเรื่องการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ต้องจับตามองอะไร

        ผมว่าการอภิปรายไม่ไว้วางใจก็ยังไม่ได้มีผลในการเปลี่ยนรัฐบาล และกลุ่มผู้มีอำนาจก็ยังคงอยู่ต่อไปได้ ลำพังการอภิปรายไม่ไว้วางใจภายใต้ระบบปัจจุบัน ไม่มีทางเปลี่ยนรัฐบาลได้ รัฐบาลยังสามารถอยู่ไปได้จนครบวาระ 4 ปี ใครที่มองว่าอยู่สั้น แต่จริงๆ ผมมองว่าอยู่ยาวได้ เพราะอย่างที่บอกว่าพรรคการเมืองอ่อนแอ คุณสามารถไปช้อนซื้องูเห่าได้ 

เรียกว่าคุณแทงสวนนักรัฐศาสตร์หลายคนเลยนะ 

        (หัวเราะ) ผมว่าอยู่ยาวได้ เพราะรัฐบาลนี้ไม่ใช่รัฐบาลปกติ ลองดูกลุ่มผู้นำที่มีอำนาจ ซึ่งหนึ่งในสามมาจากกลุ่มเดิมตั้งแต่สมัย คสช. เพราะฉะนั้น โครงสร้างอำนาจตั้งแต่การรัฐประหารยังอยู่ ฉะนั้น เวลาที่เห็นรัฐบาลนี้ เลยไม่สามารถเอากรอบรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งปกติมาใช้ได้ เพราะถ้าเป็นรัฐบาลปกติที่ผสมขึ้นมาจาก 18-19 พรรค คงไม่สามารถอยู่ได้ถึง 1 ปีแบบนี้หรอก ในประวัติศาสตร์ไทยไม่เคยมีรัฐบาลผสมยุคไหนอยู่ได้นาน ที่ผ่านมาผสมแค่ 7-8 พรรค ก็ถือว่าเยอะแล้ว แต่นี่ผสมกันเกือบ 20 พรรค มากที่สุดในประวัติศาสตร์ และน่าจะมากที่สุดในโลกด้วยซ้ำ แถมรัฐบาลมีเสียงเกินครึ่งมาเพียงนิดเดียว เวลาผมไปบรรยายในต่างประเทศทุกคนก็อึ้งนะ ว่ารัฐบาลที่ผสมกันเกือบ 20 พรรค สามารถอยู่ได้อย่างไร 

        แต่เราเอาเลนส์ในการมองแบบนั้นมามองรัฐบาลประยุทธ์ 2 ไม่ได้ เพราะยังเป็นรัฐบาลที่มีกองทัพอยู่เบื้องหลัง มีแรงสนับสนุนจากชนชั้นนำ มีกลุ่มทุนผูกขาดจำนวนมากที่สนับสนุนอยู่ แล้วอีลิตที่อยู่นอกสภาเหล่านี้สำคัญกว่าคนที่อยู่ในสภาเสียอีก คือรัฐบาลจะล่มหรือไม่ล่มไม่ค่อยขึ้นอยู่กับเสียงในสภาเท่าไหร่ ตราบใดที่กลุ่มอีลิตยังสนับสนุนพลเอกประยุทธ์อยู่ และมองว่าพลเอกประยุทธ์เป็นตัวเลือกที่ดีที่สุดแล้ว 

แม้หลายคนวิจารณ์ว่า การบริหารงานของรัฐบาลสร้างปัญหาทางเศรษฐกิจ แต่เพราะอะไรกลุ่มอีลิตจึงยังสนับสนุนรัฐบาลนี้

        แน่นอนถ้าถึงจุดที่เศรษฐกิจพังไปเลย พลเอกประยุทธ์ก็คงอยู่ไม่ได้ เศรษฐกิจจะเป็นตัวชี้ขาด ถ้าผลประโยชน์ของชนชั้นนำหายไปก็คงไม่อุ้มรัฐบาลที่ล้มเหลว แต่ผมกังวลว่าเราอาจจะเจออีกปัญหาหนึ่งมากกว่า ที่เศรษฐกิจอาจจะไม่ถึงขั้นล้มแบบปี 2540 แต่นักเศรษฐศาสตร์บอกว่า เศรษฐกิจของเราจะซึมๆ ไป

