โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

บ้านของเรา อ.ป๋วย และจดหมายรัก 14 ตุลา - ประจักษ์ ก้องกีรติ

THINK TODAY

เผยแพร่ 14 ต.ค. 2562 เวลา 17.00 น. • ประจักษ์ ก้องกีรติ

“เมื่อผมพิจารณาด้วยความเที่ยงธรรมแล้ว ผมกลับรู้สึกภาคภูมิใจในเยาวชนของหมู่บ้านไทยเจริญเรา แทนที่จะรู้สึกหมั่นไส้… ผมเห็นใจเยาวชนที่เขาได้รับการสั่งสอนจากพวกเรา ให้รักหลักประชาธรรม (ซึ่งก็ถูกต้อง) ให้รักและนิยมเสรีภาพในการคิด การพูด การเขียน และการสมาคม… และเขานำเอาคำสั่งสอนของพวกเรานั่นเองไปประทับหัวใจของเขา พอหมู่บ้านมีกติกาขึ้น เขาก็ดีใจ เพราะเป็นไปตามความคาดหวังของเขาซึ่งตรงกับคำสั่งสอนของพวกเรา แต่กติกามีชีวิตอยู่ไม่นาน ก็ถูกปลิดไปโดยฉับพลัน และไม่มีอะไรให้ความหวังได้แน่นอนว่าจะคืนชีพกลับมากำหนดเมื่อใด ใครเล่าจะไม่เสียดาย ใครเล่าจะไม่ผิดหวัง เพราะเขาคาดหวังว่าจะได้มีส่วนร่วมในการสร้างสรรค์ความเจริญให้แก่ไทยเจริญ ตามกติกาของหมู่บ้าน”  

“สำหรับหมู่บ้านไทยเจริญ ของเราก็มีสิ่งแวดล้อมที่เป็นพิษอยู่เป็นอันมาก แต่ผมว่าอะไรก็ไม่ร้ายเท่าพิษของความเกรงกลัว ซึ่งเกิดจากการใช้อำนาจขู่เข็ญ และการใช้อำนาจโดยพลการ (แม้ว่าจะใช้ในทางที่ถูก) เพราะความเกรงกลัวย่อมมีผลสะท้อนเป็นพิษแก่ปัญญา”

“ทุกวันนี้อ่านหนังสือพิมพ์แต่ละวันก็พบโดยทั่วไป ภัยจากภายนอกหมู่บ้านไทยเจริญนั้น ผมเห็นด้วยกับพี่ทำนุว่าต้องขจัดให้สิ้นไป แต่ถ้าหมู่บ้านของเรามีแต่การใช้อำนาจ ไม่ใช่สมองไปในทางที่ควรเช่นที่บรรพบุรุษไทยเราเคยใช้มา จนสามารถรักษาเอกราชได้มาช้านาน เมื่ออำนาจทำให้กลัว ทางชีววิทยาท่านว่าไว้ ว่าเส้นประสาทบังคับให้หลับตาเสีย และเวลาหลับตานั้นแหละ เป็นเวลาแห่งความหายนะ”  

“ข้อสำคัญที่สุดก็คือการจำกัดสิทธิของมนุษย์ การห้ามชาวบ้านไทยเจริญมิให้ใช้สมองคิด ปากพูด มือเขียนโดยเสรี และมิให้ประชุมปรึกษาเรื่องราวต่างๆ เกี่ยวกับการ ปกครองหมู่บ้านที่รักของเราทุกคนโดยเสรีนั้น กลับเป็นการตัดหนทางมิให้หมู่บ้านไทยเจริญ ได้รับประโยชน์จากสมองอันประเสริฐของชาวบ้าน ทั้งในฐานปัจเจกชน และในฐานส่วนรวมด้วย” 

