โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

บันทึกเรื่อง “ทุเรียน” ในประวัติศาสตร์ไทย ลาลูแบร์บอก “กลิ่นเกินทน”

ศิลปวัฒนธรรม

อัพเดต 04 เม.ย. 2566 เวลา 02.39 น. • เผยแพร่ 03 เม.ย. 2566 เวลา 11.07 น.
ภาพปก - ทุเรียน
ทุเรียน ผลไม้ที่หลายคนชื่นชอบ (ภาพจาก https://www.matichon.co.th)

ความดีงามของฤดูร้อนอย่างหนึ่งก็คือมีผลไม้หลายชนิดให้เลือกกิน ซึ่ง “ทุเรียน” คือหนึ่งในผลไม้ยอดฮิต มีความแรงทั้งเรื่องราคาและกลิ่น หากใครไม่ชอบก็ถึงขั้นเบือนหน้าหนีเอาได้ง่ายๆ อย่าง “ลาลูแบร์” ที่บอกว่า ทุเรียนนั้นมีกลิ่นเกินทน!

ทุเรียน เป็นผลไม้ที่เป็นที่รู้จักและบริโภคในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มาตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ แต่ในโลกตะวันตกนั้น ทุเรียนกลับเป็นที่รู้จักมาเพียงระยะเวลา 600 ปีเท่านั้น โดยครั้งแรกสุดชาวยุโรปรู้จักทุเรียนจากบันทึกของนิกโกเลาะ ดา กอนตี (Niccolò Da Conti) ที่เดินทางท่องเที่ยวไปในภูมิภาคดังกล่าว ในช่วงระยะเวลาคริสต์ศตวรรษที่ 15 [1]

ในเมืองไทย คนไทยกินทุเรียนกันมานาน อย่างน้อยที่สุดก็ตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา โดยมีบันทึกของ ลาลูแบร์ ราชทูตจากฝรั่งเศส เป็นหลักฐาน เขาเขียนถึงทุเรียนไว้ตอนหนึ่งว่า [2]

“ผล Durion ในภาษาสยามว่า ทุเรียน (Tourien) เป็นผลไม้ที่มีผู้ชอบบริโภคกันมากในชมพูทวีป แต่ข้าพเจ้ารู้สึกว่าทนไม่ไหวเพราะกลิ่นอันเลวร้ายของมัน ผลไม้ชนิดนี้มีขนาดเท่าๆ กับแตงไทยของเราหุ้มด้วยเปลือกมีหนามเหมือน ผลเซท์นัท (châtaigne) มีพูหลายพูเหมือนขนุน แต่ใหญ่ขนาดเท่าไข่ไก่ เป็นเนื้อผลไม้ที่เขาใช้บริโภคกัน ข้างในมีเมล็ดอีกเมล็ดหนึ่ง ในทุเรียนผลหนึ่งยิ่งมีจํานวนพูน้อยลงเท่าใด ก็จะยิ่งมีรสชาติดีมากขึ้นเท่านั้น แต่ไม่มีน้อยกว่า 3 พูเลย” [เน้นโดยผู้เขียน]

ส่วนการแพร่กระจายพันธุ์ของทุเรียนในสมัยธนบุรีถึงรัตนโกสินทร์นั้น สารานุกรมฉบับเยาวชน [3] บันทึกไว้ว่า

“พระยาแพทย์พงศาวิสุทธาธิบดี (สุ่น สุนทรเวช) ได้กล่าวถึงการแพร่กระจายพันธุ์ของทุเรียน จากจังหวัดนครศรีธรรมราช มายังกรุงเทพฯ ตั้งแต่ประมาณ พ.ศ. 2318 และมีการทำสวนทุเรียนในตำบลบางกร่าง ในคลองบางกอกน้อยตอนใน มาตั้งแต่ พ.ศ. 2397 ในระยะต้น เป็นการขยายพันธุ์ด้วยเมล็ด และพัฒนามาเป็นการปลูกด้วยกิ่งตอน จากพันธุ์ดี 3 พันธุ์ คือ อีบาตร ทองสุก และการะเกด”