เป็นเศรษฐกิจแบบกบต้ม

        ใช่ เราอาจจะไม่เห็นวิกฤตขนาดใหญ่จนเศรษฐกิจล่มสลาย แต่เศรษฐกิจแทบจะไม่โต การลงทุนก็น้อย การบริโภคภายในประเทศก็ไม่ค่อยมี สถานการณ์ก็จะเดินไปอย่างนี้ ซึมๆ ไป ซึ่งถ้าเศรษฐกิจไม่ล่มสลาย พวกทุนใหญ่เขาก็ยังอยู่ได้ ถ้าเราไปดูตัวเลข 4-5 ปีที่ผ่านมา บริษัทใหญ่ๆ กว่า 10 แห่งที่มีสายสัมพันธ์ที่ดีกับรัฐ มีกำไรโตขึ้นมหาศาลเกือบร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่บริษัทสตาร์ทอัพหรือ SME เกือบร้อยเปอร์เซ็นต์เจ๊งหมด ที่เราเห็นสตาร์ทอัพที่เอามาโชว์ว่าเป็นอายุน้อยร้อยล้าน นั่นเป็นเพียงไม่กี่เปอร์เซ็นต์เท่านั้น เพราะบริษัทเล็กๆ โตไม่ได้กับโครงสร้างอำนาจที่ผูกขาดแบบนี้

        ถ้าเราวิเคราะห์การเมืองเราต้องมองให้เห็นเศรษฐศาสตร์การเมือง เพราะการเมืองเป็นเรื่องของผลประโยชน์ คนไม่ได้อยากมีอำนาจเพราะอำนาจ แต่อำนาจเป็นเครื่องมือเอาไปใช้ดลบันดาลสิ่งอื่นให้เกิดขึ้น เพราะฉะนั้น อำนาจและผลประโยชน์มาพร้อมกัน ถ้าเราอยากวิเคราะห์ว่าการเมืองจะไปรอดหรือไม่ เราต้องดูตัวละครอื่นๆ บนกระดานนอกการเมืองด้วย

แต่เศรษฐศาสตร์การเมืองไม่ค่อยถูกพูดถึง อาจเพราะไม่มี data ให้เก็บหรือเปล่า หรือเขาชอบไปคุยกันในเหลา

        (หัวเราะ) ใช่ๆ หรืออาจเพราะไม่ค่อยมีนักวิจัยอยากทำ เพราะหาทุนยาก 

 

ประจักษ์ ก้องกีรติ
ประจักษ์ ก้องกีรติ

ดูเหมือนเราก็คงไม่ได้เห็นความเปลี่ยนแปลงจากการอภิปรายไม่ไว้วางใจมากนัก ถ้าอย่างนั้นเราควรคาดหวังอะไรกับสิ่งนี้

        นี่เป็นกระบวนการเรียนรู้ทางการเมืองที่สำคัญที่สังคมจะได้เรียนรู้ เป็นมิติดีในช่วงหลังที่คนเข้ามาสนใจการเมืองมากขึ้น รู้สึกเป็นเรื่องใกล้ตัว เริ่มตั้งคำถามว่า เรียนจบมาฉันจะได้ค่าแรงกี่บาท ฉันจะมีงานทำหรือไม่ ทำไมฉันจะต้องสูดฝุ่นพิษ ทุกคนรู้แล้วว่าเกี่ยวกับการเมือง ทุกอย่างโยงกลับไปเพราะอำนาจการตัดสินใจอยู่ตรงนั้น เราจะเห็นปรากฏการณ์ที่คนไปนั่งดูเวลาประชุมสภาเป็นหมื่นๆ วิวบนออนไลน์ เวทีรัฐสภามีหน้าที่สำคัญที่จะสื่อสารและตรวจสอบแทนประชาชน และนี่เป็นครั้งแรกในรอบ 6 ปีนะ ที่เรามีการอภิปรายไม่ไว้วางใจ