ข้อความข้างต้นเป็นส่วนหนึ่งของจดหมายฉบับประวัติศาสตร์ที่ ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ซึ่งใช้นามปากกาว่านายเข้ม เย็นยิ่ง (ชื่อรหัสเมื่อครั้งทำงานอยู่ในขบวนการเสรีไทยสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2) เขียนถึง “นายทำนุ เกียรติก้อง” ผู้ใหญ่บ้านไทยเจริญ ซึ่งหมายถึงจอมพลถนอม กิตติขจร ในเดือนกุมภาพันธ์ 2515 อาจารย์ป๋วยเขียนจดหมายฉบับนี้ในลักษณะจดหมายเปิดผนึกให้สาธารณชนทั่วไปได้อ่าน หลังจากส่งไปถึงจอมพลถนอมแล้วไม่ได้รับตอบกลับ ดังที่ชี้แจงว่า “ผมเขียนด้วยความหวังดีต่อท่าน และได้จ่าหน้าซองมีหนังสือนำถึงท่านโดยตรงแจ้งให้ทราบแน่ชัดว่า จดหมายนี้มา จากผม ต่อเมื่อท่านไม่มี ปฏิกิริยาโต้ตอบอย่างใดผมจึงนำเอาจดหมายนี้ออกตีพิมพ์เป็นจดหมายเปิดผนึก”  

ในวาระ 14 ตุลา เวียนมาบรรจบ ผมนึกถึงจดหมายฉบับนี้เป็นพิเศษและกลับไปอ่านมันอีกครั้งหนึ่ง พบว่าเนื้อหาหลายอย่างยังคงทันสมัยและควรที่คนไทยทุกคน โดยเฉพาะผู้มีอำนาจในยุคปัจจุบันควรจะได้อ่าน

จดหมายฉบับนี้เขียนขึ้นภายหลังที่จอมพลถนอม และคณะตัดสินใจทำ“รัฐประหารตัวเอง” ในเดือนพฤศจิกายน 2514 หลังจากที่เพิ่งประกาศใช้รัฐธรรมนูญและจัดให้มีการเลือกตั้ง 2 ปีก่อนหน้านั้น แต่เมื่อเกิดความขัดแย้งภายในรัฐบาลผสมและในสภา กองทัพที่นำโดยจอมพลถนอมและจอมพลประภาส จารุเสถียร ก็ตัดสินใจปิดฉากประชาธิปไตยลงอีกครั้ง หันกลับไปปกครองแบบเผด็จการโดยไม่มีรัฐธรรมนูญและรัฐสภา

การรัฐประหารตนเองครั้งนั้นทำให้เกิดความอึดอัดและความไม่พอใจของคนจำนวนมากในสังคม เพราะรู้สึกว่ากองทัพไม่มีเจตนาที่จะเปลี่ยนผ่านประเทศไปสู่ประชาธิปไตยตามคำมั่นสัญญา ทั้งยังใช้อำนาจตามอำเภอใจ อยากจะให้มีการเลือกตั้งเมื่อใดก็มี อยากจะล้มเลิกเมื่อใด ก็ล้มเลิกเสียดื้อๆ แต่แม้จะมีความไม่พอใจในหมู่ประชาชน แต่ก็ไม่มีใครกล้าแสดงออกคัดค้านโดยเปิดเผยในทันที เพราะเกรงกลัวการใช้อำนาจของคณะรัฐประหาร ซึ่งมีมาตรา 17 ที่สามารถจับกุมคุมขัง กระทั่งตัดสินประหารชีวิตคนได้โดยไม่ต้องผ่านกระบวนการยุติธรรม

จดหมายฉบับนี้ของอาจารย์ป๋วยจึงออกมาให้ห้วงจังหวะสำคัญ เพราะเป็นเสมือนเสียงแห่งมโนธรรมในยุคสมัยของความมืด

อาจารย์ป๋วยใช้สถานะทางสังคมของตนเองที่พอจะมีอยู่บ้างในฐานะคณบดี คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และอดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย สื่อสารถึงคณะรัฐประหารว่าตนไม่พอใจกับการรัฐประหาร เพราะมันคือการหยุดพัฒนาการทางการเมืองของประเทศที่กำลังดูเหมือนจะพอมีแนวโน้มที่เปิดกว้างขึ้นก่อนหน้านั้น อาจารย์ป๋วยมองว่าการยึดอำนาจทำให้อำนาจกลับไปกระจุกผูกขาดอยู่ในการตัดสินใจของคนจำนวนน้อยไม่กี่คน ปิดกั้นการมีส่วนร่วมของประชาชน ซึ่งจะยิ่งทำให้ประเทศแก้ปัญหายากๆ ที่รุมเร้าอยู่ไม่ได้

