โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไอที ธุรกิจ

'บิ๊กตลาดหุ้น'เตือนเห็นทิศทางการฟื้นฟูกิจการของการบินไทยแล้วรู้สึกว่าเริ่มไปผิดทาง

ไทยโพสต์

อัพเดต 25 พ.ค. 2563 เวลา 02.17 น. • เผยแพร่ 25 พ.ค. 2563 เวลา 02.17 น. • ไทยโพสต์

25 พ.ค.63- นายณัฐ เหลืองนฤมิตชัย ผู้ช่วยผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และหัวหน้ากลุ่มงานพัฒนาระบบงานเทคโนโลยีสารสนเทศ สายงานเทคโนโลยีสารสนเทศโพสต์เฟซบุ๊กว่า อาทิตย์ที่แล้ว เห็นทิศทางการฟื้นฟูกิจการของการบินไทยแล้วรู้สึกว่าเริ่มไปผิดทาง วันนี้ผมเลยขอมาอธิบายแนวคิดของการฟื้นฟูกิจการแบบง่ายๆเพิ่ม หวังว่าท่านทั้งหลายจะเข้าใจ และสามารถให้ความรู้กับคนรอบข้างได้

ขอเน้นย้ำว่าบทความข้างล่างเป็นความเห็นทั่วไป ไม่ได้เฉพาะเจาะจงกับบริษัทใดบริษัทหนึ่ง และเป็นแนวคิดทั่วไปของการประกอบธุรกิจ มุ่งหวังให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้อง ไม่ใช่ความเห็นขององค์กรใดองค์กรหนึ่ง หากมีความคิดเห็นที่ไม่ใช่ข้อมูลจริง และผิดพลาดประการใด ผมขอรับผิดเพียงผู้เดียวครับ

การฟื้นฟูกิจการ คือ การกอบกู้กิจการที่ไม่สามารถจะดำเนินการต่อไปได้เอง ดังนั้นการที่จะมีผู้สูญเสียบ้างเป็นเรื่องธรรมชาติ การที่รัฐบาลคิดว่าสามารถทำให้ไม่เกิดการสูญเสียย่อมเป็นไปไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็น 1. ผู้ถือหุ้น ซึ่งเป็นผู้รับความเสี่ยงสูงสุด เพื่อผลตอนแทนทางการเงินที่สูงกว่าเงินทุนในรูปแบบอื่น 2. ผู้ถือหุ้นกู้ และสถาบันการเงินที่ให้กู้ 3. พนักงาน

ลองจินตนาการว่าบริษัทที่ต้องฟื้นฟูกิจการเป็นเค้กก้อนหนึ่งที่ตอนแรกหนัก 500g ยามอยู่ในภาวะปกติ เค้กก้อนนี้ก็จะแบ่งกันได้สบายระหว่างผู้ที่เกี่ยวข้องตามที่ตกลงกันไว้ เจ้าหนี้ที่อาจจะให้แป้งให้เนยมาทำเค้กต้องได้เงินคืนไป ก็อาจจะอยากได้คืน 300g พนักงานก็เหมือนคนทำเค้กอาจจะอยากได้ไป 100g ส่วนที่เหมือน 100g ก็เหลือให้กับเจ้าของที่เป็นผู้ถือหุ้น ตามลำดับ

แต่พอการดำเนินธุรกิจมีปัญหา การผลิตเค้กที่เดิมเคยได้ 500g ก็อาจจะได้แค่ 250g อาจจะเพราะพนักงานทำแป้งหายบ้าง อบอุณหภูมิผิดบ้าง หรือถ้าร้ายๆ อาจจะเอาแป้ง เอาเนยไปทำอะไรอย่างอื่น ซึ่งพอเค้กที่ออกมาก้อนเล็กลงกว่าที่เจ้าหนี้ต้องการ มันแปลว่าเค้กทั้งก้อนนี้ เจ้าหนี้มีสิทธิที่จะได้ตามที่ตกลงกันไว้ ผู้อื่นอาจจะไม่มีโอกาสได้ชิมเค้กก้อนนี้เลย

ถ้าอยากให้กิจการดำเนินต่อไปได้ อย่างที่ผมเลยเล่าไว้ในตอนก่อน มันก็มีวิธีง่ายๆ ก็คือทำอย่างไรให้เค้กมันกลับมาเป็นก้อนที่ใหญ่ขึ้นดีขึ้น เช่น ทำให้พนักงานทำงานได้ดีขึ้น ไม่ทำแป้งนมเนยหกหาย ไม่เอาไปทำอย่างอื่น หรือคิดวิธีทำให้เค้กอร่อยขึ้น มีคนอยากซื้อมากขึ้น

อีกทางคือปรับเปลี่ยนการแบ่งเค้ก ไปคุยให้เจ้าหนี้ลดขนาดเค้กที่ต้องการบ้าง ให้พนักงานลดขนาดเค้กที่ต้องการบ้าง เพื่อที่จะมีอะไรเหลือให้ผู้ถือหุ้นบ้าง