ทศวรรษที่ผ่านมาเป็นทศวรรษที่สูญหายไปของการเมืองไทย เราอยู่กับความขัดแย้งมานานจนสูญเสียฉันทามติที่เคยมีไป

ประเด็นที่ใหญ่ที่สุดปีนี้น่าจะเป็นเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ คุณมองว่าเราจะสร้างฉันทามติอย่างไร เพราะว่าเราอยู่ในยุคที่มีเฟกนิวส์เยอะมาก แล้วความขัดแย้งพื้นฐานก็ยังคงอยู่

        สร้างสำเร็จหรือไม่ ไม่รู้ แต่เราต้องสร้าง เพราะว่าถ้าไม่สามารถสร้างฉันทามติในสังคมเรื่องรัฐธรรมนูญได้ ประเทศไทยก็จะเดินไปสู่ทางตัน ระบอบรัฐธรรมนูญ 2560 เป็นระบอบที่ทำให้พรรคการเมืองอ่อนแอ และเมื่อพรรคการเมืองอ่อนแอจะไม่สามารถแก้วิกฤตใหญ่ๆ ของชาติได้เลย แล้วโลกในปัจจุบัน ปัญหาที่เกิดจะแก้ยากขึ้นทุกที เป็นปัญหาที่หนักและไร้พรมแดน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องโรคระบาด โลกร้อน มลภาวะ หรือเรื่องเศรษฐกิจ จึงต้องการรัฐบาลที่มีประสิทธิภาพสูงในการทำงาน เรามีรัฐบาลในระบบนี้ไม่ได้ ไม่ว่าพรรคไหนก็ตามมาเป็นรัฐบาลในระบบนี้ ถึงฝ่ายค้านพลิกล็อกขึ้นมาเป็นรัฐบาล ด้วยระบบที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ก็คงบริหารประเทศได้ไม่ดีไปกว่านี้เท่าไหร่

ถ้าจะถอดบทเรียนจากรัฐธรรมนูญปี 2540 ที่ทุกคนเรียกว่ามีความเป็นประชาธิปไตยมากที่สุด ตอนนั้นฉันทามติร่วมในสังคมที่ผลักดันให้เกิดรัฐธรรมนูญฉบับนี้ขึ้นมาคืออะไร

        ปัจจัยใหญ่มีสองอย่าง หนึ่ง คือบทเรียนจากพฤษภาทมิฬ 2535 ที่มีประชาชนล้มตายจำนวนมาก แล้วคนรู้สึกไม่อยากเห็นการสูญเสียแบบนั้นอีกแล้ว และสอง การเกิดวิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้งที่มาพร้อมกันพอดี จนคนเห็นแล้วว่าระบอบที่เป็นอยู่มีพรรคผสมผลัดเปลี่ยนกันบริหารอยู่ 8 เดือน 10 เดือน ระบอบแบบนี้ไม่สามารถแก้ปัญหาที่มีได้ ทำงานไม่เป็นเอกภาพ คอร์รัปชันก็สูง ตัดสินใจผิดพลาดจนนำมาสู่วิกฤตเศรษฐกิจ คนก็คิดว่าถึงเวลาต้องแก้แล้ว อยากเห็นการเมืองที่มีประสิทธิภาพ โปร่งใส ไม่มีคอร์รัปชัน ในที่สุดฉันทามติก็เกิดจากวิกฤตที่มากระแทกสองอย่างใหญ่ๆ แล้วตอนนั้นสังคมไทยยังไม่มีความแตกแยกขนาดนี้ ทุกคนยังมองโจทย์คล้ายๆ กันอยู่ จริงๆ เรามาถูกทางแล้ว สามารถสร้างระบอบที่เข้มแข็งกว่าเดิม สร้างการเมืองที่เข้มแข็งกว่าเดิม แต่ตอนนี้เหมือนเราย้อนเวลากลับไป ไปเอาระบอบการเมืองที่มีปัญหามาใช้