ผมชอบประเด็นที่อาจารย์ป๋วยกล่าวว่าการปกครองด้วยความหวาดกลัวและการขู่เข็ญประชาชนนั้นทำให้รัฐบาลไม่มีวันล่วงรู้ความรู้สึกที่แท้จริงของประชาชนได้ และที่สำคัญยังเท่ากับการปิดกั้นการพัฒนาสติปัญญาของสังคมโดยรวม ที่ประชาชนทุกคนจะมาร่วมกันคิด ร่วมแรงลงมือพัฒนาประเทศ แทนที่จะต้องรอการตัดสินใจของผู้ใหญ่บ้านและผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านจากเบื้องบนไม่กี่คน ที่บ่อยครั้งก็ใช้อำนาจตามอำเภอใจและไม่ฟังเสียงลูกบ้าน

ผู้ใหญ่อย่างอาจารย์ป๋วยยังใจกว้างและทันสมัย เรียกร้องให้รัฐบาลหันมาเปิดใจรับฟังเสียงของเยาวชนของชาติ เพราะคนรุ่นหนุ่มสาวมีทั้งความรักและความหวังดีต่อชาติบ้านเมือง อยากจะมีส่วนร่วมในการพัฒนาชาติให้เจริญขึ้น อาจารย์ป๋วยย้อนถามว่าก็บรรดาผู้ใหญ่มิใช่หรือที่พยายามปลูกฝังให้เยาวชนสนใจและใส่ใจในปัญหาของบ้านเมืองและรักในสิทธิเสรีภาพ และเยาวชนก็รับคำสอนเหล่านี้ไปอย่างเต็มที่ ผู้ใหญ่จึงควรมองเยาวชนในด้านดี แทนที่จะคอยจับผิด หวาดระแวง และดูถูกดูแคลนสติปัญญาความสามารถของอนาคตของชาติ

อาจารย์ป๋วยทิ้งท้ายจดหมาย เรียกร้องให้จอมพลถนอมรีบจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ในเร็ววัน เพื่อที่ประเทศจะได้มีกติกาหมู่บ้านอีกครั้ง แต่เราก็ทราบแล้วว่ารัฐบาลมิได้สนใจรับฟัง จนในที่สุด 1 ปีกับอีก 8 เดือนหลังจดหมายฉบับนี้ตีพิมพ์ ก็เกิดเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ 2516 โดยมีชนวนสำคัญมาจากประเด็นการเรียกร้องรัฐธรรมนูญ

หากประเทศชาติคือหมู่บ้าน อาจารย์ป๋วยกำลังบอกว่าหมู่บ้านจะพัฒนาได้นั้น ประชาชนรวมทั้งเยาวชนต้องมีสิทธิเสรีภาพและมีส่วนร่วม ผู้ใหญ่บ้านและคณะไม่ใช่เจ้าของหมู่บ้าน เป็นเพียงตัวแทนที่ถูกเลือกให้มาช่วยบริหารจัดการหมู่บ้านร่วมกับลูกบ้านทั้งมวลที่เป็นเจ้าของบ้านตัวจริง

ผมเรียกจดหมายฉบับนี้ของอาจารย์ป๋วยว่า “จดหมายรัก” เพราะท่านเขียนขึ้นด้วยความรักที่มีต่อชาติบ้านเมือง ด้วยน้ำเสียงที่เต็มไปด้วยความห่วงใย ในยามที่ท่านเห็นว่าบ้านเมืองกำลังดำเนินไปผิดทิศผิดทาง แม้จะรู้ว่าการเขียนวิจารณ์ตักเตือนผู้มีอำนาจอย่างเปิดเผย (ต่อให้เขียนอย่างสุภาพและหวังดี) ในยุคนั้นอาจนำมาซึ่งอันตรายแก่ตนเอง (หลังจากจดหมายฉบับนี้ตีพิมพ์ อาจารย์ป๋วยทั้งโดนขู่ทำร้ายและเผชิญแรงกดดันในหน้าที่การงาน) แต่ท่านก็เลือกที่จะทำ เลือกที่จะออกมาให้สติกับผู้มีอำนาจ

นับว่าเป็นความกล้าหาญทางจริยธรรมที่หาได้ยาก

น่าเสียดายที่สังคมไทยไม่มีผู้หลักผู้ใหญ่ที่ยึดมั่นในหลักการและกล้าหาญอย่างอาจารย์ป๋วยอีกแล้ว.

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0