โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ธุรกิจ-เศรษฐกิจ

บทเรียนจาก3บิ๊กธุรกิจ “กสิกร-เอสซีจี-เซ็นทรัล” กับวิธีรับมือกระแสเทคโนโลยี

Money2Know

เผยแพร่ 15 มิ.ย. 2562 เวลา 11.41 น. • money2know - เงินทองต้องรู้
บทเรียนจาก3บิ๊กธุรกิจ “กสิกร-เอสซีจี-เซ็นทรัล” กับวิธีรับมือกระแสเทคโนโลยี

ธนาคารกสิกรไทย ร่วมด้วยเอสซีจี และ เซ็นทรัล เจดี ฟินเทค ร่วมถกกลยุทธ์รับมือการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีที่รุนแรงในปัจจุบัน โดยต่างมีวิธีปรับตัวให้สามารถดำเนินธุรกิจอย่างประสบความสำเร็จด้วย 3 วิธีง่ายๆ

ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) จัดสัมนาหัวข้อ “Learning from Leaders in Organization Transformation” ภายในวงเสวนาประกอบด้วยนายวีรวัฒน์ ปัณฑวังกูร รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส ธนาคารกสิกรไทย, KBTG, นายรุ่งเรือง สุขเกิดกิจพิบูลย์ ประธานกรรมการผู้บริหาร เซ็นทรัล เจดี ฟินเทค และนางสาวชลลักษณ์ มหาสุวีระชัย Head of Strategy and Transformation, SCG ร่วมแลกเปลี่ยนความเห็นในวงเสวนา

ปฏิเสธไม่ได้ว่าในยุคปัจจุบันเทคโนโลยีมีบทบาทที่สำคัญอย่างมากในการเข้ามาเปลี่ยนโลกในด้านต่างๆ ทุกอุตสาหกรรมต่างต้องปรับตัวจากการถูกเทคโนโลยีแทรกแซงหรือทดแทนด้วยกันทั้งนั้น เช่นเดียวกันกับการดำเนินธุรกิจก็ต้องปรับตัวด้วยเช่นกัน เหมือนเช่นธนาคารกสิกรไทย, เอสซีจี และเซ็นทรัล เจดี ฟินเทค ที่มีวิธีรับมือกับการเปลี่ยนแปลงในแบบฉบับของตัวเองที่ต่างกันออกไป

ปลูกฝังแนวคิดให้พนักงานมีความเชื่อเหมือนกัน

นายรุ่งเรือง กล่าวว่า เมื่อไรก็ตามที่องค์กรต้องการจะทำ Organization สิ่งที่ต้องคิดเสมอคือจะหาคนมาจากไหน ซึ่งเป็นความท้าทายขององค์กรใหม่ทุกองค์กรที่จะต้องเจอในช่วงแรกๆเสมอ และถือเป็นการเรียนรู้ที่สำคัญขององค์กรว่าจะสามารถหาคนที่จะมาร่วมอุดมการณ์กับองค์กรได้อย่างไร

"การเริ่มขององค์กรใหม่ทุกคนควรจะมีความสำคัญเท่าเทียมกันหมด เนื่องจากช่วงแรกของการดำเนินงานนั้นงานมักจะมีมากกว่าจำนวนคนเสมอ"

การสร้างความเท่าเทียม และการถ่ายทอดทัศนคติและเป้าหมายขององ์กรให้พนักงานทุกคนเห็นภาพเหมือนกัน ล้วนเป็นความสำคัญในลำดับแรกๆ ของการเริ่มดำเนินงาน อย่างเช่นบริษัทเซ็นทรัล เจดี ฟินเทค ถือเป็นองค์กรใหม่ที่เพิ่งเปิดดำเนินการมาไม่กี่ปี เพราะฉะนั้นจะมีความยากกว่าองค์กรอื่นๆคือต้องสร้างทุกอย่างขึ้นมาใหม่ทั้งหมด

เพราะฉะนั้นต้องมีพนักงานที่มีอุดมการณ์เหมือนกันหลายๆคนเข้ามาร่วมงานกัน เพื่อให้เกิดความเชื่อมั่นภายในองค์กร และส่งต่อความเชื่อมั่นนั้นไปยังลูกค้า

ส่วนเรื่องการ Transformation ของเทคโนโลยีก็เป็นสิ่งที่ควรให้ความสำคัญด้วยเช่นกันเพราะปัจจุบันสิ่งต่างๆล้วนแล้วแต่ต้องพึ่งพาการทำงานของเทคโนโลยีทั้งหมด

ดังนั้นการจะทำให้องค์กรประสบความสำเร็จ ส่วนตัวมองว่าควรเริ่มจากทัศนคติและความเชื่อมั่นของพนักงานภายในองค์กรเสียก่อน เมื่อมีสิ่งนั้นที่แข็งแกร่งแล้ว ประกอบกับนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยจัดการให้ถูกจังหวะกับงาน สองสิ่งนี้จะช่วยกันส่งเสริมให้องค์กรเดินหน้าไปอย่างมั่นคงและจึงจะเกิดผลิตภัณฑ์ใหม่ที่ออกมาสร้างความสนใจให้กับลูกค้า