ที่น่าสนใจคือปัญญาชนบางคนที่อยู่ในช่วงเวลาเรียกร้องรัฐธรรมนูญปี 2540 มาถึงวันนี้กลับยอมรับรัฐธรรมนูญฉบับ 2560 ได้ เกิดอะไรขึ้น

        ต้องพูดว่าทศวรรษที่ผ่านมาเป็นทศวรรษที่สูญหายไปของการเมืองไทย เราอยู่กับความขัดแย้งมานานจนสูญเสียฉันทามติที่เคยมีไป พอสังคมไหนที่อยู่กับความขัดแย้งนาน ซึมลึก ไม่ได้รับการแก้ไข ปัญหาที่มีจะแก้ยากขึ้น แล้วคนที่อยู่ในความขัดแย้งทั้งสองฝ่ายนี่แหละที่สะสมความโกรธความเกลียดจนฝังหัว แล้วกลายเป็นอคติ ก็เป็นเรื่องที่น่าเสียดาย เพราะเราอยู่กันอย่างนี้ต่อไปเรื่อยๆ ไม่ได้ สังคมก็จะถดถอย ในขณะที่ประเทศอื่นเขาก้าวไปข้างหน้า เขาไม่ได้มาทะเลาะทางการเมืองแล้วว่าจะใช้ระบอบอะไร แต่เดินไปสู่ประเด็นอื่นแล้ว พูดเรื่องจะพัฒนานวัตกรรมอย่างไร พัฒนาเรื่องการศึกษา พัฒนาคนรุ่นใหม่ให้เป็นพลเมืองโลกอย่างไร โลกเขาไปถึงไหนแล้วตอนนี้ เรายังมาเถียงกันในปัญหาของศตวรรษที่ 18-19 

        รัฐธรรมนูญฉบับนี้พาเราถอยไปไกลกว่าปี 2540 พาเราย้อนไปไกลถึงช่วงสงครามเย็นที่กลัวภัยคอมมิวนิสต์ ซึ่งเป็นความคิดที่พ้นสมัยไปแล้วแต่ยังเอากลับมาใช้อยู่ ที่กองทัพเข้ามาเป็นตัวละครทางการเมือง เราเป็นประเทศท้ายๆ ของโลกที่ยังต้องมาแก้โจทย์การแทรกแซงของกองทัพ ต้องมากังวลเรื่องการรัฐประหาร ซึ่งสวนทางกับโลกที่ทหารค่อยๆ ถอยออกไปจากอำนาจ เมียนมาเองยังเป็นประเทศที่ปรับตัว เขารู้ว่าวันหนึ่งก็ต้องเปลี่ยน เพราะต้นทุนสูงเกินไป ไม่ว่าจะโดนบอยคอตจากนานาชาติ ประเทศก็ไม่มีการพัฒนา ทหารและญาติพี่น้องของเขาก็เสียผลประโยชน์ เขาก็ต้องเปิดประเทศไปเป็นส่วนหนึ่งของสังคมโลก

แต่ประเทศที่มีปัญหาความขัดแย้งซับซ้อน และมีระบอบการปกครองแบบที่ว่ามานี้ ก็ยังสามารถยืนหยัดอยู่ในโลกทุกวันนี้ได้ไม่ใช่หรือ

        ไทยเลยเป็นกรณีศึกษาของคนแวดวงวิชาการ ทั้งในทางรัฐศาสตร์และสังคมศาสตร์จากทั่วโลกตลอดช่วง 10 ปีที่ผ่านมา เพราะว่าประเทศที่มีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจสูงอย่างประเทศไทย ตามทฤษฎีจะไม่ควรจะเกิดการรัฐประหารอีก เลยก่อเกิดเป็นปริศนาว่า ทำไมประเทศไทยยังมาวนเวียนอยู่กับการรัฐประหารอยู่ ถ้าเราแก้โจทย์นี้ไม่ได้ เรื่องอื่นก็จะแก้ยากไปด้วย  