แต่ชาวสวนจำนวนหนึ่งก็พบปัญหาว่าไม่สามารถหากิ่งตอนจากพันธุ์ดีได้ จึงต้องขยายพันธุ์ด้วยเมล็ดมาตั้งแต่ พ.ศ. 2397 จนกระทั่งก่อนเกิดน้ำท่วมใหญ่ใน พ.ศ. 2485 รวมระยะเวลากว่า 80 ปี ทำให้เกิดทุเรียนพันธุ์ลูกผสมจำนวนมาก และมีการขยายพันธุ์ปลูกในที่ต่างๆ

เมื่อเกิดน้ำท่วมใหญ่ใน พ.ศ. 2485 ทุเรียนหลายสายพันธุ์ ในเขตจังหวัดนนทบุรี และธนบุรีสูญหาย เพราะสวนล่ม บางสวนที่รอดจากน้ำท่วมกลายเป็นแหล่งพันธุ์ แต่เนื่องจากการขยายพันธุ์ปลูก ทำได้ไม่รวดเร็วพอ เกษตรกรจึงต้องใช้เมล็ดเป็นพันธุ์ปลูก ทำให้ได้ทุเรียนพันธุ์ลูกผสมเพิ่มเติม

คาดว่า “ทุเรียน” คงเป็นผลที่ได้รับความนิยมมาก “วชิรญาณวิเศษ” จึงเตือนให้ระมัดระวัง “การเรอ” หลังจากกินทุเรียนไว้ [4]

“ประการหนึ่ง ควรที่ไทยผู้ดีจะรวังตนจงหนัก ในเวลาที่เข้าไปอยู่ในพวกผู้ดี ห้ามอย่าให้เรอส่งกลิ่นอาหารซึ่งได้บริโภค โดยถือว่าโอชารส แต่เปนที่รังเกียจแก่ท่านผู้อื่น เช่นกระเทียมดองหรือทุเรียนเปนต้นนั้นจงกวดขัน ถ้าเวลามีกิจจะเข้าไปในที่ประชุม ก็ควรจะงดเว้นเสียไม่บริโภค หรือชำระอย่าให้มีกลิ่นฟุ้งไปให้ปรากฎแก่มหาชนได้” [เน้นโดยผู้เขียน]

ถึงวันนี้ “ทุเรียน” ที่คนส่วนใหญ่กินและคุ้นเคยมักเป็น หมอนทอง, ชะนี และก้านยาว ทว่า เรายังมีทุเรียนรสดี, เนื้อละเอียด, กลิ่นหอมชวนกินอีกหลายชนิด แต่มีขายน้อยหรือไม่มีขายเลย เพราะไม่ค่อยรู้จักขายยาก, มีผลผลิตน้อยไม่พอส่งมาขายในตลาดขนาดใหญ่ ฯลฯ

พระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร) บันทึกไว้ใน “พรรณพฤกษากับสัตวาภิธาน” [5] ลองดูว่ามีกี่ชนิดที่ท่านผู้อ่านเคยล้มลองมาแล้ว

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่

เชิงอรรถ :

[1] เว็บไซต์คลังข้อมูลสารสนเทศระดับภูมิภาค (ภาคใต้) สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์กรมหาชน) สืบค้นเมื่อ 10 เมษายน 2563

[2] มองซิเออร์ เดอ ลาลูแบร์ (เขียน), สันต์ ท.โกมลบุตร (แปล), จดหมายเหตุ ลาลูแบร์ ราชอาณาจักรสยาม, สำนักพิมพ์ศรีปัญญา, พิมพ์ครั้งที่ 4 พ.ศ. 2557

[3] เว็บไซต์สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ สืบค้นเมื่อ 10 เมษายน 2563

[4] วชิรญาณวิเศษ, เล่มที่ 9 แผ่นที่ 37 วันที่ 12 กรกฎาคม ร.ศ. 113

[5] พระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร), พรรณพฤกษากับสัตวาภิธาน, โรพิมพ์พิพรรฒธนากร พ.ศ. 2471

เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 10 เมษายน 2563

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0