ทำความเข้าใจลูกค้า คือคำตอบของการ Transformation ที่แท้จริง

นายวีรวัฒน์ กล่าวต่อว่า องค์กรของตนเองอย่างธนาคารกสิกรไทย อยู่ในอุตสาหกรรมที่ต้องขายการบริการและสร้างความเชื่อมั่น และมั่นใจให้กับลูกค้า เพราะการที่จะทำให้ลูกค้านำเงินมาฝากเงินไว้ด้วยนั้นต้องใช้ความเชื่อใจสูง ว่าเงินที่ลูกค้าเขานำมาฝากไว้จะยังอยู่เหมือนเดิม และสามารถกลับมาถอนออกไปเมื่อไรก็ได้

แต่ปัจจุบันโลกมีความเปลี่ยนแปลงไปมากด้วยวิวัฒนาการของเทคโนโลยี จากเดิมที่เมื่อก่อนคนจะเชื่อมั่นในองค์กร ถูกเปลี่ยนมาเป็นเชื่อมั่นในอะไรก็ไม่รู้ที่ไม่สามารถจับต้องได้ในปัจจุบัน ดังนั้นแล้วความท้าทายของเราคือจะทำอย่างไรเพื่อให้ตอบสนองความต้องการของลูกค้าที่มีความหลากหลายและมีจำนวนมากให้เกิดความพึงพอใจเหมือนกันหมด

หลายคนพูดถึงการ Transformation ของเทคโนโลยี และก็มีการตั้งเป้าหมายกับสิ่งนั้น แต่สำหรับเรายังไม่สามารถตอบได้ว่าเป้าหมายการ Transformation ของธนาคารกสิกรคืออะไร เนื่องจากไม่รู้ว่าในวันพรุ่งนี้จะมีอะไรเปลี่ยนแปลงไปอีกต้องยอมรับว่าเทคโนโ,ยีสมัยนี้เปลี่ยนแปลงและพัฒนาตัวมันเองอยู่ตลอดเวลา

ดังนั้นสิ่งที่เราต้องทำคือย้อนกลับมาดูตัวเองก่อนว่าปัจจุบันมีข้อบกพร่องไหนที่ยังต้องแก้ไข และลูกค้าของเรานั้นต้องการอะไร โดยต้องรีบทำการส่งเสริมความต้องการของลูกค้าของเราอย่างทันท่วงทีเพื่อให้ลูกค้ามีความสะดวกสบายในการใช้บริการมากที่สุด นี่จึงเป็นคำตอบที่ดีที่สุดที่จะตอบว่าการ Transformation ที่แท้จริงนั้นคืออะไร

หาพาร์ทเนอร์ที่ดี คือการ Transformation อย่างสมบูรณ์แบบ

นางสาวชลลักษณ์ หล่นความเห็นทิ้งท้ายว่า เอสซีจี ซึ่งเป็นองค์กรของตนเองนั้นเมื่อจะเริ่มทำธุรกิจอะไรสักอย่าง องค์กรจะคิดเสมอว่าจะถูกทดแทนด้วยสินค้าอื่นในอนาคตหรือไม่ ความยากของการดำเนินธุรกิจวันนี้คือช่องว่างความรู้ระหว่างตัวผู้ผลิตและผู้บริโภคขยับเข้าหากันใกล้กว่าในอดีตมากขึ้นทุกวัน  ดังนั้นผู้บริโภคจะมีช่องทางมากมายในการเลือกบริโภค

การที่เอสซีจีจะเปลี่ยนบทบาทให้ตามความต้องการของผู้บริโภคนั้นก็เป็นเรื่องยาก เนื่องจากเอสซีจีเป็นองค์กรขนาดใหญ่และมีความคุ้นชินกับการดำเนินธุรกิจเดิมๆมาเป็นเวลานาน เพราะฉะนั้นกลยุทธ์ที่เอสซีจีทำ คือพยายามร่วมมือกับสตาร์ทอัพหรือองค์กรขนาดเล็กที่มีแนวคิดในการแก้ไขปัญหาด้านต่างๆ หรือคิดค้นผลิตภัณฑ์ขึ้นมาใหม่เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคโดยเป็นผู้สนับสนุนด้านเงินทุนให้พาร์ทเนอร์

“สิ่งที่สำคัญคือการจับคู่กันอย่างลงตัว ฉะนั้นเอสซีจีจึงมองหาพาร์ทเนอร์ที่น่าสนใจ มาแมตช์กับธุรกิจที่มีความน่าสนใจ โดยใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยเข้าไปช่วยจัดการในเรื่องระบบหรือกระบวนการต่างๆ นี่จึงถือเป็นการ Transformation อย่างแท้จริง”

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0