        แต่นอกจากการรัฐประหารแล้ว ไทยยังมีข้อมูลที่น่าตกใจอีก 2 อย่าง หนึ่ง คือเรามีรัฐประหารเกิดขึ้น 2 ครั้งในรอบ 10 ปี นั่นแสดงว่าการเมืองไม่เดินหน้าไปไหนเลย สอง คือการที่ทหารเข้ามาทำรัฐประหาร ในประเทศส่วนใหญ่เขาจะเข้ามาอยู่แป๊บเดียวแล้วออกไป แต่ของไทยรัฐบาลทหารอยู่ยาวมาถึง 5 ปี และปรับเปลี่ยนอะไรไปหลายอย่าง ซึ่งซ้ำเติมอาการของโรคในประเทศไทยให้หนักหนามากขึ้น ทุกวันนี้เราติดกับดักอยู่ 3 อย่าง คือความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ ปัญหาอำนาจนิยม และโครงสร้างรัฐราชการรวมศูนย์ที่กลับมา พอกับดักพวกนี้มารวมกัน ทำให้ยากมากที่ประเทศไทยจะพุ่งทะยานไปข้างหน้า

ปัญหาเรื่องภูมิรัฐศาสตร์ (Geopolitics) จะเข้ามามีผลต่อการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองของไทยมากไหม 

        อันนี้สำคัญอยู่แล้ว ภูมิรัฐศาสตร์ที่ครอบอยู่ทั่วโลก เป็นปัญหาที่ทุกประเทศต้องเผชิญ เรื่องของการแย่งชิงอำนาจระหว่างจีนและสหรัฐฯ ทั้งในมิติการเมืองและเศรษฐกิจ เราอยู่ในโลกที่จีนผงาดขึ้นมาและต้องการแย่งชิงความเป็นใหญ่จากสหรัฐฯ ในภูมิภาคอาเซียนก็ต้องเผชิญกับโจทย์นี้ ว่าจะอยู่รอดยังไง และส่วนใหญ่จะถูกบังคับให้เลือกข้าง ประเทศที่ฉลาดหน่อยก็สร้างอำนาจต่อรองถ่วงดุลทั้งสองฝ่าย ไม่เลือกฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งชัดเจน เพราะว่าเขากำลังสู้กัน ถ้าเลือกข้างผิดคุณอาจจะแหลกลาญได้ ประเทศที่เขาถ่วงดุลได้ดีก็อย่างสิงค์โปร์ หรืออย่างเมียนมาก็ชัดเจนว่าเขาเลือกจีนไปเลย

ประเทศไทยวางตัวอย่างฉลาดหรือเปล่า

        ของไทยนี่เราไม่มียุทธศาสตร์ที่ชัดเจนว่าจะอยู่รอดยังไง ในการต่อสู้ของสองมหาอำนาจครั้งนี้ แต่ดูเหมือนว่าที่ผ่านมาเราก็เสียสมดุลไปพอสมควร และเอียงไปยังข้างจีน ทั้งที่เมื่อก่อนเราเก่งมาตลอดในการรักษาสมดุลอำนาจระหว่างประเทศ ด้วยนโยบายต่างประเทศที่มีความยืดหยุ่น แต่หลังรัฐประหาร 2557 เป็นต้นมา เราก็ถูกบอยคอตจากสหรัฐฯ ด้วยกฎหมายของเขาที่ไม่สามารถที่จะเจรจากับรัฐบาลทหารได้ พอเกิดสุญญากาศแบบนี้ จีนก็ยื่นมือเข้ามา 