แต่พอตกลงไปไม่ได้ แล้วเจ้าหนี้ฟ้องล้มละลาย มันก็เหมือนกับการที่เจ้าหนี้มายึดเค้กไปทั้งก้อน อาจจะเอาไปขายแยกส่วน กินเอง หรือให้คนอื่นกิน

แต่การฟื้นฟูกิจการก็เหมือนการที่อยากให้เค้กมันใหญ่ขึ้น อร่อยขึ้น อลังการมากขึ้น แต่ไม่มีใครอยากจะลงทุนกันมันมากขึ้น วันนี้เพราะรู้ว่าถ้าลงทุนเพิ่มลงไป มันจะไม่คุ้มกับเงินที่ลงไป เจ้าของเก่าก็ไม่อยากลงเงินเพิ่ม เพราะเห็นๆ อยู่ว่าไปลงทุนกับคนอื่นทำเค้กก้อนใหม่อาจจะง่ายกว่า เจ้าของใหม่ก็ไม่อยากเข้ามา เพราะรู้ว่าเค้กส่วนใหญ่ยังเป็นของเจ้าของเก่า ถ้าเอาเงินใหม่เข้ามาก็รู้ว่าเค้กส่วนใหญ่ก็ต้องแชร์กับเจ้าของเก่า ดังนั้นเงื่อนไขของการเอาเงินเข้ามาลงทุนเพิ่ม ก็คือต้องให้คนที่เป็นเจ้าของเค้กในปัจจุบันลดสิทธิในเค้กก้อนปัจจุบันลง เพื่อที่จะให้มีที่เหลือให้กับนักลงทุนใหม่

ในตัวอย่างเดิม ก็เหมือนกับการที่เจ้าของใหม่เอาครีม และตุ๊กตาหน้าเค้กมาใส่เพิ่ม 100g ทำให้เค้กกลับมาเป็น 350g ใหม่ (ถ้าทำให้ดีเค้ก 350g นี้อาจจะขายได้ราคาเพิ่มขึ้น 2 เท่า แต่ผมขอพูดถึงเคสแบบธรรมดาครับ) กลายเป็นคนที่มีส่วนแบ่งเค้กคือ เจ้าของใหม่ 100g เจ้าหนี้เก่า 300g พนักงาน 100g ผู้ถือหุ้นเก่า 100g รวม 600g ทุกๆ คนก็เห็นว่ายังมีเค้กไม่พอเหลือแบ่งทุกคน เจ้าหนี้เก่าก็อาจจะพยายามตัดเค้กออกไปขายซึ่งก็อาจจะมีพอสำหรับที่เขาจะพอใจ พนักงานก็อาจจะแอบกินเค้กเพราะหิว เลยกลายเป็นว่าเค้กที่เหลืออยู่เป็นเค้กที่ไม่สวยเสียแล้ว โดนตัดกระจุยกระจาย ครีมและตุ๊กตาที่อุตส่าห์ขนมาใส่ ก็โดนตัดเสียเละเทะ จนที่เหลืออยู่อาจจะไม่เหลือค่าให้คนที่เหลือเลยก็เป็นได้

ถ้าผู้ลงทุนใหม่ตกลงให้ชัดเจนก่อนว่าเค้กนี้ใครจะตัดไปได้บ้างตัดไปเมื่อไหร่ มันก็เหมือนการปรับโครงสร้างหนี้ ถ้าเอาพนักงานออกและจ่ายค่าตอบแทนการเลิกจ้างระหว่างที่เค้กยังขายไม่ได้ ก็คือการปรับโครงสร้างองค์กร การเอาเจ้าของเก่าออกไป ก็เหมือนการลงทุน สิ่งเหล่านี้ล่ะครับเป็นของจำเป็นเพื่อให้เค้กก้อนในปัจจุบันได้มีโอกาสที่จะสวยขึ้น เด่นขึ้น และอยู่ไปนานๆ ถ้าเจ้าของใหม่เอาของเข้าไปใส่โดยที่ไม่เยอะพอ อาจจะกลับกลายเป็นตัวทำร้ายให้เค้กนั้นพังทลายเร็วขึ้น

สถานการณ์วันนี้ก็เป็นเช่นนั้นเอง เจ้าของใหม่ไม่ควรอย่างยิ่งที่จะด่วนไปลงทุน โดยที่ไม่ได้ตกลงวิธีการแบ่งเค้กใหม่ก่อน และต้องพร้อมที่จะละเลยเค้กก้อนนี้ไปถ้าเจ้าของเก่าตกลงกันไม่ได้ เพราะไม่อย่างนั้นเจ้าของใหม่ไม่น่าจะได้ชิมเค้กครับ อย่าคิดแต่เพียงว่าเค้กนั้นเป็นเค้กแห่งชาติ อย่าลืมว่าท่านเจ้าของเป็นเจ้าของแห่งชาติเช่นกัน.

 

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0