        ข้อดีสำหรับคนชั้นนำไทยคือ จีนไม่สนใจว่าเราจะปกครองด้วยระบอบอะไร ชนชั้นนำไทยก็รู้สึกอบอุ่น ได้มิตรเป็นมหาอำนาจใหม่ ถึงโลกตะวันตกบอยคอตเรา ก็ค่อยๆ เอียงเข้าหาจีนมากขึ้น มีการสร้างความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจทางการค้า จนทำให้คนจีนเข้ามาลงทุนที่ไทยมากที่สุด นี่ยังไม่นับการท่องเที่ยวอีก และความสัมพันธ์ทางการทหารก็มี มากขึ้น ซึ่งจุดนี้ก็น่ากังวลเหมือนกัน เพราะว่านโยบายที่ดีที่สุดคือการถ่วงดุลมหาอำนาจทั้งสองฝ่าย ไม่ควรตกไปอยู่ภายใต้อำนาจของประเทศใดมากเกินไป เพราะอย่างนั้นเราจะไม่เหลืออำนาจในการต่อรอง เหมือนสิ่งที่เกิดขึ้นในปัจจุบันอย่างเรื่องไวรัสโคโรนา ที่ดูเหมือนเราไม่ได้ประโยชน์ที่เป็นรูปธรรมอะไรสักเท่าไหร่จากการเป็นมหามิตรนี้ และดูเหมือนเราจะสูญเสียอำนาจในการต่อรองด้วยซ้ำ

ถ้าคุณเล่นทวิตเตอร์ จะรู้เลยว่าไม่มีอะไรลึกลับซับซ้อนต่อไปอีกแล้วในประเทศไทย แต่จะเปลี่ยนอย่างไร นั่นเป็นคำถามใหญ่กว่า

จีนในปีนี้ก็ดูเหมือนเผชิญสถานการณ์หลายเรื่อง อย่างนี้การที่รัฐบาลหันเข้าหาจีน จะกลายมาเป็นปัจจัยหนึ่งให้คนไทยรู้สึกไม่พอใจรัฐบาลหรือเปล่า

        การที่จีนมีปัญหาเศรษฐกิจก็จะกระทบกับไทยด้วย เพราะไทยก็พึ่งพิงจีนเยอะในแง่การส่งออก การลงทุน และการท่องเที่ยว พอนักท่องเที่ยวจีนไม่มาเราก็ได้รับผลกระทบ ทำให้เราต้องทบทวนเหมือนกันว่าโครงสร้างเศรษฐกิจที่เราต้องไปพึ่งพิงกับจีนมากขนาดนี้ ถูกต้องหรือเปล่า และการที่เราไปอยู่ภายใต้อิทธิพลของจีนเยอะ การที่จะทำอะไรเราก็ต้องกลัวว่าจะกระทบจีน หรือทำให้เขาขุ่นเคืองไม่พอใจ เช่น การที่เราไม่กล้าออกมาตรการอะไรควบคุมการเดินทางนักท่องเที่ยวที่มาจากจีนเลย ทั้งๆ ที่ในอาเซียนหลายประเทศทำ อย่างน้อยเรื่องการพิจารณา Visa on Arrival เราก็ต้องทบทวน นี่ไม่ใช่ประเด็นเรื่องเหยียดเชื้อชาติ แต่เป็นมาตรการควบคุมโรคระบาด และปกป้องคนในชาติของเขา แต่กลายเป็นว่าเราทำอะไรไม่ได้สักอย่าง ก็สะท้อนว่าเราไม่มียุทธศาสตร์ที่ดี

แล้วยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ที่รัฐบาลเขียนไว้ล่ะ

        (หัวเราะ) นี่เลยเป็นคำถามว่าเราควรจะวางยุทธศาสตร์ที่ยาวนาน 20 ปี ได้หรือไม่ เพราะไม่มีใครสามารถทำได้ในโลกที่เปลี่ยนแปลงเร็วแบบนี้

คิดว่าจะมีปัจจัยใหญ่อะไรอีกไหมในปีนี้ ที่จะทำให้การเมืองของเราเปลี่ยนแปลงไปอย่างมีนัยสำคัญ 

        วิกฤตเศรษฐกิจจะเป็น trigger ที่สำคัญที่สุด ซึ่งทำให้คนรู้สึกว่ารัฐบาลล้มเหลว เมื่อใดที่ปัญหามาถึงเรื่องปากท้อง คนตกงาน กินไม่อิ่มนอนไม่หลับ เมื่อนั้นความชอบธรรมของรัฐบาลก็จะติดลบ แต่ถ้าไม่มี trigger อะไรที่ทำให้ระเบิดออกมา อาการของโรคก็จะเป็นแบบนี้ต่อไป คือซึมๆ ไม่ฟื้นตัวกลับขึ้นมา

        วิกฤตอาจจะทำให้เกิดโอกาสครั้งใหม่ที่ทำให้คนรู้สึกว่าเราไม่ไหวแล้ว ต้องปรับเปลี่ยน เหมือนกับว่าไม่เห็นโลงศพไม่หลั่งน้ำตา ซึ่งการเมืองที่เป็นอยู่ในปัจจุบันก็ไม่ได้ให้ความหวังกับใครเลย เป็นการเมืองที่ไม่มีความหวัง ทุกคนก็รู้ว่าเรามีรัฐบาลที่ไม่มีประสิทธิภาพในการแก้ไขปัญหา และความตึงเครียดจะมีมากขึ้นระหว่างประชาชนกับรัฐบาล โดยไม่ต้องพูดถึงเรื่องประชาธิปไตยด้วยซ้ำ แต่เป็นเรื่องความสามารถในการทำงาน ความรวดเร็วในการแก้ไขปัญหา ความเป็นเอกภาพในการทำงาน และวิสัยทัศน์ในการแก้ไขปัญหาต่างๆ ซึ่งคนมองสิ่งเหล่านั้นไม่เห็น

แต่ถ้ามองในแง่ดี การเมืองวันนี้ ก็ทำให้ตัวละครที่อยู่เบื้องหลังรัฐพันลึก ที่แต่ก่อนเหมือนเรือดำน้ำที่อยู่ใต้ทะเล ค่อยๆ ลอยขึ้นมาบนผิวน้ำกันหมดแล้ว

        ใช่ ทุกวันนี้รัฐพันลึกโผล่ขึ้นมาบนน้ำหมดแล้ว ที่คนพูดกันว่ามีตัวละครลับ มีอีลิตกลุ่มต่างๆ ที่อยู่เบื้องหลัง ตลอด 5 ปี ทุกคนออกมาเป็นผู้เล่นบนกระดานหมดแล้ว จริงๆ ทุกวันนี้ประชาชนที่ติดตามข้อมูลข่าวสาร เขาไม่ได้ต้องการนักวิชาการมาบอกแล้วว่าเกิดอะไรขึ้น ดูในทวิตเตอร์อย่างเดียวก็ได้ เด็กรุ่นใหม่สมัยนี้เวลาเขาทวีตอะไร ก็สะท้อนว่าเขารู้อะไรกำลังเกิดขึ้นในสังคม แต่ยิ่งเขารู้แล้วเปลี่ยนแปลงอะไรไม่ได้ ก็จะยิ่งอึดอัด ผมกลัวว่าตรงนี้จะสะสมเป็นความตึงเครียดมากขึ้นในสังคม แต่ถึงวันนี้มันเลยจุดไปแล้ว ยุคที่คนไม่รู้เรื่องอะไรเลย ไม่ได้รับรู้ข้อมูลข่าวสาร คนเริ่มตั้งคำถามแล้ว และตั้งคำถามเชิงโครงสร้างมากขึ้นเรื่อยๆ 

เวลาคนเมนชันทวิตเตอร์ของคุณ คงมีแต่คำถามยากๆ ใช่ไหมเดี๋ยวนี้

        (หัวเราะ) มีแต่คำถามโหดๆ เป็นคำถามแบบในชั้นเรียนเลย เมื่อก่อนยังไม่เห็น แต่เห็นชัดเจนมากขึ้นใน 4-5 ปีที่ผ่านมา ซึ่งถ้าคุณเล่นทวิตเตอร์ จะรู้เลยว่าไม่มีอะไรลึกลับซับซ้อนต่อไปอีกแล้วในประเทศไทย แต่จะเปลี่ยนอย่างไร นั่นเป็นคำถามใหญ่กว่า

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0